สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ลูกหลานสงขลา พา ทองสูง หลบวัด

by sator4u_team @24 ต.ค. 57 19:32 ( IP : 113...89 ) | Tags : แลใต้ , สงขลา
  • photo  , 640x853 pixel , 95,314 bytes.

บทความโดย : ถนอม ขุนเพชร / แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา


เสียงกลองยาวคนภาคกลางอาจฟังว่า “เทิ้งบอง” เมื่อมานำขบวนแห่หฺมฺรับในประเพณีทำบุญเดือนสิบหรือวันสารทของพี่น้องชาวใต้ คนทะเล้นประจำหมู่บ้านแกล้งพูดดังๆ  “กูว่าเสียงมันออก แทงต้มๆ ...อ้าวไม่เชื่อลองฟังดูซิ  ” คนได้ยินต่างยิ้มในหน้า ชวนให้คิดถึงการทำขนมต้มเดือนสิบเรียกว่าแทงต้มนั่นแหละ

คนมาร่วมงานทำบุญเดือนสิบ วาระรับตายาย แรม 1 ค่ำ เดือน10  ที่วัดเจริญภูผา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ยิ่งยิ้มกว้างขึ้นอีก หลังยินเสียงกระหน่ำกลองยาวเร้าใจแล้วยังเห็น “ทองสูง”เดินมากับขบวนแห่หฺมฺรับ ผ่านประตูวัดเข้ามาพร้อมรูปหนังตะลุงขนาดยักษ์ เท่งกับหนูนุ้ย  ขบวนเด็กเดินติดตามดูไม่ห่าง ครั้นทองสูงแกล้งหันมาวิ่งไล่ต่างแตกกระจาย ไปคนละทิศ

ไม่มีใครเห็นทองสูงมาหลายปี ไม่รู้ว่าหายไปไหน?

ทองสูงเป็นหุ่นเชิดขนาดใหญ่ บางถิ่นเชื่อว่าเป็นตัวแทนผีเปรตมาร่วมงานบุญ โครงทำด้วยไม้ไผ่  มี 2  ตัวหญิงและชาย คนเชิดต้องมุดเข้าไปอยู่ข้างในหุ่น ต้องแบกน้ำหนักและเดินไปด้วยขาคนเชิด  วันนั้นทองสูงทั้งคู่แต่งตัวด้วยชุดไทยเพิ่งตัดใหม่เอี่ยมดูเท่ไม่หยอก  แต่จะเห็นพวกเขาได้ปีละครั้งเฉพาะประเพณีเดือนสิบเท่านั้น

จากป้ายนำขบวนแห่หฺมฺรับทำให้เรารู้ว่าคนที่ช่วยกันพาทองสูงกลับมาวัดภูผาเจริญอีกครั้งคือโครงการสามประสานบ้าน วัด โรงเรียน สร้างครอบครัวต้นแบบ ตำบลคูหาใต้

“ทองสูงหายไปนานมาก ตั้งแต่จำความได้ผมก็เพิ่งเห็นนี่แหละ  พวกเขามีความเป็นมายาวนานเชื่อว่าคนแต่ก่อนว่า ตัวใหญ่ หูใหญ่  นิ้วใหญ่ เขาก็พบหลักฐานทางโบราณคดีพวกแหวนอะไรอยู่”

วรัณ สุวรรณโณ ประชาสัมพันธ์ โครงการสามประสานฯ พูดถึงทองสูงที่ทุกคนให้ความสนใจ

หลังมาทำงานในโครงการนี้ เขาพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้  “อย่างงานบุญปีที่แล้วไม่เป็นอย่างนี้ ชาวบ้านมาวัดเหมือนกัน แต่อยู่คนละมุม นั่งคนละผืนสาด(เสื่อ) แต่ปีนี้เห็นความร่วมมือดี คนสนใจมากขึ้น  เด็กๆ เข้าร่วมมากขึ้น เขาจะสนุกสนานอย่ามองเป็นเรื่องไร้สาระ หากเด็กเข้าร่วมสนุกนั่นเป็นกุศโลบายให้คนมาร่วมโดยสนิทใจมากขึ้น เท่ากับมันมีตัวเชื่อม ”

โครงการสามประสานฯ  เกิดจากการมองเห็นว่าสภาพสังคมตำบลคูหาใต้ปัจจุบัน อยู่ในสภาพที่ทุกคนทุกองค์กรต้องช่วยเหลือดูแล

เด็กและเยาวชนบางส่วนขาดคุณธรรมและจริยธรรม อยู่ในสภาพอ่อนแอ เปราะบาง แต่ละครอบครัวเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตไปในทางเสื่อมเสียและหมกมุ่นต่ออบายมุข  ขณะความเจริญทางเทคโนโลยีทันสมัยขึ้นตามลำดับ ผู้คนหันไปยึดความเจริญทางวัตถุเป็นใหญ่ ตรงข้ามกับคุณธรรม จริยธรรมที่เสื่อมถอย อ่อนแอ  ส่งผลสังคมมีปัญหา กระทบเด็กและเยาวชน ครอบครัว การศึกษา และสถาบันศาสนา

คณะทำงาน จึงวางแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของ 3 สถาบันหลักบ้าน วัด โรงเรียน เป็นที่ยึดเหนี่ยว และพึ่งพิงของคนในวัยต่างๆ ในสังคมได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพ ความเข้มแข็งของสถาบัน ให้สภาพสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข จิตใจงาม

ในแผ่นพับที่แจกจ่ายผู้มาร่วมงานในวันนั้นด้วยบอกวัตถุประสงค์ว่า...

ให้ครอบครัวต้นแบบ 20 ครอบครัว ใน ม. 5,7,9 และ 14 ตลอดถึงนักเรียนโรงเรียนวัดเจริญภูผา มีความเข้าใจ และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
สร้างเสริมสถาบันครอบครัว การศึกษา และศาสนา ให้เป็นสถาบันที่เข้มแข็ง เป็นหลักยึดและพึ่งพิงของคนในท้องถิ่นได้ เพื่อให้ครอบครัวต้นแบบ เป็นตัวอย่างในการดำรงชีวิต และดำเนินกิจกรรมต่างๆขอท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกับสถาบันหลัก บ้าน วัด โรงเรียน ได้อย่างมีคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายของกิจกรรมต่างๆที่วางไว้  เพื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการลด ละเลิก อบายมุขทุกประเภท ที่เข้ามาสร้างปัญหาให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะทำลาย 3 สถาบัน บ้าน วัด โรงเรียน ดังที่เป็นอยู่ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในชุมชน ตำบลคูหาใต้ “การแก้ปัญหาของสังคม ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง” วรัณ เผยแนวคิดสำคัญ ในการช่วยกันปั้นลูกหลาน ละความชั่ว ทำความดี มีจิตเมตตา โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์รวมความรู้และบ่มเพาะคุณธรรม – ครอบครัวอบอุ่นศูนย์รวมความสุข – วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ทั้งสามปัจจัยย่อมนำไปสู่ การแก้ปัญหาสังคม ชุมชนเข้มแข็ง...

ภายในศาลาการเปรียญที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เนี่ยม ขุนเพชร ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตภูมิ กับ ประเวศ จันทะสะระ ครูโรงเรียนเจริญภูผา ที่ต่างเป็นกรรมการโครงการสามประสานฯ  รับบทพิธีกร  ถือโอกาสสอดแทรก เล่าเรื่องโครงการสามประสานฯ ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่มาร่วมฟัง

ทองสูงมาหยุดใต้ร่มไม้คนเชิดออกมาพัก ระหว่างทองสูงยืนสงบนิ่ง เด็กใจกล้าขอเข้าไปดูใกล้ๆ ชนิดแนบตาตามรอยแยกระหว่างสาบเสื้อมองทะลุเข้าไปในพุงเจ้าร่างสูงใหญ่ เห็นความกลวงโบ๋ว่างเปล่าอยู่ในนั้น  แต่ยังยืนมุงดูอย่างอัศจรรย์ใจต่อไป

ริมศาลาการเปรียญ ใต้ร่มไม้ที่หอมกลิ่นพิกุลลอยลม มีการจัดแสดงผลงานเชิงรูปธรรมของโครงการสามประสานฯ  ทั้งนิทรรศการ  การสาธิตทำดอกไม้ใบเตย แกะสลักผลไม้ ทำขนม  และขายผักปลอดสารพิษ ร่วมกันระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง

พิธีสงฆ์เสร็จก่อนเที่ยง โดยผู้มาร่วมออกไปตักบาตรข้าวอุทิศให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับร่วมกันบนโต๊ะต่อยาวลานวัดกลางแดดจัดจ้าน วงสนทนาโอภาปราศรัยแบบกันเองเกิดขึ้นหลายวง หลบมาพักใต้ร่มไม้ใกล้ที่ตักบาตร  เด็กๆ อ้อนพ่อแม่ซื้อขนม ของเล่น จากร้านรวงฉบับงานวัด  รอเวลา “ชิงเปรต”

จังหวะที่ ฟ้าสีฟ้าจัด เขาจุ้มปะสีเขียวเด่นเป็นฉากหลัง เวลาที่ตั้งตารอมาถึง ทองสูงลุกขึ้นเดิน พาขบวนหฺมฺรับไปส่งที่หลาเปรต  สิ่งที่แห่แหนไปอย่างสนุกสนาน และซ่อนความหวังประสาเด็กว่าจะได้เป็นเจ้าของในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า นั้นมีขนมเดือนสิบ ของแห้ง ข้าวสาร  ผลไม้  เงิน และอีกหลายอย่าง ตามแต่ผู้มีศรัทธาทำบุญอุทิศไปให้ผู้ล่วงลับทั้งอยู่ในประเพณีสืบทอดกันมาและงอกเงยจากเดิมมาบ้างโดยไม่ขัดกันเมื่อวางของบนหลาเปรต  ชักสายสิญจน์แล้วลูกหลานจะต้องแย่งกันมาให้ได้สักอย่าง เชื่อว่ายิ่งแย่งกันผีเปรตจะพอใจ  ลูกหลานได้บุญ





หลาเปรต  สิ่งปลูกสร้างชั่วคราวเฉพาะงานลักษณะเป็นแคร่สูงเลยหัว เสาโครงเหล็กแบบนั่งร้าน  ตรงกลางพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก มีเสาไม้หมากสูงหลายช่วงตัวทาน้ำมันลื่นเอาไว้ยากแก่การปีน แต่จูงใจให้ปีนขึ้นบนยอดสุด ด้วยการแขวนแบงค์ร้อยสีแดงห้อยปลิวลมกับผ้าใหม่อีกผืน

“จำได้มั๊ย สมัยก่อนพวกเรายกหลาเปรตหนี”

ชายวัยกลางคนสองคนยืนมองเด็กหยอกล้อกับทองสูงอยู่วงนอก อดจะรำลึกถึงความหลัง แววตามีความสุขฉายอยู่ จนกระทั่งสัญญาณชิงเปรตเริ่มต้น  ชุนมุนวุ่นวายน่าดู ตามประสาการแย่งชิง  หากแต่ส่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ มาถึงทุกคนเสมอหน้า ผ่านเวลาไม่นาน ต่างทะยอยแยกย้ายกลับ เด็กที่พลาดหวังทำได้ไม่ตามเป้าหมายชิงเปรตคราวนี้  ตั้งตารอ  15  ค่ำ เดือน 10  ทำบุญใหญ่ วันส่งตายายในอีก 15 วันถัดมา

ทองสูงจะเดินกลับมาอีกครั้งในวันนั้น

เราได้จังหวะสนทนาคณะทำงานโครงการสามประสานฯ บนแคร่หน้าโรงครัววัดไปพร้อมมื้อกลางวันด้วยข้าวกับแกงประจำประเพณีเดือนสิบคือแกงสมรม แกงกะทิใส่ผักรวมหลายชนิด

ระหว่างนั้น ผู้อาวุโส ของหมู่บ้าน คนหนึ่งเข้ามาแนะนำรายละเอียดการทำหลาเปรตที่อาจยังไม่ตรงตามประเพณีเดิมนัก คณะทำงานรับไว้เพื่อปรับปรุง

ประเวศ จันทะสระ ครูโรงเรียนเจริญภูผา ที่เสร็จภารกิจโฆษกประจำงานเรียบร้อย เล่าว่า เมื่อโครงการสามประสานฯเคลื่อนมาครบปีทำให้สิ่งที่ดีกลับคืนมา สู่ชุมชน

“เกิดมาจากสภาพปัญหาสังคม เน้นเรื่องเด็กและเยาวชน เพราะ เห็นว่าเด็กเที่ยวไม่อยู่บ้าน ขาดการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ทำอย่างไรให้มีสถาบันที่ยึดเหนี่ยว เลยคิดว่า บ้าน วัด โรงเรียน เป็นตัวหลัก ซึ่งมีอยู่แล้ว”

เด็กสมัยก่อนช่วยพ่อแม่ ไถนา ทำสวน ก่อนจะได้เงินสักบาท ทุกวันนี้เด็กไม่ช่วยอะไร ส่วนพ่อแม่ทำงานโรงงาน  ชีวิตกำลังไปคนละทาง โครงการนี้เป็นเครื่องมืออบรมเด็กอย่างหนึ่ง

“เลือกนำร่อง 20 ครัวเรือน  จาก 4 หมู่บ้านซึ่งอยู่รอบโรงเรียน โรงเรียนเจริญภูผา เป็นฐาน นักเรียนเป็นตัวเชื่อม คัดมาเป็นแกนนำ ได้เด็ก ได้บ้าน พ่อแม่ เรียกมาประชุม ทั้ง 20 ครัวเรือน”

วันประชุม จึงจะมีพ่อแม่ลูกมาพร้อมกัน  ใช้ศาลาการเปรียญวัดเจริญภูผาเป็นที่ประชุมโดยการสนับสนุนอย่างดีจากเจ้าอาวาสคือพระครูสุนทรธีระวงค์ แม้ท่านจะไม่ได้ออกโรงเองนักเพราะสุขภาพไม่อำนวย

มีการประชุมพบปะมาแล้วราว 7 ครั้ง สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้  หลายครอบครัว ได้ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์  เอาไว้กินเองในครอบครัว ที่เหลือนำออกขาย ครูกำชับให้เด็กรดน้ำผัก พ่อแม่ติดตามรายงานกับครู  ระหว่างนั้นมีการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียน  ไปหาผัก ไปดูบ่อปลาด้วยกันจน สามารถเชื่อมโยงกันได้หมด

การคุยแต่ละครั้ง อนันต์ สุวรรณโณ หัวหน้าโครงการ  วรัณ สุวรรณโณ  คณะทำงาน และ ประเวศในฐานะครู เป็นผู้นำสนทนาถึงประเด็นต่างๆ

“ชาวบ้านให้ความร่วมมือดี การแก้ปัญหาเยาวชนสถาบันแรกที่ช่วยได้คือครัวเรือน พูดคุยพ่อแม่ ประชุม หาแนวทาง เอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานำก็ได้แนวคิดว่า เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก เมื่อทำจริงเด็กสนุกกับตรงนั้น  อีกมุมหนึ่งเวลางานวัด วันพระวันสำคัญทางศาสนา  ก็ดึงเด็กมาวัดให้เขาพาชั้น(ปิ่นโต)มาทำบุญ  เด็กมาทำกิจกรรมทางศาสนา พัฒนาวัด เก็บกวาดใบไม้ พูดง่ายๆ ว่าใช้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ ”

กรณีประเพณีเดือนสิบคราวนี้ ประเวศ เล่าว่าแม้โรงเรียนไม่ปิดอย่างเป็นทางการเพราะเป็นประเพณีท้องถิ่น แต่ปัจจุบันนโยบายทางการศึกษาเปิดโอกาสให้โรงเรียน สามารถบูรณาการได้โดยนำเด็กเข้ามาเรียนรู้ “มันได้ปลูกฝังอะไรบางสิ่ง อย่างงานวันนี้  มีการพูดกันมาก่อนแล้ว

ที่ประชุมมีเด็ก นั่งฟัง เขารับรู้ว่า ทำหลาเปรตอย่างไร  ที่นี้เด็กมีส่วนร่วมทำหฺมฺรับ  เขาช่วย หาวัสดุ หาขนมต้มมาช่วยกันทำทั้งคืน ตอนเช้าตื่นมาแห่หฺมฺรับ เป็นโอกาสที่เด็กได้ความรู้จากผู้ใหญ่ ที่โรงเรียนยังมีการจัดบอร์ด เกี่ยวกับทำบุญเดือนสิบ”

ประเวศว่า สิ่งที่ดี ๆที่เกิดขึ้นกำลังดำเนินต่อเนื่องไปสู่ประเพณีวัฒนธรรมอื่น อย่างหลังจากนี้ ก็จะเป็นการชักพระ ที่ชาวบ้านจะร่วมกันทำเรือพระไปประกวดระดับอำเภอ ภาพต่อเนื่องเหล่านี้ย่อมตอบปัญหาความเข้มแข็งทางสังคม

นอกจากรูปธรรมจากการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ที่เข้ามาเชื่อมชัดเจนที่สุดคือ คือการนำเด็กไปสู่กิจกรรมการอนุรักษ์

“เรานำเด็ก ไปลอกคลองพัฒนาคลองภูมี หรือทางเทศบาลกำแพงเพชร จัดลอกคลองก็เอาทีมนี้ไปช่วย”

โครงการสามประสานฯกำลัง ทำให้คนเข้าวัดมากขึ้น

“อย่างคนไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยร่วมกับเพื่อน ก็มาให้ความสนใจเข้ามาช่วยเพื่อน กวาดขยะ ถางป่า จัดโน่นจัดนี่  ถ้าเขาพลาดงานใดงานหนึ่งเขาจะขอโทษ โดยอ้างเหตุว่าที่ติดธุระมาไม่ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่แสดงว่าการเข้าวัดมีความหมายขึ้น แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้”

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมร่วมกันช่วยลดช่องว่างในชุมชน ประเวทยอมรับว่าครั้งหนึ่งในอดีต ไม่รู้จะคุยอะไรกับผู้ปกครองนักเรียน โครงการสามประสานฯ ช่วยให้มีเรื่องคุย

มาถึงวันที่ วัดอุ่นใจ โรงเรียนอุ่นใจ ครอบครัวช่วยดูแล ช่วยสืบทอด เกิดความตระหนัก คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเห็นดีด้วย ในสิ่งที่กำลังทำ

“เขาก็ว่าดีๆ ลูกเหอ หลานเหอ

“3 สถาบันนี้ผมว่า นี่ครบองค์แล้ว ครอบครัวให้ความอบอุ่น โรงเรียนให้ความรู้ สถาบันศาสนาอบรมทางจิตใจ ถ้าเราจัดการดี ทำด้วยความสบายใจ สามารถใส่กิจกรรมอื่นต่อลงไปได้ อย่างกิจกรรมการอนุรักษ์  แต่ต้องไม่บังคับนะทุกอย่างขึ้นกับสมัครใจ”


วรัณ สุวรรณโณ มองถึงโครงการสามประสานฯ ว่ายังสามารถผลักดันต่อยอดสู่เรื่องอื่นโดยเฉพาะสามประสาน ฯ ร่วมสืบสานตำนานตาเจ้าเล็กที่แผนงานต่อที่วัดเจริญภูผากล่าวคือ

เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ เป็นแหล่งรวบรวมพืชสมุนไพร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เขาจุ้มปะ เป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ และป่าชุมชน
ก่อตั้งสถาบันภูมีศึกษา และหลักสูตรท้องถิ่น “ตาเจ้าเล็กเป็นเรื่องของจิตใจดึงความรู้สึกร่วมมาเชื่อมร้อย  พอเราพูดว่าทำให้ตาเจ้ามันลดช่องว่างลงได้อีก”

ตาเจ้าเล็ก หรือพระอธิการเล็ก ลมฺภโก ที่วรัญเล่า เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดเจริญภูผา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ 6 ธันวาคม 2494  ตลอดเวลาได้พัฒนาวัดเจริญภูผา ก้าวหน้า ท่านเองเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา และความภูมิใจของชาวบ้านในละแวกนั้นอย่างมาก  มีชื่อเสียงเลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์  และการรักษาโรคแผนโบราณ ตลอดจนปฏิบัติศีลจารวัตรดีงาม เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตลอดมา มรณภาพเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2525

วรัณเล่าว่า ตาเจ้าเล็กมีอิทธิพลต่อคนที่นี่อย่างสูงสุด “ปกติเราเคารพพ่อแม่ ตาเจ้า เป็นเหมือนเทวดาที่พ่อแม่ เคารพ เมื่อพ่อแม่เราเคารพอะไร เราก็ต้องเคารพสิ่งที่พ่อแม่เคารพด้วย  อย่างผมรุ่นลูกนับถือตามพ่อแม่ที่นับถือตาเจ้า  สั่งสมมาให้คิดว่าตาเจ้ามีอิทธิพลทางจิตใจไปทั่วรัตภูมิ กระจายยังถิ่นอื่นไปถึงมาเลเซีย ที่เลื่องลือ เรื่องสมุนไพรและความศักดิ์สิทธิ์ วาจาสิทธิ์ มีเรื่องเล่าว่าคนมาลักสมบัติ ตอนหัวค่ำ  แล้วขับรถอกไป ตาเจ้าก็รู้อยู่ลูกศิษย์ ลูกวัด คนก็เข้ามาว่าตาเจ้าเหอโจรลักเสียแล้ว ตาเจ้าว่าปล่อยต่ะลูก มันไม่ไปถึงไหนหรอก  พอรู้ข่าวอีกทีรถตกเขาพับผ้าทั้งคัน ตาย”

วรัณมองว่าการเชื่อมโยงด้วยศูนย์รวมทางจิตใจ หากมีข้อขัดแย้ง จะลดปัญหาลงเนื่องเพราะทำไปเป้าประสงค์เดียวกันต่อสิ่งที่เราเคารพนับถือศรัทธาด้วยกัน รูปแบบอื่นเพียงเอาความถนัดแต่ละคนมาเชื่อม

“ทำไมเราต้องไปศึกษาตาเจ้าเล็ก ศึกษาสมุนไพรในท้องถิ่น ก็เพื่อให้เด็กเข้าใจตัวตน หลักการคือการแก้ปัญหาสังคม ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน  ทุกคนที่มาร่วมต้องรู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร แล้วพยายามแก้ปัญหา พอเรามารวมกันปั๊บ ก็เอาปัญหานั้นมาช่วยกันแก้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ”

ทั้งหมดจะนำไปสู่การตั้งสถาบันภูมีศึกษา แนวคิดการก่อตั้งสถาบัน เพื่อรวบรวม ความรู้ในพื้นถิ่น จัดการฐานข้อมูลความรู้ของตัวเอง

“องค์ความรู้ ที่ชุมชนสร้างมาเริ่มร่อยหรอลงไป เพราว่าคนที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ กำลังจะหมดอายุไขลงไป  ถ้าไม่รีบจัดความรู้ตั้งแต่วันนี้ ต่อไปเราจะขาด ต้นของวิชา ไม่เหลือ  เพราะตายไปพร้อมตัวคน หลักการจะรวบรวมเอาปราชญ์คือคณะทำงานสถาบันเป็นคนที่ต้องการเข้ามาเป็นคณะทำงานจริงๆไม่ใช่แต่งตั้ง เพราะนี่เป็นภาคประชาชน อย่างภาคการศึกษา จะเอาไปเป็นหลักสูตรท้องถิ่นอย่างไรหรือในโรงเรียนจะต้องมีการเรียนรู้องถิ่น อย่างน้อยก็สักส่วนหนึ่ง  อย่างกรณีตาเจ้าเล็กที่รู้เรื่องสมุนไพรก็เริ่มสูญหายแล้ว เราจะรวบรวมเอาความรู้ที่มีทั้งหมดมา แล้วคัดเฉพาะที่ดีงาม ให้คนรุ่นต่อไปเรียนรู้”

สำนักงานของสถาบันภูมีศึกษา มีแผนใช้ใต้ฐานเจดีย์ตาเจ้าเล็กบนเขาหลังวัดที่ กำลังปรับปรุง หลังทิ้งร้างมานาน

การหลอมความรู้สึกทั้งหมดให้ตาเจ้ามาเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมร้อย เรื่องสมุนไพรมานำ  เรื่องดูแลธรรมชาติมาต่อยอด เอาครอบครัวมาทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน  วรัญมองว่ามองหลักการว่า 3 องค์กรนี่ไม่น่ามีช่องว่าง ทุกอย่างน่าจะเป็นวิถีชีวิต เป็นเนื้อเดียวกันไป  เป็นเรื่องปกติ

“ไม่ต้องถามว่าทำไมต้องมาวัด คือมันเป็นเรื่องเดียวกัน ให้ไหลไปเอง ให้เป็นความรู้สึกเดียวกัน 3 สถาบันเป็นเรื่องปกติของ เพราะฉะนั้นเรื่องที่คิดทำ เป็นเรื่องปกติ ประจำวัน  ฝึกให้เป็นเรื่องปกติที่ที่ต้องทำ ใช่ว่าการไปวัดต้องลางานให้ใหญ่โตไม่ใช่ เป็นเรื่อปกติวิสัย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  เราให้เป็นกันเองมากที่สุด”

วรัณยังมองว่าโครงการสามประสานฯ ไม่ได้ทำอยู่ในโครงการอย่างเดียวแต่เชื่อมกับองค์กรภายนอก

“ผมได้รับโอกาสจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา และ มูลนิธิโคคาโคลา รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ แต่เราดูว่ากิจกรรมไหนควรจะเชื่อมกับอะไร กรณีเรานัดกันปรับปรุงสถานที่ตาเจ้า กวาดขยะ ชมรมเดินไปคุยไปมาร่วม 50 คน  จะทำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรก็มีคนเชื่อมผู้เกี่ยวข้องมาเยอะ  ผู้ใหญ่บ้านรู้จักเครือข่ายทางเขาแก้ว ป่าต้นน้ำ แกก็จะดึงเขามา มาปลูกต้นไม้  โครงการนี้ขยายแนวคิด ขยายออกไปจากตรงนี้ เชื่อมต่อไปได้เรื่อยๆทุกคน มีตาเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนเป็นแกน  สามอย่างเชื่อมกันแล้ว แต่สิ่งหนึ่ง เรามีศรัทธา ที่มีต่อเจ้าเล็ก เพราะฉะนั้นไม่โดดเดี่ยวแต่ขยายได้รอบทิศทาง”





จำนงค์ จันทะสระ ผู้ใหญ่บ้านเขาจุ้มปะ  คณะทำงานสามประสาน ฯ

เล่าว่า จุ้มปะ เพี้ยนมาจากจมป่า สมัยก่อน ป่าปกคลุมวัดหมด แต่ก่อนแถวนี้เต็มไปด้วยป่า

“ที่นี่มีช้าง ควาย  ตาเจ้าใช้ปากเปล่าเรียกมาได้ คือแกเลี้ยงไว้ ช่วยเหลือชาวบ้าน อย่างคน จะสร้างบ้านก็จะเอาช้างไปลากไม้ให้ชาวบ้าน”

ผู้ใหญ่บ้านยังหนุ่มมองว่าทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่  ค่อนข้างพร้อม ทางวัตถุ สถานที่ เรื่องเครือข่ายพอเชื่อมโยงกันได้ แต่ยังต้องอาศัยเวลาในการมีส่วนร่วมสักนิด

“เราทำงานด้วยการ ดูสถานการณ์  ความสมัครใจ ประสานทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาในชุมชน เช่น กลุ่มสามประสาน มาพัฒนาวัด ถนนหนทาง โรงเรียน หรือ เอาร่วมช่วยกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มาทำความสะอาดศาลาวัด แต่ไม่ได้กำหนดว่าทุกวันเสาร์ที่นัดประจำต้องทำอะไรแต่ให้มีกิจกรรมร่วมในเรื่อง 3 ประสานไม่ได้เน้น ว่าต้องปลูกป่าทุกวันเสาร์อันนี้ต้องดูไปตามสถานการณ์”


ที่มา @  สงขลาสร้างสุข แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา , บทความโดย : ถนอม ขุนเพชร

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1452
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง