สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

เปิดประวัติ “สุทิน ธราทิน“ วีรชนคนดี ชาวนครศรีธรรมราช

by sator4u_team @27 ม.ค. 57 17:26 ( IP : 180...46 ) | Tags : ดาวใต้
  • photo  , 600x455 pixel , 37,394 bytes.
  • photo  , 480x360 pixel , 15,113 bytes.
  • photo  , 403x302 pixel , 28,829 bytes.

นายสุทิน ธราทิน เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2504 อายุ 52 ปี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนเข้ากรุง เรียนและเป็นนักกิจกรรมรามฯ เคยทำงานกับพรรคไทยรักไทย แกนนำรัฐบาลทั้งภูมิธรรม จาตุรนต์ มาก่อน เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานในองค์กรสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตเลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ โดยนายสุทินเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งพรรค และยังดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการพรรค เคยเคลื่อนไหวเป็นผู้ปฏิบัติงานในช่วงการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ร่วมกับนายทศพล แก้วทิมา แกนนำ อพส.อีกคนหนึ่ง


กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2556 นายสุทินได้ร่วมแถลงข่าวก่อตั้งกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ร่วมกับ นายทศพล ที่โรงแรมตรัง ก่อนที่จะร่วมเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) และนัดชุมนุมใหญ่ที่สวนลุมพินี ซึ่งนายสุทินยังเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยให้กับ กปท. กระทั่ง กปท.ได้เข้าร่วมกับ กปปส.ในปัจจุบัน


เฟซบุ๊ก"กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ"หรือกปท.ได้นำประวัติของนายสุทิน ธราทิน แกนนำที่ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากนำผู้ชุมนุมเข้าปิดหน่วยเลือกตั้งที่วัดศรีเอี่ยม เขตบางนา กทม.มาเผยแพร่ ขออนุญาตต่อเฟซบุ๊กดังกล่าว เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี่  โดยมติชนออนไลน์ได้จัดวรรคตอนใหม่ แต่รักษาเนื้อความไว้ตามเดิมทั้งหมด


ประวัติ นายสุทิน ธราทิน




ชีวิตปฐมวัย // ลืมตามาดูโลกเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๔ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ณ บ้านเลขที่ ๗๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชนบทที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา มีแต่ทางเดินเล็กๆที่ถูกแผ้วถางและต่อมาได้พัฒนาเป็นทางลากไม้ซุง (จากริมเทือกเขาบรรทัด) ในครอบครัว “ธราทิน” ของเกษตรกรที่ยากจน (จนเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน)


พ่อ ชื่อ ลิขิต แม่ชื่อ สาโรจน์ หรือเอียด (ภาษาปักษ์ใต้ แปลว่าเล็กเพราะเป็นลูกคนเล็กของตา-ยาย) มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๕ คน โดยเป็นลูกคนที่ ๒ และเป็นลูกชายคนเดียว

ครอบครัว ธราทิน มีวิถีชีวิตเหมือนกับครอบครัวคนปักษ์ใต้โดยทั่วไป คือ มีนาไว้ปลูกข้าวพอกินตลอดปี และมีป่ายาง(ไม่ใช่สวนยาง เพราะในป่ายาง ยังมีพืชอื่นอีก คือ ขนุน ลางสาด ชมพู่ และสมุนไพรจำนวนมากปลูกรวมกันในป่ายาง) เป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้ให้กับรอบครัว


ด้วยพ่อลิขิต เป็นผู้ที่รักการเล่าเรียน แต่ขาดโอกาส เนื่องจากพ่อ(ปู่)เสียชีวิตเมื่อตนเองเรียนอยู่ชั้นประถม จึงทำให้ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน จึงเก็บเอาความปรารถนาของตนเองมาฝากเป็นความหวังไว้กับลูกๆ อยากให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ


ประกอบกับแม่เอียด ผู้เป็นภรรยาเป็นลูกของกำนัน และครอบครัวของแม่เอียดเป็นขุนนางประจำท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคน การศึกษาเล่าเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัวที่ลูกหลานต้องได้รับ จึงเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้พ่อลิขิตมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสียลูกๆให้ได้เล่าเรียนสูงๆ


ในช่วงวัยเด็ก ได้รับความอบอุ่นจากพ่อ แม่มาโดยตลอด ได้อยู่กับทุ่งนา ป่ายาง ซึ่งกลายเป็นที่วิ่งเล่นซุกซน เรียนรู้ตามประสาเด็ก และร่วมเป็นวิถีเดียวกับพ่อแม่ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านภาคใต้


พออายุได้เกณฑ์เข้าโรงเรียน พ่อได้นำเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนวัดควนเกย เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชนบทมากๆ โรงเรียนมีชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ๑-๔ มีครูสอนอยู่เพียง ๒ คน ช่วงวัยเด็กผลการเล่าเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี สอบไล่ได้ที่ ๑ ตลอด จนจบชั้นประถม ๔


ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ต้องเดินประมาณ ๒ กิโลเมตร เพื่อไปขึ้นรถสองแถวที่ตลาดเพื่อไปโรงเรียนทุกวัน


ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อลูกๆ เริ่มเรียนสูงขึ้น และเรียนพร้อมกันหลายคน พ่อลิขิตจึงเล็งเห็นว่า หากอยู่ที่บ้านควนเกยต่อไป ลำพังรายได้จากป่ายาง คงจะไม่เพียงพอ และไม่มีทางส่งลูกๆเรียนสูงๆ ได้ จึงเดินทางออกจาหมู่บ้าน แล้วไปทำงานเป็นกรรมกรรถไฟ ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่


การที่พ่อแยกตัวออกไปทำงานต่างถิ่น ครอบครัวเราจึงเป็นครอบครัวแตกแยกรุ่นแรกๆ ของหมู่บ้านที่ขาดความอบอุ่น แต่เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ ที่ยังมี ยาย ย่า และเครือญาติ แม้ไม่ได้อยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่การมีบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ทำให้ช่วยบรรเทาภาวะ “ขาดความอบอุ่น” ได้บ้าง


จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๗ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนประจำอำเภอ ถ้าจะเรียนต่อ ต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดที่นครศรีธรรมราช ประกอบกับน้องสาวคนถัดมาจบชั้นประถมปีที่ ๔ และน้องคนที่ ๔ กำลังเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑


แม่เอียดจึงเห็นว่า ไหนๆก็ต้องย้ายโรงเรียนแล้ว ต้องเข้าโรงเรียนใหม่ จึงถือโอกาสย้ายครอบครัวติดตามพ่อไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัว


จึงได้สอบเข้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภาคใต้ ความวิตกกังวล พรั่นพรึงต่อการสอบแข่งขันเข้าเรียนจึงเกิดขึ้นทั้งครอบครัว แม่เอียดต้องเดินสายบนกับหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์หลายวัด ในที่สุดก็สอบแข่งขันเข้าเรียนได้อย่างคาดไม่ถึง จบจบชั้นสูงสุด คือ มัธยมศึกษาปีที่ ๕


ช่วงแรกของการเรียนที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี จนช่วงเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ได้พบกับลุงเวียง พี่ชายของแม่เอียด ที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่มีภารกิจติดต่อทางภาคใต้ คราวใดที่ลุงเวียงเดินทางมาทำธุระที่หาดใหญ่ก็ได้มาพักอาศัยที่บ้านทุกครั้ง หากเมื่อลุงเวียงไปธุระติดต่อกับเพื่อน ลุงก็จะชวนไปเป็นเพื่อนด้วยกัน


จึงได้ฟังธุระของลุงคือการสนทนาทางการเมืองระหว่างลุงกับเพื่อน ทำให้เริ่มซึมซับและเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว เมื่อลุงสนทนากับเพื่อนเสร็จสิ้นก็จะเดินทางกลับบ้านพัก หากมีประเด็นใดที่ฟังแล้วไม่เข้าใจก็จะซักถามลุง ลุงก็จะอธิบายเพิ่มเติมตามความสนใจของหนุ่มน้อย(ข้าพเจ้ากำลังเข้าสู่วัยรุ่น)

กับบางครั้งลุงได้นำหนังสือมาให้อ่านเพิ่มเติม ความรู้ที่ได้รับจากลุงเป็นความรู้ที่น่าอัศจรรย์มาก ทำให้ตนเองมีการมองโลก มองชีวิตที่แปลกออกไปจากเพื่อนๆในวัยเดียวกัน เรียนกับลุงสนุกกว่าเรียนจากตำราเรียนที่เมื่อเรียนแล้วยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง การเรียนในชั้นเรียนโดยปกติจึงหย่อนยานลง เพราะมุ่งสนใจศึกษาปรัชญาการใช้ชีวิตกับลุงมากขึ้น ขณะเดียวกันพี่ชาย(ลูกของป้า-พี่สาวของแม่เอียด) กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ทำกิจกรรมนักศึกษาและเป็นผู้นำนักศึกษาเข้ามาสนทนากับลุงด้วย พี่ชายจึงเป็นครูแทนลุง เมื่อยามลุงเวียงได้กลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว


เป็นเยาวชนมวลชนจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์โดยไม่รู้ตัว


จนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (ขณะนั้นอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒) เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่การเข่นฆ่าปราบปรามนักศึกษา ประชาชนที่สะเทือนใจมาก ทำให้เคียดแค้นชิงชังอำนาจรัฐเป็นอย่างยิ่ง ความรู้สึกนี้ไม่ต่างกับพี่ชายและลุงเวียง ทั้งสองคนต้องหลบซ่อน ต้องนำหนังสือไปทำลาย


ลุงดูจะไม่ค่อยวิตกและหวาดกลัวเท่าไร เพราะเคยโดนจับในยุคของเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ มีประสบการณ์ รู้จักทางหนีทีไล่ ใครเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง มีการสุ่มเสียงต่ออำนาจทมิฬลุงจะส่งเข้าป่า


ข้าพเจ้าได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือลุง ทำหน้าที่แทนลุงในบางเรื่องที่ลุงมีข้อจำกัด ทั้งการประสานที่พักชั่วคราว ดูแลการอยู่การกินจนส่งคนเข้าป่าเรียบร้อย จนกลายเป็นมวลชนจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิตส์โดยไม่รู้ตัว เรียนรู้ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ช่วงปิดเทอมได้จัดทัวร์(ทัศนะศึกษา) เที่ยวป่า ชวนเพื่อนๆที่สนใจอยากศึกษาชีวิตจริงแท้ของทหารป่าในนามกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย(ทปท.)


เข้าทำงานที่การรถไฟฯ - เรียนไปทำงานไปส่งเสียตัวเอง


เข้าไปเรียนรู้การใช้ชีวิตในป่าและกลับมาทำงานสนับสนุนในเมือง จนการเรียนตกต่ำลงไปเรื่อยๆ แต่ไม่ถึงกับตกซ้ำชั้น(ยังพอเอาตัวรอดให้ผ่านไปได้) มีความสุขกับการได้เรียนรู้อีกแบบหนึ่งของชีวิต ไม่ได้วิตกหวั่นไหว กลับมีความเชื่อมั่น มีความหวังกับสิ่งที่ตนเองได้ทำ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ สอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย รู้ตัวว่าคงสอบไม่ได้แน่


จึงวางแผนชีวิตเอาไว้ว่าจะเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเพื่อไม่ให้พ่อต้องลำบากมากในการส่งเสียให้เรียน จึงเปิดอกคุยกับพ่อว่า จะหางานทำและเรียนไปพร้อมกัน จึงได้ไปสมัครทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งพนักงานขบวนรถ


พร้อมกับการสมัครเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ ในช่วงปีแรกสามารถสอบผ่านได้ทุกวิชา แต่พอปีที่ ๒-๔ ชีวิตเริ่มโลดโผนสนุกกับการทำงานรถไฟที่มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ตามเส้นทางรถไฟ การเรียนจึงตกต่ำจนแทบจะเก็บหน่วยกิตไม่ได้เลย


ปี ๒๕๒๖ การรถไฟได้เรียกเข้าอบรมในโรงเรียนการรถไฟ เป็นเวลา ๔ เดือน ที่กรุงเทพฯ จึงมีโอกาสได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยบ้าง เมื่อว่างจากการอบรม ทำให้นึกตรึกตรองได้ว่าหากยังใช้ชีวิตโลดโผนแบบนี้ต่อไปมีหวังเรียนไม่จบแน่ เมื่ออบรมจนจบหลักสูตรการรถไฟ จึงตัดสินใจขอย้ายมาทำงานที่สถานีชุมทางบางซื่อ เพื่อจะได้เดินทางไปเรียนได้สะดวก


การย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวกับที่อยู่ใหม่ในกรุงเทพฯ ที่ไม่สะดวกสบายเหมือนต่างจังหวัด ต้องทำงานและเรียนควบคู่กันไป ทุลักทุเลจนสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๒๙


ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาอยู่บ้าง โดยได้ร่วมกับชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม(พี่เอ๋ สมชาย แสวงการ สว.เป็นรุ่นพี่ในชมรม) มีกิจกรรมรับน้อง ลงพื้นที่สลัม จึงมีประสบการณ์พื้นฐานในการทำงานกับคนจนในเมืองอยู่ระดับหนึ่ง


เมื่อจบการศึกษา เห็นว่ามีแนวทางที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม จึงได้เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมศักดิ์ โกศัยสุข ต่อสู้เรียกร้อง ความไม่เป็นธรรมในสภาพการจ้างที่นายจ้าง(การรถไฟแห่งประเทศไทย) เอาเปรียบลูกจ้าง(คนงาน-พนักงานการรถไฟ) นำไปสู่การนัดหยุดงานครั้งใหญ่และสำคัญยิ่งของพนักงานการรถไฟในปี 2531 มีการนัดหยุดงานยาวนานถึง 7 วัน(ซึ่งยืดเยื้อมากในยุคนั้น)


เพราะนอกจากจะต่อสู้กับผู้บริหารการรถไฟแล้วยังต้องต่อสู้กับนักการเมือง คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ที่มีความคิดจะแปรรูปรถไฟโดยยกเอาขบวนรถบางขบวนที่มีผู้โดยสารจำนวนมากและมีกำไรไปให้บริษัทเอกชนประมูล นายบรรหาร ได้สร้างความแตกแยกในหมู่สหภาพแรงงานโดยไปจ้างคนงานรถไฟอีกกลุ่มหนึ่งให้ทำงานในขณะที่สหภาพแรงงานนัดหยุดงาน จึงมีความขัดแย้งกันในระหว่างคนงานด้วยกันเอง


แต่ด้วยการนำที่เด็ดเดี่ยวของสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่มีความตั้งใจยกระดับสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่การรถไฟรวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น การเป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่ดี เลิกบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน พูดเตือน รณรงค์ ทำตัวอย่างให้เห็น ทำให้บรรดาแม่บ้านของคนงานรถไฟชื่นชอบและชื่นชม(เพราะทั้งบุหรี่ เหล้า การพนัน รวมทั้งเจ้าชู้ อยู่ในตัวคนงานรถไฟ ชนิดที่เรียกว่า มีชั่วเป็นองค์รวมเลยทีเดียว) พวกคนงานที่ถูกจ้างโดยนักการเมือง จึงถูกแม่บ้าน กดดัน ด่าว่า เข้าบ้านไม่หุงข้าวให้กิน ไล่ออกจากบ้านไม่พอ ยังรวมตัวกันหุงหาอาหารมาเลี้ยงกันในที่ชุมนุม สุดท้ายการรถไฟและรัฐบาลจึงต้องยอมแพ้


ผลของการต่อสู้ในครั้งนั้นทำให้การรถไฟ เปลี่ยนแปลงดังนี้ คือ ๑) ยกเลิกความคิดที่จะแปรรูป ๒) ปรับปรุงสภาพการจ้าง และค่าตอบแทน ๓) สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ๔) สนับสนุนให้สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนงาน


เปลี่ยนงาน เข้า ธ.ก.ส.


ปี ๒๕๓๒ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับสมัครพนักงานสินเชื่อ เพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟชวนไปสมัคร จึงลองไปสมัครโดยไม่มีความพร้อมสักอย่าง แต่ปรากฏว่าสอบได้ จึงลังเลอยู่ว่าจะออกจากการรถไฟดีหรือไม่ เพราะกำลังสนุกกับการทำงานสหภาพแรงงานรถไฟ สุดท้ายได้ปรึกษากับสมศักดิ์ โกศัยสุข ให้ความเห็นว่าทำงานที่ ธ.ก.ส. ก้าวหน้ากว่า จึงตัดสินใจไปทำงานที่ ธ.ก.ส. โดยได้รับการบรรจุที่สาขาสิงห์บุรี


การอยู่ที่สิงห์บุรีนั้นเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ความทรงจำในสมัยเด็ก ที่มีท้องทุ่ง นาข้าว สายน้ำ แต่การกลับสู่ชนบทครั้งนี้ไม่เหมือนกับชีวิตในวัยเด็ก เพราะได้เห็นสภาพของชาวนาในชนบทเป็นหนี้ทุกครัวเรือน เป็นหนี้กันจำนวนมากจนน่าตกใจ(ว่าจะชำระหนี้ได้หมดหรือ) พอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี ๒๕๓๒ - ต้นปี ๒๕๓๓ เกิดโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดท้องทุ่งภาคกลาง ข้าวที่ตั้งท้องเตรียมออกรวงต้องตาย(ท้องกลม)หมดทั้งทุ่ง ความหวังของชาวนาที่รอการเกี่ยวข้าวเพื่อมาชำระหนี้ ธ.ก.ส. และเป็นค่ากินค่าอยู่ต้องพังครืน แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ความทุกข์ใจของชาวนาครั้งนี้ถึงขนาดฆ่าตัวตายก็มี


ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ต้องทำหน้าที่ติดตามทวงหนี้ เมื่อเห็นสภาพความจริงตำตาอยู่เช่นนั้น เลยมีความคิดว่าต้องหาทางช่วยเหลือชาวนา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาให้ได้ จึงเปิดตำราหาช่องทาง เข้าปรึกษาหัวหน้าสินเชื่อ และผู้จัดการสาขา แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังและสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนาย(หัวหน้าสินเชื่อและผู้จัดการสาขา)บอกว่าไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่ของเราคือต้องติดตามเงินกู้กลับคืนมาให้ได้ ไม่ว่าวิธีใด เพราะถ้ามีหนี้ค้างเกิดขึ้นเราจะทำงานหนักไปอีก ๑๐ ปี ต้องป้องกันไม่ให้มีหนี้ค้าง มันเป็นวิธีคิดที่ขัดแย้งกับความจริงอย่างรุนแรง จึงได้เปิดตำราเถียงว่ามีวิธีปฏิบัติของธนาคารที่สามารถทำได้ แต่นายแย้งว่าตั้งแต่มีธนาคารมายังไม่มีใครทำ ผลของความขัดแย้งนี้ทำให้ต้องถูกย้าย ๔ ครั้งในปีเดียว

ความรู้สึกไม่ดีกับองค์กรที่ตนเองทำงานเริ่มก่อตัวขึ้นมาทีละน้อย-ทีละน้อย แต่ก็ยังเห็นโอกาสที่จะใช้กลไกและเงินของรัฐเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ประสานกับส่วนราชการอื่นๆ เช่น เกษตร ปศุสัตว์ ประมง เพื่อหาช่องทางช่วยเหลือทางด้านความรู้แก่เกษตรกร จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้กับเกษตรกร เพื่อมีช่องทางใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ได้ร่วมกับโรงเรียน เข้าไปยุให้โรงเรียนฝึกเด็กนักเรียนปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เป็นอาหารกลางวันและเสริมทักษะประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งชักชวนให้ชาวบ้านทำโครงการเกษตรผสมผสาน เบื้องต้นทำท่าว่าจะมาถูกทาง แต่ด้วยความที่อยู่กับแหล่งเงิน แทนที่จะสนับสนุนให้ชาวบ้านพึ่งตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป กลับไปยุให้ชาวบ้านกู้เงินเพิ่มอีก ในปีแรกๆ ทำเอาชาวบ้านเครียดไปตามๆกัน เพราะได้ผลผลิตไม่มากพอ หรือผลผลิตยังออกไม่ทัน จนผ่านไป ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี เริ่มดีขึ้น มีรายได้มากขึ้นถึงกับยิ้มได้บ้าง แต่ก็ยิ้มได้ไม่นาน เพราะปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ๒ ปีติดกัน ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง สร้างความเสียหายซ้ำไปอีก แต่ครั้งนี้ยังนับว่าดีเพราะช่วงก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ราคาที่ดินสูงมาก ชาวนาได้ขายที่ดินไปบ้างบางส่วนแล้วนำเงินที่ได้ชำระหนี้ ธ.ก.ส. วิกฤติจากภัยธรรมชาติผลกระทบจึงไม่หนักหนาสาหัสมากนัก


การทำงานแบบแปลกใน ธ.ก.ส. อย่างผิดแบบแผนของคนส่วนใหญ่ เช่น ปล่อยให้ชาวบ้านกู้เงินเลี้ยงหมู พอถึงเวลาจับหมูขาย ราคาตก ขายไปก็ขาดทุน เงินที่ได้มาไม่พอชำระนี้ ก็ชวนชาวบ้านมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดตกลงกันว่าจะชำแหละขายกันเองไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายกันในราคา ทำใบปลิว ขอใช้รถของ ธ.ก.ส. ติดเครื่องขยายเสียงออกประกาศช่วยชาวบ้าน การกระทำดังกล่าวทำให้กลายเป็นแกะดำในหน่วยงาน


เรียนต่อปริญญาโท รัฐศาสตร์รามคำแหง


ทำงานกับ ธ.ก.ส.ด้วยความเซ็งในหัวใจ รู้สึกชีวิตไร้ค่า ไร้ความหมายมาก ในปี ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดศูนย์การเรียนการสอนที่จังหวัดอุทัยธานี จึงได้สมัครเข้าเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง และช่วงเวลาดังกล่าวประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติเศรฐกิจฟองสบู่ การเรียนการสอน อาจารย์ได้นำเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ มานำเสนอให้มีการสัมมนา วิพากษ์ วิจารณ์พร้อมทั้งกรณีศึกษาที่เกิดขื้น รู้สึกว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาก จนปี ๒๕๔๒ หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารออมสินจัดตั้งกองทุนเพื่อสังคม(Social Investment Fund :SIF) จึงได้สมัครเข้าทำงานกับธนาคารออมสิน และ ลาออกจาก ธ.ก.ส.


จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต


ทำงานกับ SIF มีพี่เอนก นาคะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม(SIF)เป็นเจ้านายและครู เป็นเบ้าหลอมการทำงานแบบใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ที่รักชาวบ้าน เห็นคุณค่า ให้เกียรติ ไม่คิดแทน ไม่เอาองค์กรเป็นตัวตั้งแต่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เน้นกระบวนการทำงานที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ - ๒๕๔๖ทำงานสนุก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อยู่ในกระบวนการทำงานที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ จึงได้เรียนรู้กับชาวบ้านอย่างไม่จบสิ้น ด้วยเคยทำงานที่ ธ.ก.ส. ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญงานชนบท จึงค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองแน่ มีความคิดอ่าน จะทำโครงการช่วยชาวบ้านเป็นจำนวนมาก เสนอในที่ประชุมเจ้าหน้าที่


ปรากฏว่าเจ้านายหัวเราะและสอนให้คิดใหม่ ไม่เอาตัวเราเป็นตัวตั้งแต่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง กระตุ้นให้ชาวบ้านเรียนรู้ปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ค้นหาศักยภาพที่เป็นทุนทางสังคมของตนเอง แล้วแก้ไขปัญหาโดยการพึ่งตนเอง พึ่งกันเอง ก่อนหากเกินกำลังจริงๆ ค่อยหาภาคี หรือหน่วยงานสนับสนุน เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดชาวบ้านไปด้วย จากเคยชินกับการให้คนอื่นคิดให้ มาคิดเอง จากการคิดแบบพึ่งพาราชการ มาพึ่งพาตนเอง


เข้าร่วมเวทีเรียนรู้กับชาวบ้าน สนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านทำกิจกรรม ทำแล้วมาสรุปบทเรียน แล้วกลับไปทำใหม่ ชาวบ้านชอบมาก ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านมาก ภูมิใจจนถึงปัจจุบันพบเจอกันจะรีบเข้ามาหาแล้วเล่าฟังว่าสิ่งที่ SIF สนับสนุนมีความก้าวหน้า และเกิดอะไรตามมาบ้าง


ทำงาน ๒ เดือนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วย(Head) และอีก ๖ เดือน ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาค ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ๘ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี ชัยนาท และ อุทัยธานี


การทำงาน SIF มีปรัชญาในการทำงานคือ ใช้ทุนเงิน ไปสร้าง หรือเพิ่ม ทุนทางสังคม ทำให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ถ้าชุมชนพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองได้ทั้งหมด สังคมโดยรวมจะเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็ง


การทำให้ชุมชนเข้มแข็งทั้งประเทศเป็นเรื่องยาก เพราะเจ้าหน้าที่มีน้อย ดังนั้น จึงใช้วิธีชวนให้อาสาสมัครที่เป็นข้าราชการ เป็นนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน บางส่วนเป็นประชาสังคมที่เคลื่อนงานตั้งแต่การจัดทำแผน ฯ ๘ และการร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่มีใจอยากร่วมแก้ปัญหาท้องถิ่นของตนเอง จังหวัดของตนเอง เข้ามาร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยได้จัดตั้งเป็นกลไกคณะทำงานจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด จึงทำหน้าที่ประสานหลายระดับ นอกเหนือจากการสนับสนุนทุน(ในฐานะกองทุน) • ประชาสังคม • เครือข่ายชุมชน • องค์กรชุมชน


การทำงานที่สลับซับซ้อน เช่นนี้จึงจำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ระหว่างทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับกระบวนการทำงาน การทำงานจึงมีความยืดหยุ่นและการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา


ร่วมออกแบบกองทุนหมู่บ้าน


ปี ๒๕๔๔ มีการเลือกตั้งใหญ่ พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ในการหาเสียงได้เสนอนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งคือ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่มีรายละเอียด ระหว่างนั้น เห็นเป็นโอกาส จึงชวนคณะทำงานจังหวัด(เกือบทุกจังหวัด)ระดมชุมชนที่มีประสบการณ์จัดการกลุ่มออมทรัพย์จัดเวทีระดมความคิดเห็น “กองทุนหมู่บ้านทำอย่างไรให้ยั่งยืน?” ได้ผลการประชุม ที่เป็นข้อเสนอของชาวบ้าน ๑ เล่ม นำไปมอบให้ คุณภูมิธรรม เวชชชัย


หลังจากนั้นได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานของรัฐบาลออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ


เดือน เม.ย.ปี ๒๕๔๕ SIF สิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ได้รับการชักชวนจากคุณผดุงศักดิ์ พื้นแสน (คณะทำงานของคุณภูมิธรรม เวชชชัย ซึ่งในขณะนั้นคุณภูมิธรรม เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ไปช่วยงานที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งคุณผดุงศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปรักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ทำได้อยู่ระยะหนึ่งเห็นว่าไปไม่รอด เพราะเป็นองค์กรที่ถูกออกแบบให้เป็นการเมืองของชนชั้นนำชาวนา มีปัญหาความขัดแย้งภายในสูง เป็นองค์กรที่ล้าหลัง เพราะหลังจาก SIF ที่มีการออกแบบองค์กรแบบมีส่วนร่วม อีกหลายองค์กรไปออกแบบโดยนำเอาบทเรียน ประสบการณ์ ที่เป็นจุดแข็งไปดำเนินงาน มีความก้าวหน้ากว่ามาก


ร่วมสงครามยาเสพติดกับรัฐบาล


ปี ๒๕๔๖ ต้นปี รัฐบาลทักษิณ ประกาศสงครามเอาชนะยาเสพติด มีการฆ่าตัดตอนผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก คุณภิญโญ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ในขณะนั้น) เห็นว่าการทำสงครามยาเสพติดของรัฐบาล มีผลข้างเคียงสูง การจะลดผลข้างเคียงต้องนำเอาชุมชนเข้าร่วมเพราะการเอาชนะปัญหาที่ซับซ้อนต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพราะบางเรื่องรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจได้ทั้งหมด เช่น การดูแลผู้เสพในชุมชน ให้ได้รับการบำบัดที่เหมาะสม การปรับเจตคติสังคม ให้มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ


จึงมาปรึกษากับหมอพลเดช ปิ่นประทีป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพลังชุมชนเข้าร่วมสงครามเอาชนะยาเสพติด ลดผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวเรื่อยๆ พี่หมอพลเดช จึงชวนให้มาร่วมกันออกแบบโครงการ และได้เข้าร่วมบริหารโครงการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการถักทอพลังชุมชน พลังแผ่นดิน ร่วมยึดพื้นที่คืนจากยาเสพติด ถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


การออกแบบโครงการได้ใช้การประชุมปฏิบัติการร่วมกับฝ่ายประชาสังคม (ต่อยอดจากคณะทำงานของ SIF) เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์จังหวะก้าว (Road map) แผนปฏิบัติการ การสรุปบทเรียน และการประเมินผล โดยใช้หลักการสำคัญที่ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ให้ไว้ คือ


๑) สร้างความมุ่งมั่นร่วมกันของคนทั้งชาติ (purpose) เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน ๒) สร้างหลักการที่ถูกต้องร่วมกัน (Principle) เพื่อป้องกันการเดินผิดทาง ๓) สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Share Vision)
๔) สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ ปฏิบัติการ เพื่อการขับเคลื่อนขบวนอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
๕) การสร้างความรู้และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อการปรับตัวให้สอดคลองกับสถานการณ์ตลอดเวลา


โดยใช้ประชาสังคมจังหวัดเป็นกลไกขับเคลื่อน เพื่อบรรลุเป้าหมาย


๑) เกิดชุมชนเอื้ออาทร หมายถึงชุมชน หมู่บ้านที่ผ่านการเตรียมพร้อมด้านการปรับเจตคติของผู้นำชุมชน ด้านการสำรวจสถานการณ์ การวางแผนในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ๒) เกิดอำเภอบูรณาการ หมายถึง การมีระบบบริการสังคมและสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับการไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นวงจร(การปราบปราม ป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ปรับเจคติ) ๓) เกิดกระแสสังคมในจังหวัด โดยการจัดเวทีประชาคมจังหวัด เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
มีระยะเวลาในการดำเนินงาน ๑ ปี สามารถบรรลุเป้าหมายได้เป็นที่น่าพอใจ


เป็นคณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง)


ระหว่างเป็นผู้บริหารโครงการถักทอเครือข่ายพลังชุมชน พลังแผ่นดินฯ คุณจาตุรนต์ ฉายแสงรองนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น)ได้ประสานมายัง พี่หมอพลเดช ปิ่นประทีป ขอคนเข้าไปช่วยเป็นคณะทำงาน จึงได้เข้าร่วมงานกับรองนายกฯ และรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะประสานงานนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดแล้ว มีผลงานอีกอย่างหนึ่งที่มีความภาคภูมิใจ คือ นโยบายวาระแห่งชาติว่าด้วยการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้มีส่วนประสานงานจนเกิดนโยบายนี้ขึ้นมา


ทำงานยาเสพติด กับ สสส.


ระหว่างเป็นคณะทำงานรองนายกฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมนโยบายด้านยาเสพติด ซึ่งระหว่างนั้น สสส. ต้องการคนเข้าไปพัฒนาแผนงานด้านยาเสพติด จึงได้รับการทาบทามจาก ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ให้เข้ามาร่วมงานแผนงานสนับสนุนการปัญหายาเสพติด ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงาน ๓ ปี เกิดผลการดำเนินงานดังนี้
- ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการจัดการองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด(อสต.) ที่ดำเนินงานด้านรวบรวมองค์ความรู้เรื่องยาเสพติดและการสนับสนุนการวิจัยด้านยาเสพติด - ได้รวบรวม สังเคราะห์สถานการณ์ด้านยาเสพติดเพื่อการเสนอเป็นนโยบาย
- การจัดทำคู่มือการบูรณาการการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง - การระดมความคิดเห็นในโครงการ To be number one ในการทำกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด - การบำบัดฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักศาสนบำบัด ในโครงการบ้านเปลี่ยนวิถีคืนคนดีสู่สังคม - การสนับสนับสนุนโครงการปรับเจตคติ สำหรับผู้ติดยาเสพติดและครอบครัวของผู้ติดยา


ผลงานที่ภาคภูมิใจ


๑) หยุดการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย ๒) ร่วมยกร่าง พรบ. ประกันสังคม มีข้อเรียกร้องการประกันสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานมาเป็นเวลานาน ทุกวันที่ 1 พ.ค. ผู้ใช้แรงงานมีการเดินขบวน ชูป้าย ชูคำขวัญ เรียกร้องให้มีการประกันสังคม จนกระทั่งมานึกขึ้นได้ว่า แล้วการประกันสังคมที่ผู้ใช้แรงงานปรารถนา คืออะไร จึงได้ร่วมกันยกร่าง พรบ. ประกันสังคมขึ้น และนำเสนอต่อรัฐบาลจนกระทั่งเกิดการ ตราเป็น พรบ.
๓) การฟื้นฟูชุมชน เข้มแข็งแก้ปัญหาวิกฤติชาติ
- การริเริ่มชุมชนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน - การสนับสนุนให้เกิดวิทยุชุมชน - การสนับสนุนและการจัดทำเวทีพลเมืองไทยเพื่อร่วมกันพัฒนาข้อเสนอทางนโยบาย - การสนับสนุนให้เครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่มีการรวมกลุ่มรวมตัวเป็นประชาสังคม จังหวัด - การผลักดันให้พลังทางสังคมอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหายาเสพติด ๔) การพัฒนานโยบายวาระแห่งชาติว่าด้วยการเกษตรอินทรีย์ ๕) สนับสนุนให้เกิดการบำบัดยาเสพติดทางเลือก


---------------------


ความจริงชาวสวนยาง โดยทศพล ที่เวที่สวนลุม 20 ก ย 56


สุทิน ธราทิน ปราศรัย ที่เวทีสวนลุม 11 ต ค 56


สุทิน ธราทิน ปราศรัย ที่เวที่สวนลุม 14 ต ค 56


R.I.P. สุทิน ธราทิน

ขอคารวะวีรชนคนดี นาม "สุทิน ธราทิน" ถึงแก่กรรม วันอาทิตย์ 26 มกราคม 2557 เวลา 16.42 น. หลับให้สบาย ขอดวงวิญญาณจงไปสุ่สุขคติ ด้วยเทอญ ^^ กำหนัดการ สวดอภิธรรม ::: ในวันจันทร์ ที่ 27 ม.ค. 2557 เวลา 16.00 น. รดน้ำศพ / เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรม ณ วัดโสมนัสราชวิหาร กรุงเทพฯ


สุทิน ธราทิน วีรชนปฏิวัติ

สุทิน ธราทิน จบชีวิต ในสภาพสองมือเปล่า ขณะนำพามวลชนลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านไม่ให้มี­การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ด้วยต้องการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง อันเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่พวกโจรอันพาลเสื้อแดง อำมหิต ได้กระหน่ำยิงใส่ร่างเขา เหมือนมีการวางแผนล่วงหน้า ขณะปราศรัยบนรถ เขาพยายามให้รถหลีกไปอีกทาง เพื่อไม่ต้องการปะทะ แต่โจรใจบาปพวกนี้ ก็ยังกระหน่ำยิงอย่างเลือดเย็น อุกอาจเย้ยกฎหมาย ต่อหน้าต่อตาตำรวจ ที่ยืนดูเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ เข้าขัดขวาง หรือจับกุมผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง