ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น น้ำไม่ท่วม !!!
ปลายเดือนตุลาคม 2540 พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดชุมพรเร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จ ให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับการขึ้นฝั่งของพายุฯ
ที่ อ.เมือง จ.ชุมพร ในอดีตนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแทบจะทุกปี ด้วยภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือมีภูเขาสูง ทำให้กลายเป็นที่รองรับน้ำจากที่อื่น ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทย แต่หากระบายไม่ทันก็จะกลายเป็นน้ำท่วมในตัวเมือง เช่นเมื่อคราวพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 และพายุโซนร้อนซีต้า ในปี 2540 ซึ่งทำให้ในตัวเมืองชุมพรมีน้ำท่วมสูง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากมาย สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล และใช้เวลานานในการฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นเหมือนเก่า
แต่ในปี 2540 นั้นเอง ชาวชุมพรก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างมาก เพราะภายหลังจากเกิดพายุซีต้าที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองชุมพรสูงถึง 2.20 เมตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ตรวจสอบ และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร
พบว่า มีพื้นที่ลุ่มทางตอนเหนือของเมืองชุมพร เรียกว่า “หนองใหญ่” ตั้งอยู่ที่ ต.บางลึก อ.เมืองชุมพร มีสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเหมาะสมที่จะใช้พักน้ำก่อนการระบายลงสู่ทะเล เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับคลองหัววัง - พนังตัก สามารถรับน้ำและระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่ต้องผ่านเมือง แต่คลองนั้นยัง ไม่ได้ขุดให้ตลอด เหลือระยะทางอีกประมาณ 1,460 เมตร
พระองค์ท่านทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในหนองใหญ่ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และพระราชทานชื่อว่า “ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1"
จาก“คลองหัววัง-พนังตัก” ถึง“หนองใหญ่” ชุมพรสุขร่มเย็นด้วยพระบารมี
จากนั้นก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทาง จ.ชุมพร เร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จในบริเวณอ่าวพนังตัก หมู่ที่ 4 ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร ให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็ว ให้ทันกับการขึ้นฝั่งของพายุไต้ฝุ่นลินดา ที่คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ จ.ชุมพร ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2540
ในที่สุดการขุดคลองหัววัง-พนังตัก ก็แล้วเสร็จลงก่อนที่พายุไต้ฝุ่นลินดาจะเข้าฝั่งเพียง 1 คืน เมื่อพายุเข้าฝั่งจึงได้ใช้ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก น้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในภายหลังก็ยังทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงที่สมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับการระบายน้ำในอนาคต
หลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ตัวเมืองชุมพรก็ไม่เคยมีน้ำท่วมอีกเลย ซึ่ง พิพัฒน์ บอกว่า “คลองหัววัง-พนังตัก กับแก้มลิงที่หนองใหญ่มีประโยชน์กับคนชุมพรสุดที่จะพรรณนา สิบกว่าปีนี้ที่ไม่มีน้ำท่วมเลยก็ทำให้เศรษฐกิจของชุมพรขยายตัวขึ้นเยอะ ชาวบ้านก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมอีก คิดว่าโครงการนี้น่าจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อื่นๆ ได้ดี เพราะพระเมตตาของในหลวง ทำให้คนชุมพรมีความสุขได้ในทุกวันนี้ ”
"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" ทั่วทั้งเมืองชุมพร วันนี้ ชาวเมืองได้แสดงออกถึงสำนึกในพระบารมีกรุณาธิคุณ ด้วยการแขวนป้ายที่หน้าบ้านไว้แทบจะทุกหลังคาเรือน แผนป้ายนี้มีข้อความว่า
"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" เป็นเวลา 12 ปีแล้ว ที่น้ำไม่เคยท่วมจังหวัดชุมพระอีกเลย นับแต่มีโครงการพระราชดำริพระราชทานไว้ให้กับชาวชุมพร ตั้งแต่ปี 2541"
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการโดยชุมชนที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่หนองใหญ่
มีลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม จังหวัดชุมพรจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง ในบางปีที่มีฝนตกชุกอาจเกิดน้ำท่วมหลายครั้งสร้างความสร้างความเสียหายให้แก่คนชุมพรมาโดยตลอด
ระหว่าง วันที่ 18-22 สิงหาคม 2540 เกิดพายุโซนร้อนซีต้า พัดขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ผ่านไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย อิทธิพลของพายุโซนร้อนซีต้าทำให้ฝนตกหนักมากทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดชุมพร น้ำในคลองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเมืองชุมพร น้ำท่วมมีระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวชุมพร ตามมาด้วยอีกสามเดือนต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า “พายุ ลินดา” ซึ่งเป็นพายุที่มีลักษณะการก่อตัวบริเวณเดียวกันกับพายุเกย์ และพยากรณ์ว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกัน จะขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 8 ปี แห่งการเกิดมหาวาตภัยไต้ฝุ่นเกย์พอดี สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวชุมพรอย่างยิ่ง เพราะเพิ่งประสบอุทกภัยอย่างรุนแรงผ่านมาเพียง 3 เดือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงถึงความเดือดร้อนของราษฎรชาวชุมพร ทรงเร่งรัดให้ทำการขุด คลองหัววัง-พนังตัก ให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่ง
จังหวัดชุมพรเป็นเส้นทางพายุพัดผ่าน ในเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี พายุโซนร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ จะมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทย จังหวัดชุมพรจึงเป็น พื้นที่เสี่ยงที่จะมีพายุพัดเข้า
ที่รุนแรงที่สุดคือ ครั้งที่มหาวาตภัยใต้ฝุ่นเกย์พัดเข้าชุมพรในวันที่ 4 พ.ย. 32 สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก พายุมีความเร็วลม 150 กม/ชม. มีประชาชนเสียชีวิต 446 คน บ้านเรือนเสียหาย 41,208 ปี 2540 พายุโซนร้อนซีต้าสร้างความเสียหายให้แก่ จ.ชุมพร กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าพายุลินดา จะขึ้นฝั่งอีกในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความเดือดร้อนของชาวชุมพร
เมื่ออุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนการก่อตัวของพายุ “ลินดา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้เร่งขุดคลองหัววัง – พนังตัก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2540 เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภา ที่บ้านหัววัง ลงสู่ทะเลที่อ่าวพนังตัก ซึ่งคลองดังกล่าวกรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ คงเหลือระยะทางอีก 1,460 เมตร จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นเงิน 18 ล้านบาท การก่อสร้างประตูระบายน้ำแล้วเสร็จและขุดคลองหัววัง – พนังตัก ทะลุลงทะเลได้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนที่พายุลินดาจะเข้าเพียง 1 วัน ในระหว่างการขุดคลองพระองค์ทรงทราบความเดือดร้อนของราษฎรบ้านนาชะอัง หูรอและพนังตัก ที่ถนนเข้าออกหมู่บ้านถูกตัดขาด จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ 800,000 บาท ให้ก่อสร้างทางเบี่ยงและ พระราชทานชื่อว่า “ถนนราชประชาร่วมใจ”
ในครั้งนั้น ชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัย ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ว่า “สิบแปดล้านกว่า ก็น่าจะคุ้มค่า เป็นการประหยัดของประชาชน ทั้งเป็นการประหยัดเงินของราชการด้วย น้ำจึงไม่ท่วมแม้จะมีพายุมาอย่างหนัก จึงเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงของมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีผลงานสมชื่อ ”
-------------
แก้มลิง-คลองในหลวง-พระเมตตาสู่ชาวชุมพร
สถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาวชุมพร โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง เป็นสถานที่ที่ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริ์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงริเริ่มในการสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น คือ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ
จังหวัดชุมพร
โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่ที่ บ้านเขาแรด หมู่ที่ 2 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมีความเป็นมาเนื่องจากเกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” ระหว่างวันที่ 20 - 24 สิงหาคม 2540 ทำให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล อุทกภัยในจังหวัดชุมพรเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือจดภูเขาสูง เมื่อมีฝนตกที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอท่าแซะ และอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร และอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง น้ำจะไหลจากบริเวณดังกล่าวผ่านพื้นที่บริเวณตัวเมืองชุมพรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยจึงทำให้มีน้ำท่วมขังในเขตตัวเมือง ชุมพร เมื่อเกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” มีน้ำท่วมขังในเขตตัวเมืองชุมพรสูง 2.20 เมตร เนื่องจากน้ำไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ทัน หลังจากเกิดอุทกภัยดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพร จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์ (นายดิสธร วัชโรทัย) ตรวจสอบและ ศึกษาข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร พบว่า มีพื้นที่ลุ่มทางตอนเหนือของเมืองชุมพร เรียกว่า “หนองใหญ่” ตั้งอยู่ที่ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร มีสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเหมาะสม อย่างยิ่งที่จะใช้พักน้ำก่อนการระบายลงสู่ทะเล เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับคลองหัววัง – พนังตัก สามารถรับน้ำและระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่ต้องผ่านเมือง แต่คลองนั้นยังตัน ไม่ได้ขุดให้ตลอดเหลือระยะทางอีกกิโลเมตรเศษ จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในหนองใหญ่ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และพระราชทานชื่อว่า “ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1" ปลายเดือนตุลาคม 2540 พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดชุมพรเร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จเหลือระยะทาง1,460 เมตร บริเวณอ่าวพนังตัก หมู่ที่ 4 ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพรให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็วทันกับการขึ้นฝั่งของพายุไต้ฝุ่น “ลินดา” แต่ในการขุดคลองให้ทะลุดังกล่าวมีราษฎรส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบในการคมนาคม อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องก่อสร้างทางลำลองเพื่อใช้เป็นทางเบี่ยงความยาวประมาณ 2,000 เมตร ซึ่งจังหวัดชุมพรได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการจังหวัดดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้รับสั่งที่จะพระราชทานผิวจราจรลาดยางในถนนทางเบี่ยงดังกล่าว เพื่อไม่ให้ราษฎรของพระองค์ได้รับความเดือดร้อน สำนักงานโยธาธิการจังหวัดชุมพรได้ประมาณราคาผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติค เป็นเงิน 800,000 บาท ได้แจ้งผลการประมาณราคาผ่านกองงานส่วนพระองค์ ทันทีที่ได้แจ้งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “การทำผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติคนั้น น่าจะเหมาะสมกับการทำผิวจราจรในถนนเดิมที่มีพื้นทางแน่นดีอยู่แล้ว” สำนักงานโยธาธิการจังหวัดชุมพรได้กราบบังคมทูลผ่านกองงานส่วนพระองค์ถึงความจำเป็นที่ต้องทำผิวจราจรลาดยางแบบดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ต้องเร่งดำเนินการให้เปิดใช้เส้นทางได้โดยเร็ว ไม่ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับสภาพอากาศปิดมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่องเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการปฏิบัติงาน จากการถวายรายงานดังกล่าวพระองค์จึงชอบด้วยวิธีการ ทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิราชประชา-นุเคราะห์ฯเพื่อทำผิวจราจรดังกล่าวและพระราชทานชื่อว่า “ถนนราชประชาร่วมใจ” แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระทัยใส่ในความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งทรงมีพระปรีชาในด้านวิศวกรรมโดยแท้ เป็นความปิติแก่ผู้ปฏิบัติงานเร่งด่วนในครั้งนั้นอย่างหา ที่สุดมิได้ การขุดคลองหัววัง-พนังตักแล้วเสร็จในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนที่พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” จะเข้าฝั่งเพียง 1 วัน เมื่อพายุเข้าฝั่งได้ใช้ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก น้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง
จะเห็นได้ว่าหนองใหญ่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวชุมพรทั้งในด้านป้องกันอุทกภัยในฤดูมรสุม และเป็นแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรยามหน้าแล้ง ทางทีมท่องเที่ยวขอเริ่มนำท่านผู้อ่านไปชมแก้มลิงหนองใหญ่ก่อน สภาพพื้นที่จะเป็นบึงขนาดใหญ่ ปัจจุบันเทศบาลตำบลบางลึกได้พัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนและผู้ที่สนใจพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ออกกำลังกายของผู้รักสุขภาพด้วย มีโต๊ะหินให้นั่งเล่น มีเรือถีบให้เช่าเป็นการสันทนาการ จัดทำท่าน้ำไว้สำหรับให้อาหารปลาด้วย จากวันที่ทางทีมท่องเที่ยวไปที่หนองใหญ่ พบว่าได้รับความนิยมจากคู่บ่าว – สาว มาถ่ายพรีเวดดิ้งด้วย บรรยากาศร่มรื่น มีลมพัดโชยมาเรื่อยๆ เย็นสบาย เมื่อได้เวลาเราก็เดินทางมายังบริเวณศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ จะเป็นที่ตั้งของสะพานไม้เคี่ยม ที่ยาวถึง 500 เมตร ถือเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของหนองใหญ่ ถ้าจะเดินข้ามสะพานไม้ใช้ความระมัดระวังด้วยนะครับ เพราะสะพานที่สร้างมานานเริ่มชำรุดไปตามกาลเวลา แต่ก็แนะนำให้ลองเดินไปชมบรรยากาศกันนะครับ ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ มีแปลงนาสาธิตข้าวปลอดสารพิษกำลังตั้งท้องออกรวงงามสะพรั่ง แล้วเราก็เดินทางต่อมาชมแนวคลองหัววัง – พนังตัก คลองซึ่งสะท้อนถึงน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีแก่ประชาชนจังหวัดชุมพร จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “คลองในหลวง” ลำคลองที่ทอดยาวไว้ใช้ระบายน้ำออกสู่ทะเลที่อ่าวพนังตัก และเป็นแหล่งน้ำแจกจ่ายให้เกษตรกรยามแล้ง เราเดินทางเลียบริมคลองไปเรื่อยๆ พบกับเรือยาวจากส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่นำมาเตรียมความพร้อมและซ้อมเพื่อลงแข่งขันในงาน “วันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงของเรา และการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 18” ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 24 – 27 กันยายน 2558 ณ คลองในหลวง หัววัง – พนังตัก วันที่เราไปได้พบกับเรือยาวของเทศบาลตำบลท่ายางกำลังซ่อมแซมเพื่อลงแข่งขัน เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมพรเป็นอย่างดี ทีมท่องเที่ยวเดินทางล่องมาเรื่อยๆ จนมาถึงปากคลองพนังตักในช่วงเวลาเย็น ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตริมคลองในส่วนปลายสุด เกือบทุกบ้านประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและเลี้ยงปลาในกระชัง ลมทะเลเย็นสบายได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงาม วิถีชุมชนใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสร้างความประทับใจไม่น้อย ทั้งนี้จากแก้มลิงหนองใหญ่มาจนถึงคลองหัววัง – พนังตัก สายนี้ หล่อเลี้ยงประชาชนชาวชุมพรได้ใช้ประโยชน์และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย จากสายน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน ดังคำที่กล่าวว่า “ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น”
ขอขอบคุณ @ แก้มลิง คลองในหลวง พระเมตตาสู่ชาวชุมพร - อบจ. ชุมพร , จาก“คลองหัววัง-พนังตัก” ถึง“หนองใหญ่” ชุมพรสุขร่มเย็นด้วยพระบารมี
Relate topics
- มังคุดคัด (มังคุดเสียบไม้) ของดีคู่เมืองนครศรีธรรมราช"มังคุดคัด" เป็นเหมือนของคู่กับวัดมหาธาตุฯ เมืองนครศรีธรรมราชไปซะแล้ว ผ่านไปทีไรก็เป็นอันต้องแวะไปกินมังคุดคัดทุกที มีขายประจำที่วัดมหาธาตุฯ เมืองนคร นี่แหล่ะ ไปถึงปุ๊บ ก็เจอปั๊บ แม่ค้าถือถาดมังคุดคั
- แกล้งดิน พระอัจฉริยภาพด้านดิน-น้ำ แก้จนยั่งยืน ที่ “ศูนย์ฯ พิกุลทอง” จ.นราธิวาสอย่างที่อำเภอตากใบ ก็มีปัญหานี้ ชาวบ้านทำได้แค่ปลูกพืชได้เป็นหย่อมๆ ผลผลิตไม่ดี ปลูกข้าวได้ไร่ละไม่ถึง 10 ถัง ก็ได้นำความรู้เรื่องแกล้งดินไปปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จนเขียวขจีไปทั้งพื้นที่ ![ คำอ
- จากความวิปโยค คืนสู่ความสมบูรณ์ ด้วยพระมหากรุณธิคุณ “อ่างเก็บน้ำกะทูน” สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้อ่างเก็บน้ำกะทูนเป็นอีกหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สามารถพลิกวิกฤตจากน้ำท่วมใหญ่ในอดีตให้เป็นโอกาส ช่วยชะลอน้ำ สร้างชีวิตใหม่ให้กับพสกนิกร ![ คำอธิบายภาพ : pic5803
- พระมหากรุณาธิคุณ ก่อเกิด "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" พระผู้เป็นกำลังใจ มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก "แฮเรียต" ถล่มภาคใต้ ปี พ.ศ. 2505เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิว
- หาดใหญ่พ้นภัยด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาที่หาดใหญ่ ที่น้ำท่วมอย่างมากมายเช่นนี้ ท่านผู้ที่อยู่ในท้องที่ก็ได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่ว่าไม่ทันรู้ว่ามันมาอย่างไร ถ้าถามผู้อยู่ที่หาดใหญ่เองทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือน ว่าน้ำน
- พระราชปณิธานที่จะให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถพูดภาษาไทยได้การศึกษาที่นี่สำคัญมาก ให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนักเพียงแต่พอรู้เรื่องกันก็ยังดี เท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปลควรให้พูดเข้าใจกันได้ เ
- รัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจด้านแร่ในภาคใต้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นภูมิประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดแร่ดีบุก ทั้งภูเขาและลานแร่ พระองค์ทรงเข้
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “เสด็จเมืองระนอง ๒๕๐๒”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “เสด็จเมืองระนอง ๒๕๐๒” ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม ปี พุทธศักราช ๒๕๐๒ ![ คำอธ
- พ่อของแผ่นดินกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม" อิสลามิกชนมีพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน อันประกอบพร้อมด้วยบทบัญญัติทางศีลธรรม จริยธรรม นิติธรรม เป็นแม่บทศักดิ์สิทธิ์สำหรับการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่จึงมีชีวิตที่เจริญมั่นคง มีความฉลาด
- สงขลาใต้ร่มพระบารมีปี ๒๕๐๒ เสด็จสงขลา ครั้งแรก เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวสงขลาเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ครั้งแรก