สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

การปลูกข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) ให้มีคุณภาพ การป้องกันโรคต่างๆ การดูแลอย่างถูกต้อง

 คำอธิบายภาพ : IMG_20150429_113805


ข้าวโพดหวาน อยู่ใน ตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับหญ้าหรือข้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zeamays Line var. rugasa หรือ saccharata ข้าวโพดหวานมีคุณประโยชน์มากมาย นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลาย รูปแบบ เช่น ข้าวโพดหวานบรรจุึกระป๋องทั้งฝัก หรือบรรจุกระป๋องเฉพาะเมล็ด ทำครีมข้าวโพดหวาน ข้าวโพดแช่แข็ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เหล่านี้ สามารถส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป


ฤดูปลูก


ข้าวโพดหวานสามารถ ปลูกได้ตลอดปี แต่นิยมปลูกกันมากในช่วงฤดูฝน และสามารถปลูกได้ดีในดินทุกสภาพ แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย จะทำให้ผลผลิตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 6.0-6.5 ข้าวโพดหวานต้องการแสงแดด เต็มที่ตลอดวัน


อุณหภูมิที่เหมาะสม


อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดจะอยู่ในช่วง 24-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืน อยู่ในช่วง 15-18 องศาเซลเซียส จะทำให้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดีและมีความหวานสูง


การเตรียมแปลงปลูก


การปลูกข้าวโพดหวานจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดไร่ เพราะข้าวโพดหวานต้องดูแล และปฏิบัติอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับการ ปลูกพืชผัก จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้นในการเตรียมดินและการปลูกต้องการทำอย่างประณีต โดยการไถดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วตากทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อกำจัดไข่แมลงและเมล็ดวัชพืช หากมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือหว่านปูนขาวเพื่อปรับ สภาพดินควรใส่ในช่วงนี้ แล้วจึงไถพรวนอีกครั้ง จากนั้นวัดระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับ พื้นที่ ทำการขุดเป็นร่องลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าหากสภาพดินแห้งไม่มีความชื้น ควรปล่อยน้ำเข้าตามร่อง หรือทำให้ดิน มีความชื้นบริเวณ


การปลูกข้าวโพดหวาน


ทำการเจาะหลุมปลูกบริเวณข้างๆ ร่อง ใช้ระยะห่างระหว่างหลุม(ต้น) ประมาณ 25-35 เซนติเมตร นำเมล็ดข้าวโพดหวานหยอดลงไป หลุมละ 1-2 เมล็ด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม หลังหยอดเมล็ดแล้วไม่ควรปล่อยดินแห้งเกินไป ควรให้ดินมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวโพดเน่าได้ หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ 5-7 วัน ข้าวโพดก็จะเริ่มงอก ให้สังเกตุดูว่าถ้าหลุมที่ไม่งอกให้รีบปลูกซ่อมทันที


การปฏิบัติดูแลรักษาข้าวโพดหวาน


การถอนแยกต้น ควรกระทำหลังจากหยอดเมล็ด 12-14 วัน โดยการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

การให้ปุ๋ย ครั้งที่ 1 หลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 14-10 วัน โดยการใส่ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1:1 (ประมาณ 50 ก.ก./ไร่) โดยหว่านที่ร่องน้ำข้างๆ ต้น แล้วกลบโคนต้น ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดหวานเริ่มติดฝักอ่อนโดยการใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 50 ก.ก./ไร่ โดยหว่าน ที่ร่องพื้นแล้วกลบโคนต้น

การใ้หน้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาดน้ำ โดยปล่อยเข้าตามร่องน้ำหรือให้แบบสปริงเกอร์

การกำจัดวัชพืช กระทำพร้อมๆ กับการกลบโคนต้นและการให้ปุ๋ย

การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง การปลูกข้าวโพดหวานต้องระวังในเรื่องของหนอนเจาะฝัก หรือเจาะลำต้น ควรฉีดพ่น ยาพวกคาร์บาริล หรือยาพวกถูกตัวตาย เช่น เมทโธมิล


การเก็บเกี่ยวและการรักษา


การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ข้าวโพดหวานมคุณภาพดีหรือเลว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวานเพื่อส่ง โรงงานหรือจำหน่ายฝักส ควรเลือกเก็บเกี่ยวในระยะที่มีน้ำตางสูงที่สุด และคุณภาพดีที่สุด หรือระยะที่เรียกว่า ระยะน้ำนม(Milk Stage) หากเลยระยะนี้ไปแล้วปริมาณน้ำตาลจะลดลงและมีแป้งเพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ


นับอายุ หลังจากวันหยอดเมล็ด วิธีการนี้ต้องทราบอายุของข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์หนัก, เบา หรือปานกลาง เช่นพันธุ์เบา อายุ 55-65 วัน พันธุ์ปานกลาง 70-85 วัน และพันธุ์หนักตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป


เก็บสุ่มตัวอย่างในแปลงมาตรวจดู วิธีนี้แน่นอน และนิยมกระทำกันมากที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน ควรเก็บเกี่ยวในเวลา เช้าตรู่และรีบส่งตลาดทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้น้ำตาลลดลง


โรคที่สำคัญของข้าวโพดและการป้องกันกำจัด


โรคราน้ำค้าง (Peronosclerospora sorghi) เข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่งอกจนถึงอายุประมาณ 1 เดือน ในระยะที่มีฝนตกชุก ลักษณะอาการเป็นทางยาวสีเหลืองแคบ ๆ ไปตามความยาวของใบ หรือเป็นแบบsystemic เห็นเป็นทางลายสีเหลือง เขียวอ่อน เขียวแก่ สลับกันเป็นทางยาว เมื่อนานเข้า รอยสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเกิดเป็นอาการใบไหม้ แห้งตายในที่สุด บริเวณผิวใบ โดยเฉพาะด้านล่างจะมีเส้นใยสีขาวของเชื้อรา จับเป็นฝ้าเห็นได้ชัดเจนในตอนเช้าตรู่ซึ่งมีน้ำค้างจัด ลำต้นแคระแกรน ต้นเตี้ย ใบผอม ข้อสั้น ฝักมักมีขนาดเล็กลง เมล็ดติดน้อยหรือไม่ติดเลย ช่อดอกหรือยอดอาจจะแตกเป็นพุ่ม


โรคราสนิม (Puccinia polysora) ปัจจุบันเป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่อง เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก รุนแรงที่สุดในฤดูปลายฝน (ส.ค. – พ.ย.) ลักษณะแผลเป็นตุ่มสีน้ำตาลแดงนูนจากผิว ลักษณะแผลค่อนข้างกลมถึงรูปไข่ แผลจะนูนทั้งสองด้านของใบ เมื่อเกิดมากขึ้นจะดันโป่งออก เมื่อเจริญเต็มที่ตรงกลางแผลก็จะปริแยกออก สีส้มคล้ายสนิมเหล็ก ใบข้าวโพดที่เกิดแผลมากขึ้นจะซีดเหลืองและแห้งในที่สุด ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม พันธุ์อ่อนแอ ใบจะไหม้แห้งภายใน 1 สัปดาห์


โรคใบไหม้แผลเล็ก (Bipolaris maydis) เข้าทำลายข้าวโพดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สภาพอากาศร้อนชื้น ลักษณะอาการแผลจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของใบ ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแดงไม่เรียบสม่ำเสมอ และถูกจำกัดด้วยเส้นใบ เมื่อเป็นหลาย ๆ แผลเกิดติดต่อกันจะทำให้เกิดใบไม้ นอกจากนี้ ยังเป็นได้กับส่วนอื่น ๆ อีก เช่น กาบใบ กาบฝัก ลำต้น และฝัก


โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Bipolaris turcica) เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก รุนแรงที่สุดในฤดูแล้ง (ธ.ค. – มี.ค.) แต่ปัจจุบันเข้าทำลายได้ทุกฤดู ลักษณะอาการระยะแรกจะเหมือนกับใบไหม้แผลเล็ก ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณแผลเริ่มแห้งตายเป็นสีน้ำตาล หรือสีเขียวเทา ลักษณะแผลไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นใบ ขอบแผลเรียบสม่ำเสมอ เมื่อเกิดแผลติดต่อกันหลาย ๆ แผลทำให้ใบไหม้ไปทั้งใบได้


โรคใบจุด (Bipolaris zeicola) เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเข้าทำลายข้าวโพดในฤดูแล้ง (ธ.ค. – มี.ค.) สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของข้าวโพดและทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ต้นเล็กจนถึงระยะออกดอก อาการที่ใบจะเป็นจุดสีเหลืองถึงสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ เมื่อมีหลาย ๆ แผลติดกันทำให้ใบไหม้ไปทั้งใบได้


โรคใบจุดสีน้ำตาล (Physoderma maydis) โดยปกติพบได้ทั่วไปบริเวณเส้นกลางใบ จะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม ภายหลังเชื้อเข้าทำลายจะทำให้ใบหักพับ แต่ในพันธุ์ที่อ่อนแอ แผลจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ใบจะเห็นรอยจุดติด ๆ กันเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มทำให้ใบไหม้ นอกจากนั้นจะเห็นที่กาบใบ ลำต้น เปลือกหุ้มฝัก และช่อดอก อาการจะรุนแรงระยะออกดอก ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก


โรคกาบและใบไหม้ (Rhizoctonia solani) เข้าทำลายข้าวโพดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะกล้า โคนต้นมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ลำต้นหักพับ ระยะต้นโต เชื้อรานี้เข้าทำลายได้ทุกส่วนของข้าวโพด ใบ กาบใบ กาบฝัก เปลือกหุ้มฝัก ลักษณะแผลบนใบ มีลักษณะซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขอบสีน้ำตาลและไหม้แห้ง ใต้ใบบริเวณแผลจะเห็นเส้นใย อัดเม็ดกลม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป


โรคไวรัส SCMV & MDMV


SCMV คือ โรคไวรัสใบด่างอ้อย ลักษณะอาการ ใบด่างเป็นขีดเล็ก ๆ สีขาว หรือเหลืองสลับเขียว ขนานไปกับเส้นกาบใบ ในระยะต้นโต ที่ฝักข้าวโพดจะพบเปลือกเป็นสีขาวตั้งแต่ฝักเล็กจนถึงฝักใหญ่


MDMV คือ โรคไวรัสใบด่างแคระ ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ ประตามความยาวของใบ โดยเฉพาะที่ใบอ่อน ถ้าเป็นในระยะต้นเล็ก จะทำให้ต้นแคระแกรน ข้อสั้น ใบเขียวเข้ม ถ้าเข้าทำลายในระยะต้นโต จะทำให้ใบเหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโต


โรคลำต้นเน่า (Macrophomina phaseolina) โรคนี้เข้าทำลายต้นอ่อน จะทำให้เกิดอาการแห้งตาย ระยะต้นแก่ทำให้เกิดลำต้นเน่า ส่วนมากจะเข้าทำลายในระยะต้นแก่ ตั้งแต่ระยะออกดอกจนถึงอายุแก่ เมื่อฉีกลำต้นดูจะพบเส้นใย อัดเป็นเม็ดสีดำมองดูคล้ายหยดถ่านหิน กระจัดกระจายปกคลุม ทำให้เห็นเป็นทางหรือขีดเส้นสีดำเต็มไปหมด เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกทำลาย เมื่อมีลมแรงหรือใช้มือโยกเบา ๆ ลำต้นจะหักพับ ส่วนใหญ่บริเวณปล้องต้น ๆ เหนือดิน


โรคลำต้นเน่า (Fusarium moniliforme) โรคนี้เข้าทำลายทั้งต้นอ่อน ต้นแก่ และฝัก อาการที่ฝักจะเห็นเส้นใยสีขาวเน่าไปทั้งฝักได้ ที่ลำต้นภายหลังเชื้อเข้าทำลาย ต้นจะเหี่ยว ดูลักษณะภายนอกลำต้นปล้องล่าง ๆ จะเห็นเป็นขีด ๆ รอบลำต้น ฉีกลำต้นดูเนื้อเยื่อภายในจะเป็นสีชมพู ถ้าความชื้นเหมาะสม ส่วนที่ถูกทำลายจะเป็นสีม่วง ขณะต้นเริ่มแสดงอาการ เหี่ยว ใช้มือโยกลำต้นจะหักบริเวณโคนต้น และต้นจะแห้งตาย


 คำอธิบายภาพ : 01


แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด


หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ลักษณะและการทำลายเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีทองแดง กางปีกกว้างประมาณ 3.0 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา หนอนเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดหวานอายุ 20 วันถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยเจาะเข้าทำลายส่วนยอด ช่อดอกตัวผู้ และลำต้น ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หักล้มง่าย เมื่อมีการระบาดรุนแรง จะเข้าทำลายฝัก พบการทำลายในแหล่งปลูกทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และลพบุรี ช่วงเวลาระบาด ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา


การป้องกันกำจัด


ควรสำรวจกลุ่มไข่ หนอน รูเจาะ และยอดที่ถูกทำลายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงข้าวโพดหวานอายุ 20-45 วัน

เมื่อเริ่มพบการทำลาย ควรทำการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด สามารถใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ไซเพอร์เมทริน (15% อีซี) ปริมาณ 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรฟลูมูรอน (25 %ดับบริวพี) ปริมาณ 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ใช้เมื่อพบยอดข้าวโพดหวานถูกทำลาย 30 % ในช่วงระยะก่อนออกดอกตัวผู้หรือพบหนอนเฉลี่ย 20-100 ตัวหรือรูเจาะ 50 รู ต่อข้าวโพด 100 ต้น และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 5 วัน และ 14 วัน


หนอนเจาะสมอฝ้าย ลักษณะการเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง วางไข่ฟองเดี่ยว ๆ ที่ช่อดอกตัวผู้ และเส้นไหมบริเวณปลายฝัก หนอนกัดกินเส้นไหม และเจาะเข้าไปอาศัยกัดกินปลายฝัก ทำให้คุณภาพฝักเสียหาย พบการทำลายในแหล่งปลูกทั่วประเทศ ระยะข้าวโพดหวานเริ่มออกช่อดอกตัวผู้ โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และลพบุรี ช่วงเวลาการระบาด ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศร้อนชื้น


การป้องกันกำจัด


ในพื้นที่ขนาดเล็ก ควรใช้มือจับทำลายหนอนที่ปลายฝัก


ควรสำรวจหนอนที่ปลายฝักข้าวโพดหวานในระยะผสมเกสร ถ้าพบการทำลายควรพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับหนอนเจาะสมอฝ้าย สามารถใช้ชีวิทรีย์หรือสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ นิวเคลียร์โอโพลีฮีโดรซีสไวรัส ปริมาณ 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นในเวลาเย็นสลับกับสารเคมีและหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 1 วัน หรือ ฟลูเฟนนอกซูรอน (5 % อีซี) ปริมาณ 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเฉพาะฝักที่พบไหมถูกทำลาย เมื่อพบหนอนขนาดเล็ก 10-20 ตัวต่อ 100 ต้น พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน


เพลี้ยอ่อนข้าวโพด ลักษณะและการเข้าทำลาย เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ลักษณะกลมป้อมคล้ายผลฝรั่ง สีเขียวอ่อน มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ยาว 0.8-2.0 มิลลิเมตร ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ช่อดอกตัวผู้ ปลายไหมและฝัก ทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ฝักลีบ ถ่ายมูลหวานทำให้เกิดราดำ คุณภาพฝักลดลง พบการทำลายในแหล่งปลูกทั่วประเทศ ระบาดมากในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และลพบุรี ช่วงเวลาระบาด ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน


การป้องกันกำจัด


ถ้าพบการระบาดรุนแรงในระยะข้าวโพดหวานมีช่อดอกตัวผู้ ควรพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับเพลี้ยอ่อนข้าวโพดสามารถใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ คาร์บาริล (85% ดับบลิวพี) ปริมาณ 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ ไบเฟนทริน 10 % อีซี) ปริมาณ 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเฉพาะบริเวณที่เพลี้ยอ่อนลงทำลาย เมื่อพบความหนาแน่นของเพลี้ยอ่อนมากกว่า 5% องพื้นที่ใบทั้งต้น โดยเฉพาะระยะที่แทงช่อดอกตัวและหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 4 วัน


มอดดิน ลักษณะการเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวง สีเทาดำยาว ประมาณ 3.5 มิลลิเมตร กัดกินใบตั้งแต่เริ่มงอกถึงอายุประมาณ 14 วัน ทำให้ตัวอ่อนตายหรือชะงักการเจริญเติบโต ต้นที่รอดตายจะเก็บเกี่ยวได้ล่าช้า ระบาดในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย ในแถบจังหวัดลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์และกำแพงเพชร ช่วงเวลาระบาด ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน


การป้องกันกำจัด


ปลูกข้าวโพดหวานในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูฝนช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของแมลงรอบแปลงปลูก ได้แก่ ขี้กาลูกกลม ตีนตุ๊กแก เถาตอเชือก สะอึก หญ้าตีนติด และหญ้าขจรจบดอกเล็ก

ในแหล่งที่พบการระบาดเป็นประจำ ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก สำหรับมอดดิน สามารถใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช คือ อิมิดาโคลพริด (70 %ดับบริวพี) ปริมาณ 5 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม แล้วทำการคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก


หนอนกระทู้หอม ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้มปนเทา กางปีกกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มสีขาวใต้ใบ มีขนสีครีมปกคลุม หนอนกัดกินทุกส่วนในระยะต้นอ่อน จะทำความเสียหายรุนแรงเมื่อหนอนมีความยาวตั้งแต่ 2 เซนติเมตร พบระบาดมากในแหล่งปลูกจังหวัดราชบุรี และนครปฐม ช่วงเวลาระบาด ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน


การป้องกันกำจัด

เก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลาย

ในแหล่งที่ระบาดเป็นประจำ ควรพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับหนอนกระทู้หอม สามารถใช้ชีวิทรีย์หรือสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ นิวเคลียร์โอโพลีฮีโดรซีสไวรัส ปริมาณ 20-30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นในเวลาเย็น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน เมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัวต่อต้น และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 1 วัน หรือ เบตาไซฟลูทริน (2.5 % อีซี) ปริมาณ 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัวต่อต้น จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน (ในแหล่งที่พบแตนเบียนหนอนบราโคนิค ไม่จำเป็นต้องใช้สาร) และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน


สัตว์ศัตรูพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด


หนู ลักษณะการทำลาย หนูเป็นสัตว์ฟันแทะ ศัตรูสำคัญชนิดหนึ่งของข้าวโพดฝักอ่อน ทำลายมากตั้งแต่เริ่มเป็นฝักอ่อนถึงเก็บเกี่ยว สกุลหนูพุกกัดโคนต้นให้ล้มแล้วกัดกินฝักอ่อน สกุลหนูท้องขาว เช่น หนูบ้านท้องขาว หนูนาเล็ก และสกุลหนูหริ่งจะปีนกัดแทะฝักอ่อนบนต้น ช่วงเวลาระบาด ระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ไม่มีอาหารชนิดอื่น


การป้องกันกำจัด


กำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูกและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู ใช้กรงดักหรือกับดัก เมื่อสำรวจพบร่องรอย รูหนู ประชากรหนู และความเสียหายอย่างรุนแรงของข้าวโพดฝักอ่อน ให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสานคือใช้กรงดักหรือกับดัก ร่วมกับการใช้เหยื่อพิษ 20 ชนิดของสารกำจัดสัตว์ศัตรูที่สำคัญ


สารออกฤทธิ์เร็ว ที่นิยมใช้คือ ซิงค์ฟอสไฟต์ (80% ชนิดผง) ใช้ร่วมกับเหยื่อพิษ ประกอบด้วยสารซิงค์ฟอสไฟต์ ผสมปลายข้าวและรำข้าว อัตราส่วน 1:77:2 โดยน้ำหนัก ส่วนวิธีการใช้และข้อควรระวังคือใช้ลดประชากรหนูก่อนปลูก หรือเมื่อมีการระบาดรุนแรง โดยวางเหยื่อพิษเป็นจุดตามร่องรอยหนูหรือวางจุดละ 1 ช้อนชา ห่างกัน 5-10 เมตร ใช้แกลบรองพื้นและกลบเหยื่อพิษอย่างละ 1 กำมือ เนื่องจากเป็นเหยื่อพิษที่ทำให้หนูเข็ดขยาด จึงไม่ควรใช้บ่อยครั้ง ส่วนอัตราการใช้


สารออกฤทธิ์ช้า ที่นิยมใช้กันได้แก่ โฟลคูมาเฟน (0.005%) โปรมาดิโอโลน (0.005%) ไดฟิทิอาโลน (0.0025%) ใช้ร่วมกับเหยื่อพิษสำเร็จรูป (ชนิดขี้ผึ้ง) ก้อนละ 5 กรัม ส่วนวิธีการใช้และข้อควรระวัง ใช้ลดประชากรหนูที่เหลือหลังจากใช้สารออกฤทธิ์เร็ว โดยวางเหยื่อพิษในภาชนะตามร่องรอยหนูจุละ 15-20 ก้อน ห่างกัน10-12 เมตร เติมเหยื่อทุกสัปดาห์ และหยุดเติมเมื่อการกินเหยื่อน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์


สารป้องกันกำจัดสัตว์สัตรูข้าวโพดหวานทั้ง 2 ชนิด ใช้ได้กับสัตว์ศัตรูพืช ได้แก่ หนูพุกใหญ่ หนูพุกเล็ก หนูบ้านท้องขาว หนูนาใหญ่ หนูนาเล็ก หนูหริ่งนาหางขาว และหนูหริ่งนาหางสั้น


การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพ


เส้นไหมยาว 1-3 เซนติเมตร จำนวน 50 % ของแปลง ให้นับเป็นวันที่ 1 แล้วว่างไปอีก 20 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ หรือสังเกตสีของเส้นไหมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ใช้แรงงานคนหักฝักให้ถึงบริเวณก้านฝักติดลำต้น ควรเก็บให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เมื่อเก็บฝักแล้วให้นำข้าวโพดที่ร่มไม่ถูกแสงแดด หรือรับขนส่งไปตาลาดหรือโรงงานภายในเวลา 24 ชั่วโมง


คุณภาพและมาตรฐานข้าวโพดหวาน


1.) ตรงตามสายพันธุ์

2.) ความอ่อนแก่กำลังดี ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป

3.) จำนวน 3-5 ฝักต่อกิโลกรัม

4.) เมล็ดเต็ม ไม่เหี่ยว ลักษณะเปลือกเมล็ดบาง เมล็ดเรียงเป็นระเบียบ

5.) เมล็ดสีเหลืองอ่อน ไม่มีสีอื่นปะปน

6.) ไม่ถูกแมลงกัด ไม่เป็นโรค ไม่มีพันธ์อื่นปน ไม่เน่าเสียหรืออบร้อนจนเน่า

7.) มีเปลือกหุ้มฝักได้ไม่เกิน 30% ของน้ำหนัก

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง