บรรจง นะแส คนกล้าแห่งท้องทะเลใต้ ผู้พิทักษ์ทรัพยากรชายฝั่งไทย !!!
หลังจากที่ได้คลุกคลีกับชุมชนชาวประมง ก็ได้พบว่า วิถีชีวิตของพวกเขาถูกทำลาย เช่น สมัยก่อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านแค่ใช้เบ็ด 2 ตา หย่อนลงไปหาปลาในทะเล วันหนึ่งเขาก็จับปลาอินทรีย์ได้แล้ว 4 ตัว ขายได้กิโลกรัมละ 400-500 บาท สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งวัน แต่พอมีอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ เข้ามาทำการประมงในพื้นที่ ทรัพยากรชายฝั่งก็ไปหมด
หลังจากที่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จนได้พบเจอกับอุปสรรคนานัปการในการยังชีพของชุมชนประมงท้องถิ่นผู้อาศัยทรัพยากรชายฝั่งในการดำรงชีวิตมาชั่วนาตาปี
เป็นเหตุให้ลูกชาวสวนอย่างคุณบรรจง นะแส เริ่มหันเหชีวิตมาอุทิศให้กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งนับตั้งแต่ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยการร่วมผลักดันจนเกิดโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก ที่บ้านปากบางนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นแห่งแรกในปี 2524 และขยายแนวร่วมออกไปอีกหลายจังหวัดในนาม “สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้” ในปี 2536 ซึ่งค่อยๆ ก่อรูปเป็น “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทุกแห่งของประเทศไทยในเวลาต่อมา
ล่าสุดคุณบรรจง นะแส ในฐานะผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยาการชายฝั่งภาคใต้และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยังคงเดินหน้าขยายแนวร่วมภาคประชาชนด้วยการเชื่อมร้อย "เครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด" ซึ่งทีมงานของเราได้ถือโอกาสสัมภาษณ์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการขับเคลื่อนของคุณบรรจง ตลอดจนแนวทางในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรชายฝั่งไทยอย่างยั่งยืนสืบไป
ทำไมจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง
หลังจากที่ได้คลุกคลีกับชุมชนชาวประมง ก็ได้พบว่า วิถีชีวิตของพวกเขาถูกทำลาย เช่น สมัยก่อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านแค่ใช้เบ็ด 2 ตา หย่อนลงไปหาปลาในทะเล วันหนึ่งเขาก็จับปลาอินทรีย์ได้แล้ว 4 ตัว ขายได้กิโลกรัมละ 400-500 บาท สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งวัน แต่พอมีอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ เข้ามาทำการประมงในพื้นที่ ทรัพยากรชายฝั่งก็ไปหมด ชาวบ้านจำนวนมากต้องออกไปทำงานนอกชุมชน ไปเป็นพ่อครัวในต่างประเทศบ้าง ไปขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองบ้าง ทักษะในการเป็นชาวประมงก็หมดประโยชน์ ชุมชนชาวประมงก็ล่มสลาย ทั้งๆ ที่อาหารทะเลเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาแพง แต่ชาวประมงกลับมีฐานะยากจนจนและไม่สามารถประกอบอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายได้
และเมื่อสืบเสาะข้อมูลอย่างจริงจังก็ได้ทราบว่า ความล่มสลายดังกล่าวมีส่วนเชื่อมโยงกับนักการเมืองและภาคธุรกิจอาหารทะเล เช่น ปลาป่น อาหารสัตว์ ปลากระป๋อง เป็นต้น ประกอบกับ พ.ร.บ. การประมง ที่บังคับใช้อยู่ก็ค่อนข้างล้าสมัย จึงไม่สามารถดูแลทรัพยากรในส่วนนี้ได้ ผมจึงสนใจที่จะเข้าไปช่วยชาวประมงแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้
ทำอย่างไรให้การอนุรักษ์ชายฝั่งของไทยได้ผล
การมีกฎหมายที่ครอบคลุม ยกตัวอย่างเช่นประเทศมาเลเซีย กฎหมายของเขาห้ามจับสัตว์น้ำถึง 12 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่กฎหมายของประเทศไทยห้ามจับสัตว์น้ำในรัศมี 3 กิโลเมตรจากชายฝั่งเท่านั้น หรืออย่างประเทศคิวบาก็มีการกำหนดขนาดของอวนที่จะใช้จับสัตว์น้ำอย่างเคร่งครัด ทำให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ มีสัตว์น้ำและชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์มาก
เราสามารถปรับมาตรการให้เคร่งครัดได้หรือไม่
ทำได้สิ เพราะรัฐบาลเป็นของประชาชน แต่ปัจจุบันผู้ที่มีอำนาจในการเขียนกฎหมายไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ทำให้มาตรการดังกล่าวค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก ในบางยุคสมัยนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงงานน้ำปลา ได้ออกประกาศให้สามารถใช้เรือปั่นไฟบริเวณชายฝั่งทะเลได้ ซึ่งก็ชัดเจนว่าเป็นประกาศที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของเขา ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายในการอนุรักษ์ชายฝั่งไม่สามารถเริ่มต้นจากฝ่ายการเมืองได้เลย
พ.ร.บ. การประมง ฉบับที่บังคับใช้อยู่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ปัจจุบัน พ.ร.บ. การประมงที่บังคับใช้อยู่คือ พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ห้ามทำประมงในเขต 3,000 เมตรจากฝั่ง การห้ามมีอวนลาก อวนรุน และการกำหนดขนาดของตาอวน เป็นต้น ซึ่ง พ.ร.บ. การประมงฉบับดังกล่าว ก็ใช้มานานและยังไม่มีการแก้ไข ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการประมงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าการทำประมงเชิงพาณิชย์กว่า 90% อยู่ในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง แต่การบริหารจัดการของภาครัฐก็ยังไม่สามารถดูแลทรัพยากรในบริเวณดังกล่าวได้ ชายฝั่งหลายพื้นที่ยาวเป็นร้อยกิโลเมตรแต่มีเจ้าหน้าที่ประมงดูแลอยู่แค่ 2 คน และเจ้าหน้าที่ก็ทำงานตามเวลาราชการ คือ 8.30 – 16.30 น. ทั้งๆ ที่การทำประมงพาณิชย์เขาใช้อวนรุนอวนลากในเวลากลางคืน กลไกภาครัฐจึงไม่สามารถที่จะดูแลทรัพยากรได้
ควรแก้กฎหมายประมงอย่างไร
ต้องมีการกระจายอำนาจ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ควรจะนำรัฐธรรมนูญใหม่มาว่ากันเรื่องสิทธิชุมชน โดยอาจจะกำหนดให้แต่ละชุมชนสามารถดูแลทรัพยากร เช่น การตรวจจับได้ แต่ก็คงขัดกับ ป.วิอาญา ซึ่งก็ต้องไปแก้กฎหมาย เพราะถ้ามีเรือมาจับปลาที่หน้าบ้านคุณ คุณก็ควรต้องมีสิทธิในการดูแล กฎหมายจึงควรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ชาวประมงในพื้นที่มีสิทธิในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนของเขาได้ด้วย
นอกจากนั้นสังคมไทยก็ต้องตระหนักว่าทะเลเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกของสังคม และในเมื่อเรามีทุนทางทรัพยากรมากมายขนาดนี้แล้วทำไมเราไม่รักษาไว้ เดี่ยวนี้เราต้องกินปลาทูจากศรีลังกา จากอินโดนีเซีย แต่ปลาทูที่หน้าบ้านเรา ทำไมเราปล่อยให้เรืออวนขนาดใหญ่ทำลายทรัพยากรไปหมด
หน้าที่หลักในการการอนุรักษ์ชายฝั่งควรจะเป็นของใคร
คงต้องเป็นของภาครัฐ เพราะลำพังเอ็นจีโอ ชาวบ้าน และสื่อมวลชน คงไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าในบางพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความร่วมมือในการดูแลทรัพยากรชายฝั่ง ก็จะมีผลทำให้เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรปรับเปลี่ยนบทบาทจากการรักษากฎหมาย มาเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟู (ทรัพยากรชายฝั่งทะเล) ด้วย
ถ้าภาครัฐไม่ดำเนินการต้องทำอย่างไร
ก็ทำเหมือนที่ทำอยู่ ทำเท่าที่แรงเรามี ทำจากจุดเล็กๆ แล้วขยับไปเรื่อยๆ ขยายจากอำเภอนี้ไปอำเภอนู้น จากจังหวัดนู้นไปจังหวัดนี้
สมาคมรักษ์ทะเลไทยมีบทบาทและแนวทางการดำเนินงานอย่างไร
บทบาทหลักคือส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยการสนับสนุนให้ชาวประมงพื้นบ้านเกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ที่ตอนนี้ก็มีประมาณ 400 กลุ่ม โดยมีเงินหมุนเวียนในแต่ละกลุ่มประมาณสิบล้านบาท หรือกลุ่มแพปลาชุมชน ที่สมาชิกรวมตัวกันเพื่อนำสินค้าที่ได้จากการทำประมงมาขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือบางพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งก็ช่วยกันออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น
พลังของภาคประชาชนจะสามารถดูแลทรัพยากรชายฝั่งทะเลได้มากน้อยเพียงใด
ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งก็พอจะสู้ได้ บางพื้นที่ก็ลุกขึ้นมาทำเขตอนุรักษ์ ตั้งหน่วยเฝ้าระวัง ตั้งหน่วยตรวจการณ์ บางพื้นที่ก็ร่วมมือกับภาครัฐได้ อย่างที่จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้ผู้กำกับมาคนหนึ่ง ให้ปืนมา แล้วก็ให้ชาวบ้านเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการออกไปจับกุม คือ ถ้าภาครัฐสนับสนุนก็ง่ายหน่อย
แต่ในระดับชาติอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคม และสังคมควรตระหนักว่าแม้ชาวประมงจะเป็นคนส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกร แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะคนกินปลากันทั้งประเทศใช่ไหม... ถ้าคนในสังคมที่กินปลาไม่มีสำนึกว่าชาวประมงมีความสำคัญ พวกเขาก็ไม่มีแรงหนุนในการรักษาทรัพยากรชายฝั่งให้ยั่งยืนต่อไป
"บางคนอาจเคยกินลูกปลาทูที่เขาขายกัน หนึ่งกิโลประมาณหนึ่งพันตัว ราคาแค่หนึ่งร้อยบาท แต่เราหารู้ไม่ว่าเรากำลังทำลายทรัพยากรที่จะเติบโตไปเป็นอาหารที่มีมูลค่าสูงถึง 8,000 บาท แล้วสังคมไทยจะไม่ขาดโปรตีน ใครรู้ก็ต้องเลิกซื้อ เจอใครขายก็ต้องช่วยกันบอก"
"ปัญหาใหญ่ของทะเลไทยคือการใช้อวนลาก อวนรุน ที่ผิดกฎหมาย คืออวนตาถี่ที่มาขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ที่นอกจากจะทำลายปะการังและแหล่งวางไข่แล้ว ยังนำพาปลาเล็กปลาน้อยติดขึ้นมากับอวนด้วย บางส่วนพอขายได้ก็จะถูกจำหน่ายในราคาถูก แต่หากขายไม่ได้ ปลายทางของปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้ก็จะถูกป้อนเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เรียกว่า ‘ปลาเป็ด’ ที่จะถูกนำไปแปรรูปเป็น ‘ปลาป่น’ "
เรื่องราวชีวิตของคนทำงานพัฒนาเอกชนของ "บรรจง นะแส" ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชนภาคใต้ โครงการสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชนภาคใต้
คนที่ไม่สามารถมองข้ามความทุกข์ยากของคนในสังคม โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมที่ถูกหยิบยื่นให้กับชาวบ้านตาดำๆต้องเข้ามาแบกรับผลกรรมเหล่านั้น จะต้องปลุกให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับมนต์ดำที่เข้ามาครอบงำ โดยใช้ขบวนการยุติธรรมที่บ้านเมืองของเรามีอยู่เป็นตัวขับเคลื่อนหรือขจัดความเลวร้ายให้พ้นไปจากสังคม
แม้ตัวตนของเขาเองคิดที่จะทำไร่ทำนามากกว่า แต่การเรียนจบสูงๆ สำหรับคนชนบทสมัยก่อนสำคัญมาก จะให้กลับไปทำอย่างนั้นเป็นการยาก พ่อแม่ต้องไม่ยอม เพราะลูกชาวสวนชาวนาการที่ส่งให้ลูกเรียนหนังสือ เพื่อต้องการให้ลูกได้ทำงานสบาย ดังที่ว่า "เรียนจบแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน" ที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเขามองว่านั้นคือความเชื่อที่ผิดๆของชาวบ้าน
ทุกวันนี้ครอบครัวของเขามองไปในทิศทางเดียวกันว่า วิถีชีวิตชนบท คือเนื้อหาของชีวิตที่แท้จริงที่จะพึ่งตนเองได้ในอนาคต ซึ่งครอบครัวจะต้องซึมซับเอวไว้ ทั้งตัวเขาเองที่เรียนจบปริญญาโท ภรรยา ที่จบ ดร.ซึ่งเป็นอาจารย์ พร้อมลูกๆที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ในวันหยุดจะกลับไปทำสวนทำนา เลี้ยงสัตว์ ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเวลาของครอบครัวก็คือ "วิถีชีวิต" นั่นเอง
"บรรจง นะแส" สายเลือดเกษตรกรชาวตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ชีวิตที่เลือกเองของเขา เริ่มต้นเมื่อตอนสมัยเรียนเขาเป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน พอสนใจกิจกรรมก็เริ่มสนใจนอกห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มัธยมต้นก็มีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และพอมัธยมปลายก็มีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บ่มเพาะความสนใจการเมืองให้กับเขา และสิ่งที่เขาได้เรียนที่สำคัญที่สุดกับชีวิตคือเหตุการณ์นี้เอง เป็นเหตุการณ์ที่ทำลายความชอบธรรมในสังคมที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีไม่กี่ครั้งสำหรับเหตุการณ์สำคัญๆ เช่นนี้ ทำให้เขาเรียนรู้ข้อเท็จจริงของสังคม ว่าอย่างน้อยมันเป็นไปได้ สำหรับการเปลี่ยนแปลงถ้าเกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันอาจจะเกิดขึ้นได้อีก นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่สมัยนั้น หากมองความคิดชาวบ้าน เขาจะคิดว่าหากต้องมาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะรัฐนั้น อยู่นอกเหนือความคิดของชาวบ้านมาก
"บรรจง นะแส" จบการศึกษา รัฐประศาสนาศาสตร์บัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2524 วิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2541
ส่วนประวัติการทำงานของเขาเป็นเจ้าหน้าที่สนามโครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา (2528-2539) ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา(มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน) (2539-2547) ผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบัน ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้และโครงการสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้
ในด้านประสบการณ์การทำงาน ประธานชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาชุมชนภาคใต้ (2526) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใ ต้) 2532-2534) คณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ปี 2540-ปัจจุบัน) คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาสตรีผู้ใช้แรงงานใน จ.สงขลา (2539-ปัจจุบัน) ทำงานด้านพัฒนาด้านพัฒนาชนบทโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี 2524 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเสียสิทธิ์ เสียโอกาส ตลอดถึงการถูกละเมิดสิทธิของกลุ่มเกษตรที่เป็นประมงพื้นบ้านตลอด 2 ชายฝั่งในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างดี มีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติโดยเฉพาะพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการประมงปี 2490 ตลอดถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง และการละเมิดสิทธิของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
สำหรับชีวิตครอบครัวของเขามีภรรยาชื่อนางทัศนีย์ นะแส อาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา มีบุตร 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ทุกคนในครอบครัวของเขาต่างมีมุมมองของชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน และทุกคนก็เข้าใจถึงบทบาทของตัวเองเป็นอย่างดี และเข้าใจตรงกันคำว่า เวลาของครอบครัว ที่ครอบครัวของเขาให้ความจำกัดความว่านั่นคือ วิถีชีวิต ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเวลาของครอบครัวจะต้องอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันหยุด และต้องออกไปเที่ยวไปกินข้าวนอกบ้าน เขาบอกว่านี้เป็นวิธีคิดของคนชั้นกลางเท่านั้น ยกตัวอย่าง ชาวสวน ชาวนา เขาจะมีเวลาครอบครัวที่ไหน เช้าต้องออกไปทำสวนทำนา ที่เป็นเนื้อเดียวกับวิถีผลิต
ฉะนั้นวิถีชีวิตครอบครัว คือเข้าใจเป้าหมายในการใช้ชีวิตร่วมกันว่าคืออะไร สำหรับตัวของเขาเองก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับอาจารย์ทัศนีย์ ได้ทำความเข้าใจและลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่า เราต้องอยู่ในหมู่บ้าน ต้องการให้ลูกๆโตขึ้นได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตในชนบท แม้ว่าขณะนี่ลูกๆของเขากำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เมื่อไหร่มีโอกาสก็จะให้ลูกกลับไปช่วยคุณย่าทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ เป็นต้น เพราะเห็นว่า นี่คือเนื้อหาของชีวิตที่แท้จริง เป็นการเรียนรู้ชีวิตจริง และนี่คือความมั่นคงที่แท้จริง ที่จะพึ่งตัวเองได้ในอนาคต เมื่อไหร่ที่ล้มเหลวจากการศึกษา หรือไม่ชอบที่จะไปเป็นลูกจ้างของใคร เราก็สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ เพียงเรารักษาทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษเอาไว้ให้สมบูรณ์มากที่สุด เมื่อไหร่ทุกคนดูถูกในเรื่องเหล่านี้ นั่นคือ อันตรายที่จะเกิดขึ้นในชีวิต
"พัฒนาการทางสังคมในทุกวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ด้านเทคโนโลยี สักวันหนึ่งสังคมจะเริ่มมองเห็น เมื่อเกิดวิกฤตธรรมชาติ เกิดวิกฤตพลังงาน ก็จะเกิดคำถามขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างก็จะกลับไปสู่รากง้าวโดยธรรมชาติ หากเรารักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ให้ดี" และนี่คือ"บรรจง นะแส" เอ็นจีโอ ใต้
มาทำความรู้จัก กันสักนิด ...
สัญชาติ ไทย ศาสนา พุทธ อายุ 50 ปี
สถานภาพ สมรส คู่สมรส นางทัศนีย์ นะแส ตำแหน่ง อาจาร ย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา มีบุตร 2 คน
อาชีพ ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน (โครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้) ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการ
สถานที่ทำงาน 57/215 หมู่บ้านเคหสถานครูไทย ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา 90100โทรศัพท์ (074) 448356 , 448363
โทรสาร (074) 448363E – mail bnasae@yahoo.com
ที่อยู่ปัจจุบัน 164 /1 หมู่ 2 ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา โทร (074) 467897
ประวัติการศึกษา
1.) รัฐประศาสนาศาสตร์บัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2524
2.) วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2541
ประวัติการทำงาน 2524 – 2528 เจ้าหน้าที่สนามโครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา2528 – 2539 ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา(มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน) 2539 – 2547 ผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ปัจจุบัน ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้และโครงการสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้
ประสบการณ์การทำงาน
1.) ประธานชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาชุมชนภาคใต้ (2526)
2.) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใ ต้) 2532 – 2 53 4)
3.) คณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ปี 2540 – ปัจจุบัน)
4.) คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาสตรีผู้ใช้แรงงานใน จ.สงขลา (2539 – ปัจจุบัน)
5.) ทำงานด้านพัฒนาด้านพัฒนาชนบทโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี 2524 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเ สีย สิทธิ์ เสียโอกาส ตลอดถึงการถูกละเมิดสิทธิของกลุ่มเกษตรที่เป็นประมงพื้นบ้านตลอด 2 ชายฝั่งในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างดี
6.) มีความ รู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติโดยเฉพาะพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการประมงปี 2490 ตลอดถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง และการละเมิดสิทธิของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
การฝึกอบรม/ดูงานทั่วไป
1.) ปี 2527 ดูงานด้านสหกรณ์ประมง ประเทศอิตาลี
2.) ปี 2529 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศบังคลาเทศ/อินเดีย
3.) ปี 2538 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศตูนีเซีย (อาฟริกา)
4.) ปี 2532 ASIAN NGO LEADERSHIP IDR.BOSTON, U.S.A
5.) ปี 2532 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศแคนาดา/ญี่ปุ่น
6.) ปี 2541 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศเดนมาร์ก/อังกฤษ/ เยอรมัน
7.) ปี 2543 ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม THE INTERNATIONAL PROGRAMMES ON THE MANAGEMENT OF SUSTAINABILITY ระหว่างวันที่ 17 – 25 มิถุนายน 2543 ประเทศเนเธอแลนด์
อื่นๆ
ศิษย์เก่าดีเด่นด้านการพัฒนาสังคมในรอบ 10 ปี ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2529
ศิษย์เก่าดีเด่นพัฒนาสังคมในรอบ 20 ปี ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2539
คณะกรรมการส่งเสริมกิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเกี่ยวกับการประมงและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
"จะต้องรู้จักตัวเราเองเสียก่อนแล้วค่อยไปกำหนดบทบาทตนเองในการทำงาน และในการทำงานจะต้องรู้จักปรับระบบการทำงาน มีเป้าหมาย มีจุดยืนที่ชัดเจน ที่สำคัญเมื่อเราทำอะไรไปแล้วจะต้องรู้จักยอมรับตัวเองได้"
ขอขอบคุณ @ หนังสือพิมพ์ สมิหลา ไทมส์ ฉบับที่ 319 วันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2551, ppvoice.thainhf.org, การปฏิรูปทะเลไทย , เฟสบุ๊ค บรรจง นะแส
Relate topics
- รู้จักเธอยัง? "จุ้มจิ้ม" ทายาทหมื่นล้าน ′พิธานกรุ๊ป′ ดารานักธุรกิจ-เจ้าหญิงห้างฯไดอาน่า แห่งมหานครหาดใหญ่"จุ้มจิ้ม" วรนันท์ จันทรัศมี หลายคนคุ้นเคยในบทบาทดารา นักแสดง พิธีกรในโลกวงการบันเทิง ![ คำอธิบายภาพ : pic55097248ab723 ](http://sator4u.com/upload/pics/pic55097248ab723.jpg "ชื่อภาพ : pic5509724
- โนราเติม (เติม อ๋องเซ่ง) เสน่ห์แห่งบทกลอนแห่งเมืองตรัง บรมย์ครูยอดมโนราห์ต้นแบบแดนใต้โนราเติม ชื่อนายเติม อ๋องเซ่ง เกิดปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษจังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายตั้ง นางอบ อ๋องเซ่ง สัญชาติไทย เชื้อชาติจีน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ
- “อาจารย์ณรงค์ตะลุงบัณฑิต” จากนายหนังนักอนุรักษ์สู่ทำเนียบศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) คำประกาศเกียรติคุณ นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) นายณรงค์จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) นายณรงค์จันทร์พุ่ม สมญา “หนังอาจารย์ณรงค์ตะล
- ยิญชัย ปะหณัณ ...กับบทเพลงบทเพลงเพื่อชีวิตที่มีกลิ่นไอสะท้อนปัญหาสังคม ความเหงา ความคิดถึง ความสวยงามและการอนุรักษ์ธรรมชาติยิญชัย ปะหณัณ ( นายศรวิษฐ์ แสงนวล ) ภูมิลำเนาอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ปัจจุบันรับราชการ ชอบร้องเพลง เล่นกีตาร์ และฝึกฝนมาโดยตลอด ต่อมาปี พ.ศ.2551 เริ่มเขียนเพลงจากความรู้สึกเหงา ความค
- สาวใต้เมืองคอน "เมญ่า" นนธวรรณ ทองเหล็ง มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2014สาวใต้เมืองคอน "เมญ่า" นนธวรรณ ทองเหล็ง มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2014 เมญ่า อายุ 22 ปี และกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการจัดการธุรกิจการบิน มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด อินเตอร์เนชั่
- “ศรัทธา แซ่ด่าน” วีรชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหนุ่มแดนใต้สุดปลายด้ามขวานยะลา - “ศรัทธา แซ่ด่าน” วีรชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหนุ่มแดนใต้สุดปลายด้ามขวาน แกนนำ กปปส.ยะลา ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์รัฐบาลจัดชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ วัน
- เปิดประวัติ “สุทิน ธราทิน“ วีรชนคนดี ชาวนครศรีธรรมราชนายสุทิน ธราทิน เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2504 อายุ 52 ปี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนเข้ากรุง เรียนและเป็นนักกิจกรรมรามฯ เคยทำงานกับพรรคไทยรักไทย แกนนำรัฐบาลทั้งภูมิธรรม จาตุรนต์ มาก่อน เป็นเอ็นจีโอ
- ประวัติสุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ และครอบครัวประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยาคนปัจจุบัน พร้อมครอบครัว ผู้ซึ่งเป็นกำลังใจให้ นายสุทพ แกนนำผู้ชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองอันร้อนระอุในช่วงเดือนพฤศจ
- นายกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง)กั้น ทองหล่อ (พ.ศ. 2455 - พ.ศ. 2531) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อพ.ศ. 2529 ประวัติชีวิตและผลงาน นายกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะก
- นายอิ่ม จิตต์ภักดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี 2540หนังอิ่มเท่ง (อิ่ม จิตต์ภักดี) เกิดเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา ที่บ้านคลองช้าง ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา บิดาชื่อ นายฉิม จิตต์ภักดี เป็นชาว