สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ข้าวโพดหวานสองสี (Bio Color Sweet Corn)

ข้าวโพดหวานสองสี จัดอยู่ในตระกูล Poaaceae (Gramineae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea may L. var. saccharata เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ปลูกฤดูเดียว ลักษณะลำต้นเป็นปล้องสีเขียว มีจำนวน 8-20 ปล้อง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร สูงประมาณ 150-200 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเรียวคล้ายใบหญ้า ซึ่งประกอบด้วยตัวใบ ก้านใบ และหูใบ ขนาดของใบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์




 คำอธิบายภาพ : IMG_20150728_173117


โดยทั่วไปดอกตัวผู้บานก่อนดอกตัวเมีย และพร้อมจะผสมภายใน 1-3 วัน และทยอยบานทีละคู่ใช้เวลา 2-14 วัน ดอกตัวเมียมีลัษณะเป็นฝักจากแขนงสั้นๆ บนข้อที่มีใบใหญ่สุด แขนงดังกล่าวประกอบด้วยใบ 8-13 ใบ เจริญเป็นกาบหุ้มส่วนของดอกตัวเมีย และหุ้มฝัก(husk) ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะคล้าวเส้นไหม เจริญออกมาด้านส่วนปลายฝัก ประกอบด้วยเมือกเหนียวเพื่อดักจับละอองเกสรตัวผู้


สภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดหวานสองสี


ข้าวโพดหวานสองสี เป็นพืชที่ต้องการอากาศอบอุ่น อุณหภูมิที่เหมาะสม ต่อการงอกและการเจริญเติบโต ควรอยู่ระหว่าง 21-30′C แต่ไม่ควรสูงเกิน 35′C อย่างไรก็ตามอุณหภูมิ ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในช่วง 16-24′C การปลูกในสภาพอุณหภูมิสูง อัตราการเปลี่ยน น้ำตาลเป็นแป้งสูง(Polysaccharides) กระแสลมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และอุณหภูมิสูง จะทำให้เกสรไม่สมบูรณ์ อัตราการผสมเกสรต่ำ หากสภาพแปลงปลูก มีความชื้นสัมพัทธ์สูง เมล็ดอางจะเน่าได้ หรือสภาพความชื้นสูง หรือต่ำเกินไป จะมีผลต่อการเจริญเติบโต ข้าวโพดหวานเป็นพืชวันสั้น ในสภาพที่ช่วงวันยาว (มากกว่า 13 ชั่วโมง/วัน) จะจำกัดการเจริญ ของดอกใบบางสายพันธุ์


การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหารของข้าวโพดหวานสองสี


ข้าวโพดหวาน จัดเป็นพืชที่ให้พลังงานสูง และมีประมาณโปรตีนรองจากถั่วลันเตา ถั่วแขก และกระเทียม นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่สูง เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และไทอามิน นอกจากนี้พันธุ์ที่มีสีเหลืองมากๆ จะมีวิตามินเอสูง การใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น นึ่ง หรือ ย่าง ทั้งฝัก นึ่งแล้วฝานผสม กับมะพร้าวขูด น้ำตาลทรายเล็กน้อย เกลือป่นทำเป็นข้าวโพดคลุกรับประทานเป็นอาหารว่าง ทำน้ำนมข้าวโพด ฝานดิบผสมกับเนื้อหมูสับ ไข่ แป้งสาลีแล้วทอดเป็นทอดมันข้าวโพด เป็นต้น การปฏิบัติดูแลรักษาข้าวโพดหวานสองสีระยะต่างๆของการเจริญเติบโต


การเตรียมดิน


ไถพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 7 วัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคพืชและแมลงในดิน หากสามารถตรวจเช็คค่า pH ของดินได้จะช่วยในด้านการเติบโต ของข้าวโพด โดยค่า pH ควรอยู่ในช่วง 6-6.5 หากสภาพดิน เป็นกรดคือต่ำกว่า 6 ให้เติมปูนขาวหรือดินโดโลไมท์ ในอัตรา 100 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพดิน หลังจากนั้นควรใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ช่วยปรับสภาพดินในอัตรา 2-5 กก./ตร.ม. ทั้งนี้ขึ้นกับ สภาพดินและผสมปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 อัตรา 25-50 กก./ไร่ หากสภาพดินเป็นดินทราย ควรจะใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 แทนปุ๋ย 16-20-0


การเตรียมกล้า


เพาะกล้าอย่างประณีต ในถาดหลุมเมื่อมีอายุ 7 วัน แล้วย้ายปลูก หากเพาะกล้าในแปลงเพาะโดยการหว่านเมล็ดในแปลงเพาะ แล้วใช้แกลบดำกลบ ควรมีวัสดุคลุมแปลงเพื่อเพิ่มความชื้น และลดความร้อนในช่วงกลางวัน การหยอดเมล็ดในแปลงปลูก ควรบ่มเมล็ดก่อนโดยการใช้ผ้าชุบน้ำให้เปียก และห่อเมล็ดไว้ 1 คืน ให้รากเริ่มงอก แล้วนำไปหยอด ในแปลงปลูกลึกประมาณ 1 เซนติเมตร และรดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกแทงต้นพ้นดิน


ข้อควรระวัง


ควรคลุกเมล็ดด้วยเอพรอน 35 เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และฉีดพ่นเซฟวิน 85 ป้องกันมดและแมลงทำลายเมล็ด หากใช้การหยอดเมล็ดในแปลงปลูกใช้วิถีถอยหลังแล้วหยอดเมล็ด ไม่ควรเหยียบแปลงที่หยอดเมล็ดแล้ว หากปลูกช่วงฤดูร้อนควรมีการแช่เมล็ดใน GA จะช่วยเพิ่มเกสรตัวผู้


การปลูก


ระยะปลูก (ต้นxแถว) 25×75 ซม.(6 ต้น/ตร.ม.) จัดใบให้หันไปในทางเดียวกัน ทำมุมกับแปลง 45 องศา ทั้งนี้เพื่อให้มีการ ผสมเกสรได้ดีขึ้น เมื่อย้ายปลูกได้ 7 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ใช้ 2 สูตร 21-0-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ โดยการละลายในน้ำ 80 ลิตร รดบริเวณโคนต้นหรือใช้ วิธีการหยอดที่โคนต้น ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อย้ายปลูกได้ 20-25 วัน พร้อมทั้งกำจัดวัชพืช และทำการคลุมโคน หลังจากนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะข้าวโพดกำลังเริ่มสร้างช่อดอกเกสรตัวผู้ ภายในลำต้น และระบบรากกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ควรที่จะรบกวนระบบ ราก มากนักอาจจะทำให้ต้นเหี่ยว และชะงักการเติบโตได้ เมื่อข้าวโพดมีอายุได้ 30-40 วัน ต้นจะมีการแตกแขนงหน่อข้างลำต้น ให้เด็ดออกให้เหลือฝักบนเพียง 1 ฝัก และควรตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีการเข้าทำลายของโรคราน้ำค้าง ราสนิม และการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้น และฝัก เมื่อข้าวโพดอายุได้ 45-50 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายและให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะหากขาดน้ำ ต้นข้าวโพดจะหยุดการสร้างฝักเมล็ด ส่วนปลายฝักจะฟ่อทันที




 คำอธิบายภาพ : IMG_20150728_174358

 คำอธิบายภาพ : IMG_20150728_115217


ข้อควรระวัง


ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยและคลุมโคน ควรปลูกเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดไม่ต่ำกว่า 1 งานขึ้นไป การให้น้ำ ควรปล่อยน้ำเข้าแปลงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากพืชขาดน้ำจะทำให้ การผสมเกสรไม่ดี ฝักที่ได้คุณภาพต่ำ การติดเมล็ดไม่สม่ำเสมอ


การใส่ปุ๋ย


ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-20 ในอัตรา 25-50 กก./ไร่ ในขั้นตอนการเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 25-50 กก./ไร่ หลังปลูก 7 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 25-50 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุ 25 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 25-50 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุ 45 วัน


ข้อพิจารณา


ในดินทรายการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 หรือไม่ ขอให้พิจารณาความสมบูรณ์ของข้าวโพดเป็นสำคัญ การเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเมื่อมีอายุ 16-20 วัน หลังจากที่ข้าวโพดผสมเกสร ลักษณะเปลือกเมล็ด ไม่หนาเกินไป การเก็บเี่กี่ยวก่อนกำหนด จะทำให้ข้าวโพดหวาน อ่อนเกินไป และมีน้ำหนักฝักน้อย ในขณะที่การเก็บอายุมาเกินไป ถึงแม้จะได้น้ำหนักฝักมากขึ้น แต่เปลือกเมล็ดจะหนา และข้าวโพดเสียคุณภาพ ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูก จะต้องทำการนับวัน ที่ข้าวโพดออกไหม แล้วจึงทำการกำหนดวันเก็บเกี่ยว โดยนับจากวันออกไหม 16-20 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของข้าวโพดหวาน จะพบว่า พันธุ์ลูกผสมจะมีช่วงการออกดอก สม่ำเสมอทำให้เกษตรกร สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว เมื่อถึ่งกำหนด การเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา ที่เหมาะสม จะสัมพันธ์กับความอ่อน-แก่ ขนาด รูปร่าง รสชาติ และน้ำหนักของข้าวโพดหวาน ส่วนการเก็บก่อน การจำหน่ายฝักสด หรือก่อนการแปรรูป ในโรงงานอุตสาหกรรม จะเป็น




 คำอธิบายภาพ : IMG_20150729_111018


ตัวแปรสำคัญ ต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ข้าวโพดหวาน


โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวโพดหวานสองสีในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต ระยะกล้า-ย้ายปลูก 7-10 วัน โรคราน้ำค้าง, ระยะคลุมโคนและเริ่มสร้างช่อเกสรตัวผู้ 17-32 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบไหม้แผลเล็ก, โรคใบไหม้แผลใหญ่, เพลี้ยอ่อน, หนอนกระทู้, ระยะแตกหน่อ 35-40 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบไหม้แผลเล็ก, โรคใบไหม้แผลใหญ่, โรคราสนิม, เพลี้ยอ่อน, หนอนกระทู้คอรวง, หนอนกระทู้, ระยะออกไหม-ผสมเกสร 45-50 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบไหม้แผลเล็ก, โรคใบไหม้แผลใหญ่, โรคราสนิม, โรคราเขม่าดำ, เพลี้ยอ่อน, หนอนกระทู้คอรวง, หนอนกระทู้, หนอนเจาะฝัก ระยะเก็บเกี่ยว 65-70 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบไหม้แผลเล็ก, โรคใบไหม้แผลใหญ่, โรคราสนิม, โรคราเขม่าดำ, เพลี้ยอ่อน, หนอนกระทู้คอรวง, หนอนกระทู้, หนอนเจาะฝัก


ขอขอบคุณ @ fb // บ้านผักยิ้มหวาน (Yim-Wan Organic House)

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง