หาดใหญ่พ้นภัยด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ที่หาดใหญ่ ที่น้ำท่วมอย่างมากมายเช่นนี้ ท่านผู้ที่อยู่ในท้องที่ก็ได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่ว่าไม่ทันรู้ว่ามันมาอย่างไร ถ้าถามผู้อยู่ที่หาดใหญ่เองทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือน ว่าน้ำนั่นมาอย่างไร สักแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะไม่ทราบ
หาดใหญ่พ้นภัยด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง
เมื่อโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ ดำเนินการแล้วเสร็จ ปัญหาอุทกภัยของอำเภอหาดใหญ่ก็บรรเทาเบาบางลงไปเป็นอย่างมาก แม้แต่ในปีที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และมีการประกาศเตือนให้เฝ้าระวังอุทกภัย แต่ชาวอำเภอหาดใหญ่ก็รอดพ้นจากภัยน้ำท่วมมาได้ทุกครั้ง อาจมีบ้างที่น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นในตัวเมือง แต่น้ำก็จะไหลลงสู่คลองระบายน้ำ และไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวอำเภอหาดใหญ่ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างอเนกอนันต์
พระราชดำรัส
“...ที่หาดใหญ่ ที่น้ำท่วมอย่างมากมายเช่นนี้ ท่านผู้ที่อยู่ในท้องที่ก็ได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่ว่าไม่ทันรู้ว่ามันมาอย่างไร ถ้าถามผู้อยู่ที่หาดใหญ่เองทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือน ว่าน้ำนั่นมาอย่างไร สักแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะไม่ทราบ แม้แต่ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางอุทกศาสตร์ หรือในทางชลประทานก็ไม่ทราบ ความจริง ก่อนที่เกิดเรื่องอย่างนี้ได้เคยไปที่หาดใหญ่แล้ว และเคยไปชี้ว่าควรที่จะทำอะไร แต่ไม่ได้ทำ หรือทำแล้ว ก็ได้สร้างอะไรอื่น ๆ ขึ้นมาขวางกิจการที่จะป้องกัน หรือทำให้ไม่เกิดอุทกภัยเช่นนี้ ถ้าไปดูท่านผู้ที่อยู่แถวนั้น และจะกลับบ้าน หรือกลับไปในที่ที่ไปปฏิบัติได้ ให้ไปดูทางด้านตะวันตกของเมือง มีถนน แต่ว่าถนนนั้นพยายามทำขึ้นมาแล้วเป็นคล้าย ๆ ผนังกั้นน้ำมิให้น้ำเข้าไปในเมือง ก็ไม่ได้ทำหรือทำแล้วก็ไม่ได้รักษา ทางทิศเหนือ หรือทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีถนนที่กำลังสร้าง หรือสร้างใหม่ ๆ กั้นน้ำเป็นเหมือนเขื่อน มิให้น้ำออกจากตัวเมืองได้ จึงทำให้น้ำท่วมในตัวเมืองถึง ๒ เมตร ๓ เมตร ทีแรกได้ยินข่าวว่าน้ำท่วม ๒ เมตร ๓ เมตร ไม่เชื่อ ฟังวิทยุ ดูในหนังสือพิมพ์ว่า ทำไมน้ำจะท่วมได้ ๒ เมตร ๓ เมตร ก็เป็นความจริงว่าท่วม ท่วมรถยนต์ไม่เห็นเลย ท่วมไปหมด คนที่อยู่บ้านชั้นเดียว ก็ต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา อันนี้เป็นความจริง แต่ว่าถ้าหากทำอย่างที่ว่า ซึ่งบอกให้ทำมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว ทำพนัง หรือคัน และไม่ทำถนนที่กั้นน้ำเป็นเขื่อน ก็จะทำให้ตัวเมืองหาดใหญ่ไม่เป็นอ่างเก็บน้ำ ที่แปลก โดยมากก็ชอบทำเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อจะเก็บน้ำเอาไว้ใช้ แต่นี่มาทำอ่างเก็บน้ำเอาไว้จม...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในโอกาสที่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าเฝ้า ฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ธุรกิจในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากปริมาณน้ำคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่ มีระดับสูงล้นตลิ่ง แล้วไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณกลางเมืองหาดใหญ่ และพื้นที่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง น้ำที่ไหลบ่าเข้ามานั้นได้ท่วมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และท่วมขังมีความลึกมากทำให้สภาพเศรษฐกิจ โดยส่วนรวมของอำเภอหาดใหญ่และทรัพย์สินของราษฎรได้รับความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฏ เช่นนี้มาก่อน การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่คลองอู่ตะเภาและลำน้ำสาขา เพื่อสกัดน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลลงมายังเมืองหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ ดังนั้นการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีอยู่ พร้อมกับขุดลอกคลองระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกให้สามารถระบายน้ำและแบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็วทั้งนี้ให้พิจารณาร่วมกับระบบผังเมืองให้มีความสอดคล้อง และได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย
ย้อนรอย น้ำท่วมหาดใหญ่ ปี 2543 และ ปี 2548
อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2543 ฝนที่ตกต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน เป็นปริมาณรวม 468 มม. คิดเป็นฝนในรอบ 280 ปี ซึ่งกรมทางหลวงระบุว่าระดับน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 มีความลึก 2.2 เมตร ประมาณว่าเป็นน้ำท่วมในรอบ 70 ปี ถ้าพิจารณาความรุนแรงตามแนวคิด Argue แล้วจะถือได้ว่าเป็นมหันตภัย (Extreme Floods)
เหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ พ.ศ. 2543 เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 น้ำฝนที่ตกในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ซึ่งปกติจะระบายผ่านคลองอู่ตะเภา ผ่านเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไหลออกสู่อ่าวไทยบริเวณทะเลสาบสงขลา แต่ในปี พ.ศ. 2543 การระบายน้ำทำได้ไม่ดีเนื่องจากคูคลองตื้นเขิน และมีแนวคันกีดขวางทางเดินของน้ำ คือ ถนนลพบุรีราเมศวร์ ที่สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2533 ถนนสายสนามบิน-ควนลัง และทางรถไฟ ประกอบกับพื้นที่ของตัวอำเภอหาดใหญ่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มรูปแอ่งกระทะ ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในบริเวณตัวเมืองชั้นใน มีความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท จำนวนผู้เสียชีวิตตามประกาศจากทางราชการ 35 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจริง ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ สูงถึง 233 คน ไม่รวมชาวต่างประเทศ
ภายหลังเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กรมชลประทานจัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัย อำเภอหาดใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งภาครัฐยังได้จัดทำงบประมาณเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่ต่อมาได้มีการปล่อยปละละเลย ไม่ได้ติดตามความคืบหน้า จึงได้เกิดอุทกภัยซ้ำอีกครั้งใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา และเขตรอบนอกของตัวเมืองหาดใหญ่ ระหว่างวันที่ 13-20 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งผลไม่รุนแรงเท่าในปี พ.ศ. 2543 แต่มีผู้ประสบความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากกว่า
อุทกภัยก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ อย่างใหญ่หลวง
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่ลาดเทจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ บริเวณตอนปลายของลุ่มน้ำจะเป็นที่ราบลุ่มแผ่กว้างก่อนถึงทะเลสาบสงขลา มีคลองอู่ตะเภาเป็นคลองระบายน้ำหลัก และประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อยรวม 17 ลุ่มน้ำ
คลองอู่ตะเภานี้ไหลจากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ โดยมีจุดเริ่มจากชายแดนไทย-มาเลเซีย ไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง บริเวณบ้านท่าเมรุ อำเภอบางกล่ำ และบ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ รวมความยาวทั้งสิ้น(เฉพาะส่วนที่เรียกว่าคลองอู่ตะเภา) ประมาณ 130 กิโลเมตร (กรมพัฒนาที่ดิน, 2532 ระบุว่ายาวประมาณ 90 กม.)
พื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาใน อ.หาดใหญ่ / ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ถือได้ว่าเป็นลุ่มน้ำย่อยที่ 7 ในลุ่มน้ำที่ 21(ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 5 ลุ่มน้ำของจังหวัดสงขลา
คลองอู่ตะเภาเป็นคลองธรรมชาติที่สามารถรับน้ำได้เพียง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำเกิน 120 มิลลิเมตร เป็นเวลา 3 ชั่วโมง น้ำจะเคลื่อนตัวจากพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนเข้าสู่เทศบาลนครหาดใหญ่ภายใน 10 - 30 ชั่วโมง และทำให้เกิดสภาพน้ำล้นตลิ่งคลองอู่ตะเภาบริเวณเทศบาลนครหาดใหญ่ เช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ซึ่งอุทกภัยในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท และต่อมาในปี 2553 พื้นที่น้ำท่วมขยายเป็นกว่า 320 ตารางกิโลเมตร มูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท และมีประชาชนเสียชีวิตถึง 30 คน แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างเทศบาลนครหาดใหญ่ ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ตอนล่าง
น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่อีกครั้งในปี 2553
อุทกภัยที่เกิดขึ้นกับ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน แม้จะไม่ใช่ภัยธรรมชาติครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับหาดใหญ่ แต่ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้น นี่คือบาดแผลด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้
นายไพร พัฒโน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ "คม ชัด ลึก" ในเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ในปี 2553 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ...
"...เหตุการณ์ครั้งนี้เกินกว่าที่เราจะแบกรับได้ คลอง ร.ต่างๆ ทั้ง ร.9, ร.1 ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ “ในหลวง” ทรงมีต่อชาวหาดใหญ่ เนื่องจากคลองเหล่านี้ มีผลโดยตรงต่อการบรรเทาสถานการณ์ เพราะหากวันนี้ไม่มีคลอง ร. ช่วยไว้ หาดใหญ่จะสูญเสียมากกว่านี้หลายเท่าตัว เนื่องจากนับวันการชะลอน้ำโดยธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องยาก ในอนาคตสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การสร้างและเพิ่มแก้มลิงในพื้นที่รับน้ำ รวมถึงต้องขุดคลองผันน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากคลองอู่ตะเภาก่อนน้ำจะไหลสู่เมืองหาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงต้องใช้ความร่วมจากทุกภาคส่วนร่วมด้วย เพราะเม็ดเงินนั้นมหาศาล ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเกินอำนาจของท้องถิ่นที่จะเข้าไปดูแล แต่ยืนยันว่าเราจะผลักดันในทุกๆทาง..."
จัดระบบน้ำบรรเทาอุทกภัย
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่ในปี ๒๕๔๓ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการบรรเทาอุทกภัยไปทบทวน และจัดทำแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม วิธีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาและลำน้ำสาขา เพื่อสกัดน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลลงมายังเมืองหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งไม่มีความเหมาะสมที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้น การแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการน่าจะได้แก่การขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีอยู่ พร้อมกับขุดลอกคลองระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกให้สามารถระบายน้ำ และแบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาร่วมกับระบบผังเมืองให้มีความสอดคล้อง และได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย
6.5 พันล้าน ขยายคลอง ร.1 เพิ่มการระบายน้ำ ปกป้องพื้นที่ไข่แดง
คลองสายสำคัญที่สุดนั่นคือคลองระบายน้ำที่ 1 หรือคลอง ร.1 เริ่มต้นจากบ้านหน้าควนลัง แบ่งเบาน้ำจากคลองอู่ตะเภาก่อนไหลเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ และไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบสงขลา ช่วงรอยต่อ ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง และ ต.บางกล่ำ อ.บางกล่ำ รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2550 หาดใหญ่ก็ยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกในปี 2553 จึงเป็นที่มาของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) โดยพอจะลำดับความเป็นมาของโครงการดังนี้
ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ทำให้เกิดอุทกภัยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร พื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจใกล้เคียง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 4,000 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับนายจริย์ ตุลยานนท์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน กปร. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
พระองค์ท่านทรงดำรัสไว้ว่า
“...การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขาเพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย ดังนั้นการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว นอกจากนั้นหากต้องการที่จะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจให้ได้ผลโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ก่อสร้างคลองระบายน้ำเสร็จ ก็ควรพิจารณาสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมืองให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย...”
โดยในปี พ.ศ.2532 กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติ จำนวน 4 สาย รวม 46.900 กม. ได้แก่คลองอู่ตะเภา คลองอู่ตะเภาแยก 1 คลองอู่ตะเภาแยก 2 และคลองท่าช้าง-บางกล่ำ
ในเดือนพฤศจิกายน 2543 เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน คลองระบายน้ำธรรมชาติที่กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมขังบริเวณเทศบาลนครหาดใหญ่ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 14,000 ล้านบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสต่อคณะบุคคลที่เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ณ พระราชวังสวนจิตลดา สรุปความว่า
“...เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2543 มีน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าได้ทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2531 ที่ลงทุนนั้นจะได้รับคืนมาหลายเท่าตัว...”
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยในส่วนของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำเพิ่ม จำนวน 7 สาย ระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี (2544-2550) โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,700 ล้านบาท สามารถระบายน้ำได้รวม 1,075 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
คลองสายสำคัญที่สุดนั่นคือคลองระบายน้ำที่ 1 หรือคลอง ร.1 เริ่มต้นจากบ้านหน้าควนลัง แบ่งเบาน้ำจากคลองอู่ตะเภาก่อนไหลเข้าตัวเมืองหาดใหญ่
ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 มีฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน เกิดน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,623.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเกินศักยภาพของคลองระบายน้ำที่มีอยู่ทำให้ปริมาณน้ำไหลล้นจากคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำ ร.1 เข้าท่วมพื้นที่ของเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วัน จึงสามารถระบายน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ สร้างความเสียหายประมาณ 10,490 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา กรมชลประทานจึงได้พิจารณาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 และอาคารประกอบ ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำดังกล่าวได้
โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) บรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง
ก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี 2 ให้สามารถระบายน้ำตามการปรับปรุงคลองระบายน้ำสายที่ 1 (คลอง ร.1)
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 กรมชลประทานได้อนุมัติในหลักการดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณดำเนินโครงการ 6,500 ล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญของโครงการอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิม 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลดระดับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงฤดูฝนในพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 5.0 ล้านลูกบาศก์เมตร
เพิ่มเติม ...
โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ (ขุดลอกคลองอู่ตะเภาแยก 1)
โครงการ บรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ (ขุดลอกคลองอู่ตะเภาแยก 2)
โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา
ไพร พัฒโน : เหตุการณ์ครั้งนี้เกินกว่าที่เราจะแบกรับได้ (คม ชัด ลึก)
รับมือน้ำท่วม กรณีศึกษาจากหาดใหญ่ โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย (นสพ. ผู้จัดการ 360 องศา)
อ้างอิงข้อมูลจาก @ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), สำนักงานก่อสร้าง 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน , วีดีโอ @ จดหมายเหตุกรุงศรี (Jod Mai Hed Krungsri)
Relate topics
- มังคุดคัด (มังคุดเสียบไม้) ของดีคู่เมืองนครศรีธรรมราช"มังคุดคัด" เป็นเหมือนของคู่กับวัดมหาธาตุฯ เมืองนครศรีธรรมราชไปซะแล้ว ผ่านไปทีไรก็เป็นอันต้องแวะไปกินมังคุดคัดทุกที มีขายประจำที่วัดมหาธาตุฯ เมืองนคร นี่แหล่ะ ไปถึงปุ๊บ ก็เจอปั๊บ แม่ค้าถือถาดมังคุดคั
- แกล้งดิน พระอัจฉริยภาพด้านดิน-น้ำ แก้จนยั่งยืน ที่ “ศูนย์ฯ พิกุลทอง” จ.นราธิวาสอย่างที่อำเภอตากใบ ก็มีปัญหานี้ ชาวบ้านทำได้แค่ปลูกพืชได้เป็นหย่อมๆ ผลผลิตไม่ดี ปลูกข้าวได้ไร่ละไม่ถึง 10 ถัง ก็ได้นำความรู้เรื่องแกล้งดินไปปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จนเขียวขจีไปทั้งพื้นที่ ![ คำอ
- ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น น้ำไม่ท่วม !!!ปลายเดือนตุลาคม 2540 พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดชุมพรเร่งขุดค
- จากความวิปโยค คืนสู่ความสมบูรณ์ ด้วยพระมหากรุณธิคุณ “อ่างเก็บน้ำกะทูน” สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้อ่างเก็บน้ำกะทูนเป็นอีกหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สามารถพลิกวิกฤตจากน้ำท่วมใหญ่ในอดีตให้เป็นโอกาส ช่วยชะลอน้ำ สร้างชีวิตใหม่ให้กับพสกนิกร ![ คำอธิบายภาพ : pic5803
- พระมหากรุณาธิคุณ ก่อเกิด "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" พระผู้เป็นกำลังใจ มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก "แฮเรียต" ถล่มภาคใต้ ปี พ.ศ. 2505เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิว
- พระราชปณิธานที่จะให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถพูดภาษาไทยได้การศึกษาที่นี่สำคัญมาก ให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนักเพียงแต่พอรู้เรื่องกันก็ยังดี เท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปลควรให้พูดเข้าใจกันได้ เ
- รัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจด้านแร่ในภาคใต้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นภูมิประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดแร่ดีบุก ทั้งภูเขาและลานแร่ พระองค์ทรงเข้
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “เสด็จเมืองระนอง ๒๕๐๒”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “เสด็จเมืองระนอง ๒๕๐๒” ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม ปี พุทธศักราช ๒๕๐๒ ![ คำอธ
- พ่อของแผ่นดินกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม" อิสลามิกชนมีพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน อันประกอบพร้อมด้วยบทบัญญัติทางศีลธรรม จริยธรรม นิติธรรม เป็นแม่บทศักดิ์สิทธิ์สำหรับการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่จึงมีชีวิตที่เจริญมั่นคง มีความฉลาด
- สงขลาใต้ร่มพระบารมีปี ๒๕๐๒ เสด็จสงขลา ครั้งแรก เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวสงขลาเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ครั้งแรก