สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (2)

 คำอธิบายภาพ : IMG_20150514_110745


โรคจุดสีน้ำตาล (Brown Spot)




โรคจุดสีน้ำตาลเคยมีรายงานว่าระบาดรุนแรงในต่างประเทศมาแล้ว เช่น อเมริกากลางและเนปาล ในประเทศไทยพบเห็นโรคนี้โดยทั่วไป แต่ไม่มีการระบาดของโรค


ลักษณะอาการ


เกิดขึ้นบนใบ กาบใบ และลำต้น บริเวณที่ต่ำกว่าฝัก อาการบนใบเกิดเป็นจุดกลมหรือรี สีเหลือง ปกติมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร จุดมักจะรวมตัวกันเป็นหย่อมๆ หรือเป็นปื้นจุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกจะมีสีเขียวเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง อาการบนเส้นกลางใบ กาบใบ เปลือกหุ้มฝัก และลำต้น แผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งเป็นเหลี่ยมถึง 5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลอมม่วง ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นแผลกลายเป็นปื้นบนใบและตามความยาวของเส้นกลางใบ เมื่อกาบใบแห้ง เนื้อเยื่อจะแตกออกทำให้เห็นผงสปอร์สีน้ำตาลของเชื้อรา ถ้าโรครุนแรงลำต้นเน่าหักล้มได้


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อรา Physoderma maydis Miyabe  ชื่อเดิม P. zeae-maydis Shaw สร้าง sporangia ใน pustule สีน้ำตาล กลม นูน ขนาด 18-24 x 20-30 ไมครอน การงอกออกมาต้องมีแสงจึงสามารถปล่อย zoospore ออกมาประมาณ 20-50 สปอร์มีขนาดระหว่าง 3-4x5-7 ไมครอนมี flagella ยาว 3-4 เท่าของความยาวสปอร์ zoospore งอกออกเป็นเส้นใยกลุ่มบางๆ ไม่มีผนังกั้น


การแพร่ระบาด


เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ได้บนเศษเหลือของพืชที่ตกอยู่ในดิน สปอร์สามารถที่จะแพร่ระบาดไปได้โดยลม ฝนและแมลง การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสูง น้ำค้างแรง โดยเข้าทำลายทางรูเปิดตามธรรมชาติของใบหรือทางยอดอ่อนบริเวณ mesophyll เมื่ออุณหภูมิระหว่าง 23-30oซ สามารถสร้าง sporangia ภายใน16-20วันแล้วแพร่กระจายเข้าทำลายพืช


การป้องกัน


1. ไถกลบเศษเหลือของพืชหลังเก็บเกี่ยว เขตกรรมที่ดีการระบายน้ำดี


2. ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72


3. หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น


โรคต้นเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial stalk rot)




โรคโคนเน่าสาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรี มักพบกับข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ราบต่ำ หรือข้าวโพดที่ปลูกบนร่องน้ำ การระบาดทำความเสียหายให้แก่กสิกรที่ปลูกข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) บางสายพันธุ์ที่มักอ่อนแอต่อโรคนี้มาก


ลักษณะอาการ


เริ่มพบเมื่อข้าวโพดอายุสามสัปดาห์ อาการใบไหม้จากปลายใบเข้ามาที่โคนใบ ส่วนยอดของลำต้นมีลักษณะสีซีดเหี่ยวเฉา ต่อมาใบจะไหม้ลุกลามเป็นยอดเน่า อาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อพืชออกดอกจนถึงติดฝัก ลำต้นฉ่ำน้ำ มักพบตรงบริเวณข้อที่อยู่เหนือดิน ลักษณะเป็นรอยช้ำมีสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อภายในลำต้นถูกย่อยสลาย มีน้ำเมือกไหลเยิ้ม มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกเชื้อโรคนี้ ในที่สุดลำต้นจะแตกหักล้มพับ ถ้าพบอาการโรคเข้าทำลายก่อนออกดอก ต้นจะตายอย่างรวดเร็ว ถ้าแสดงอาการหลังติดฝัก ฝักที่ได้เมล็ดลีบไม่สมบูรณ์ ผลผลิตเสียหายมาก เพราะท่อลำเลียงน้ำและอาหารถูกทำลาย


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อบัคเตรี Erwinia chrysanthemi pathovar zeae ชื่อเดิม E. carotovora var. zeae Sabet. เชื้อบัคเตรีชนิดนี้เป็นแกรมลบ มีขนาดระหว่าง 0.6-0.9 x 0.8-1.7 ไมครอน เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วยขนยาวรอบตัว (peritrichous flagella) ไม่สร้างแคปซูล ไม่ติดสีย้อมที่เป็นกรด การเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ Nutrient Agar สร้างโคโลนีสีขาวอมเทา กลมนูน วาว เรียบ ขอบสม่ำเสมอ เมื่อเลี้ยงบนอาหาร Potato-glucose agar ที่ pH 6.5 เมื่ออายุ 3-6 วัน จะมีลักษณะโคโลนีคล้ายไข่ดาว บนอาหาร yeast extract dextrose calcium carbonate (YDC) จะมีเม็ดสีน้ำเงินเข้มไม่ละลายน้ำในโคโลนีที่อุณหภูมิ 22-27oซ ในเวลา 5-7 วัน


การแพร่ระบาด


เชื้อนี้สามารถอาศัยและมีชีวิตอยู่ในดินที่ระดับความลึกตั้งแต่ผิวดินถึง 30 ซ.ม.ได้นานถึง 6 สัปดาห์ในสภาพไร่ปริมาณมากน้อยของเชื้อแตกต่างกันตามการอยู่รอดของเชื้อในดินซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดิน ความชื้น อุณหภูมิและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน ความเป็นกรด-ด่างของดิน นอกจากนี้การแพร่ระบาดได้โดยเชื้อติดไปกับเมล็ด ลม ฝน และแมลง ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรบางชนิด ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อพร้อมที่จะเข้าทำลายพืชในฤดูปลูกต่อไป มักระบาดรุนแรงในบริเวณที่มีระบบการระบายน้ำที่ไม่ดี การปลูกพืชหนาแน่นทำให้อากาศอบอ้าวขาดการระบายอากาศ อุณหภูมิสูงประมาณ 30-35oซ เชื้ออาศัยอยู่บนเศษเหลือของข้าวโพดที่ตกอยู่ในดิน และจะเข้าทำลายข้าวโพดทางรูเปิดตามธรรมชาติ (stomata hydathods) หรือเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นบนใบหรือลำต้นจากแมลงหรือรอยฉีกขาด วนิดาและคณะ (2536) ได้รายงานว่าหญ้าโปร่งกาย (Rottboellia exaltata L.F.)เป็นพืชอาศัยของโรคนี้


การป้องกันกำจัด


1.) หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดหวานและข้าวโพดสายพันธุ์แท้ในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด


2.) ถอนแล้วเผาทำลายต้นที่เป็นโรคทันทีที่พบเห็น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น


3.) ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทานโรค ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค


4.) ควรปลูกข้าวโพดบริเวณที่มีการระบายน้ำได้ดีน้ำไม่ท่วมขัง หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่นและการให้ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง เพิ่มอินทรียวัตถุสูงกว่า 1.5 % เพื่อปรับให้มีการแข่งขันของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต่อเชื้อโรค


5.) ปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด


โรคต้นเน่าเกิดจากเชื้อฟิวซาเรี่ยม (Fusarium Stalk Rot)




โรคนี้พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพด มักพบระบาดในระยะที่ข้าวโพดออกดอก และมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อข้าวโพดติดฝัก อาการจะพบบริเวณราก และลำต้นส่วนล่างทำให้พืชตายก่อนแก่ ฝักเล็กเมล็ดลีบ สภาพดินเป็นกรด ดินร่วนปนทรายโรคจะรุนแรงมาก ชุติมันต์ และคณะ(2543) ได้รายงานการศึกษาโรคไว้ดังนี้


ลักษณะอาการ


สังเกตพบว่าใบต้นที่เป็นโรคสลดสีเขียวอมเทาต่อมาจะไหม้แห้งตาย ลำต้นส่วนล่างไม่แข็งแรง จะมีลักษณะเป็นแผลสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม บริเวณแผลจะแห้งยุบตัวลง ลำต้นแตกหรือฉีกบริเวณเหนือดิน เมื่อผ่าดูจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวปกคลุม บริเวณแผลภายในลำต้น (ไส้) จะมีลักษณะเป็นสีชมพูหรือม่วง ต่อมาลำต้นจะกลวงเพราะถูกเชื้อราย่อยสลาย เมื่อถูกลมพัดต้นหักล้มได้ง่าย


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อรา Fusarium moniliforme Sheld. มีชื่อพ้องว่า F. moniliforme var. subglutinans Wr.& Reink. มีชื่อของระยะที่สืบพันธุ์แบบมีเพศว่า Gibberella moniliformis (Wineland) G. fujikuroi (Saw.) Wr.
เชื้อราสร้างสปอร์แบบไม่อาศัยเพศ บนเส้นใยสีขาวอมชมพูบนกาบใบและตามข้อ สปอร์มีสองขนาด ขนาดใหญ่(macroconidia) ยาวตรง โค้งแหลมเรียวที่ปลายมีขนาดระหว่าง 2.4-4.5 x 15-60 ไมครอน มีผนังกั้น 3-7 เซลล์ สปอร์ขนาดเล็ก (microconidia) มีขนาด 2-3 x 5-12 ไมครอน สร้างเป็นเส้นสายยาวคล้ายลูกโซ่จำนวนมาก บนแขนงเส้นใยเชื้อรา


เชื้อ F. moniliforme var. subglutinans สปอร์ขนาดใหญ่มีความโค้งน้อยกว่าและมีจำนวนผนังกั้น 3 เซลล์ ส่วนสปอร์ขนาดเล็กเกิดเดี่ยวๆไม่ต่อกันเป็นเส้นสาย.ในการคัดเลือกพันธุ์ต้านทานโรคการปลูกเชื้อด้วยวิธี tooth-pick ที่ลำต้นบริเวณข้อที่สองจากพื้นดินเมื่อพืชหลังออกไหม 1 สัปดาห์ และทำให้การประเมินหลังจากปลูกเชื้อ 3 สัปดาห์เป็นวิธีการที่เหมาะสม


การแพร่ระบาด


เชื้อราติดมากับเมล็ด หรืออาศัยในดินและเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมประกอบกับบริเวณราก ลำต้นข้าวโพด ถูกแมลงทำลายทำให้เกิดแผล เชื้อโรคจะเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายอยู่ในลำต้นทั้งที่ไม่แสดงอาการโรค เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม แผลจะแตกสร้างสปอร์มากมายและสามารถแพร่กระจายไปตามลม จากการสร้างสปอร์ 2 ขนาดคือ Macroconidia (สปอร์ขนาดใหญ่) และMicroconidia (สปอร์ขนาดเล็ก) ซึ่งจะพบสปอร์บนเส้นใยสีชมพูอมม่วงหรือชมพูอมส้มเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อที่ปลิวไปในอากาศสามารถเข้าทำลายข้าวโพดโดยตรงได้ทางรูเปิดตามธรรมชาติที่มีความชื้น เช่น บริเวณกาบใบ หรือติดไปกับฝักเมื่อถูกกระเทาะออกมาสามารถแพร่กระจายปนเปื้อนเมล็ดอื่นทั่วทั้งโรงเก็บ เชื้อรานี้สร้างสารพิษ Fumonisins ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็ง


การป้องกันกำจัด


1.) เผาทำลายเศษซากข้าวโพดหลังฤดูเก็บเกี่ยว


2.) หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณมากและใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมน้อยเกินไป


3.) ไม่ควรปลูกข้าวโพดให้แน่นมาก เพื่อให้มีการระบายอากาศและความชื้นได้ดี เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี


4.) ใช้พันธุ์ต้านทานเช่น สุวรรณ 3583 และนครสวรรค์ 72

โรคต้นเน่าเกิดจากเชื้อมาโครโฟมิน่า (Charcoal Rot) 




โรคต้นเน่าสีดำพบทั่วไปในบริเวณที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง พืชกระทบแล้งที่มีความเครียดจากการขาดน้ำ ในประเทศไทยยังไม่พบว่าเป็นอุปสรรคต่อกสิกรที่ปลูกข้าวโพดมากนัก เชื้อราสาเหตุโรคมีพืชอาศัยหลายชนิดนอกจากข้าวโพด เชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ทานตะวัน งา ผักและผลไม้


ลักษณะอาการ


เชื้อราเข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่ระยะกล้าหรือระยะข้าวโพดเริ่มแก่ จะแสดงอาการที่รากโดยเกิดเป็นรอยฉ่ำน้ำสีน้ำตาล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อข้าวโพดแก่เชื้อราจะแพร่ระบาดเข้าไปในบริเวณลำต้นบริเวณคอดิน ทำให้ข้าวโพดแก่ก่อนกำหนด ใบเหี่ยว บริเวณโคนต้นจะแตกออกพบเม็ดเล็กๆสีดำ "สะเคลอโรเทีย" (ส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราซึ่งสามารถอยู่ข้ามฤดู) ภายในลำต้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจพบเม็ดสีดำบนโคนต้นและรากด้วย เชื้อราเข้าทำลายเมล็ดทำให้เป็นสีดำ


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina (Tassi) G. Goid  ชื่อเดิม Macrophomina phaseoli (Maubl.) Ashby เชื้อราสร้างเมล็ดสะเคลอโรเทีย สีดำ กลม ขนาดเล็กมากมายบนส่วนพืชที่เป็นโรค เชื้อที่เข้าทำลายข้าวโพดไม่ สร้างสปอร์ แต่บนพืชอื่นเช่น ถั่วเหลือง ถั่วหรั่งสร้างสปอร์ใส เซลล์เดียวรูปไข่แต่ยาวรีหัวท้ายมนขนาด 7-10x10-28 ไมครอนภายใน pycnidia สีดำ กลม ขนาด 90-212x121-172 ไมครอน 


การแพร่ระบาด


เชื้อราอยู่ข้ามฤดูบนเศษเหลือของข้าวโพดที่ตกอยู่ในดินได้นานถึง 18 เดือน เมื่อถึงฤดูปลูกเชื้อจะเข้าทำลายทางรากและเจริญเติบโตภายในลำต้นของข้าวโพด อุณหภูมิดินที่เหมาะสมที่ 37oซ และจะแสดงอาการให้เห็นชัดเมื่อข้าวโพดแก่


โรคโคนเน่า (Basal Stem Rot Disease)




พบระบาดรุนแรงในบริเวณแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดโดยเฉพาะในฤดูฝน ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นโดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นสูงเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก แคนาดา คอสตาริกา นิการากัว อินเดีย และศรีลังกา สำหรับประเทศไทยพบระบาดเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2536 โดย สำอางค์ และคณะ (2538)ได้สำรวจพบโรคนี้ที่จังหวัดปทุมธานีในโครงการปลูกพืชอายุสั้นทดแทนการทำนาปรัง เมื่อข้าวโพดอายุ 50-60 วัน ซึ่งโรคนี้ทำความเสียหายกับข้าวโพดหวานเป็นพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ และผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์


ลักษณะอาการ


ในสภาพธรรมชาติพบโรคระบาดในระยะที่ข้าวโพดออกดอก แต่เชื้อรานี้สามารถทำลายข้าวโพดตั้งแต่ เมล็ดเน่า ต้นกล้าไหม้ ใบไหม้ ลำต้นเน่าและยืนต้นแห้งตายในที่สุด โดยมีลักษณะอาการโรคตามระยะต่างๆ ดังนี้


1) อาการเมล็ดเน่าและต้นกล้าไหม้ เมื่อเพาะเมล็ดข้าวโพดลงในดินที่นึ่งฆ่าเชื้อ คลุกกับเชื้อราสาเหตุ ทำให้เมล็ดเน่าก่อนงอก พบเส้นใยของเชื้อสาเหตุปกคลุมเมล็ด ในระยะต้นกล้าทำให้เกิดอาการต้นกล้าไหม้แห้งตายอย่างรวดเร็วภายหลัง


2) อาการที่โคนต้น ในสภาพที่ลุ่มน้ำขังที่พบโรคนี้ระบาดบริเวณโคนต้นช่วงข้อที่ 1-2 จะมีแผลฉ่ำน้ำคล้ายอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแต่ไม่มีกลิ่นเหม็น เมื่อถอนลำต้นข้าวโพดพบว่าถอนขึ้นง่ายเพราะระบบรากถูกทำลาย รากจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวถึงสีน้ำตาลและมีเส้นใยสีขาวของเชื้อสาเหตุปกคลุมอยู่บริเวณรากนั้น


3) อาการบนใบ ระยะแรกๆ ใบล่างมีสีเหลืองซีดและลู่ลงตามลำต้น อาการลุกลามขึ้นสู่ใบบนตามกาบใบจนถึงตัวใบจะเกิดแผลสีขาวที่ขอบใบด้านใดด้านหนึ่ง ขนาดไม่แน่นอน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมแผลจะขยายสู่กลางใบและทำให้ใบแห้งทั้งต้น จนถึงเกสรตัวผู้ทำให้การผสมเกสรไม่ติดเมล็ด หรือเมล็ดลีบทำให้ผลผลิตลดลง เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เลย


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อรา Marasmiellus paspali ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 30-35oซ เชื้อราสามารถสร้างดอกเห็ดสีขาวบนต้นพืชที่แสดงอาการโรคได้ภายใน 10-15 วัน ต่อมาเมื่อดอกเห็ดแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกเห็ดระหว่าง 4.5-11.5 มม. ก้านดอกสูง 4.0-13.1 มม. เส้นผ่านศูนย์กลางของก้าน 0.3-1.0 มม. สปอร์ใสไม่มีสี ไม่สะสมแป้ง รูปหยดน้ำมีขนาดกว้างและยาวระหว่าง 3.9-5.2 x 10.3-18.1 ไมครอน


การแพร่ระบาด


สาเหตุจากเส้นใยและสปอร์ของเชื้อที่เกิดจากดอกเห็ด ซึ่งเชื้อราสาเหตุนี้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ใน ดินได้เป็นเวลานาน(soil born) และจากพืชอาศัยโดยเฉพาะพืชตระกูลหญ้าเกือบทุกชนิดที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดจากต้นข้าวโพดต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง โดยการสัมผัสกับส่วนของพืชที่เป็นโรคกับส่วนต่างๆของต้นปกติ ปัจจัยที่สำคัญคืออุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ระดับความชื้นสัมพัทธ์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ การระบายน้ำในแปลงปลูกไม่ดีน้ำท่วมขัง และ pH ของดินเป็นกรดเป็นเหตุให้เกิดโรครุนแรง เชื้อรานี้มีพืชอาศัยกว้าง เช่น พืชตระกูลหญ้าได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ อ้อยเคี้ยว หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนกา หญ้าปล้องหิน หญ้ากุศลา หญ้าหนวดปลาดุก หญ้าแห้วหมู สำหรับพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว และพืชประเภทกล้วย ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง เป็นต้น


การป้องกันกำจัด


1.) การเขตกรรม โดยการเตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับความเป็นกรดด่างในดินปลูกให้เป็นกลางโดยการใช้ปูนขาว


2.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอโดยเฉพาะในระยะข้าวโพดอายุ 50-60 วันเมื่อพบโรคระบาด ให้ถอนและเผาทำลาย


3.) ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว และกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะพืชตระกูลหญ้าที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุของโรคนี้


4.) หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของโรคและพันธุ์ข้าวโพดหวานในแหล่งปลูกที่มีประวัติการระบาดของโรค


5.) ปลูกพันธุ์ต้านทานโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72


6.) ใช้สารเคมี benomyl 50% W.P. และ carbendazin 50% EC ที่ความเข้มข้น 500 ppm ราดดินที่มีเชื้อก่อนเมล็ดงอก สามารถควบคุมโรคนี้ได้ในสภาพโรงเรือนทดลอง


โรคต้น ฝักและเมล็ดเน่าเกิดจากเชื้อดิโพลเดีย (Diplodia Stalk Kernel and Ear Rot )




โรคนี้ระบาดทำความเสียหายให้แก่ข้าวโพดในบางท้องที่และบางฤดูปลูกที่ฝนตกชุก ในขณะที่ข้าวโพดเริ่มออกไหมจนถึงติดเมล็ด สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อรา


ลักษณะอาการ


อาการที่ต้น พบเมื่อข้าวโพดออกไหมเริ่มติดฝักหลายสัปดาห์ พืชจะเหี่ยวแห้งและตายทันที โคนต้นมีสีน้ำตาล หรือ เหลืองซีด กลวง หักล้มง่าย เนื้อเยื่อภายในถูกย่อยสลายกลวงเป็นโพรง เหลือเพียงท่อน้ำท่ออาหารบางส่วน เชื้อราจะสร้างเม็ดกลมดำเล็กๆ มากมายใต้ผิวพืชบริเวณใกล้ข้อของลำต้น เรียกว่า pycnidia และยังอาจพบเส้นใยสีขาวด้วย


อาการที่ฝัก ฝักที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะมีสีซีด หรือเหลืองแบบฟางข้าว ถ้าโรคเข้าทำลายภายในสองสัปดาห์หลังจากออกไหม ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาล ยุบตัวและเน่า ฝักที่ถูกทำลายมีขนาดเล็กตั้งตรงติดแน่นกับเปลือกเนื่องจากเส้นใยเชื้อราปกคลุมไว้ พบจุดเล็กกลมกระจายทั่วทั้งฝัก เมล็ดและซังข้าวโพด ฝักที่ไม่แสดงอาการแต่ถูกทำลายจะพบเส้นใยเชื้อราที่เมล็ด การเข้าทำลายเริ่มจากฐานของฝักไปสู่ปลายฝัก บางครั้งพบการงอกของเมล็ดก่อนแก่


เชื้อสาเหตุ


เชื้อรา Diplodia maydis (Berk.) Sacc. ชื่อเดิม D. zeae (Schw.) Lev.) เชื้อราสร้างสปอร์สีเขียวมะกอก หรือน้ำตาล รูปรียาวหัวท้ายเรียว มีสองเซลล์ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย มีขนาด 5 - 6 x 25 - 30 ไมครอน บรรจุอยู่ในpycnidia รูปร่างค่อนข้างกลมมีปากเปิด เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นจุดดำเล็กมาก ซึ่งใช้อยู่ข้ามฤดูแพร่กระจายสปอร์ต่อไป


การแพร่ระบาด


ข้าวโพดที่ขาดน้ำในระยะกล้า สภาพอากาศที่แห้งและร้อนประมาณ 28 - 30oซ และมีความชื้น 2-3 สัปดาห์ ภายหลังออกไหม พืชมีอาการสำลักน้ำ สภาพเช่นนี้ เหมาะสมต่อการระบาดของโรค การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และโปตัสเซียมต่ำ การปลูกพืชหนาแน่นมาก มีแมลงระบาดทำให้พืชมีบาดแผล เป็นสาเหตุให้โรคระบาดได้ง่าย พันธุ์ที่อายุสั้นมักอ่อนแอต่อโรคนี้มาก เชื้อที่ติดไปกับเมล็ดทำให้เกิดอาการกล้าไหม้ ในระยะต้นโตโรคเข้าทำลายส่วนล่างต่ำกว่าฝักไม่เข้าทำลายทั้งต้น


การป้องกันกำจัด


1. มีการเขตกรรมที่ดี ไถพรวนตากดิน เติมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต่อเชื้อโรค


2. หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จนขาดความสมดุลกับโปตัสเซียม และธาตุอาหารรอง


3. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดหนาแน่น


4. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 5



โรคสมัทหรือโรคราเขม่าสีดำ (Common Smut)




โรคสมัทหรือมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า โรคราเขม่าสีดำ เป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่งของข้าวโพด พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา พบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1822 ทำให้ผลผลิตเสียหายเพียงเล็กน้อยไปจนถึง 6 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในประเทศไทยได้สำรวจพบเมื่อ ปี พ.ศ. 2506 ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2517 สมเกียรติ ฐิตะฐาน และคณะ(2521) พบโรคนี้ระบาดเพียงเล็กน้อยที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสูง และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี อำเภอเมือง อำเภอโกรกพระ และอำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์


ลักษณะอาการ


พบทุกส่วนของพืชที่เป็นเนื้อเยื่อเจริญเซลล์อ่อนบนส่วนต่างๆ ของพืชที่อยู่เหนือดิน ลำต้น ใบ ฝัก และเกสรตัวผู้ เชื้อราจะสร้างปมขึ้น ครั้งแรกจะมีขนาดใหญ่สีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ปมจะแห้งเป็นผง ผนังที่หุ้มปมจะแตกออกปล่อยผงสีดำคือสปอร์ของเชื้อราภายในออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุแพร่ระบาดของโรคในฤดูต่อไป
อาการบนใบปกติจะเกิดเป็นปมเล็กๆ โดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.6-1.2 ซม. อาการบนส่วนอื่นๆ ของพืชจะเกิดปมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกินกว่า 1 นิ้ว บนฝักข้าวโพดส่วนใหญ่จะพบตรงปลายฝัก แต่บางครั้งพบบางส่วนของฝักหรือรอบฝัก ข้าวโพดที่แสดงอาการของโรครุนแรงในขณะที่ต้นกล้าอาจตาย หรือแคระแกรนได้ ส่วนข้าวโพดที่เกิดปมบนส่วนที่ต่ำกว่าฝักจะไม่ให้ผลผลิต หรือเชื้อรากระตุ้นให้เกิดฝักเล็กๆ หลายฝัก


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อรา Ustilago maydis (DC.) Cda. ชื่อเดิม U. zeae Ung. สปอร์ที่ใช้อยู่ข้ามฤดู (Teliospore หรือ chlamydospore) มีสีน้ำตาลเขียวมะกอก ถึงดำ รูปร่างกลมมีหนามแหลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 -11 ไมครอน เมื่องอกสร้าง promycelium มีเส้นใยสีใส ตั้งแต่สี่เซลล์ขึ้นไป รูปร่างหัวท้ายแหลม สปอร์ระยะนี้เรียกว่า sporidia เข้าทำลายพืชได้เมื่อรวมตัวกับสายพันธุ์อื่นที่เข้ากันได้ (compatible mating type) Teliospore เมื่องอกสามารถเข้าทำลายพืชได้ทางปากใบ บาดแผลและเข้าโดยตรงสู่เซลล์พืช


การแพร่ระบาด


เชื้อราจะสร้างสปอร์ ขึ้นในปม (Black masses or smut gall) บนส่วนของพืช เมื่ออากาศแห้ง อุณหภูมิ 26-34oซ ระยะเวลาจากการเข้าทำลายจนถึงสร้างปมนานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปตามสภาพแวดล้อม และสปอร์ดำที่แตกออกจากปมจะแพร่กระจายไปโดยลม ฝน น้ำไหล แมลงและสัตว์ เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในปมแก่ๆ และในดิน บางครั้งสามารถอยู่ได้นานข้ามปี เมื่อถึงฤดูปลูกข้าวโพดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์จะงอกและสร้างส่วนที่แพร่พันธุ์ปลิวไปโดยลม เมื่อไปตกบนพืชเนื้อเยื่ออ่อน ก็จะเข้าทำลายแสดงอาการของโรค เชื้อเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยปกติโรคจะไม่แสดงอาการจนกว่าพืชจะสูงประมาณ 3 ฟุต อาการโรครุนแรงมากถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง


การป้องกันและกำจัด


1.) หมั่นตรวจดูไร่เมื่อพบพืชแสดงอาการ รีบเก็บปมเผาทำลายก่อนที่ปมจะแตก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ


2.) ปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่โรคระบาด ควรปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพด อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 1 ปี


3.) ใส่ปุ๋ยอินทรียวัตถุบำรุงดินเพื่อให้ข้าวโพดแข็งแรงต้านทานต่อโรค หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง


4.) หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดบาดแผลในขณะดายหญ้า (ทำรุ่น) พรวนดิน ซึ่งเป็นเหตุให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย


5.) ปลูกพันธุ์ต้านทานโรคเป็นวิธีดีที่สุด หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค


โรคใบด่าง (Maize Dwarf Mosaic)




ลักษณะอาการ


ข้าวโพดจะแสดงอาการเป็นจุดสีซีด (chlorotic spot) บริเวณฐานของใบอ่อนที่แตกใหม่ จากนั้นอาการจะขยายออกไปเป็นขีดสั้นๆ (broken streak) ไปตามแนวของเส้นใบ ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะกล้าข้าวโพดจะชะงักการเจริญเติบโต เมื่อข้าวโพดแก่ใบเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือม่วงแดง ลักษณะอาการของโรคบางครั้งคล้ายกับโรคราน้ำค้าง แต่ถ้าตรวจสอบเวลาเช้ามืดอาการของโรคใบด่างจะไม่มีผงสปอร์สีขาวๆเกิดขึ้นเหมือนของราน้ำค้าง


เชื้อสาเหตุ


เกิดจากเชื้อวิสา "Maize dwarf mosaic virus (MDMV)" พาหะ เพลี้ยอ่อน Rhopalosiphum maidis


การแพร่ระบาด


เชื้อสามารถแพร่ระบาดไปได้โดยอาศัยเพลี้ยอ่อน ดูดเชื้อจากต้นเป็นโรคไปถ่ายทอดสู่ต้นปกติ การถ่ายทอดใช้เวลาอันสั้นมาก จากการสำรวจพบว่าหญ้าจอนห์สัน อ้อย ข้าวฟ่าง เป็นแหล่งเพาะเชื้อที่สำคัญของโรคนี้ นอกจากแมลงแล้วเชื้อวิสานี้ยังสามารถถ่ายทอดโดยการสัมผัส น้ำคั้นของพืชเป็นโรค (sap)แพร่เชื้อติดไปกับเครื่องมือทางการเกษตร โรคนี้มีความสัมพันธ์กับโรคใบด่างอ้อยมาก (sugarcane mosaic virus)


การป้องกัน

  1. กำจัดพืชที่แสดงอาการโรค และพืชอาศัยที่เป็นแหล่งของเชื้อ เช่น หญ้าจอนห์สัน อ้อย ข้าวฟ่าง ที่แสดงอาการโรค


  2. กำจัดเพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรค


  3. ปลูกพืชหมุนเวียน


  4. ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน เช่น สุวรรณ 5 นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72


โรคฝักและเมล็ดเน่าจากเชื้อรา (Ear and Kernal Rot by Fungi)




ฝักข้าวโพดที่เจริญเติบโตเต็มที่มักถูกทำลายได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยคือ ฝนตก น้ำค้างมาก เปลือกฝักที่หุ้มไม่มิด ต้นหักล้มฝักตกลงดิน นก แมลงทำให้เกิดบาดแผล การเน่าของฝักทำให้ผลผลิตลดลง คุณภาพเมล็ดไม่ดี และเชื้อราบางชนิดสร้างสารพิษเป็นอันตรายต่อการสุขอนามัยของผู้บริโภค


เชื้อราสาเหตุโรคที่สำคัญ
Diplodia maydis, Fusarium moniliforme, Nigrospora oryzae, Penicillium oxalicum, Botryodiplodia theobromae, Rhizoctonia solani, Aspergillus spp.

ลักษณะอาการ


ลักษณะฝักมีสีซีด เหลืองเฉา มีรอยเส้นใยของเชื้อราเจริญ เมื่อปอกเปลือกออกพบเส้นใยของเชื้อราเจริญบนเมล็ด เมื่อเส้นใยแก่จะสร้างสปอร์ขึ้นปกคลุม ถ้าความชื้นสูงพบเส้นใยตั้งแต่บนไหม เมล็ดข้าวโพดที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมื่อเก็บเกี่ยวรวมกันกับข้าวโพดปกติ สปอร์สามารถแพร่กระจาย และเจริญได้ดีเมื่อมีความชื้นจากการระบายอากาศที่ไม่ดี


การป้องกันกำจัด


1.) กำจัดแมลงที่ทำลายฝัก ป้องกันบาดแผลบนฝักและเมล็ด


2.) เก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่ออายุครบกำหนด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานในแปลง หลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวหลังฝนตก ข้าวโพดไม่แห้งสนิท


3.) คัดฝักข้าวโพดที่มีเชื้อราปนเปื้อนออก ก่อนนำไปกะเทาะเมล็ดเพื่อจำหน่าย


4.) ตากเมล็ดให้แห้งสนิท ความชื้นต่ำกว่า 15%


โรคข้าวโพดจากการขาดความสมดุลย์ของธาตุอาหาร




ขณะนี้เป็นฤดูปลูกข้าวโพด เกษตรกรในหลายท้องที่ได้ทำการเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวโพด ในแหล่งปลูกข้าวโพดที่มีดินอุดมสมบูรณ์ การระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูงกว่า 1.5% ความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5.5-8.0 มีฟอสฟอรัสไม่ต่ำกว่า 40 พีพีเอ็ม (หนึ่งในล้านส่วน) และโพแทสเซียมไม่ต่ำกว่า 100 พีพีเอ็ม เป็นสภาพดินที่เหมาะสม การปลูกข้าวโพดโดยทั่วไปจะใส่ปุ๋ย 1-2 ครั้ง ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในเอกสารของสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำว่า


ดินสีแดง ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 25 กก./ไร่ ก่อนปลูกหรือพร้อมปลูก เมื่อข้าวโพดอายุ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 13 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กก./ไร่


ดินสีดำและดินนา ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 22 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 1 เดือน


ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินทุก ๆ 3-4 ปี


ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากว่า เมื่อทำการเพาะปลูกพืชเป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี โดยขาดการเพิ่มอินทรียวัตถุลงไป ทำให้อินทรียวัตถุในดินลดต่ำลง และการใส่ปุ๋ยแต่ละครั้ง เกษตรกรจะใส่ในปริมาณมาก เพราะต้องการเร่งให้พืชโตรวดเร็วทันใจ ปุ๋ยที่ใส่ปริมาณสูง ๆ มักจะมีไนโตรเจนเป็นหลัก ดังนั้น จึงมักพบปัญหาที่นำมาสอบถามที่คลินิกพืชบ่อย ๆ ว่าทำไมข้าวโพดจึงไม่งาม มีโรครบกวน สาเหตุมาจากการใส่ไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักในปริมาณสูง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต ทำให้ข้าวโพดอวบน้ำและโตอย่างรวดเร็ว สภาพความเป็นกรด-ด่างบริเวณรอบ ๆรากข้าวโพดเปลี่ยนแปลงไม่มาก และทำให้ธาตุอาหารรองที่พืชควรจะได้รับถูกตรึงไว้ในดิน จึงเกิดการขาดความสมดุลย์ของธาตุอาหารหลัก (N-P-K) กับธาตุอาหารรอง เช่น ธาตุแคลเซียม เป็นต้น จากประสบการณ์ในการตอบปัญหาที่ส่งมายังคลินิกพืชเกี่ยวกับโรคของข้าวโพดหวาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งผลิตฝักสดเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และโรคในแปลงผลิตข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ พบว่า ข้าวโพดมีการบำรุงด้วยปุ๋ยธาตุอาหารหลักเป็นอย่างดีเมื่ออายุประมาณ 4 สัปดาห์ ลำต้นอวบใหญ่ ข้อสั้น ต้นเตี้ย แต่ยอดอ่อนห่อตัวบิดริ้วเป็นเกลียว ปลายใบห่อ ติดกัน คลี่ออกยาก บางต้นยอดโค้งงอ เนื้อใบขรุขระ 


เมื่อข้าวโพดออกดอก ซึ่งเป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจำนวนมากในการสร้างดอกตัวผู้และตัวเมีย พบว่าบริเวณเนื้อเยื่อเจริญตามข้อและยอดฉ่ำน้ำ ต่อมาจะฉีกขาด กลวง และแห้งตายเกิดอาการเน่าบริเวณยอด กาบใบแห้ง ช่อดอกตัวผู้เน่าและไม่สมบูรณ์ บางต้นช่อดอกตัวผู้แทงออกมาลำบาก


การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกิลร์ทำให้บริเวณฉ่ำน้ำของข้าวโพดอ่อนแอต่อเชื้อจุลินทรีย์ จึงเกิดอาการลำต้นเน่าตามมา ถ้าไม่ศึกษาอย่างละเอียดพอก็จะเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ แต่เมื่อทำการพิสูจน์โรคแล้วพบว่าอาการไม่เหมือนในสภาพไร่ เพราะสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกตินี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ เพราะเชื้อเหล่านี้เพียงแต่ได้โอกาสที่พืชอ่อนแอแล้วเข้ามาซ้ำเติมภายหลัง ไม่ใช่สาเหตุหลักที่แท้จริงของการเกิดโรค


จากการนำตัวอย่างพืชมาวิเคราะห์ธาตุอาหารพบว่า มีปริมาณแคลเซียม 0.25 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักแห้งซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะมีคือ 0.5-0.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตุอาหารรอง ได้แก่ สังกะสี และโบรอนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นจึงเป็นการสรุปได้ว่าอาการผิดปกติของข้าวโพดดังที่แสดงในภาพมีสาเหตุจากการขาดความสมดุลย์ของธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง เมื่อตรวจสอบจากเอกสารถึงลักษณะอาการผิดปกติพบว่าเป็นลักษณะอาการขาดธาตุแคลเซียม แต่ในแปลงข้าวโพดที่มีการเขตกรรมดี ใส่ปุ๋ยพอเหมาะ ไม่มากเกินไปจะไม่พบอาการผิดปกตินี้ ข้าวโพดเป็นพืชไร่มีอายุสั้น ดังนั้นควรป้องกันก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น เพราะถ้าพืชแสดงอาการผิดปกติแล้วจึงทำการฉีดพ่นแก้ไขคงไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน


ข้อเสนอแนะ


1.  การปลูกพืชเดี่ยวซ้ำที่เดิมเป็นเวลานานควรมีการเติมอินทรียวัตถุลงในดินให้สูงกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์

2.  ควรมีการวิเคราะห์ดิน ใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรด-ด่างให้เหมาะสม (pH) ระหว่าง 5.5-8.0 ถ้าดินเป็นกรด ทำให้ธาตุแคลเซียมถูกตรึง พืชนำไปใช้ได้น้อย (pH 4.8 ในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง และ pH 5.5 ในดิน ที่มีอินทรียวัตถุต่ำ)


3.  หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนปริมาณสูง ๆ บริเวณรอบโคนต้นข้าวโพด เพราะทำให้เกิดสภาพเสียสมดุลย์ ทำให้ธาตุอาหารซึ่งบางชนิดอาจถูกตรึงและพืชนำไปใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะธาตุอาหารรอง พืชจึงแสดงลักษณะอาการผิดปกติออกมา ดังนั้น การใส่ปุ๋ยจึงควรทยอยใส่หรือใช้ปุ๋ยที่สลายตัวช้าจะปลอดภัยกว่า การใส่ปุ๋ยทุกครั้งต้องคำนึงถึงความสมดุลย์ของธาตุอาหารหลัก (Macroelement) และธาตุอาหารรอง (Microelement) ด้วยทุกครั้ง เพราะพืชต้องใช้ทุกธาตุอาหารอย่างสมดุลย์ในการสร้างดอก ฝัก และเมล็ด


4.  ในดินที่มีโปแตสเซียมและแมกนิเซียมสูง อาจทำให้การดูดซึมแคลเซียมของข้าวโพดลดลง



ที่มา  @ เอกสารวิชาการ โรคข้าวโพดและการป้องกันกำจัด เรียบเรียงโดย ชุติมันต์  พานิชศักดิ์พัฒนา โกมินทร์ วิโรจน์วัฒนกุล และ อดิศักดิ์ คำนวณศิลป์ สถาบันวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 8089
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง