วิธีเพาะเห็ดปลวก (เห็ดโคน) จากจอมปลวก ได้กินทั้งปี
วัฏจักรชีวิตของปลวกอีกแง่มุมหนึ่ง ที่สัมพันธ์พึ่งพากับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เห็ดโคน”
ภายในรังปลวก จะมีสวนเห็ด (fungus garden) ซึ่งเป็นที่ๆปลวกขับถ่ายเนื้อไม้เศษซากเซลลูโลส ซึ่งผ่านกระบวนการเคี้ยวและการย่อยสลายไปเพียงบางส่วนในลำไส้ของปลวก สวนเห็ดจะชุ่มไปด้วยความเปียกชื้นที่สูงมาก มีเส้นใยสีขาวของเห็ดราเจริญเติบโตทั่วไปหมดตามภาพ ที่เห็นนั้นคือ เส้นใยของเชื้อเห็ดราหลายชนิด รวมถึงเชื้อเห็ดโคนด้วย ที่ปลวกนำมาเพาะเลี้ยง ปกติแล้วเชื้อเห็ดราที่เกิดอยู่ภายในสวนเห็ดของปลวกนั้น มีเชื้อเห็ดปะปนกันอยู่หลายชนิด เช่นเห็ดโคน, เห็ดก้านธูป ฯลฯปลวกจะกินตุ่มเห็ด และเส้นใยเห็ดราบนสวนเห็ดนี้เป็นอาหาร ดังนั้นในสภาวะปกติปลวกจำนวนมหาศาลภายในรังจะกินเห็ดราบนสวนเห็ดจนไม่มีโอกาสที่ตุ่มเห็ดจะเจริญเติบโตกลายเป็นไปดอกเห็ดได้ทันเลย
จาวปลวก หรือ รังที่ปลวกใช้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนและเกิดราเห็ดโคน
สวนเห็ด (fungus garden) ซึ่งปลวกทหารทำหน้าที่ดูแลอย่างดี
เมื่ออากาศอบอ้าวและร้อนจัด ฝนตกหนักพื้นดินเปียกชุ่มและอ่อนตัว มันเป็นฤดูอพยพย้ายรังของปลวกวรรณะสืบพันธุ์จำนวนมากนับแสนนับล้านตัว กลายร่างเป็นแมลงเม่าโบยบินออกไปจากรังปลวก ประชากรปลวกภายในรังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปลวกที่เหลือกินเชื้อเห็ดราไม่ทัน ตุ่มเห็ดภายในรังปลวกจึงมีโอกาสเจริญเติบโตงอกทะลุขึ้นมาเหนือพื้นดินที่อ่อนนุ่มนี้ได้ มันช่างเป็นช่วงจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ธรรมชาติจัดให้เพราะพื้นดินอ่อนนุ่มและชื้นแฉะ ซึ่งถ้าดินแห้งแข็งก็ไม่มีทางเลยที่เห็ดโคนจะแทงทะลุขึ้นมาขยายพันธุ์ได้ เมื่อดอกเห็ดโคนบานเหนือพื้นดินมันจะปลดปล่อยสปอร์ขนาดเล็กๆฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ไกลออกไป ปลิวตกลงบนซากใบไม้ เนื้อไม้ผุๆ แมลงเม่าเจ้าชาย และเจ้าหญิงที่เพิ่งสลัดปีกและจับคู่ผสมพันธุ์กันสร้างอาณาจักรใหม่ที่เกิดบนดินเปียกแฉะ อาณาจักรแรกเริ่มที่มีขนาดเพียงไม่กี่ตารางเซ็นติเมตร มันจะเริ่มออกหาอาหารไปคาบเศษซากใบไม้ ซากเนื้อไม้ซึ่งก็จะมีสปอร์ของเห็ดโคนปะปนติดอยู่ด้วย นำกลับมาสร้างเป็นสวนเห็ดขนาดเล็กๆ เพาะเลี้ยงเห็ด และแพร่พันธุ์เพิ่มประชากรปลวก ขยายอาณาจักรให้ใหญ่โตเป็นจอมปลวก วนเวียนเป็นวัฏจักรไปไม่มีจบสิ้น จำนวนจอมปลวกจึงทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีศัตรูที่น่ากลัวอย่างมนุษย์ไปรุกรานมัน ในธรรมชาติมีปลวกอยู่หลายชนิด แต่ผมเคยเห็นปลวกชนิดนี้มีเห็ดโคนเกิดรอบๆ ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่ จึงเลือกใช้จาวปลวกจากจอมปลวกชนิดนี้ วิธีขุดใช้เสียบหรือจอบขุดเบาๆ ไม่ต้องลึกมาก จะเจอจาวปลวกอยู่จำนวนมาก เราเก็บมาแค่เล็กน้อยไม่ถึงขั้นต้องทำลายจอมปลวกทั้งหมด
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเห็ดโคน
เห็ดโคนอยู่ในวงศ์Tricholomataceae วงศ์ย่อย Termitophilae สกุล Termitomyces พบกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอัฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Termitomyces aurantiacus, T. clypeatus, T. heimii, T. globulus และ T. eurhizus เห็ดโคนใหญ่ที่สุด คือ T. titanicus พบในประเทศแซมเบียมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอก 63 ซม. หนัก 2.5 กก. เห็ดโคนออกดอกตั้งแต่ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เห็ดแต่ละชนิดมีช่วงการเกิดแตกต่างกัน เห็ดที่พบในจังหวัดเพชรบุรีและทางตะวันตกของกาญจนบุรีมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุดและราคาสูง และน้ำสกัดเห็ดโคนมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคได้หลายตัว เช่น ไทฟอยด์ และเชื้อ Enterobacteria
การเกิดเห็ดโคนนี้มีความสัมพันธ์กับปลวกแบบพึ่งพาอาศัยกัน (obligate symbiosis) กล่าวคือ ปลวกอาศัยเห็ดในการย่อย cellulose และlignin จากเศษไม้ในรังปลวกให้เป็นโมเลกุลของน้ำตาล ส่วนเห็ดมีชีวิตอยู่ได้ในรังปลวกโดยใช้สารเคมีที่ปลวกขับถ่ายออกมา ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราจัดอยู่ใน Family Termitidae จำแนกพบในประเทศไทยมี15 ชนิด จัดอยู่ใน 5 สกุล ดังนี้ สกุล Odontotermes พบ 8 ชนิด สกุล Macrotermes พบ 4 ชนิด สกุล Hypotermes พบ 1 ชนิด สกุล Ancistrotermes พบ 1 ชนิด
และสกุล Microtermes พบ 1 ชนิด
เห็ดโคนเป็นเห็ดกินได้ที่มีรสชาติดีเป็นที่นิยมบริโภค จึงทำให้เห็ดโคน มีราคาแพง เห็ดโคนสดราคากิโลกรัมละ 80-500 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกเห็ด ชนิดดอกตูมหรือดอกบาน และสถานที่วางจำหน่าย ดังนั้นเห็ดโคน จึงเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจมาก
การวิจัยเพาะเลี้ยงเห็ดโคนโดยวิธีเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดโคนในถุงมีผู้ทดลองทำหลายคนแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะการเกิดเห็ดโคน จะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีรังปลวกเท่านั้น ดังนั้นแนวคิดการเพาะเลี้ยงเห็ดโคน จึงควรเลี้ยงปลวกเพื่อชักนำให้เกิดเห็ดโคนในพื้นที่ต้องการ และชนิดปลวกที่นำมาเลี้ยงจะต้องเป็นปลวกชนิดที่เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดโคนเท่านั้น ไม่ใช่ปลวกกินไม้ทำลายบ้าน ผลของการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ และเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์จึงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
ปลวก ???
ชนิดของปลวกจำแนกตามพฤติกรรมการกินอาหาร สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มปลวกกินเนื้อไม้(Wood feeder termites) ,
2) กลุ่มปลวกกินดินและอินทรียวัตถุ (Soil and humus feeder termites) ,
3) กลุ่มปลวกกินไลเคน (Lichen feeder termites) ,
4) กลุ่มปลวกกินทั้งเนื้อไม้ เศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้ในรัง (Fungus growing termites)
กลุ่มปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคน (Fungus growing termites) ปลวกในกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการย่อยสลายสูง สามารถกินอาหารได้หลายอย่างที่แห้งและเน่าสลายผุเปื่อย ตลอดจนซากพืชเป็นอาหาร และภายในรังของเห็ดโคนกับปลวก ปลวกกลุ่มนี้จะมีสภาวะที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดโคน จะพบเชื้อเห็ดโคนเป็นตุ่มเล็กสีขาวกระจายอยู่ในรังปลวก ที่เรียกว่า สวนเห็ด (fungus garden) เมื่อถึงฤดูกาลสภาวะแวดล้อมเหมาะสมอากาศร้อนอบอ้าว มีอุณหภูมิและความชื้นสูงพอเหมาะ เชื้อเห็ดโคนก็จะเจริญเติบโตสร้างสายใย รวมเป็นแท่งของดอกเห็ดและเปลี่ยนเป็นดอกเห็ดโผล่ขึ้นพ้นดิน
ความสัมพันธ์ระหว่าง เห็ดโคน กับ ปลวก
เห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับปลวก (obligate symbiosis) โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เห็ดโคนจะเจริญเติบโตออกจากรังปลวกหรือจอมปลวก ถ้าพบเห็ดโคนเจริญเติบโตในบริเวณใดก็ตามเมื่อขุดลึกลงในดินจะพบรากเห็ดโคนเจริญมาจากรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb) หรือสวนเห็ด (fungus garden) เมื่อเห็ดโคนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีการสร้างสปอร์บริเวณครีบดอก และในขณะที่ดอกเห็ดบานออกจะปล่อยสปอร์ที่แก่หลุดออกจากดอก ซึ่งจะถูกลมพัดพาไปตกในบริเวณที่เหมาะสม หรือบริเวณที่มีอินทรียวัตถุมากๆ จะมีกลิ่นดึงดูดปลวกได้เป็นอย่างดี ปลวกจะกินอินทรียวัตถุเป็นอาหารพร้อมกับคาบบางส่วนเข้าไปในรังปลวกเพื่อเก็บเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอ่อน การสร้างรังปลวกจะเริ่มที่ผิวดินก่อน สปอร์ของเห็ดโคนจะเข้าไปในรังปลวกพร้อมกับเจริญเติบโตเป็นเส้นใยอยู่ภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน จากนั้นเส้นใยของเห็ดโคนก็จะพัฒนาไปเป็นตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่บริเวณสวนเห็ดซึ่งอยู่ภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน ถ้าสภาวะแวดล้อม อุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมตุ่มดอกจะค่อยๆ พัฒนา และเจริญไปเป็นดอกเห็ดโคนต่อไป
การสร้างรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb)
ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราจะขับถ่ายมูลออกมาสองชนิดคือ ชนิดแรกเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้เพียงเล็กน้อยและอยู่ในสภาพเป็นของแข็ง และชนิดที่สองเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้อย่างดีแล้วและอยู่ในสภาพเป็นของเหลวมูลชนิดแรกประกอบด้วยเศษพืช (เศษไม้) ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ปลวกกัดกินเข้าไป และผ่านกระเพาะของปลวกออกมาอย่างรวดเร็ว โดยในขณะที่ผ่านกระเพาะปลวกนั้นเศษพืชถูกคลุกเคล้าด้วยน้ำย่อย ดังนั้นมูลที่ถ่ายออกมาจึงมีรูปร่างเป็นท่อนกลมสั้นๆ ซึ่งต่อมาจะถูกกราม (mandibles) ของปลวกกัดจนเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วนำไปสร้างเป็นรังเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำมีรูพรุน รูปร่างติดต่อกันเป็นร่างแห ลักษณะของรังเลี้ยงตัวอ่อนมีลวดลายแตกต่างกันบางครั้งสามารถบอกสกุลของปลวกได้
ในขณะที่ปลวกสร้างรังเลี้ยงตัวอ่อนนี้เองจะมีราเกิดขึ้น โดยเส้นใยของราจะมารวมตัวกันเป็นก้อนราสีขาวขนาดเล็กมากที่เรียกว่า nodules อยู่บนรังเลี้ยงตัวอ่อนและเป็นอาหารของปลวก แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งปลวกจะกินน้อยลงทำให้nodules เจริญรวมกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้นและยืดยาวเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน (pseudorhiza) งอกผ่านดินจนทะลุขึ้นเหนือผิวดินกลายเป็นดอกเห็ด ปลวกเมื่อกินเส้นใยของราเข้าไปแล้วจะถ่ายมูลออกมาเป็นมูลชนิดที่สอง คือเป็นของเหลวซึ่งปลวกนำไปใช้เคลือบผนังด้านในของห้องเห็ด ดังนั้นรังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีน้ำย่อยจากลำไส้ของปลวกผสมอยู่ด้วย น้ำย่อยนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เส้นใยของเห็ดโคนเจริญเติบโตดี ส่วนประกอบของรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb) สร้างจากกากอาหารของปลวกนั่นเอง
การเจริญเติบโตของเห็ดโคนในรังปลวก
การเจริญเติบโตของเห็ดโคนจากการศึกษาของ Bels and Pataragetvit (1982) แบ่งเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 (first phase) ระยะแรกจะเริ่มต้นภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb) ปรากฏกลุ่มของเส้นใยที่มีลักษณะกลมมีขนาดเล็กกระจายกันอยู่ทั่วไป เส้นใยมีสีขาวคือกลุ่มของเส้นใยเห็ดโคน จากนั้นเส้นใยจะรวมตัวกันและจะเจริญเป็นปมเล็กๆ (nodules) ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.5-1.5 มม. และบางครั้งจะพบเส้นใยสีเขียวมะกอกซึ่งเป็นกลุ่มเส้นใยของเชื้อรา Xylaria sp. เจริญปะปนอยู่ด้วย บริเวณรังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีตัวอ่อนของปลวกเป็นจำนวนมากกินเส้นใยและตุ่มเห็ดเป็นอาหาร ตัวอ่อนของปลวกจะช่วยกันดูแลและควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นใย ซึ่งเป็นการกระตุ้นหรือช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดโคน และช่วยลดการเจริญเติบโตของเส้นใยเชื้อรา Xylaria sp. ด้วย
ระยะที่ 2 (second phase)เป็นระยะที่ปลวกกินเส้นใยเห็ดโคนน้อยลง เนื่องจากมีการอพยพไปสร้างรังใหม่ ทำให้เส้นใยเห็ดโคนเจริญเติบโตเป็นกลุ่มเส้นใยคล้ายกำมะหยี่สีขาว โดยมีเชื้อราสีเขียวมะกอกของ Xylaria sp. เจริญควบคู่กันไปด้วย ในระยะที่สองนี้เส้นใยเห็ดโคนจะเริ่มพัฒนาไปเป็นส่วนที่คล้ายราก (pseudorhiza) ซึ่งจะเจริญเติบโตไปเป็นดอกเห็ดโคนต่อไป มักอยู่ในช่วงฤดูฝน บางครั้งพบว่าเชื้อรา Xylaria sp. ก็เริ่มพัฒนาเป็นดอกเช่นกัน จะมีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กสีดำ แต่ไม่สามารถเจริญผ่านชั้นของดินขึ้นมาได้ จะเกิดได้เฉพาะในรังปลวกเท่านั้น แต่สำหรับเห็ดโคนซึ่งมีหมวกดอกที่แข็งแรงสามารถเจริญแทงผ่านทะลุชั้นของพื้นดินขึ้นมาได้
บริเวณรังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีตัวอ่อนของปลวกเป็นจำนวนมากกินเส้นใยและตุ่มเห็ดเป็นอาหาร
ระยะที่ 3 (third phase)เป็นระยะสุดท้ายซึ่งไม่มีเชื้อเห็ดโคนและไม่มีตัวปลวก รังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีสีเขียวปนดำ และมีเส้นใยของเชื้อรา Xylaria sp. ขึ้นกระจายอยู่ทั่วรังปลวกและบางครั้งอาจโผล่ออกมาจากรังปลวกได้ ในระยะแรกเส้นใยจะมีสีขาวภายหลังจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
นิเวศวิทยาของเห็ดโคน
การแพร่กระจายของชนิดเห็ดโคนจะเกิดควบคู่กันไปกับการกระจายตัวของชนิดปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พบขึ้นในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นเท่านั้น เช่น ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชียใต้และทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนพบอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น และเกาะไต้หวัน โดยจะพบเห็ดโคนขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ที่มีปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราสร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน หรือขึ้นบนจอมปลวก ในประเทศไทยมีระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเกิดเห็ดโคนเนื่องจากอยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก และส่วนใหญ่เห็ดโคนมักแพร่กระจายในสภาพนิเวศป่าที่ค่อนข้างโปร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์มีป่าไผ่ขึ้นอยู่เห็ดโคนจะชอบขึ้น นอกจากนี้ยังพบมีการแพร่กระจายอยู่ในระบบนิเวศของป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ตลอดไปจนถึงพื้นที่เกษตรกรรม เช่น สวนผลไม้และสวนป่าสัก เป็นต้น ในประเทศไทยเห็ดโคนจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ถ้าฤดูฝนยาวนานกว่าปกติอาจพบเห็ดโคนได้ในเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม ทางภาคใต้เห็ดโคนสามารถขึ้นได้สองครั้งต่อปีเห็ดโคนสามารถพบได้ทั้งชนิดที่ขึ้นอยู่บนจอมปลวกและบริเวณพื้นที่รอบๆ จอมปลวก หรือขึ้นกระจายอยู่บริเวณที่ราบหรือเนินบนพื้นดินทั่วไป โดยที่ไม่มีจอมปลวกแต่จะมีรังปลวกอาศัยอยู่ใต้ดิน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีการปกคลุมด้วยเศษไม้และใบไม้ร่วงหล่นทับถมกันอยู่ โดยทั้งชนิดของเห็ดโคนและช่วงการเกิดดอกเห็ดจะแตกต่างกันออกไปตามสภาวะแวดล้อมในแต่ละพื้นที่
สภาพดินที่พบเห็ดโคนเจริญเติบโตจะเป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย ดินเหนียวปนดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย และเป็นบริเวณที่มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ส่วนบนพื้นดินจะปกคลุมด้วยเศษไม้และใบไม้ หรือต้นหญ้าก็ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเกิดเห็ดโคนประมาณ 30-35O°ซ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินประมาณ 6.2-6.5 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณพื้นดินเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศประมาณ 85-90%
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดโคน
บริเวณรังปลวกที่มีเห็ดโคนขึ้นอยู่จะมีความชื้นสูงมาก อุณหภูมิภายในโพรงของรังปลวกประมาณ 28-30°Oซ และอุณหภูมิภายนอกรังปลวก
ประมาณ 26-27°O°ซ สภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 5.0-5.6 และความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศประมาณ 70-80%
ไม่ต้องรอเป็นปี ก็มีเห็ดปลวก(เห็ดโคน) มาให้กิน ...
ใช้จาวปลวกเพียงเล็กน้อยประมาณหนึ่งกำมือ ต่อ ข้าวสวย 1 กิโลกรัม เสร็จแล้วก็คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ก่อนจะเติมน้ำเปล่าลงไปอีก 20 ลิตร
เอารังปลวก 1 กำมือ ผสมข้าว 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 20 ลิตร
หมักใว้ในถัง วางในที่ร่มทิ้งใว้ 7-10 วัน
แล้วเอาไปราดลง จอมปลวกข้างบ้าน
หาฟางหรือใบใม้มาคลุม เสร็จแล้วให้รดน้ำพอชื้น
ประมาณ 10-15 วันก็จะมีเห็ดโผล่ขึ้นมา
ตามหลักวิทยาศาสตร์ ปลวกย่อยเซลลูโลสเองไม่ได้ ต้องอาศัยโปรโตซัว และเชื้อราช่วย เราก็ประยุกต์ขยายเชื้อเหล่านั้นมาช่วยย่อยเศษใบไม้ใบหญ้าให้มันสลายตัวเร็วขึ้นหมักไว้ ๗ วัน จุลินทรีย์โปรโตซัวจะขยายตัวเป็นฝ้าสีขาว
การนำไปใช้
ใช้จุลินทรีย์จาวปลวกเอาใส่นา รดผัก ผลไม้ ให้ผสมน้ำให้ไก่กิน ก็ได้ผลดีคับ บางคนเอาไปรดบนโคนตันไม้ เค๊าบอกเกิดเห็ดโคนขึ้นมา ใช้อัตราส่วนประมาณ 1 ลิตร /น้ำ 10 ลิตรใช้ฉีดพ่นเพื่อย่อยสลายเศษวัชพืช(หมักทำปุ๋ยหมัก) หรือย่อยสลายตอซังข้าวก่อนทำการไถประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นไถกลบ และหากจะนำไปรดโคนต้นเพื่อบำรุงพืชผลอื่นๆก็ได้เช่นกัน ในอัตราส่วนข้างต้น ไม่ตายตัวสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน
การเพาะเห็ดโคนจากจุลินทรีย์ปลวก
นำน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกนี้ ไปราดที่จอมปลวก คลุมด้วยฟางข้าวหรือใบไม้ รดน้ำพอชื้น ประมาณ ๑๐ วัน ก็จะมีเห็ดโคนขึ้น นำไปประกอบอาหารที่เป็นเห็ดโคนธรรมชาติไร้สารเคมี เป็นเมนูอาหารที่วิเศษมาก
เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก
เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก เป็นเห็ดใน genus (สกุล) Termitomyces ยกตัวอย่างเช่น Termitomyces fuliginosus ซึ่งชนิด ( species) นี้จะรสชาติดี และเป็นที่นิยมกินกันมากที่สุด
เห็ดโคน (Cr. ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
เห็ดโคนจะมีให้เรากินในช่วงเวลาไหน? ความจริงอยากจะตอบว่า จริงๆแล้วเห็ดโคนสามารถมีได้ทุกเวลาของปี แต่จะมีเงื่อนไขสำคัญว่า สภาพดินฟ้าอากาศจะต้องเอื้ออำนวยนั่นคืออากาศต้องร้อนอบอ้าวผิดปกติ อย่างที่เรียกกันว่า ” ร้อนเห็ด ” มีฝนตกลงมาอย่างหนัก และที่สำคัญคือจะต้องมีแมลงเม่า ( หรือเขียนผิดๆว่าแมงเม่า ) จำนวนมากบินออกมาจากรังปลวก การที่แมลงเม่าทิ้งรังทำให้ เห็ดโคนในรังปลวกเหลือเพียงพอที่จะแทงทะลุดินออกมาให้เราได้กินกัน จากเงื่อนไขที่ปลวกทิ้งรังข้างต้นนี้ เราจึงพบว่าเห็ดโคนส่วนใหญ่จะออกในฤดูฝน แต่ในฤดูหนาวเดือนธันวาคมก็ยังพบว่ามีเห็ดโคนบางชนิด เช่นแถวจังหวัดนนทบุรีจะมีเห็ดโคนข้าวตอกซึ่งเป็นเห็ดโคนขนาดเล็กออกมาให้เรากินกัน แต่อย่างไรก็ตามจะมีเห็ดโคนออกมามากในช่วงเทศกาลกินเจคือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี
การพยายามเพาะเห็ดโคน มีมานานมากแล้ว ย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 40 ปี สมัยแรกถึงขั้นทะลายรังปลวกมากมาย นำมาศึกษาในห้องทดลอง ด้วยสมมุติฐานต่างๆ รวมทั้งมีบริษัทห้างร้านที่ให้เงินทุนวิจัย ด้วยหวังว่าถ้าสำเร็จก็จะนำมาซึ่งความร่ำรวยอย่างมหาศาล แม้ในปัจจุบันนี้ สมมุติฐานแทบทุกชนิดก็ถูกนำมาทดลองจนหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊สในรังปลวก มีผลต่อการกระตุ้นเส้นใยเห็ดหรือไม่ เพราะภายในรังปลวกจะมีแก๊สมีเทนในปริมาณที่เหมาะสมจำนวนหนึ่ง ทดลองถึง อุณหภูมิ ความดัน สารละลายในรังปลวก ฯลฯ ในสมัยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ถึงขั้นพยายามตัดต่อหน่วยพันธุกรรม( DNA ) ของเห็ดโคน เพื่อจะเพาะเลี้ยงมันขึ้นมาเองให้ได้ จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ จนบางคนทนไม่ไหวขุดรังปลวก นำมาไว้ข้างบ้าน นำอาหารมาเลี้ยงดูปลวกเช่นใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้งเล็กๆ เพื่อจะได้อาศัยกินเห็ดโคนเล็กๆน้อยๆ ในบางช่วงเวลาก็ยังดี
และในที่สุดทุกวันนี้ พวกเราจะพูดสรุปกันว่า ” ถ้าจะเพาะเห็ดโคน ก็ต้องเลี้ยงปลวกด้วย ” ว่าแต่อย่าเพาะเห็ดใกล้บ้านนะครับกลัวจะไม่เหลือเสาบ้าน ฮาๆๆ ควรที่จะเพาะในป่า
ด้วยชื่อเสียงความมีรสชาติอร่อยของเห็ดโคน ภายหลังจึงมีคนสมองใส ได้นำเห็ดชนิดอื่น นำมาตั้งชื่อให้คล้ายเห็ดโคน (แต่ไม่ใช่เห็ดสกุล Termitomyces ) นำออกมาวางขาย ซึ่งมองในแง่ทางเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะเกษตรกรจะได้มีรายได้ ประเทศชาติมีเงินหมุนเวียน
ขอขอบคุณ @ บ้านผักยิ้มหวาน, เห็ดดคนกับปลวก
Relate topics
- เชื้อราเมธาไรเซียม ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เช่น ปลวก ด้วงหนวดยาว ด้วงมะพร้าว ฯลฯเชื้อราเมธาไรเชียมคุณสมบัติหลักคือใช้กำจัดแมลงเช่นเดียวกันเชื้อราบิวเวอเรีย แต่เชื้อราเมธาไรเซียมมีความสามารถในการกำจัดแมลงได้ดีกว่าเชื้อราบิวเวอร์เรียเนื่องจากคุณสมบัติของเชื้อราเมธาไรเซียมทนอุณภุ
- เทคนิคปลูกแตงกวาระดับเซียน!แตงกวา หรือ แตงร้าน เป็นไม้เลื้อยในวงศ์ Cucurbitaceae (ตระกูลเดียวกันกับแตงโม ฟักทอง บวบ มะระ น้ำเต้า) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย นิยมปลูกเพื่อใช้ผลเป็นอาหาร มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 30-4
- เทคนิคทำให้ถั่วฝักยาวออกฝักมากถั่วฝักยาวนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรไทยมาช้านาน การปลูกเพื่อการค้าให้ถั่วฝักยาวมีผลิตที่คุ้มค่านั้นนอกจากการให้ปุ๋ย ให้น้ำ หมั่นกำจัดวัชพืช ให้การดูแลอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีเคล็ดลับในการทำ
- เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) !!! วิธีปลูกผักที่แทบจะไม่ต้องรดน้ำ ทำครั้งเดียวปลูกได้หลายปีถ้าเราออกแบบระบบการเกษตรให้เหมือนกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราก็จะได้ระบบการเกษตรที่สอดคล้องและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทั้งยังได้ผลิตผลสูงและมีความยั่งยืนมากกว่าระบบที่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูที่ต้อ
- ข้าวโพดหวานสองสี (Bio Color Sweet Corn)ข้าวโพดหวานสองสี จัดอยู่ในตระกูล Poaaceae (Gramineae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea may L. var. saccharata เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ปลูกฤดูเดียว ลักษณะลำต้นเป็นปล้องสีเขียว มีจำนวน 8-20 ปล้อง มีขนาดเส้นผ่
- มารู้จัก ชนิดของข้าวโพดหวานปัจจุบันประเทศไทย ส่งออกข้าวโพดหวานในรูปแบบต่างๆ สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และฮังการี ยอดส่งออก ข้าวโพดหวานของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาโดยตลอด จากปริมาณการส่งออก
- ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทยในอดีต ประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๔ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิ
- โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (2) โรคจุดสีน้ำตาล (Brown Spot) โรคจุดสีน้ำต
- โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (1) โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย (Corn Downy Mildew)
- การปลูกข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) ให้มีคุณภาพ การป้องกันโรคต่างๆ การดูแลอย่างถูกต้อง ข้าวโพดหวาน อยู่ใน ตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียว