โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (1)
โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย (Corn Downy Mildew)
โรคราน้ำค้างของข้าวโพด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโรคใบลาย เป็นโรคที่ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้แก่แหล่งที่ปลูกข้าวโพดในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย การสำรวจพบโรคนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อำเภอพยุหะคีรีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี2511 ต่อมาพบระบาดอีกในหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา จนถึงปัจจุบันนอกจากจังหวัดที่ได้กล่าวถึงโรคนี้ระบาดไปทุกแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพด โดยเฉพาะกาญจนบุรีและอุทัยธานีที่มีการปลูกข้าวโพดติดต่อกันตลอดปี พบว่าไม่สามารถควบคุมโรคโดยใช้สารเมตาแลคซิลที่เคยใช้ได้ผลในอดีตที่ผ่านมา ความรุนแรงของโรคทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง 30-80 เปอร์เซ็นต์ ในแหล่งที่โรคระบาดรุนแรงและพันธุ์ข้าวโพดที่อ่อนแอจะทำความเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวโพดเทียนและข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคมาก
ลักษณะอาการของโรค มี 3 ลักษณะดังนี้
1.) Infection site หรือบางครั้งเรียกว่า infection point อาการที่มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร จุดมีลักษณะเป็นสีเขียวฉ่ำน้ำ เกิดจากการเข้าทำลายของ germ tube ที่งอกออกจากสปอร์ มักเกิดและเห็นได้ชัดกับข้าวโพดที่ระยะกล้าอายุประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์
2.) Local symptom อาการเฉพาะแห่ง เป็นลักษณะอาการที่เกิดต่อมาจากอาการแบบที่1พบเป็นทางยาวสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ แผลจะขยายจากจุด infection site ลามลงมาทางโคนใบ ต่อมาเมื่อข้าวโพดอายุมากเข้ารอยสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายใบไหม้และแห้งตายในที่สุด
3.) Systemic symptom อาการกระจายทั่วต้น ลักษณะอาการที่ต้นข้าวโพดมีใบสีเหลืองซีดโดยเฉพาะในบริเวณยอด ต้นแคระแกรน เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมากหรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย บางครั้งใบยอดมีลักษณะอาการใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ หลังจากใบแรกที่แสดงอาการแบบนี้แล้ว ใบที่เจริญต่อมาจะแสดงอาการแบบ systemic หมด ถ้าความชื้นสูงเชื้อทำให้เกิดอาการยอดแตกฝอยเป็นพุ่ม เกสรตัวผู้กลายเป็นเกสรตัวเมียสร้างเมล็ดและต้นอ่อน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการระบาดของโรค
1.) ความชื้นของบรรยากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำค้าง อากาศเย็น และฝนตกชุกอย่างไรก็ตามแม้ว่าฝนจะตกชุกแต่ดินไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้ความชื้นที่สูงเกิดในระยะเวลาสั้นๆ โรคก็เกิดน้อย
2.) อุณหภูมิของบรรยากาศ เชื้อโรคนี้จะเจริญได้ดีในที่อุณหภูมิค่อนข้างเย็น คือประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส
เชื้อสาเหตุ
เชื้อรา Peronosclerospora sorghi (Weston &Uppal) C.G. Shaw เชื้อราชนิดนี้มีก้านชูสปอร์ตรง แผ่ขยายออกที่ปลาย สีใส มีขนาด 180-300 ไมครอน มักจะแตกแขนงแบบสองแฉกเสมอ แทงทะลุออกมาจากปากใบข้าวโพดแบบเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม จากใต้ใบและด้านบนของใบ สปอร์ใสรูปไข่หรือรียาวมีขนาดอยู่ระหว่าง 14.4-27.3x15-28.9 ไมครอน ติดอยู่บนก้านชูเรียวแหลมยาวประมาณ 13 ไมครอน
การงอกของสปอร์โดยสร้างท่อเล็กยาว เมื่อมีหยดน้ำแล้วแทงทะลุผ่านปากใบเข้าทำลายพืช เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเชื้อราสร้างสปอร์ผนังหนา รูปร่างยาวรี ฝังตัวอยู่ในเนื้อใบบริเวณท่อน้ำท่ออาหาร มีขนาด 25-42.9 ไมครอน สีใส ผนังสีเหลือง เพื่อคงทนต่อสภาพแวดล้อมและติดไปกับเมล็ด ใบข้าวโพดที่แสดงอาการโรค เชื้อราจะสร้างสปอร์เมื่อมี ความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 17-29 oซ ช่วงที่เหมาะสมคือ 24-26 oซ การงอกของ สปอร์ต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูง อุณหภูมิ 21-25 oซ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนแล้ว สปอร์มีอายุเพียง 3-4 ชั่วโมง และเมื่อถูกแสงแดดยามเช้าก็ตายไป การเข้าทำลายพืชทั้งต้นสามารถพบได้ที่ อุณหภูมิ 11-32 oซ ที่มีความชื้นอย่างน้อย 4 ชม.
การแพร่ระบาด
โรคจะเริ่มระบาดตอนต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมไปจนสิ้นฤดูฝนเมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิ 20-26 oซ และความชื้นสูงเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราชนิดนี้มาก โดยสามารถพบเชื้อโรคสร้างสปอร์ เป็นผงสีขาวๆบนผิวใบที่ลายของข้าวโพดในเวลาเช้ามืดของคืนที่มีฝนตกและอากาศค่อนข้างเย็น เมื่อสปอร์แก่จะแพร่ระบาดไปโดยลมเข้าทำลายต้นอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้เชื้อที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่แห้งดี เชื้อโรคที่ตกอยู่ในดิน หรือที่เกิดบนพืชอาศัยอื่น พอสรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
1.) ใบข้าวโพดที่เป็นโรค
2.) ติดมากับเมล็ดข้าวโพดจากต้นที่เป็นโรค
3.) พืชอาศัยบางชนิด เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าพงหรือแขม หรืออ้อยเลา หรือหญ้าคาหลวง (Saccharum spontaneaum)
4.) เชื้อราอาจจะตกค้างในดินในรูปของสปอร์ที่มีผนังหนา
การป้องกันกำจัด
1.) หลีกเลี่ยงการปลูกก่อนฝนตกชุกหรือปลูกก่อนฤดูฝน ซึ่งโดยปกติพบว่าโรคนี้มักระบาดในช่วงฤดูฝนกับข้าวโพดที่มีอายุประมาณ 1-3 สัปดาห์จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคมาก แต่ถ้าต้นข้าวโพดมีอายุมากกว่า 1 เดือน พบว่ามีอัตราการเกิดโรคน้อย
2.) การกำจัดพืชอาศัย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อสาเหตุได้ พบว่า หญ้าเจ้าชู้ ข้าวฟ่าง หญ้าพง และอ้อย แสดงอาการโรคราน้ำค้าง สปอร์ที่สร้างบนพืชทั้งสี่สามารถทำให้เกิดโรคดังกล่าวแก่ข้าวโพดได้ หรือข้าวโพดที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือต้นอ่อนที่งอกใหม่จากเมล็ดที่ร่วงหล่นในแปลง เชื้อสาเหตุของโรคก็สามารถอยู่ข้ามฤดูได้เช่นกัน
3.) หลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาดมาทำพันธุ์
4.) ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตากแห้งสนิท (ความชื้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์) มาทำพันธุ์ เพื่อป้องกันเชื้อที่ติดมากับเมล็ด เมล็ดข้าวโพดที่ได้จากต้นที่เป็นโรคเมื่อยังมีความชื้นในเมล็ดสูง(15-20เปอร์เซ็นต์) จะสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคได้
5.) ใช้พันธุ์ต้านทาน ปัจจุบันมีข้าวโพดทั้งสายพันธุ์ลูกผสมและสายพันธุ์แท้เป็น จำนวนมาก มีความต้านทานเชื้อสาเหตุโรคราน้ำค้างได้ดีและให้ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 1 สุวรรณ 5 สุวรรณ 3601
6.) การใช้สารเคมีเมตาแลกซิล (Apron 35 SD) ในอัตรา 7 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด1 กิโลกรัม คลุกเมล็ดก่อนปลูก สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ แต่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และอุทัยธานี ไม่สามารถใช้สารนี้ป้องกันกำจัดโรคได้
โรคใบไหม้แผลเล็ก (Southern or Maydis LeafBlight)
การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยมีเสมอทุกปีและระบาดเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบันโดยมีความรุนแรงกับข้าวโพดสายพันธุ์แท้(Inbred line)บางสายพันธุ์ ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว
ลักษณะอาการ
ระยะแรกจะเกิดจุดเล็กๆสีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบโดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบตรงกลางแผลจะมีสีเทาขอบแผลมีสีเทาน้ำตาล ขนาดของแผลไม่แน่นอนแผลที่ขยายใหญ่เต็มที่มีขนาดกว้าง 6-12 มิลลิเมตร และยาว 6-27 มิลลิเมตรในกรณีที่ใบข้าวโพดเป็นโรครุนแรงแผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่และทำให้ใบแห้งตายในที่สุดอาการของโรคเมื่อเกิดในต้นระยะกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกใบอาจจะเหี่ยวและแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูกแต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดบนใบล่างๆ ก่อน นอกจากจะเกิดบนใบแล้วยังเกิดกับต้นกาบใบ ฝักและเมล็ดอีกด้วย
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Bipolaris maydis(Nisik.) Shoemaker. มีชื่อเดิมว่า Helminthosporium maydisNisik. เข้าทำลายข้าวโพดในเขตอบอุ่นและร้อนชื้น ลักษณะทางสัณฐานวิทยาเชื้อมีสปอร์ยาวโค้ง ปลายเรียวมน ไม่มีhilum สีเขียวมะกอก มีขนาดระหว่าง 10 -17x30-115 ไมครอน มีผนังกั้น 3-13 เซลล์ การงอกgerm tube ออกทางปลายทั้งสองด้านเมื่อนำใบข้าวโพดเป็นโรคมาบ่มที่ความชื้น ในอุณหภูมิห้องจะสร้างสปอร์ในเวลา 24-48ชม.ก้านชูสปอร์ยาวประมาณ 120-170 ไมครอนเจริญออกมาจากปากใบ
ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (perfect stage) เรียกว่า Pseudothecia มีชื่อเรียกว่าCochliobolus heterostrophus (Drechs.) Drechs. รูปร่างกลม สีดำมีส่วนปากค่อนข้างแหลมยื่นออกมาขนาด 0.4-0.6 มม. ภายในมีถุงบรรจุascusรูปทรงกระบอกซึ่งมี ascospore จำนวน 4-8 สปอร์ลักษณะใส ไม่มีสีมี 5-9 เซลล์รูปร่างคล้ายเส้นด้ายขนาด 6-7x130-340 ไมครอนพันกันเป็นเกลียวอยู่ภายในถุงบรรจุสปอร์การสืบพันธุ์แบบนี้ทำให้เกิดการผันแปรทางพันธุกรรมของเชื้อจึงพบเสมอว่ามีโรคสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น รุนแรงกว่าเดิมเข้าทำลายข้าวโพด
การแพร่ระบาด
เชื้อโรคสามารถระบาดจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งหรือจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งโดยติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรคและโดยทางลมหรือฝนนำสปอร์ปลิวไปเมื่อเข้าทำลายพืชเป็นแผลบนใบสามารถสร้างสปอร์อีกมากมายแพร่กระจายในแหล่งปลูก วงจรของโรคเริ่มจากเข้าทำลายจนสร้างสปอร์ใหม่ ภายในเวลา 60-72ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่ความชื้นสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-320ซเชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้หลายครั้งในแต่ละฤดูจากสปอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นแพร่กระจายไปกับลมและฝน แล้วเข้าทำลายข้าวโพดอีกหลายรอบ เชื้อราสามารถมีชีวิตได้ในใบข้าวโพดนานถึง 8 เดือนและมีชีวิตในเมล็ดข้าวโพดได้นานกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าหญ้าเดือยเป็นพืชอาศัยของเชื้อราชนิดนี้ ศิวิไล(2544)ศึกษาพบว่าโรคนี้ในประเทศไทยมี mating type 2 แบบ คือ M1-1 และ M1-2กระจายอยู่ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน อาจพบในแหล่งปลูกเดียวกันเชื้อราที่แยกจากใบข้าวโพดที่เป็นโรคสามารถเกิดการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อ
การป้องกันกำจัด
1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรค
2.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลายจากนั้นใช้สารเคมีไตรโฟรีน20 (ซาพรอล) อัตรา 60 ซซ. ต่อน้ำ 20ลิตร ฉีดพ่นสามารถป้องกันกำจัดโรคได้
3.) ทำลายพืชอาศัยของโรค เช่น หญ้าเดือย (Rottboellia exaltata)
4.) ทำลายเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวเพราะจากการศึกษาพบว่าเชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากของข้าวโพดได้
5.) ปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 1 สุวรรณ2
โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Northern corn leaf blight)
ในปี พ.ศ. 2507 กรมกสิกรรมและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รายงานว่า พบการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยทุกปี และปี พ.ศ. 2517 สาขาโรคพืชไร่ กองวิจัยโรคพืช สำรวจพบการระบาดของโรครุนแรงในเขตท้องที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีการระบาดของโรค พบในข้าวโพดสายพันธุ์แท้บางพันธุ์ และลูกผสมที่อ่อนแอต่อโรคนี้ การปลูกข้าวโพดแซมในไม้ยืนต้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคทางใบระบาดมาก
ลักษณะอาการ
จะเกิดได้ทุกส่วนของลำต้นข้าวโพดโดยเฉพาะบนใบ นอกจากนั้นจะพบที่กาบใบ ลำต้น และฝัก โดยเกิดเป็นแผลมีขนาดใหญ่สีเทาหรือสีน้ำตาลแผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลมีขนาดระหว่าง 2.5-20 เซนติเมตร แผลที่เกิดบนใบอาจเกิดเดี่ยวๆ หรือหลายแผลซ้อนร่วมกันขยายเป็นขนาดใหญ่ ถ้าแผลขยายรวมกันมากๆจะทำให้ใบแห้งตายได้ ในสภาพไร่พบที่ส่วนล่างของข้าวโพดก่อนแล้วอาการของโรคจะพัฒนาไปส่วนบนของต้นข้าวโพด เมื่อมีความชื้นสูงเชื้อราสร้างสปอร์สีดำบนแผลและขยายออกเห็นเป็นวงชั้น โรคนี้พบได้ตลอดฤดูเพาะปลูก พันธุ์อ่อนแออาการรุนแรงทำให้ผลผลิตลดลงได้ ถ้าเข้าทำลายพืชก่อนออกดอกทำให้ผลผลิตสูญเสียมาก แต่ถ้าเข้าทำลาย 6-8 สัปดาห์หลังจากข้าวโพดออกดอกแล้วไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตการศึกษาความเสียหายจากโรคนี้ในข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมควรทำการประเมินภายใน 3-6 สัปดาห์หลังการออกดอก
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Bipolaris turcica (Pass.) Shoemaker. มีชื่อเดิม Helminthosporium turcicum Pass. เมื่อความชื้นสูงและอากาศเย็นประมาณ 18-27oซ โรคระบาดได้ดี สปอร์มีสีเขียวอมเทา ยาวเรียวหัวท้ายแหลม ส่วนกลางกว้างโค้งเล็กน้อย มีผนังกั้น 3-8 เซลล์ มีขนาดระหว่าง 20x105 ไมครอน มีฐานสปอร์สีเข้มชัดเจน การงอกออกทางปลายของสปอร์ ก้านชูสปอร์สีเขียวมะกอกมีผนังกั้น 2-4 เซลล์ มีขนาดระหว่าง 7-9x150-250 ไมครอน
การอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืชเป็นรูปของสปอร์ผนังหนา (chlamydospore) สปอร์สามารถปลิวไปตามลมได้ในระยะไกล เมื่อเข้าทำลายข้าวโพดจะสร้างสปอร์อีกมากมายระบาดยังต้นอื่นๆต่อไป
การแพร่ระบาด
เชื้อราจะสร้างสปอร์บนแผลเก่าๆ และสปอร์ก็จะแพร่ไปโดยลม ฝน เมื่อมีความชื้นสปอร์จะงอกเข้าทำลายใบข้าวโพดและแสดงอาการของโรคในส่วนอื่นๆต่อไป สปอร์ของเชื้อจะสร้างขึ้นจำนวนมากภายใต้สภาพความชื้นสูง อุณหภูมิค่อนข้างเย็นระหว่าง 18-27oซ ถ้าโรคเข้าทำลายก่อนออกไหมทำให้ผลผลิตลดได้ถึง 50% แต่ถ้าเข้าทำลายหลังออกไหมแล้ว 6 สัปดาห์ มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อย เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในเศษซากพืช
การป้องกันกำจัด ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก
1.) การปลูกพืชหมุนเวียน เผาทำลายเศษซากพืชเป็นโรค
2.) การเขตกรรมที่เหมาะสม ไม่ปลูกพืชหนาแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดแซมไม้ยืนต้น เช่นมะม่วง ยางพารา มะละกอ เพราะมีร่มเงาทำให้โรคระบาดได้
3.) ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72
4.) ใช้สารกำจัดเชื้อรา เช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก
โรคใบจุดจากเชื้อเฮลมินโธสปอเรี่ยม (Northern Leaf Spot หรือ Helminthosporium Leaf Spot)
ในปี 2538 กลุ่มงานวิจัยโรคพืชไร่ได้ทำการสำรวจโรคข้าวโพดในแหล่งผลิตข้าวโพดที่สำคัญ ได้พบโรคนี้กับข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) ที่ปลูกในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ ขณะพืชอายุ 35-45 วัน สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวานที่ปลูกเป็นการค้ายังไม่พบโรค์
ลักษณะอาการ
พบอาการตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบธง แผลเป็นจุดค่อนข้างกลมสีเหลืองหรือน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ (halo) ขนาดความกว้างยาวของแผลอยู่ระหว่าง 0.5 - 4.0 x 0.5 - 40.0 มม. เมื่อความชื้นสูงแผลขยายใหญ่ เนื้อใบแห้งตาย หูใบแห้งเชื้อราสร้างสปอร์ผงสีดำจำนวนมาก กาบใบและกาบฝักไหม้แห้ง ฝักเน่า ผลผลิตลดประมาณ 70%
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Bipolaris zeicola (Stout). Shoemaker ชื่อเดิม Helminthosporium carbonum Ullstrup. Drechslera zeicola. (Stout) Subram. & Jain. สปอร์รูปทรงเรียวยาวเกือบเป็นรูปกระสวย สีเขียวเข้มอมน้ำตาล มีผนังกั้น 4-8 อัน ขนาดของสปอร์ 10.0 -15.0 x 32.5 -75.0 ไมครอน
การแพร่ระบาดและการป้องกันกำจัด เหมือนกับโรคใบไหม้แผลเล็ก
โรคราสนิม (Southern Rust)
ราสนิม (Rust) ของข้าวโพดในโลกมี 3 ชนิด คือ common rust (Puccinia sorghi) southern rust (Puccinia polysora) และ tropical rust (Physopella zeae) สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบ 2 ชนิด คือ Puccinia sorghi และ Puccinia polysora แต่ที่พบมากที่สุดคือ (Puccinia polysora) โรคราสนิมจะระบาดปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูง 95-100% และมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น ประมาณ 24-28 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมเช่นนี้ มีความเหมาะสมต่อการเกิดโรคราสนิมมากถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอจะเป็นโรครุนแรงสภาพการระบาดรุนแรงพบเสมอที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลย เชียงใหม่ ตาก เชื้อโรคราสนิมจะสร้างสปอร์ 2 ชนิด ชนิดแรกเรียก urediospore หรือ uredospore เพื่อสืบต่อการเป็นโรคชนิดที่สองเรียก teliospore หรือ teluetospore เพื่อทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยจะได้ยังคงมีชีวิตอยู่รอดข้ามฤดู
ลักษณะอาการ
อาการของโรคจะเกิดได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด คือ ใบ ลำต้น กาบใบ ฝัก ช่อดอกตัวผู้ โดยแสดงอาการเป็นจุดนูนเล็กๆ สีน้ำตาลแดง ขนาดของแผลประมาณ 0.2-2.0 ม.ม. แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างของใบ เมื่อเป็นโรคในระยะแรกๆ จะพบเป็นจุดนูนเล็กๆ ต่อมาแผลจะแตกออกมองเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็กในกรณีที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตายในที่สุด
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Puccinia polysora Underw. สปอร์ที่พบมากในต้นข้าวโพดเป็นโรคและแพร่ระบาดได้ดีคือ uredospore มีสีเหลืองทอง รูปร่างกลมรี มีขนาดระหว่าง 20-29x29-40 ไมครอน ผนังสีเหลืองหรือสีทองบางและเป็นหนามแหลมหนา 1-1.5 ไมครอน มีรูปร่างที่กึ่งกลาง 4-5 รู เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจะสร้าง Teliospore ในการอยู่ข้ามฤดู รูปร่างกลมหรือทรงกระบอก หัวท้ายมนขนาด 18-27 x 29-41 ไมครอน ผนังเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มี 2 เซล เกิดอยู่บนก้านชูสปอร์สีเหลืองหรือสีน้ำตาล ที่ยาวประมาณไม่เกินหนึ่งในสี่ของความยาวสปอร์ มีขนาดระหว่าง 10-30 ไมครอน สปอร์ชนิดนี้สร้างอยู่ในแผลขนาด 0.2-0.5 มม. กลมหรือกลมรีสีน้ำตาลเข้มหรือดำอยู่ใต้ผิวใบ บางครั้งจะสร้างรอบๆสปอร์แบบแรกคือ uredospore
การแพร่ระบาด
เชื้อรา P. polysora เป็นเชื้อราโรคพืชที่ต้องอาศัยพืชที่มีชีวิตหรือส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื้อโรคจะไม่สามารถเจริญเติบโตบนเศษซากพืชที่ตายแล้วได้ ดังนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจะแพร่ออกไปจากแผลที่ใบ แผลที่กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อเชื้อปลิวไปตกมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับเชื้อโรคจะทำให้ข้าวโพดเป็นโรคได้ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมนั้นเหมาะสมแต่ไม่มีต้นข้าวโพดในแปลงหรือในไร่ เชื้อโรคเข้าทำลายอาศัยพืชอื่นซึ่งเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคอยู่ข้ามฤดู และเมื่อมีการปลูกข้าวโพดขึ้นมาเชื้อจะปลิวจากพืชอาศัยกลับมาที่ข้าวโพดได้อีกวนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป สปอร์เชื้อโรคราสนิมสามารถปลิวไปได้ไกลๆมาก ดังนั้นบางครั้งเราจะไม่พบพืชบริเวณไร่เป็นโรคราสนิมเลย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและข้าวโพดนั้นเป็นพันธุ์อ่อนแอ จะพบโรคราสนิมระบาดรุนแรงได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของ uredospore คือ 23-28oซ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 13oซ และสูงกว่า 30oซ การงอกของสปอร์จะลดลง ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือความชื้นบนผิวใบที่ช่วยให้สปอร์งอกเข้าทำลายพืชได้สำเร็จ
การป้องกันและกำจัด
1.) หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว
2.) กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรค โดยการเผาต้นที่เป็นโรค
3.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อเริ่มพบโรคระบาดมีจุดสนิม 3-4 จุดต่อใบให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีไดฟิโนโคนาโซล (สกอร์) 250 อีซี หรือ ในอัตรา 20 ซี.ซี. หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2 ถึง 4 ครั้ง ตามความรุนแรงของโรค
4.) ฤดูหนาวในแหล่งที่โรคระบาดควรปลูกพันธุ์ต้านทานโรคหรือปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพด
โรคกาบและใบไหม้ (Banded Leaf and Sheath Blight)
โรคกาบและใบไหม้ของข้าวโพด มีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นพบแพร่ระบาดไปหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก กาญจนบุรี เชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญ ปัจจุบันโรคกาบและใบไหม้เริ่มมีความสำคัญเพราะมีการระบาดทำความเสียหายรุนแรงกว้างขวางมากขึ้น
ลักษณะอาการ
โรคเกิดได้กับส่วนต่างๆของข้าวโพดเช่น ลำต้น ใบ กาบใบ กาบฝัก และฝัก อาการที่พบบนส่วนต่างๆของพืชมีรายละเอียดดังนี้ในระยะกล้าทำให้ต้นกล้าเน่าหักพับล้มลงทั้งที่ส่วนยอดยังเขียวอยู่ โคนต้นระดับคอดินมีรอยฉ่ำน้ำสีเขียวอมเทา อาจพบเส้นใยสีขาวเจริญปกคลุมที่รากถ้าในพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอมักพบโรค ในสภาพไร่ในระยะอายุ 40-50 วัน คือก่อนออกดอก ถ้าโรคเกิดกับพืชอายุน้อยเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมากอาการไหม้รุนแรงมาก เพราะเนื้อเยื่ออ่อนอวบน้ำและมีการตายของส่วนยอดเจริญด้วย
อาการบนใบ
ในสภาพธรรมชาติพบในใบล่างใกล้ผิวดินที่ห้อยลง ถ้าโรคแพร่ระบาดจากกาบใบขึ้นไป อาการของโรคจะปรากฏชัดบนโคนใบถึงกลางใบ โดยปกติพบอาการโรคที่กาบใบมากเพราะมีความชื้นมากกว่า แต่อาการไหม้รุนแรงมักเกิดขึ้นที่ใบ อาการเริ่มแรกของโรคคือ แผลฉ่ำน้ำ รูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร ต่อมาแผลจะเปลี่ยนเป็นสีซีดจาง หรือสีฟางข้าว ขยายไปตามทางยาวของใบข้าวโพดเมื่อแสงแดดจัดความชื้นน้อยเชื้อราก็จะหยุดการเจริญ แผลจึงเห็นเป็นใบแห้งเหมือนแดดเผา มีขอบสีน้ำตาลขวางตามใบเป็นชั้นๆ เมื่อถึงเวลากลางคืนอากาศเย็นความชื้นสูง แผลก็ขยายไหม้ลามต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา ใบข้าวโพดที่เป็นโรคนี้จึงเห็นเป็นลายคราบขอบตามขวางของใบเป็นชั้นคล้ายคราบงู ส่วนกาบใบล่างเป็นโรคจะเหลือง ใบอ่อนม้วนเข้าข้างใน แห้งตายก่อนแก่และมีสีเขียวแกมเทาเป็นมัน
อาการบนกาบใบ
โดยทั่วไปอาการคล้ายกับที่เกิดบนใบ กล่าวคือจุดฉ่ำน้ำรูปร่างไม่แน่นอนที่ทั้งด้านหน้าและหลังของโคนกาบใบ ต่อมาจุดเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ในข้าวโพดพันธุ์ต้านทานเช่นพวก inbred line บางพันธุ์แผลจะถูกจำกัดไม่ขยายกว้างออกและมีขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ในข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ แผลจะขยายปกคลุมทั่วทั้งกาบใบ อาการเป็นแถบอาจพบหรือไม่พบก็ได้
อาการบนลำต้น
เชื้อสาเหตุทำให้เกิดจุดหรือแผลบนเปลือกของลำต้นซึ่งอยู่ใต้กาบใบที่เป็นโรคแผลเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แผลอาจเกิดผิวยุบตัวลงในเปลือก และขยายตัวบนข้อที่สี่หรือห้านับจากโคนต้นขึ้นมา ปกติแผลขยายรวมกันทางด้านข้างของปลายแผลแต่ละแผล ขนาดของแผลเดี่ยวประมาณ 2-10x3-15 มิลลิเมตร จนถึงปกคลุมทั่วทั้งข้อ บางครั้งแผลแห้งเป็นสะเก็ดน้ำตาลเข้ม ภายใต้สภาพแวดล้อมเหมาะสมความชื้นสูง อากาศเย็น เชื้อราเข้าทำลายภายในลำต้นข้าวโพดเป็นเหตุให้ลำต้นภายในเปราะและถูกลมพัดหักง่าย
อาการบนฝัก
ฝักข้าวโพดได้รับเชื้อจากกาบใบที่เป็นโรค อาการเริ่มแรกจากส่วนล่างของกาบฝักชั้นนอกสุด ซึ่งติดกับกาบใบที่ฝักแทงออกมา ลักษณะของแผลต่างกับแผลซึ่งเกิดกับส่วนอื่นๆ กล่าวคือแผลบนกาบฝักจะกระจายตัว และอาการเป็นแถบจะเห็นชัด ความรุนแรงของโรคบนฝักขึ้นอยู่กับช่วงระยะการเจริญเติบโตของฝัก เมื่อได้รับเชื้อโรคอาการฝักเน่าแบ่งได้เป็นสามแบบคือ
ในกรณีโรคเชื้อราเข้าทำลายก่อนออกฝัก ฝักก็จะไม่เจริญเติบโต กาบที่หุ้มฝัก ไหม้แห้งตาย ถ้าเชื้อราเข้าทำลายถึงก้านฝักหลังออกฝักแล้ว เส้นใยไหมตรงปลายฝักจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เน่ารวมกันเป็นก้อนแข็งที่เกสรตัวผู้จะไม่สามารถเข้าผสมได้
ถ้าเกิดโรคในระยะติดเมล็ดทำให้เมล็ดลีบ ด้านแบนของเมล็ดจากฝักเป็นโรคนี้มี แผลรูปเกือกม้าสีน้ำตาลแดง (horse-shoe shaped lesion) ซึ่งลักษณะอาการนี้ใช้วินิจฉัยโรคได้
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani Kuhn. f.sp.sasakii Exner. ระยะสมบูรณ์เพศมีชื่อว่า Thanatephorus sasaki (Shirai) Tu & Kimbro. เชื้อราชนิดนี้ไม่สร้างสปอร์ เส้นใยสีขาว เมื่อแก่เต็มที่เส้นใยจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม อัดแน่นรวมตัวเป็นเม็ด sclerotia รูปร่างไม่แน่นอนใช้ในการอยู่ข้ามฤดูในดิน บนเมล็ด และเศษซากพืช การจัดกลุ่มอยู่ในพวก anastomosis group AG-1 คือเส้นใยมาเชื่อมต่อกัน ในแต่ละเซลล์มีนิวเคลียสหลายอัน ตั้งแต่ 5-7 อัน เส้นใยเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เฉลี่ยวันละ 30 มม. ที่อุณหภูมิ 20-30 oซ เส้นใยที่เข้าทำลายพืชมีขนาดสั้นกว่าปกติแตกแขนงมาก เส้นใยปกติลักษณะตรงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 3-17 ไมครอน ใสไม่มีสี เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเพราะสะสมเมลานินที่ผนังเซลล์ สร้าง sclerotia ชนิด sasaki type
การแพร่ระบาด
สาเหตุของการทำให้เกิดโรคเกิดขึ้นและแพร่ระบาดคือเม็ด sclerotia ของเชื้อสาเหตุซึ่งอยู่ในดินและซากหญ้าพืชอาศัยที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดโดยการสัมผัสของใบที่เป็นโรคกับส่วนต่างๆ ของต้นปกติ เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุอยู่ที่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์หรือพบการเกิดโรคน้อย
การป้องกันกำจัด
1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรค
2.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอในระยะต้นข้าวโพดอายุได้ 40-50 วัน เมื่อพบโรคระบาดให้ถอนและเผาทำลายในระยะออกฝัก หากพบฝักเป็นโรคมีเมล็ดเชื้อราสาเหตุลักษณะคล้ายเม็ดผักกาด เมื่อเก็บไปทำลายพยายามอย่าให้เม็ดเชื้อราร่วงหล่นในแปลงเนื่องจากสามารถแพร่โรคต่อไป
3.) ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และก่อนปลูกฤดูต่อไปให้ไถพลิกดินขึ้นมาตากแดดหลายๆ ครั้ง เติมอินทรียวัตถุในแปลงปลูก เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี
4.) หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยโรค พืชอาศัยของโรคนี้ได้แก่ ข้าว,ถั่วเหลือง,ถั่วลิสง,ถั่วต่างๆ และอ้อย
5.) การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคมีรายงานว่า carbendazim, benodanil, validamycin, Topsin M และ Rhizolex สามารถควบคุมโรคได้ การใช้สารปฏิชีวนะจิงกัง มัยซิน ในประเทศจีนก็มีรายงานว่าให้ผลดี
6.) เพิ่มอินทรียวัตถุในแปลงปลูก และเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum, T.viride หรือ Bacillus subtilis จุลินทรีย์เหล่า นี้สามารถเจริญแข่งขันและย่อยสลายเส้นใยของเชื้อรา R. solani f. sp. sasakii สาเหตุโรคนี้ได้
โรคใบจุด (Leaf Spot)
โรคใบจุดนับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่งมักพบเห็นทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดยังไม่มีรายงานว่าผลผลิตของข้าวโพดลดลงจากความเสียหายของโรคนี้
ลักษณะอาการ
อาการของโรคส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นบนใบ แต่บางครั้งอาจพบบนกาบใบและฝักด้วยระยะแรกเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มม. ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้งมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลแดง ในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ ขนาด 1 ซม.มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง พบเมื่ออากาศร้อนชื้น
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Curvularia lunata (Wakker) Boed. var. aeria. สปอร์สีน้ำตาลอ่อน รูปร่างตรงหรือโค้ง ปลายเรียว มีสี่เซลล์โดยเซลล์ตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด มีสีเข้มกว่าหัวท้าย มีฐานสปอร์ชัดเจน ขนาดระหว่าง 18-32 x 8-16 ไมครอน
การแพร่ระบาด
เชื้อราสามารถแพร่ระบาดได้โดยลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด
การป้องกัน
1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลอดจากโรค
2.) ใช้พันธุ์ต้านทานโรคปลูก เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 5
3.) หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น โรคจุดสีน้ำตาล (Brown Spot)
โรคจุดสีน้ำตาล
เคยมีรายงานว่าระบาดรุนแรงในต่างประเทศมาแล้ว เช่น อเมริกากลางและเนปาล ในประเทศไทยพบเห็นโรคนี้โดยทั่วไป แต่ไม่มีการระบาดของโรค
ลักษณะอาการ
เกิดขึ้นบนใบ กาบใบ และลำต้น บริเวณที่ต่ำกว่าฝัก อาการบนใบเกิดเป็นจุดกลมหรือรี สีเหลือง ปกติมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร จุดมักจะรวมตัวกันเป็นหย่อมๆ หรือเป็นปื้นจุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกจะมีสีเขียวเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง อาการบนเส้นกลางใบ กาบใบ เปลือกหุ้มฝัก และลำต้น แผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งเป็นเหลี่ยมถึง 5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลอมม่วง ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นแผลกลายเป็นปื้นบนใบและตามความยาวของเส้นกลางใบ เมื่อกาบใบแห้ง เนื้อเยื่อจะแตกออกทำให้เห็นผงสปอร์สีน้ำตาลของเชื้อรา ถ้าโรครุนแรงลำต้นเน่าหักล้มได้
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Physoderma maydis Miyabe ชื่อเดิม P. zeae-maydis Shaw สร้าง sporangia ใน pustule สีน้ำตาล กลม นูน ขนาด 18-24 x 20-30 ไมครอน การงอกออกมาต้องมีแสงจึงสามารถปล่อย zoospore ออกมาประมาณ 20-50 สปอร์มีขนาดระหว่าง 3-4x5-7 ไมครอนมี flagella ยาว 3-4 เท่าของความยาวสปอร์ zoospore งอกออกเป็นเส้นใยกลุ่มบางๆ ไม่มีผนังกั้น
การแพร่ระบาด
เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ได้บนเศษเหลือของพืชที่ตกอยู่ในดิน สปอร์สามารถที่จะแพร่ระบาดไปได้โดยลม ฝนและแมลง การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสูง น้ำค้างแรง โดยเข้าทำลายทางรูเปิดตามธรรมชาติของใบหรือทางยอดอ่อนบริเวณ mesophyll เมื่ออุณหภูมิระหว่าง 23-30oซ สามารถสร้าง sporangia ภายใน16-20วันแล้วแพร่กระจายเข้าทำลายพืช
การป้องกัน
1.) ไถกลบเศษเหลือของพืชหลังเก็บเกี่ยว เขตกรรมที่ดีการระบายน้ำดี
2.) ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72
3.) หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น
อ่านต่อ @ โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (2)
Relate topics
- เชื้อราเมธาไรเซียม ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เช่น ปลวก ด้วงหนวดยาว ด้วงมะพร้าว ฯลฯเชื้อราเมธาไรเชียมคุณสมบัติหลักคือใช้กำจัดแมลงเช่นเดียวกันเชื้อราบิวเวอเรีย แต่เชื้อราเมธาไรเซียมมีความสามารถในการกำจัดแมลงได้ดีกว่าเชื้อราบิวเวอร์เรียเนื่องจากคุณสมบัติของเชื้อราเมธาไรเซียมทนอุณภุ
- เทคนิคปลูกแตงกวาระดับเซียน!แตงกวา หรือ แตงร้าน เป็นไม้เลื้อยในวงศ์ Cucurbitaceae (ตระกูลเดียวกันกับแตงโม ฟักทอง บวบ มะระ น้ำเต้า) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย นิยมปลูกเพื่อใช้ผลเป็นอาหาร มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 30-4
- เทคนิคทำให้ถั่วฝักยาวออกฝักมากถั่วฝักยาวนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรไทยมาช้านาน การปลูกเพื่อการค้าให้ถั่วฝักยาวมีผลิตที่คุ้มค่านั้นนอกจากการให้ปุ๋ย ให้น้ำ หมั่นกำจัดวัชพืช ให้การดูแลอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีเคล็ดลับในการทำ
- เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) !!! วิธีปลูกผักที่แทบจะไม่ต้องรดน้ำ ทำครั้งเดียวปลูกได้หลายปีถ้าเราออกแบบระบบการเกษตรให้เหมือนกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราก็จะได้ระบบการเกษตรที่สอดคล้องและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทั้งยังได้ผลิตผลสูงและมีความยั่งยืนมากกว่าระบบที่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูที่ต้อ
- ข้าวโพดหวานสองสี (Bio Color Sweet Corn)ข้าวโพดหวานสองสี จัดอยู่ในตระกูล Poaaceae (Gramineae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea may L. var. saccharata เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ปลูกฤดูเดียว ลักษณะลำต้นเป็นปล้องสีเขียว มีจำนวน 8-20 ปล้อง มีขนาดเส้นผ่
- วิธีเพาะเห็ดปลวก (เห็ดโคน) จากจอมปลวก ได้กินทั้งปีวัฏจักรชีวิตของปลวกอีกแง่มุมหนึ่ง ที่สัมพันธ์พึ่งพากับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เห็ดโคน” ![ คำอธิบายภาพ : 148115014313166400671170766264n ](http://sator4u.com/upload/pics/14811501431316640067
- มารู้จัก ชนิดของข้าวโพดหวานปัจจุบันประเทศไทย ส่งออกข้าวโพดหวานในรูปแบบต่างๆ สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และฮังการี ยอดส่งออก ข้าวโพดหวานของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาโดยตลอด จากปริมาณการส่งออก
- ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทยในอดีต ประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๔ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิ
- โรคที่สำคัญของข้าวโพด การดูแลและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี (2) โรคจุดสีน้ำตาล (Brown Spot) โรคจุดสีน้ำต
- การปลูกข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) ให้มีคุณภาพ การป้องกันโรคต่างๆ การดูแลอย่างถูกต้อง ข้าวโพดหวาน อยู่ใน ตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียว