สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ยะลา ::: ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

“เบตง”...ทรงเสน่ห์ ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามกลางขุนเขา

by sator4u_team @2 พ.ย. 54 06:18 ( IP : 101...34 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
photo  , 450x338 pixel , 24,356 bytes.

ตัวเมืองเบตงในอ้อมกอดแห่งขุนเขา

“โอเค เบตง”
หลังภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อหลายปีที่แล้ว คนก็พูดกันติดปากถึงอำเภอเบตง จ.ยะลา ที่อยู่ใต้สุดของเมืองไทยว่า โอเค...เบตง ซึ่งหากใช้กับสภาพการณ์ในตอนนี้ที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ยังคงอยู่แต่ว่าลดกีกรีความร้อนแรงลงไปเยอะมาก เบตง เป็นพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถือว่าโอเค คือกลับมาอยู่ในความสงบปราศจากเหตุไม่ปลอดภัยได้เกือบ 3 ปีแล้ว
ดังนั้นเมื่อโอกาสดีมาถึง “ตะลอนเที่ยว” จึงล่องใต้ไป 3 จังหวัดชายแดน ที่แม้ใครหลายคนจะหวั่นในสถานการณ์ และเสียงลือเล่าอ้างบวกข่าวที่โหมกระพือถึงความไม่ปลอดภัย แต่ในสภาพการณ์จริงชาวบ้านในพื้นที่เขาปรับตัวและใช้ชีวิตเหมือนปกติมานานแล้ว พวกเขารู้ว่าสถานที่ใดสมควรไป เวลาใดสมควรเดินทาง และจุดไหนควรหลีกเลี่ยง
ทำให้ช่วงที่เราไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นปลอดภัยหายห่วง โดยในจังหวัดสุดท้ายที่ยะลานั้น จากตัวเมือง(ในเวลากลางวัน)เราเดินทางผ่านถนนแห่งขุนเขาสันการาคีรีไปตามทางหลวง 410 อันคดเคี้ยวเลี้ยวๆลด ขึ้นๆลงๆ ประมาณ 140 กม. สู่ อ.“เบตง” ดินแดนที่มีคำขวัญว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ส่งความคิดถึงได้ทุกเมื่อ

โอเค...เบตง

เบตง เป็นเมืองในแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ ที่อยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตง-มาเลเซียเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น เบตงเป็นพื้นที่พิเศษ รถในเมืองนี้สามารถใช้ทะเบียนเบตงได้เลย โดยไม่ต้องใชทะเบียนจังหวัดยะลา
ชื่อเบตงเป็นภาษามลายูหมายถึง “ไม้ไผ่” ในอดีตเมืองนี้มีไม้ไผ่มาก แต่ปัจจุบันในตัวเมืองมองหาต้นไผ่ไม่เห็นแล้ว มีแต่ไผ่ยักษ์จำลองซึ่งทางเทศบาลเมืองเบตงได้จัดสร้างไว้ที่สวนสาธารณะของเทศบาล
ไหนๆก็พูดถึงความใหญ่ยักษ์แล้ว เบตงโด่งดังมากในเรื่องของตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยตู้แรกต้นฉบับสุดคลาสสิคนั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มุมถนนสุขยางค์ บริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา

ไปรษณีย์ยักษ์ตู้นี้ มีอายุกว่า 80 ปี สูง 3.2 เมตร เหตุที่ทางเมืองนี้ทำตู้ไปรษณีย์สีแดงยักย์ประดับเมืองไว้ เพราะในอดีตการเดินทางติดต่อสื่อสารจากเบตงไปยังเมืองอื่นๆเป็นไปด้วยความยากลำบาก การส่งจดหมายสื่อสารถึงกันนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้นายสงวน จิระจินดา นายกเทศมนตรีตำบลเบตงในขณะนั้น ที่มีความผูกพันกับตู้ไปรษณีย์ไม่น้อยเนื่องจากเคยเป็นนายไปรษณีย์มาก่อน ได้จัดสร้างตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการสื่อสารที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงไปโดยปริยาย
และด้วยความโดดเด่นของตู้ไปรษณีย์แห่งนี้ ทำให้ทางเทศบาลเมืองเบตงนำไปขยายผลด้วยการสร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์จำลองขึ้นใหญ่กว่าเดิมถึง 3.5 เท่า(ราว 9 เมตร) ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่หน้าศาลาประชาคม

อย่างไรก็ตามในเรื่องของความมีเสน่ห์และความคลาสสิคนั้น ตู้ไปรษณีย์ต้นฉบับกินขาด กลายเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาส่งจดหมาย โปสการ์ด หรือมายืนแอ๊คท่าถ่ายรูปคู่กับตู้ไปรษณีย์ยักษ์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากตู้ไปรษณีย์ยักษ์สุดคลาสิคแล้ว ใกล้ๆกันยังมีอีกหนึ่งความคลาสสิคตั้งตระหง่าน เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองนั่นก็คือ “หอนาฬิกาเบตง” ที่เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน หอนาฬิกาแห่งนี้ สร้างเป็นสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางของเมือง ณ บริเวณจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ ด้วยหินอ่อนขาวนวลดูสง่าน่ามอง

รอบๆหอนาฬิกาดูระโยงระยางไปด้วยสายไฟ ซึ่งในช่วงหัวค่ำสายไฟเหล่านี้จะเต็มไปด้วย สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า “นกนางแอ่น” เกาะบนสายไฟเต็มพรืดไปหมด

นกนางแอ่นเหล่านี้หนีหนาวมาจากไซบีเรียมาอยู่เบตงในช่วงเดือนกันยายนถึงมีนาคม ยามหัวรุ่งพวกมันจะบินไปหาอาหารตามป่าเขา และกลับมาเกาะที่สายไฟในช่วงหัวค่ำเป็นอย่างนี้ทุกวัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเบตง ซึ่งพวกเขาผูกพันและหวงแหนนกเหล่านี้ไม่น้อยเลย
สาววัยรุ่นบางคนจากที่เราได้เห็นมา เธอมารอซื้อโรตีเจ้าอร่อยที่ข้างหอนาฬิกาใต้สายไฟในช่วงหัวค่ำ แล้วจู่อะไรก็หล่นปุ๊ลงมาให้เธออุทานว่า “ยี้ ขี้นกตกใส่หัว” ก่อนจะหัวเราะขบขันไม่มีการสบถด่าทอหรือขับไล่นกเหล่านั้นแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวบ้านบางคนก็ยินดีที่จะบอกเล่าเรื่องราวของนกเหล่านี้เท่าที่เขารู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่าง “ตะลอนเที่ยว” ซึ่งกับเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งการมีสายไฟระโยงระยางพาดผ่านสถาปัตยกรรมอันสวยงามดูจะเป็นการทำลายเสน่ห์ของเมือง แต่กับที่เบตงสายไฟเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนเสริมเสน่ห์ของเมืองให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้นจากบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา หากเดินขึ้นไปตามความชันเล็กน้อยของถนนก็จะพบกับ “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์” อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มา
อุโมงค์แห่งนี้ดูคลาสิคกว่าสมัยใหม่เพราะด้านหลังของอุโมงค์(เมื่อมองจาก 4 แยกหอนาฬิกาเข้าไป)ตะหง่านเงื้อมสวยงามไปด้วย “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง”กับงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลังคาซ้อนหลายชั้น


ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เบตง

ในพิพิธภัณฑ์ชั้นหนึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ อาทิ ถ้วยชามเครื่องเคลือบ โต๊ะ ตู้ เตียง โบราณ ตะเกียงเก่า เรือสำเภาจำลอง กี่ทอผ้า อุปกรณ์ปั่นฝ้าย ส่วนชั้นสองจัดแสดงภาพเก่าเมืองเบตง และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในเมืองนี้

พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นจุดชมวิวชั้นดีที่เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดมองลงมาจะเห็นตัวเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ลานดาดฟ้าตึกหลังหนึ่งข้างๆพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เต้นแอโรบิกยามเย็นที่คึกคักไปด้วยลีลายักย้านส่ายส่วนต่างๆของร่างกายจากผู้คนในพื้นที่ ซึ่ง“ตะลอนเที่ยว” เห็นแล้วอดขยับแข้งขยับขาตามมาไม่ได้

ตัวเมืองเบตงยามโพล้เพล้

เย็นในวันนั้น “ตะลอนเที่ยว” เดินตามบันไดวนขึ้นไปชมวิวเมืองเบตงยามโพล้เพล้บนพิพิธภัณฑ์ ก่อนกลับลงมาสัมผัสกับเบตงยามค่ำคืน
หลังเกิดเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ความคึกคักในเมืองนี้ลดน้อยถอยลงไปพอสมควร แต่กระนั้นเบตงราตรีก็มีสีสันยามย่ำคืนให้สัมผัสกันตามอัตภาพ โดยคล้อยหลังจากตะวันตกดินไปได้ไม่นาน บรรดาผีเสื้อราตรีต่างก็ออกหากิน
ผีเสื้อเหล่านี้บินไม่ได้ เพราะไม่มีปีก มีแต่ความขาวอวบและความล้นเฉพาะพื้นที่ในบางคน ชนิดที่มันดันออกมาแข่งกับภูเขาน้อยใหญ่ที่โอบล้อมตัวเมืองเบตงอย่างไม่กริ่งเกรง
หลังจากเราเห็นภูเขาของผีเสื้อราตรีแบบเตะตาอย่างไม่ตั้งใจในยามค่ำคืน เช้าวันรุ่งขึ้น“ตะลอนเที่ยว” ตื่นแต่เช้าตรู่ ขึ้นไปบนดาดฟ้าของที่พักโรงแรมแมนดาริน อาคารสูงที่สุดในเบตงเพื่อชมทิวทัศน์ของภูเขาของจริงที่ทอดตัวเรียงรายโอบล้อมตัวเมืองนี้ ท่ามกลางสายหมอกบางๆที่ลอยเอื่อยมาทักทาย

เจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ วัดพุทธาธิวาส

จากด้านตัวเมืองหนาแน่น มองไปทางขวาเห็น “พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ”แห่งวัดพุทธาธิวาส ตั้งตระหง่านโดดเด่นท่ามกลางแบ็คกราวน์ภูเขาน้อยใหญ่
“วัดพุทธาธิวาส” เดิมชื่อ“วัดเบตง” ซึ่ง“ตะลอนเที่ยว”เพิ่งไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดมาเมื่อบ่ายวันวานในทันทีที่มาถึงเมืองนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะได้ยินถึงกิตติศัพท์ในความเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเบตงมาช้านาน
ในวัดมีเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ที่หมายถึงการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งเด่นเป็นสง่าด้วยศิลปะศรีวิชัยอันสวยงามสมส่วน ภายในเจดีย์ชั้นบนสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และมีพระพุทธธรรมประกาศเป็นพระประทาน มีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่ที่ชั้นล่าง

สีสันตลาดสดเทศบาลเบตงยามเช้า

ในขณะที่สิ่งน่าสนใจอื่นๆในวัดแห่งนี้ก็มีพระพุทธธรรมกายมงคลปยุรเกศานนท์สุพนิพานองค์โตให้สักการะ และวิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
กลับมาต่ออารมณ์ยามเช้ากันต่อ หลังอิ่มตากับการชมวิวยามเช้าแล้ว เราออกจากโรงแรมเดินท่อมๆไปเติมความอิ่มท้องด้วยการหม่ำโจ๊กกบ(ภูเขา)ร้อนๆ

สำหรับอาหารเบตงถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ใครมาเยือนไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง โดยอาหารขึ้นชื่อ ก็มี ไก่สับเบตงจากเนื้อไก่เบตงอันนุ่มแน่น เคาหยกที่ทำจากหมู 3 ชั้นกับเผือก กบภูเขา ปลาจีนนึ่งบ๊วย ผักน้ำ หมี่เบตง และของหวานอย่างเฉาก๊วย

หลังกินโจ๊กกบเติมพลัง เรามุ่งหน้าไปยังตลาดสดเทศบาล ที่ยามเช้าคึกคักไปด้วยบรรยากาศการซื้อขายจากสินค้าอีนหลากหลาย และทหารยืนยามเฝ้ารักษาความปลอดภัย ที่แม้ว่าวันนี้จะโอเคที่เบตง แต่การไม่ประมาทป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการล้อมคอกในภายหลัง

โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ใต้ที่คล้ายเหนือ

นอกจากในตัวเมืองแล้ว นอกเมืองเบตงก็มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางไต่เลาะขุนเขา วงรอบ โครงการไม้ดอกเมืองหนาว-อุโมงค์ปิยะมิตร-บ่อน้ำร้อน
ใน“โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยะลา”จุดแรกที่เราไปเยือนนั้น ไม่น่าเชื่อว่าสภาพพื้นที่จะมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีและมีบรรยากาศคล้ายสวนดอกไม้ในดอยสูงทางภาคเหนือ
โครงการนี้สร้างตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความร่วมมือของจังหวัดยะลากับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. เป็นผู้ผลักดันอีกแรง

ดอกไม้งามในโครงการไม้ดอกเมืองหนาว

“โครงการไม้ดอกเมืองหนาว ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ามีเฉพาะในเขตภาคเหนือเท่านั้น แต่สำหรับอำเภอเบตง พื้นที่ใต้สุดของประเทศมีภูเขาล้อมรอบ อากาศเย็นตลอดทั้งปี เหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาวเป็นอย่างยิ่ง” คุณเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ สำนักงาน กปร.ให้ข้อมูลกับเรา
สำหรับโครงการไม้ดอกเมืองหนาว เป็นการศึกษาทดลองปลูกไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ อาทิ เบญจมาศ กุหลาบ เยอบีรา หน้าวัว ไฮเดนเยีย ดาวเรือง ทานตะวัน ซัลเวีย นอกจากนี้ทางโครงการยังนำร่อง ขยายผล และเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านในพื้นที่เพาะปลูกพืชเมืองหนาวขาย

สวนไม้ดอกเมืองหนาวของชาวบ้าน

นั่นจึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านปิยะมิตรจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มกันปลูกพืชเมืองหนาวส่งขายในพื้นที่ภาคใต้ สร้างรายได้เลี้ยงตัวแบบพอเพียงได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น
ไม่เพียงเท่านั้นชาวบ้านกลุ่มนี้ยังเรียนรู้ นำต้นแบบจากโครงการไม้ดอกเมืองหนาวมาจัดสร้าง เป็น“สวนไม้ดอกเมืองหนาว” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับโครงการไม้ดอกเมืองหนาวชนิดเดินไปมาหาสู่กันได้
สวนไม้ดอกเมืองหนาว ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจของเบตง มีการจัดสวนตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ก้อนหิน สระน้ำ และองค์ประกอบอื่นๆอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารของชุมชนขายของที่ระลึก และขายอาหารเมนูเด็ดของเบตง ตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น นับเป็นการเดินตามรอยพ่อที่เห็นประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน

ซุ้มประตูทางเข้าอุโมงค์ปิยะมิตร

จากสวนไม้ดอกเมืองหนาว เดินทางต่อไปในถนนสายเดิมจะพบกับที่ตั้งของ “อุโมงค์ปิยะมิตร” หรือ “อุโมงค์เบตง” ที่มีลักษณะรูปแบบคนละเรื่องกับอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ในตัวเมืองเลย
อุโมงค์ปิยะมิตร สร้างโดยกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ในปี พ.ศ. 2519 เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการของมาชิกพรรคฯ เป็นอุโมงค์มีความกว้างพอคนเดินได้ ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร คล้ายๆกับอุโมงค์ “กู๋จี” ของพวกนักรบเวียดกงที่โฮจิมินห์

นั่งแช่น้ำพุร้อน ผ่อนคลาย สบายเท้า

ปัจจุบันอุโมงค์มีรอยอดีตทิ้งไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ทัศนา อาทิ ห้องนอนเตียงดินเหนียว อุปกรณ์การสู้รบ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงห้องบัญชาการรบที่จุคนได้มากถึง 200 คน
หลังเสร็จสิ้นการเที่ยวอุโมงค์เราเดินทางต่อไปปิดท้ายเส้นทางวงรอบกันที่ “บ่อน้ำพุร้อน” ต.ตาเนาะแมเราะ ที่บ่อใหญ่มีความร้อนชนิดผู้ชายหลายคนกลัวเพราะ “ต้มไข่สุก” ภายในเวลาแค่ 7 นาที ในขณะที่บ่อเล็กได้มีการขุดทอนความร้อนของสายน้ำให้เราๆท่านๆ สามารถนั่งเอาเท้าแช่น้ำกันได้แบบร้อนพอสมควรแต่ไม่ถึงกับต้มไข่สุก
สองสาวเบตงขึ้นมาชมวิวในชั้นบนของพิพิธภัณฑ์

จากน้ำพุร้อน เราเดินทางย้อนกลับเข้าสู่ตัวเมืองเบตงอีกครั้ง ก่อนจะล่ำลาจากเมืองนี้ด้วยความรู้สึกเสียดาย และเห็นใจชาวเบตงที่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งๆที่สถานการณ์เมืองนี้โอเคมานานแล้ว
นี่แหละการใช้กำลังความรุนแรงประหัตประหาร ผลของมันมีแต่ย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง

นอกจากสถานที่ในเนื้อเรื่องแล้ว อ.เบตงยังมีสิ่งน่าสนใจชวนเที่ยวชม อาทิ น้ำตกอินทสร สถาปัตยกรรมพื้นบ้านเก่าแก่ที่บ้านตระกูลรือซะ บ้านกุนุงจนอง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกีรยติ เป็นต้น โดยผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเบตง ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง และสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองเบตง
0-7324-5616


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพทั้งหมด:http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000140628


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2793
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง