สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

นายกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง)

by sator4u_team @19 ธ.ค. 56 18:48 ( IP : 180...135 ) | Tags : ดาวใต้

กั้น ทองหล่อ (พ.ศ. 2455 - พ.ศ. 2531) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อพ.ศ. 2529


ประวัติชีวิตและผลงาน นายกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙

ประวัติ

หนังกั้น ทองหล่อ เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ที่บ้านน้ำกระจาย เลขที่ ๒๓๔ หมู่ ๒ ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา บิดาชื่อคง เป็นชาวบ้านน้ำกระจาย มารดาชื่อชุม เป็นชาวบ้านควนฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง หนังกั้น ทองหล่อ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน คือ นางคลี่ กำเนิดผล นายกั้น ทองหล่อ นายฤกษ์ ทองหล่อ นายคริ้ว ทองหล่อ และนายเริ่ม ทองหล่อ สาเหตุที่หนังกั้น ทองหล่อ ได้ชื่อว่า กั้น เนื่องจากนายคง ผู้เป็นบิดาทำงานรับจ้างให้กับวิศวกร ชาวฝรั่งเศส ที่สร้างทางรถไฟในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาตั้งที่พักสร้างทางอยู่ที่บ้านนาม่วง กิ่งอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ขณะนั้นนางชุมภรรยากำลังท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที จึงขออนุญาตกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อมาถึงบ้านน้ำกระจายปรากฏว่านางชุมยังไม่คลอดก็เตรียมตัวจะกลับไปบ้านนาม่วง ขณะจะเดินทางกลับก็เกิดอัศจรรย์ฟ้าร้องและฟ้าผ่าลงมา จึงขึ้นเรือนรอให้ฝนหยุดก่อนแล้วค่อยไป ในขณะนั้นนางชุมก็ปวดท้องใกล้จะคลอด แต่เนื่องจากนายคงได้ขออนุญาตเจ้านายมาเพียงวันเดียว เมื่อฝนหยุดตกแล้วจึงลงจากเรือนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ก็เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าและฝนตกลงมาอีกครั้งจึงกลับขึ้นเรือนไปอีก เหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ถึงสามครั้ง นางชุมก็คลอดบุตรชาย นายคงจึงตั้งชื่อบุตรชายของตนว่า “กั้น” สาเหตุจากฝนฟ้าที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการเดินทาง การศึกษา

หนังกั้น ทองหล่อ เริ่มเรียน นอ โม กอ ขอ กับพระในวัดน้ำกระจาย จนสามารถอ่านเขียนอักษรขอมไทยได้ ต่อมาทางการได้เปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่บ้านน้ำกระจาย จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดน้ำกระจาย (เนื่องจากโรงเรียนนี้อยู่ในวัด) เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ เมื่ออายุ ๑๒ ปี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำหรับการหัดหนังตะลุง ของหนังกั้น ทองหล่อ เริ่มหัดหนังตะลุง เนื่องจากชาวบ้านยุให้หนังกั้นขึ้นไปแสดงแทนผู้หัดหนังที่ไม่กล้าแสดง ในตอนแรกหนังกั้นไม่ค่อยกล้าแสดง แต่ทนเสียงเรียกร้องชาวบ้านไม่ได้ จึงขึ้นไปแสดงหนังตะลุง ในที่สุดก็ได้สร้างความประทับใจให้กับคนดูเป็นอย่างมาก ทั้งลีลาการแสดง เนื่องจากไม่เคยหัดหนังมาก่อนเลย ต่อมาก็ถูกขอร้องให้ไปแสดงในงานต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ชื่อเสียงในการแสดงหนังตะลุงเป็นที่เล่าลือไปเรื่อย มีผู้รับไปแสดงจนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ในที่สุดก็ต้องออกจากโรงเรียน พ.ศ.๒๔๗๐ จึงตัดสินใจบวชสามเณรอยู่ที่วัดน้ำกระจาย ตั้งใจศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมโท จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ลาสิกขาบทมารับราชการครู ขณะที่สอนหนังสืออยู่ก็รับแสดงหนังตะลุง ประจวบกับขณะนั้น หนังเอียด ปากพน ซึ่งเป็นอาของหนังกั้นเป็นนายหนังที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคณะหนึ่งในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้มาขอร้องให้หนังกั้นลาออกจากครูมาเล่นหนัง ในที่สุดหนังกั้นก็ตัดสินใจลาออกจากครู เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นอายุได้ ๒๑ ปี หนังกั้น ทองหล่อ เล่นหนังตะลุงติดต่อกันเรื่อยมาจนอายุได้ ๒๒ ปี ก็ได้อุปสมบทอีกครั้งที่วัดน้ำกระจาย ในระหว่างที่อุปสมบทก็ได้ศึกษาธรรมะตลอดจนสามารถเทศน์มหาชาติทำนองต่าง ๆ ได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ โดยวิธีอ่านเรื่องราวให้เข้าใจและจำเรื่องได้ประกอบกับพรสวรรค์และความสามารถในเชิงกาพย์กลอนที่แสดงหนังตะลุงมาก่อน ทำให้สามารถเรียนรู้เข้าใจได้ง่าย และรวดเร็ว หนังกั้นบวชอยู่ได้เพียงพรรษาเดียว ก็ลาสิกขาบทออกมาเล่นหนังตะลุง เนื่องจากทนเสียงเรียกร้องของชาวบ้านและเสียงเร้าใจของดนตรีหนังตะลุงไม่ไหว ครอบครัว ชีวิตครอบครัว

หนังกั้น ทองหล่อ สมรสกับนางสาวฉิ้น ทองกำปัน บุตรของผู้ใหญ่บ้านเอียดชาวบ้าน น้ำกระจาย เมื่ออายุ ๒๔ ปี มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ นายประเทือง ทองหล่อ ต่อมานางฉิ้นได้ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ ต่อมาหนังกั้นได้สมรสใหม่กับนางกิ้มเลี่ยน เป็นชาวบ้านน้ำกระจายมีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ นางทวี ทองหล่อ และต่อมาได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับนางขุ้ยเหี้ยง เป็นชาวบ้านบางดาน มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ นางประทุม ทองหล่อ นายประถม ทองหล่อ และ นายประกอบ ทองหล่อ หลังจากหนังกั้นมีภรรยาใหม่แล้ว ก็ให้ภรรยาประกอบอาชีพทำนา ทำสวนอยู่ที่บ้าน ส่วนตนเองเที่ยวแสดงหนังตะลุงและยึดอาชีพการแสดงหนังตะลุงมาโดยตลอด เริ่มชีวิตหนังตะลุง

ขณะที่มีอายุ ๑๘ ปี หนังกั้น ทองหล่อ ได้หัดเล่นและแสดงหนังตะลุง ปรากฏว่าคนดูชอบ และชมกันว่า “เล่นดี” ข่าวนี้ได้เล่าลือไป ประชาชนได้มาติดต่อรับไปเล่นหนังมิได้ขาด จนชาวบ้านขานนามหนังกั้นในขณะนั้นว่า “หนังเด็ก” และได้เริ่มเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพมาตั้งแต่บัดนั้น เนื่องจากหนังกั้น ทองหล่อ เป็นหนังดีหนังเด่น จึงมีคนรับไปเล่นในที่ต่างๆ ทั่วทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย ตลอดจนถึงประเทศมาเลเซีย เล่นหนังตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี จาก พ.ศ. ๒๕๗๑ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นระยะเวลา ๕๖ ปี รวมจำนวนครั้งในการแสดงประมาณ ๕,๖๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ช่วงหลังเมื่ออายุมากขึ้นหนังกั้น เล่นหนังน้อยลง ส่วนใหญ่จะเล่นแก้เหมฺย (แก้บน) แก้บน จากการที่หนังกั้น ทองหล่อ เป็นหนังดีเป็นที่นิยมของชาวบ้านทั่วภาคใต้ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเล่นหนังตะลุงมาแล้วกว่า ๕๐ ปี การที่หนังกั้นไปเล่นที่ใด ไม่ว่าเจ้างานรับไปเล่นเป็นการส่วนตัว หรืองานกุศลต่างๆ เจ้างานผู้รับงานถือว่าได้รับเกียรติอย่างยิ่ง มีความภาคภูมิใจที่หนังกั้นมาแสดงให้ แต่การเล่นหนังตะลุงที่สำคัญและได้รับเกียรติ คือ การแสดงถวายให้พระบรมราชชนนี ศรีสังวาลย์ทอดพระเนตร ในเรือพระที่นั่ง รล จันทบุรี ณ บริเวณเกาะหนูเกาะแมว เมื่อเรือพระที่นั่งจอดที่จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ และในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมราษฏรจังหวัดภาคใต้ ได้เสด็จมาเมืองสงขลา และทรงรับสั่งให้หนังกั้น ทองหล่อ มาแสดงหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักเข้าน้อย โดยหนังกั้น ทองหล่อแสดงเรื่องพระอภัยมณีถวาย นับว่าหนังกั้น ทองหล่อ ได้รับเกียรติอันสูงสุดที่ได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ชื่อเสียงและบรมครูแห่งหนังตะลุง

หนังกั้น ทองหล่อ แสดงหนังตะลุงมีชื่อเสียงไปทั่วภาคใต้ ก็มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์มากมาย จากจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง ก็มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์มากมาย จากจังหวัดสงขลา ตรัง และจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นส่วนใหญ่ ในการเรียน การสอน ก็ใช้วิธีให้ลูกศิษย์ติดตามเวลาไปแสดงที่ไหนก็ให้ตามไปคราวละ ๔- ๕ คน หมุนเวียนสลับกันไป เมื่อมีเวลาว่างจาก การแสดง หนังกั้น ทองหล่อ ก็จะเรียกบรรดาลูกศิษย์มาอบรมในเรื่องความประพฤติ มีอะไรก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีความรักใคร่ต่อกัน หนังกั้นมีศิษย์ที่เด่น ๆ มีชื่อเสียงหลายคน คณะหนังต่าง ๆ ที่เป็นศิษย์ในรุ่นแรก ๆ ก็มีหนังเชย เชี่ยวชาญ หนังชม เชี่ยวชาญ หนังแคล้ว เสียงทอง หนังกิ้มเนี่ยว (นายหนังผู้หญิง) หนังพร้อมน้อย อัศวิน สำหรับหนังพร้อมอัศวิน เป็นนายหนัง คนเดียวที่นำเอาเรื่องของหนังกั้นไปเล่นได้ดีจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ส่วนหนังคนอื่น ๆ ไม่เด่นดังเหมือนหนังพร้อม นอกจากนั้นก็มีหนัง “อรรถโฆษิต” หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม หนังฉิ้น ธรรมโฆษ (หนังฉิ้น อรมุต ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ปี ๒๕๓๒ ) หนังฉิ้น มิได้เป็นศิษย์โดยตรงของหนังกั้น แต่วิธีการแสดงหนังตะลุงก็เอาแบบอย่างของหนังกั้นเกือบทั้งหมด ประกอบกับหนังฉิ้นก็นับถือหนังกั้นว่าเป็นอาจาย์ ส่วนศิษย์รุ่นต่อมา คือ หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล หนังปัญญา ปากพนัง หนังวิเชษฐ์ หนังประเดียง ระฆังทอง หนังเคล้าน้อย หนังชัยเจริญ บันเทิงศิลป์ ฯลฯ ส่วนศิษย์เกือบจะเป็นรุ่นสุดท้าย ได้แก่ หนังจวน ทุ่งงาย หรือ หนังจวน แม่นาง หนังดวงประทีป แก้วทอง หนังนครินทร์ ชาทอง ซึ่งเป็นหนังทีได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ หนังกั้น ทองหล่อ ยังเป็นวิทยากรให้กับทางศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา ในการสัมมนานายหนังตะลุงจากทุกจังหวัดในภาคใต้ และมีการตั้งชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลาขึ้น เพื่อรวมหนังตะลุงทุกคณะมาร่วมเสนอความคิดเห็นและพัฒนา โดยประธานชมรม คือ หนังนครินทร์ ชาทอง ซึ่งมีหนังกั้นทองหล่อ หนังอิ่มเท่ง หนังอรรถฆิต และหนังอาวุโสหลายท่าน เป็นที่ปรึกษา โดยหนังกั้น ทองหล่อ ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำแนะนำและสาธิตให้ดูแทบทุกครั้งที่มีการชุมนุมกัน

คุณความดีที่ควรแก่การยกย่อง

จาการที่มีลูกศิษย์หนังตะลุงนับจำนวนร้อย จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เป็นบรมครูหนังตะลุงแห่งภาคใต้” และบรรดาคณะนายหนังทั่วไปจะได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องหนังกั้น ทองหล่อ ว่าเป็นหนังตะลุงชั้นยอดชั้นปรมาจารย์ เนื่องจาก ๑. หนังกั้นยึดเอาผลงานการแสดงเป็นหลัก โดยทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลงานที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐาน คือ ก่อนที่จะแสดงทุกครั้งต้องมีความมั่นใจและตั้งใจที่จะแสดงให้ได้ดีที่สุด ๒. มีการศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำราต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยพยายามเน้นในเรื่องศีลธรรมสอน ให้คนมีคุณธรรมสอดแทรกคติเตือนใจ ให้แนวคิดใน แง่ต่าง ๆ แก่บรรดาผู้ชมหนัง รู้จักใช้เทคนิคหรือกลวิธี ถ่ายทอดเรื่องหนังตะลุงให้ผู้ชมติดตามอยู่ตลอด ทำให้ ผู้ชมไม่เกิดความเบื่อหน่าย ๓. มีความเมตตาต่อศิษย์ และผู้แสวงหาความรู้ทั่วไป โดยเฉพาะกับลูกศิษย์จะสอนให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง ๔. มีความซื่อสัตย์กับประชาชน โดยเมื่อรับหนังไปแสดงแล้วก็จะต้องไปไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรจะต้องรักษาสัจจะ ๕. เล่นหนังอย่างเต็มความสามารถทุกครั้งเมื่อรับงานหรือว่าจ้างให้ไปแสดงก็ต้องแสดงให้เต็มที่ให้สมกับเงินที่เขาว่าจ้างตลอดชีวิตการแสดงหนังตะลุง ๖. ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ร่วมงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลูกคู่หนังที่เป็นผู้บรรเลงดนตรีการแบ่งส่วนคนร่วมงานก็ให้เป็นธรรมและยุติธรรม ๗. ใช้จิตวิทยาในการแสดง โดยคำนึงถึงผู้ดูเป็นสำคัญโดยพิจารณาดูว่าในท้องที่ที่เล่นหนัง คนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่อย่างไร หรือวัฒนธรรมเช่นไร ควรสอดแทรกบทสอนในช่วงจังหวะใด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่หนังกั้นคำนึงมากในชีวิตการเล่นหนังตะลุง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังกั้นได้รับความนิยมมาก ๘. หนังกั้นเล่นหนังอย่างสุภาพ มีมารยาทในการเล่น ไม่สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้น มีแนวคิดใหม่ในเชิงปรับปรุงวงการศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้ดีขึ้น ๙. มีการสอดแทรกคติความรู้ในการเล่นหนัง เมื่อแสดงหนังตะลุงทุกครั้งจะต้องฝากข้อคิดที่เป็นประโยชน์ไว้ในทุกเรื่องประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ หลักการปฏิบัติทางศาสนา ให้ปฏิบัติตาม ศีลธรรม เน้นให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม โดยถ่ายทอดทางตัวละครสั่งสอนคนโดยใช้นิยายพื้นบ้าน ใช้สุภาษิต คำคม และคำพังเพย

เทคนิคในการเล่นหนัง

ในการเล่นหนังตะลุงของหนังกั้น ทองหล่อ อาศัยเทคนิคหรือกลวิธีในการที่จะนำเนื้อเรื่องหนังตะลุงเสนอต่อผู้ชมให้เกิดความประทับใจ ซึ่งมีเทคนิคหลายประการ คือ ๑. มีสมาธิในการแสดง โดยการแสดงหนังตะลุงจะต้องมีจิตใจเป็นสมาธิไม่คิดถึงเรื่องอื่น จะต้องมีสมาธิอย่างสูง จิตใจอยู่ที่รูปหนังเท่านั้น ๒. ต้องสวมวิญญาณเข้าไปในตัวหนังหรือรูปหนัง เพื่อให้การแสดงมีรสชาติมีชีวิตชีวาเหมือนกับคนจริง ๆ รูปหนัง ทุกตัวจะต้องใช้น้ำเสียงไม่เหมือนกัน และต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปเพื่อให้ดูสมจริง ๓. มีความสามารถพากย์เสียงรูปหนังโดยไม่ซ้ำเสียงกัน ซึ่งมีทั้งเสียงของรูปชั้นเจ้านาย ซึ่งต้องใช้ภาษากลาง และรูปตัวตลก หรือรูปกากที่มีเสียงเฉพาะตัวตามถิ่นกำเนิด หรือลักษณะเฉพาะตัวรูปตลกนั้น ๆ ประมาณว่าหนังกั้น ทองหล่อ สามารถพากย์เสียงต่างๆ ได้ไม่ ต่ำกว่า ๑๔ เสียง ๔. ในการแสดงหนังตะลุง จะไม่ยึดเอาเรื่องที่ใช้แสดงมาเป็นหลักมากเกินไป โดยจะปรับตามสภาพสังคม วัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไปแสดง การแสดงจะไม่ค่อยซ้ำเรื่องกันเลยในที่เดียวกัน เว้นแต่ในสถานที่นั้นมีผู้รับไปแสดงติดต่อกันหลาย ๆ คืน เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่เบื่อหนังกั้น ๕. ในบทตลก หนังกั้นจะเล่นตลกไม่หยาบ มีศิลปะในการใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ได้อารมณ์ ขำขัน ตัวตลกที่สำคัญซึ่งทำให้คนดูให้การยอมรับมากที่สุด คือ สะหม้อ นับเป็นตัวตลกเอกของหนังกั้น ความคิดริเริ่มในการปรับปรุงและอนุรักษ์เผยแพร่หนังตะลุง

หนังกั้น ทองหล่อ เริ่มเล่นหนังตะลุงมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ คือ การเล่นหนังแบบเก่า โดยใช้แสงสว่างจากไต้ ตะเกียงน้ำมันวัว ตะเกียงเจ้าพายุ จนมาถึงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ในระหว่างการเล่นหนังตะลุง ได้มีความคิดริเริ่มในการปรับปรุงหนังตะลุงหลายอย่าง เช่น ๑. ปรับปรุงเครื่องดนตรี ทำนองการเล่นดนตรี เช่น เล่นย้อนทับ คือ เล่นดนตรีประเภทเครื่องตีให้เข้ากับเพลงปี่แล้วเชิด แล้วลงเครื่อง (จบ) ๒. นำเครื่องขยายเสียงเข้ามาใช้ในวงการหนังตะลุง เดิมหนังตะลุงใช้ปากเปล่าในการแสดง ต่อมามีเสียงรบกวนมากขึ้น หนังไม่สามารถจะเล่นขับบทให้คนดูจำนวนมากได้ยินไม่ทั่วถึง หนังกั้นจึงได้ปรับปรุงนำเครื่องขยายเสียงมาใช้ในการแสดงเป็นคนแรก โดยนำไมโครโฟนแขวนผูกติดไว้กับดวงแผงไฟ ทำให้เสียงดังได้ยินกันทั่วไป และมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย ๓. เป็นผู้นำด้านการใช้ภาษากลางในระดับชาวบ้านโดยพูดภาษากลางได้อย่างถูกต้องชัดเจน ไม่เพี้ยนเสียงในการเล่นหนังตะลุง ๔. การใช้เครื่องดนตรีหนังตะลุงใช้เสียงดังระดับพอดี ไม่ครึกโครมจนเกินไปจนเป็นที่รำคาญของผู้ฟัง ๕. ออกรูปปรายหน้าบท หนังกั้น ทองหล่อ เป็นต้นแบบที่ได้นำบทหน้าบท บทไหว้ครู หรือบทกาศมาใช้เป็นอย่างระบบ ๖. มีการปรับปรุงรูปหนังเลิกใช้รูปหนังบางรูป เช่น นางสองแขน(นางเบียน) เพราะมีลักษณะแบบผู้หญิงไม่ดี นอกจากนี้ยังมีรูปฤาษีนกเค็ต ฤาษีเส้ง เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายศาสนา เป็นต้น ๗. เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการตัดสินการแข่งชันหนังแนวใหม่ โดยใช้เกณฑ์ตัดสิน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับ แทนที่จะใช้จำนวนคนดูแบบประเพณีเดิมตัดสินแพ้ชนะกัน ๘. มีความคิดริเริ่มในการขออนุญาตต่อเจ้าของ ให้นำรูปสะหม้อมาเล่น สะหม้อเป็นชาวบ้านสะกอม ตำบทสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นคนรูปร่างเล็ก เตี้ยหลังค่อม มีนิสัยทะลึ่ง ดื้อ ดุดัน ชอบทำให้คนอื่นหัวเราะและมีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากสะหม้อได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว จึงได้ขออนุญาตต่อญาติพี่น้องของสะหม้อนำรูปสะหม้อไปเล่นหนังตะลุง ซึ่งได้รับความนิยมมาก เป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในบรรดานักดูหนังตะลุงทั้งหลาย ไม่แพ้ เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว ยอดทอง หรือตัวตลกที่มีชื่อตัวอื่นๆ ลักษณะเด่นการเล่นหนังตะลุง

นอกจากนี้ หนังกั้น ทองหล่อ เป็นนายหนังตะลุงที่ยังคงรักษาศิลประเบียบแบบแผนในการแสดงหนังตะลุงแบบดังเดิมมาตลอดไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เครื่องดนตรีและทำนองเพลง ยังคงใช้เครื่องดนตรีและเพลงแบบดั้งเดิม กล่าวคือ เครื่องดนตรีใช้เครื่อง ๕ ที่ประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ เพลงใช้เพลงไทยเดิมที่หนังตะลุงเคยใช้ตามธรรมเนียมนิยม ทำให้รักษาเอกลักษณ์ด้านดนตรีเอาไว้ได้ เพียงแต่ได้ยินเสียงก็จะรู้ได้ ทันทีว่าเป็นเครื่องดนตรีของหนังตะลุง ขั้นตอนการเล่น หนังกั้นยังคงรักษาขั้นตอนการแสดงตามขนบนิยมดั้งเดิมเป็นสำคัญ มีการดำเนินขั้นตอนตามลำดับ เริ่มจากทำพิธีตั้งเครื่องและเบิกโรง เล่นเพลงโหมโรง ออกฤาษี ออกโค ออกรูปปรายหน้าบท ออกรูปบอกเครื่อง ขับบทเกี้ยวจอ ออกรูปเจ้าเมือง แล้วจึงเดินเรื่องต่อไปตามเนื้อเรื่อง ปฏิภาณ หนังกั้นแสดงหนังใช้เป็นปฏิภาณเป็นหลัก เล่นด้วยวิญญาณศิลปินจริง ๆ ไม่ใช่กางบทดูแบบหนังสมัยใหม่ ทำให้การแสดงของหนังกั้นเป็นแบบธรรมชาติมีชีวิตชีวาและปรับเข้าเหตุการณ์ได้ รูปและการเชิดหนัง หนังกั้นยังคงเคร่งครัดมากโดยเฉพาะในเรื่องของรูปหนัง ยังคงเป็นแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีน้ำหนักเบา คล่องตัว ไม่ว่าจะใช้ในลีลาใด ซึ่งเหมาะสำหรับเชิดรูปมาก การเชิดรูปหนังของหนังกั้นเป็นที่ยอมรับของนายหนังและนักดูหนังตะลุงทั่วไปว่า ลีลาการเชิดเป็นธรรมชาติมาก กลอน หนังกั้นจะเน้นการขับกลอน โดยเฉพาะกลอนจากวรรณคดีต่าง ๆ ที่ไพเราะกินใจสอดแทรกเข้าไปในเรื่องได้อย่างมีจังหวะ บางครั้งยังเล่นกลอนสดอีกด้วย เกียรติคุณที่ได้รับ

พ.ศ.๒๕๐๓ คณะศิษย์ได้จัดพิธีไหว้ครูเชิดชูเกียรติให้หนังกั้น ทองหล่อ เป็นครั้งแรก ณ บ้านน้ำกระจาย ครั้งนั้นมีศิษย์มาร่วมกว่า ๑๐๐ คน พ.ศ.๒๕๒๔ รับโล่เกียรติคุณจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๔ โดยสถาบัณทักษิณคดีศึกษา เป็นผู้เสนอชื่อในฐานะผู้มีผลงาน ดีเด่นด้านการผลิตงานสื่อมวลชนประเภทชาวบ้าน พ.ศ.๒๕๒๗ รับเชิญเป็นวิทยากรหลักคนสำคัญ ในการบรรยายความรู้ ประสบการณ์การแสดงและสาธิตการแสดงหนังตะลุง ในการสัมมนาหนังตะลุง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒ - ๔ สิงหาคม ณ วิทยาลัยครูสงขลา และในคราวเดียวกัน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลาร่วมกับคณะศิษย์ได้จัดพิธีไหว้ครู เพื่อเป็นการ เชิดชูเกียรติให้เป็นครั้งที่ ๒ ณ วิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นประธานที่ปรึกษาชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา ได้ให้คำปรึกษา ความรู้ ความคิด ประสบการณ์แก่สมาชิกชมรม ซึ่งผลงานเหล่านี้บางส่วนได้รับการบันทึกทั้งที่เป็นภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.๒๕๒๙ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๘ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑ คน ใน ๑๖ คน เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ณ หอประชุม หอวชิราวุธานุสรณ์ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. และในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙ ได้เดินทางกลับมาถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะลูกศิษย์ได้คอยต้อนรับโดยการแต่งตัวเลียนแบบรูปหนังตะลุงและแห่แหนไปในตลาดหาดใหญ่ ซึ่งนายหนังทั่วไปได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องว่า หนังกั้น ทองหล่อ เป็นเลิศและเป็นหนังตะลุงขั้นปรมาจารย์ พ.ศ.๒๕๓๐ รับโล่พระราชทานและเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากศิลปินพื้นบ้านดีเด่นที่ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม นำเสนอไว้ นับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) คนแรกของวงการหนังตะลุงและของภาคใต้ ในปีเดียวกันหลังจากได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว หนังกั้น ทองหล่อ ก็ได้รับการบันทึกเรื่องราวชีวิตและผลงาน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ สี ในรายการ “คนไทยวันนี้” เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ ปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีและศิลปะการแสดงของวิทยาลัยครูสงขลา จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ณ พระที่นั่งสวนอัมพร กรุงเทพฯ จากการนำเสนอของ อาจารย์สนิท บุญฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายหอวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา อนุสรณ์หนังกั้น

หนังกั้น ทองหล่อ จากไปแล้ว คนรุ่นหลัง ได้สร้างพิพิธภัณฑ์หนังกั้น ทองหล่อ โดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา ขณะนั้นได้เก็บรวบรวมวัตถุอนุสรณ์หนังกั้นทั้งหมดเท่าที่จะเก็บรวบรวมได้ นำเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ และได้สร้างรูปหล่อสำริด ท่านั่งเท่าตัวจริง โดยความเห็นชอบของชมรมหนังตะลุง ปัจจุบันอนุสรณ์หนังกั้น ทองหล่อ เก็บรักษาอยู่ที่สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปเคารพกราบไหว้ และศึกษา นอกจากนี้ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ ก็ได้หล่อรูปเหมือนเท่าตัวจริงในอิริยาบถศิลปินแห่งชาติบรมครูหนังตะลุง ท่านั่งมือรูปสะหม้อ อยู่บริเวณศาลาหนังตะลุง สิ้นเสียงสั่งหนังลาโรง

หนังกั้น ทองหล่อ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ณ บ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ท่ามกลางลูกศิษย์หนังหลายคนที่นั่งเฝ้าปรนนิบัติ หนังกั้น ทองหล่อ จากไปด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ ๗๙ ปี งานพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้นอย่างสมเกียรติศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ เมรุลอย วัดน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2550
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง