สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

เปิดตำนาน สิงขระนคร Singora Legend

by sator4u_team @10 มิ.ย. 57 12:21 ( IP : 180...191 ) | Tags : แลใต้ , สงขลา , singora , สิงหลา , สิงขระนคร
photo  , 550x368 pixel , 43,074 bytes.

ปฐมบทดินแดนสุวรรณภูมิ จุดเชื่อมต่อ(Hub) ของเปอร์เซีย กับ จีน (ความจริงของถิ่นไทย ที่คนไทยไม่ค้นหา)

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 การปรากฏตัวของเมืองท่า และแหล่งโบราณคดีที่แสดงว่า มีผู้คนจากต่างแดนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ น่าจะมีเหตุผลจาก การแสวงหาโภคทรัพย์ของผู้คนทางตะวันตกดั่งเช่น กรีซ และ โรมัน จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาของการค้นพบเส้นทางการค้าทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ คู่ขนานและเชื่อมโครงข่ายกับเส้นทางการค้าทางบก

ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 ได้เกิดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และความปลอดภัย ในการใช้เส้นทางบกระหว่างดินแดนทางตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะพวกโรมันและรัฐในกลุ่มเอเชียกลาง จึงหันมาใช้เส้นทางทะเลแทน เพื่อใช้ค้าขายติดต่อกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน โดยการเดินทางเชื่อมระหว่างสองทวีปในระยะแรกๆนี้ ไม่ใช่เป็นการเดินทางแบบรวดเดียวถึงกันตลอด แต่ต้องมีจุดหยุดพักเป็นระยะๆ โดยอาศัยเมืองท่า และสถานีพักสินค้า เพื่อถ่ายสินค้า เพิ่มเติมน้ำจืดและอาหาร รวมไปถึงการซ่อมแซมเรือ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

ทั้งนี้หากย้อนกลับมาพิจารณาจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้ของ ประเทศไทย ที่เป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยะธรรม คือ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับเปอร์เซีย และ ประเทศแถบชวา-มาลายู จะพบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเล รวมถึงเป็นดินแดนที่พ่อค้าชาวแขกมัวร์ ใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายทางเรือ โดยอาศัยลมสินค้าในสมัยโบราณที่จำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีการต่อเรือ รวมถึงการเดินเรือซึ่งในสมัยนั้น ต้องอาศัยทิศทางและกำลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากอินเดียไปยังจีน และอาศัยลมมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางจากจีนไปยังอินเดีย และบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรไปถึงเส้นห้าองศาเหนือ เป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขต ดเริ่มต้นของลมสินค้า (ไร้กระแสลม Doldrums) ลมจะสงบนิ่งเมื่อลมเบาบางจนทำให้เรือสินค้าเคลื่อนที่ไม่ได้ ที่เรียกว่า “ตกโลก” ก็เป็นการบังคับให้พ่อค้าต้องแวะตามเมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรเพื่อจอดซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืดและอาหาร รวมถึงขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรกลางทางในรอบปี โดยการขนถ่าย แลกเปลี่ยนสินค้านี่เอง ทำให้เมืองท่าต่างๆในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในสมัยที่มีการเดินเรือทะเล มีความเจริญรุดหน้า จากการค้าขายเป็นอันมาก นอกจากนั้น สินค้าที่สำคัญที่ผลักดันให้ชาวตะวันตกต้องแสวงหาและเดินทางมายังเมืองท่าใน คาบสมุทรมาลายูคือ เครื่องเทศ เช่น ว่าน กระวาน ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย พริกไทย กานพลู อบเชย ดีปลี จันทน์เทศ ทำให้เส้นทางการเดินเรือดังกล่าว ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางเครื่องเทศ

คาบสมุทรสทิงพระ ปัจจุบัน คือ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ และ อำเภอสิงหนคร คาบสมุทรสทิงพระ มีเรื่องราวสืบต่อกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐาน ได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่คาบสมุทรสทิงพระ ประวัติความเป็นมา และวัฒนธรรมสมัยศรีวิชัย คาบสมุทรสทิงพระคือศูนย์กลางของอาณาจักรเซี้ยะโท้หรือเซ็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรงในช่วงอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ศตวรรษ เพราะมีร่อยรอยทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่แสดงให้เห็นว่า คาบสมุทรสทิงพระเป็นศูนย์กลางการปกครองดินแดน รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง แต่เมืองสำคัญต่างๆยังคงดำรงอยู่ และหนึ่งในเมืองแห่งคาบสมุทรสทิงพระ ก็คือ สิงขระนคร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็นอา และชาวมลายูพูดลิ้นรัวเร็ว ตัดหะ และ นะ ออก คงเหลือ สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา


บทที่ 2 สิงขระนคร ยุคเมืองท่า..น่าทึ่ง (เมืองท่าแห่งการค้าระหว่างประเทศ)

ยุคนี้เป็นยุคพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 โดยพิจารณาจากเจดีย์บนยอดเขาน้อยที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า พุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยปรากฏชื่อในเอกสารต่างๆของพ่อค้าชาวตะวันตกว่า Singora บ้าง Singor บ้าง น่าจะมีชื่อเมือง สิงขร สิงคะ แปลว่าจอม ที่สูงสุดยอดเขา และภาษาไทยว่า “สิงขร” เป็นความหมายที่สอดคล้องกับที่ตั้งเมือง โดยปรากฏในเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย เป็นต้นว่าในสำเนาจดหมายของนายแมร์ เทนเฮาท์แมน จากอยุธยา มีไปจนถึงนายเฮนดริก แจนเซน นายพานิชย์คนที่ 1 ชาวดัทช์ ที่ปัตตานีในปี พ.ศ. 2156 ออกชื่อเจ้าเมืองสิงขระนคร ในขณะนั้นว่า “โมกุล” แต่ในบันทึกบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้กล่าวถึงสิงขรนคร ในปี พ.ศ. 2165 เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า “ดาโต๊ะโกมอลล์” จึงพอสรุปได้ว่า ผู้สร้างเมือง ฝั่งหัวเขาแดง ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นมุสลิม ที่ชาวอังกฤษในสมัยอยุธยา เรียกว่า “โมกุล” และ ชาวดัทช์ เรียกว่า “โมกอล” โดย ดาโต๊ะโมกุล ได้ตั้งเมืองสิงขระนคร บริเวณหัวเขาแดง เขาค่ายม่วง และ เขาน้อย ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2153 - 2154 ซึ่งตรงกับสมัยพระเอกาทศรถ

สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงของสุลต่านสุไลมาน ได้บันทึกไว้ว่า ประมาณ พ.ศ.2145 ดาโต๊ะโมกอล ซึ่งเคยปกครองเมืองสาเลย์ ที่เป็นเมืองลูก ของจาการ์ตา บนเกาะชวา (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) ได้อพยพครอบครัว และบริวารหนีภัย การล่าเมืองขึ้น (ซึ่งใช้ปืนใหญ่จากเรือปืนยิงขึ้นฝั่งที่เรียกว่า Gunship policy) ลงเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา เข้าใจว่าตระกูลนี้คงเคยเป็นตระกูลปกครองบ้านเมืองมาก่อน เมื่อเจอทำเลเหมาะสมหัวเขาแดง ท่านดะโต๊ะ โมกอล ก็ได้นำบริวารขึ้นบก แล้วช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง และ ดัดแปลงบริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ ที่สามารถรับเรือสำเภา หรือ เรือกำปั่นที่ประกอบธุรกิจการค้าทางทะเล แวะเข้าจอดเทียบท่าได้ จนเมืองหัวเขาแดงในสมัยนั้น กลายเป็นเมืองท่าเรือระหว่างประเทศไป กิติศัพท์เลื่องลือโด่งดังไปจนถึง กรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148 - 2153)

จึงได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ ดะโต๊ะ โมกอล เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่หัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา


บทที่ 3 สิงขระนคร ยุครุ่งโรจน์สุดขีด (ในยุคของสุลต่านสุไลมาน ชาห์ รามาธิบดี 2163-2212)

สุลต่าน สุไลมาน ชาห์ เจ้าเมือง เป็นบุตรของ โมกอล เจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งอพยพมาจากเมืองสาเลห์(ชวาภาคกลาง) สุลต่านสุไลมาน สถาปนาตนเองเป็น สุลต่าน และ ชาห์ เป็นรามาธิบดี แห่ง สิงขระนคร ท่านได้ปรับปรุงเมืองสิงขรนคร ที่หัวเขาแดงให้เจริญรุ่งเรืองหลายด้าน จนทำให้ สิงขรนคร ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่า ที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้

ในระยะแรกของสิงขระนคร เจ้าเมืองได้ยอมรับในการตกเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา โดยสุลต่านผู้ครองเมือง ได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งประกอบ ด้วยดอกไม้เงิน และ ดอกไม้ทอง แก่กรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าเมืองสิงขระนคร ได้กำหนดทิศทางของการพัฒนาเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นลักษณะเมืองท่า ทำกิจการในแลกเปลี่ยนสินค้าในระดับนานาชาติ โดยเมืองท่านี้ได้ทำการค้าขายกับ ฮอลันดา โปรตุเกตุ อังกฤษ จีน อินเดีย และ ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศคู่ค้าประเทศแรกๆ ที่สามารถมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกรุงศรีอยุธยา และสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้ามายังสิงขระนคร โดยเฉพาะระหว่างปี พ.ศ. 2171 - 2201 เป็นสมัยที่ฮอลันดา มีความมั่งคั่งจากการผูกขาดเครื่องเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยฮอลันดาสามารถกำจัดคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ เช่น โปรตุเกตุ อังกฤษ และ พ่อค้ามุสลิม ให้ห่างจากเส้นทางการค้า มีผลทำให้ให้ฮอลันดามีความมั่งคั่ง และ มีอำนาจขึ้นในยุโรป และ ตะวันออกไกล ครั้นถึงปี พ.ศ. 2584 ชาวดัทช์ สามารถยึดเมือง มะละกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญได้จากโปรตุเกส จึงใช้มะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับจีน และญี่ปุ่นโดยตรง และยังมีบันทึกหลายๆ ฉบับ ได้กล่าวถึงการค้าขายบริเวณเมืองท่า สิงขระนคร ดังนี้

จดหมายของนายคอร์เนลิส ฟอน นิวรุท จากห้างดัทช์ ที่กรุงศรีอยุธยา ไปถึงหอการค้าเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลันดา เมื่อ พ.ศ. 2160 กล่าวถึงสิงขระนคร ไว้ว่า “ขณะนี้พ่อค้าสำคัญๆได้สัญญาว่าจะแวะสิงขระนคร (สงขลาฝั่งหัวเขาแดง)" -  จดหมายของ จูร์แคง ชาวอังกฤษได้รายงานไปที่ห้างอังกฤษ บนเกาะชวาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2164 ได้กล่าวถึงการค้าขายที่สิงขระนคร ไว้ว่า “พวกดัชใช้เรือขนาดเล็กที่เรียกว่า แวงเกอร์ โดยมีเรือขนาดเล็กนี้มีอยู่ประมาณ 4-5 ลำ ประจำที่สิงขระนคร เพื่อกว้านซื้อพริกไทยจากพ่อค้าชาวพื้นเมืองที่เข้ามาขายให้" - บันทึกของ โยเกสต์ สเกาเตน ผู้จัดการห้างฮอลันดา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง หนังสือแต่งเมื่อ พ.ศ. 2179 ดังคำแปลในประชุมพงศาวดาร ภาค 76 กล่าวว่า “พวกเราชาวฮอลันดาได้เข้ามาอยู่ในอาณาจักรสยาม(สิงขระนคร) ได้ 30 ปีแล้ว และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระมหากษัตริย์ ตลอดมา การค้าขายของเราถึงจะไม่ได้รับกำไรมากมายจนเกินไป แต่กระนั้น พวกเรายังได้รับไมตรีจิต มิตรภาพจากพระมหากษัตริย์ มากกว่าชนชาติยุโรปอื่นได้รับ” ซึ่งสอดคล้องกับการพบสุสานของชาวฮอลันดา อยู่ณ บริเวณสุสาน วิลันดา ในบริเวณพื้นที่ อ.สิงหนคร ในปัจจุบัน

เนื่องจากการที่สิงขระนคร เป็นเมืองคู่ค้าที่สำคัญ กับฮอลันดาทำให้สิงขระนคร ได้รับการคุ้มครอง และ การสนับสนุนด้านต่างๆ จากฮอลันดาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทำให้สิงขระนคร โดย สุลต่านสุไลมาน ได้แข็งเมืองในช่วงกบฎกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งผลจากการแข็งเมืองนี้เองทำให้ สุลต่านสุไลมาน ดำเนินการค้าโดยตรงกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศฮอลันดา ทำให้ฮอลันดาสามารถทำการค้า และรักษาความสัมพันธ์ด้านประโยชน์ทางการค้า ได้ทั้งกรุงศรีอยุธยา และ สิงขระนคร ไปในคราวเดียวกัน จนฮอลันดาสนใจจะเปิดสถานีการค้ากับสิงขระนคร ตามบันทึกของ ซามูเอล พอทท์ส ซึ่งไปสำรวจภาวะตลาดในเอเซียเมื่อปี พ.ศ. 2221 ได้บรรยายว่าเจ้าเมืองสิงขระนคร ต้อนรับเป็นอย่างดีที่วังของเมือง แสดงความเป็นกันเอง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอหลายอย่างที่เป็นการจูงใจให้เข้าไปค้าขาย เช่น จะไม่เก็บอากรบ้าน จะหาบ้านและที่อยู่ให้ โดยปรากฏหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้จากแผนที่ซึ่งทำโดยชาวฝรั่งเศส ได้ระบุว่ามีหมู่บ้านของชาวฮอลันดาปรากฏอยู่ในแผนที่ นอกเหนือจากการปรากฏหลักฐานของสุสานชาวดัทช์ อยู่ใก้ลที่ฝังศพ สุลต่านสุไลมานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิงขระนคร โดยมีหลุมศพเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ประมาณ 22 หลุม ซึ่งชาวบ้านได้เรียกที่ฝังศพนี้ว่า “วิลันดา” ซึ่ง หนึ่งในยี่สิบสอง หลุมนี้อาจเป็นตัว ซามูเอล พอทท์ส หรือ พรรคพวกเองก็เป็นได้


บทที่ 4 จากเมืองท่า สู่เมืองแห่งป้อมปืน (เมื่อมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาแทรกซึมเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการปกครอง)

ความเป็นคู่แข่งทางการค้าระหว่าง ฮอลันดา กับ อังกฤษ ได้นำมาสู่การคานอำนาจของหัวเมืองต่างๆ ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะเมืองท่าการค้าเสรี (ทีต่อมากลายเป็น เมืองป้อมปราการ) อย่าง สิงขรนคร ย่อมได้รับการสนใจเป็นพิเศษจากอังกฤษ ขณะที่สิงขระนคร มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองที่ดีต่อ ฮอลันดานั้น อังกฤษก็ได้เริ่มมุ่งความสนใจทางการค้ากับ เมืองปัตตานี ที่เป็นเมืองท่าอยู่ทางตอนใต้ และ พยายามที่จะขยับขยายการค้ามาสู่ สิงขระนคร ดังบันทึกฉบับหนึ่งที่เขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษ กล่าวถึงการค้าที่    สิงขระนคร ว่า “จะไม่เป็นการผิดหวัง หากคิดจะสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นที่สิงขระนคร (Singora) ข้าพเจ้าคิดว่าเราอาจจะใช้สิงขระนคร เป็นที่สำหรับตระเวณหาสินค้าจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดส่งให้แก่ห้างของเราที่กรุงสยาม โคชินไชน่า บอร์เนียว และญี่ปุ่นได้อย่างดี” (คุ้นๆนะ..สมัยนี้เค้าเรียกFTA ใช่หรือเปล่าน่า เจรจาระดับทวิภาคี อีก) โดยจากการค้าขายกับต่างชาตินี่เองทำให้ สิงขระนคร ได้พัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการค้าขายระดับนานาชาติ และ เพื่อสร้างความปลอดภัย และ รักษาเมืองจากการปล้นสะดมจากโจรสลัดซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในขณะนั้น การพัฒนาเมืองจึงได้รวมไปถึงการสร้างป้อมปืนใหญ่ บริเวณบนเขา และ ที่ราบในชัยภูมิต่างๆถึง 17 ป้อมปืน รวมไปถึงการสร้าง ประตูเมือง และ คูดินรอบเมือง ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุน เทคโนโลยี และ อาวุธ จากพ่อค้าชาวอังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษมาตั้งห้างที่ สิงขระนคร(เหมือนวันนี้เลย เราขายข้าว มันขายF16)  ตรงกับหลักฐานตามที่นาย ลามาร์ ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกแผนผังเมืองไว้เมื่อ พ.ศ. 2230 ประกอบด้วย ประตูเมือง และ ป้อมปืน 17 ป้อม

ถ้าสิงขระนคร แข็งเมือง พ่อค้าชาวอังกฤษจะเป็นประโยชน์แก่ช่องทางการค้าของตน โดยเฉพาะในเรื่องการลดค่าภาษีที่จะต้องส่งให้แก่กรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ให้ของกำนัล แก่เจ้าเมือง สิงขระนคร เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำการค้าขายในแถบนี้ได้แล้วดังบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษว่า “การตั้งคลังสินค้าขึ้นที่นี่ยังจะช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้าง อีกด้วย เพราะที่นี่ไม่เก็บอากรขนอนเลย เพียงแต่เสียของกำนัลให้แก่ดาโต๊ะโมกอลล์ (เจ้าเมืองสงขลา) ก็อาจนำเงินสินค้าผ่านไปได้” โดยผลจากการประกาศแข็งเมือง ของ สุลต่านสุไลมัน (บุตรของดาโต๊ะโมกอล) จึงเสมือนการเปิดโอกาสให้สิงขระนคร ในระยะนี้ เจริญถึงจุดสูงสุด ถึงขั้นมีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง ย่อมทำให้เราสามารถคาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของสิงขระนครในขณะ นั้นได้ ดังนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2185 สุลต่านสุไลมานก็ตั้งต้นเป็นเอกราช สถาปนาตนเองเป็นเจ้าเมืองสิงขระนคร ดำเนินการค้ากับ ฮอลันดา อังกฤษ และประเทศอื่นๆ โดยตรงไม่ผ่านการส่งอากร แกกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าปราสาททองกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ต้องส่งกองทหารมาปราบหลายครั้งตลอดรัชการของพระองค์ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากสิงขระนคร แห่งนี้ ได้ตั้งเมืองอยู่ในชัยภูมิที่ดี และ มีการก่อสร้างกำแพงเมือง คันคู ตลอดจน ป้อมปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันเมืองทั้งทางน้ำและทางบกมากกว่า ยี่สิบป้อม (บางเล่มก็ระบุว่า 17 ป้อม ผู้เขียนอยู่ระหว่างค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม) ดังหลักฐานจากข้อเขียนของ วัน วลิต (Van Vliet) ผู้แทนบริษัท Dutch East India Co., Ltd. ประจำกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนเมือง สิงขระนคร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2185 ได้เขียนรายงานไว้ว่า “พระเจ้าปราสาททอง ได้เคยส่งกองเรือจากกรุงศรีอยุธยามาร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิงขระนคร) ทำการโจมตีสิงขระนครถึงสองครั้งในช่วงเวลาเพียง สองปี แต่ต้องประสพความพ่ายแพ้ไปทั้งสองครั้ง”


บทที่ 5 บทสุดท้ายของสิงขระนคร (เมืองท่า ที่รุ่งเรื่อง ที่เหลือไว้เพียงตำนาน)

สิงขระนครได้ถูกกองทัพของกรุงศรีอยุธยา ทั้งทางบก และ ทางทะเล ตีแตก ในปี พ.ศ. 2223 ในรัชกาล สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของ มองซิเออ เวเรต์ ชาวฝรั่งเศส ที่มาค้าขายในอยุธยาใน พ.ศ. 2230 ว่า “พระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพเรือซึ่งมีเรือรบมาเป็นอันมาก ให้มาตีสิงขระนครเป็นอย่างมาก และ ได้ใช้แผนล่อลวงผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งให้มีใจออกห่างจากนายตน จากนั้นทหารกรุงศรีอยุธยาจึงได้ลอบเข้าไปทางประตูดังกล่าวเปิดประตูให้ทหาร เข้ามาทำลาย และ เผาเมือง โดยเพลิงได้ลุกลามจนไหม้ เมืองตลอดจนวังของเจ้าเมือง จนหมดสิ้น อีกทั้ง ทหารกรุงศรีอยุธยา ยังได้ยกทัพเข้าไปในเมืองทำลาย ป้อม ประตู หอรบ และ บ้านเรือนจนเหลือแต่แผ่นดิน เพราะเกรงว่าจะมีคนคิดกบฎขึ้นมาอีก” ส่วนอีกบันทึกหนึ่งได้เล่าไว้ว่า กองเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ร่วมกับ กองทัพจากนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพเรือมาล้อมเมืองสุลต่านที่หัวเขาแดง โดยมีพระยารามเดโชเป็นแม่ทัพใหญ่ ครั้นแล้วกองทัพทั้งสองฝ่ายก็ได้เริ่มทำยุทธนาการกันทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีลูกเรือชาวดัทช์ที่มารักษาการณ์ อยู่ที่สถานีการค้าของบริษัท Dutch East India Co.Ltd. ที่หัวเขาแดง เข้าช่วยฝ่ายสุลต่านสิงขระนคร เข้ารบกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏที่ฝังศพของทหารอาสาชาวดัทช์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกุโบร์ที่ฝังศพของสุลต่านสุไลมาน โดยในบันทึกได้บรยายรายละเอียดว่าในคืนวันหนึ่งขณะที่ปืนใหญ่จากเรือรบของ นครศรีธรรมราช กำลังกระหน่ำยิงเมืองหัวเขาแดง ทหารซึ่งอยู่ที่ป้อมเมืองสงขลาของสุรต่านมุสตาฟา (บุตร สุลต่านสุไลมาน) จำนวนสองคนได้ทำการทรยศจุดคบไฟโยนลงจากบนภูเขาใส่บ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ บริเวณเชิงเขา ซึ่งส่วนมากจะมุงด้วยหลังคาใบจาก จึงได้เกิดไฟไหม้ขึ้น ทำให้เกิดโกลาหลอลม่านกันขึ้น จนกระทั่งกองทัพกรุงศรีอยุธยา และ เมืองนครศรีธรรมราช สามารถยกพลขึ้นบกได้หลายจุด เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองสิงขรนคร ยอมจำนนแก่แม่ทัพใหญ่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช


ผลที่สุดจึงปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ยุบเลิกเมือง สุลต่าน ที่หัวเขาแดง แล้วกวาดต้อนกองกำลัง และ บริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ แล้วลงเรืออพยพแบ่งเป็นสองพวกคือ คนที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป ให้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่หมู่บ้านสงขลา เมืองไชยา (ในพื้นที่ จ สุราษฎร์ธานี ห่างจากสงขลา ห้าร้อยกิโลเมตรทางตอนเหนือ) ส่วนคนหนุ่มคนสาว รวมทั้งลูกเจ้าเมืองทั้ง สาม ของสุรต่านสุไลมาน ให้อพยพเข้าไปอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จึงถึงบทสุดท้ายของ สิงขระนคร เมืองท่าปลอดภาษีของอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม เมืองฝั่งหัวขาแดงก็ยังมีการสร้างกำแพงหรือขอบเขตของเมือง ด้วยไม้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน อยู่ฝั่งแหลมสนซึ่งอยู่ทางฟากเขาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งชุมชนนี้ต่อมาได้พัฒนาเป็น เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน นั่นเอง


/////////////////////


ที่มา @ มูลนิธิชุมชนสงขลา // เปิดตำนาน สิงขระนคร Singora Legend

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2793
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง