เกาะตะรุเตา สวรรค์ของนักเดินทาง ผู้หลงรักท้องทะเล สตูล
เกาะตะรุเตา สวรรค์ของนักเดินทาง ผู้หลงรักท้องทะเล
เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ... ดินแดนของนักโทษการเมืองในอดีต ที่เล่าขานกันว่าเป็นนรกกลางทะเลอันดามัน ทว่าปัจจุบันกลับกลายเป็นสวรรค์ของผู้รักการเดินทางไปเสียแล้ว เหตุเพราะมีทิวทัศน์ที่งดงาม ผืนน้ำใสสีมรกต ทรัพยากรใต้ท้องทะเลก็ยังคงอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีประติมากรรมธรรมชาติที่ "เกาะไข่" และหาดหินบน "เกาะหินงาม" หรือ "เกาะอาดัง เกาะราวี" ที่มีหาดทรายสีขาวนุ่มเนียนละเอียดละออ รวมไปถึงอีกหลายเกาะ หลายอ่าวที่แสนงดงาม จนชาวมลายูเรียกชื่อหมู่เกาะแห่งนี้ว่า "ตะโละเตรา" ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก เพราะมีเกาะต่าง ๆ อยู่ถึง 50 เกาะ ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ตะรุเตา"
ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศให้เป็น "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา" เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ภูมิทัศน์ที่งดงาม ทำให้ในปี พ.ศ. 2525 ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)
นอกจากสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะตะรุเตายังมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ โดยในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกันนักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เต็มไปด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการหลบหนี ก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโละวาว และอ่าวตะโละอุดัง
ในปี พ.ศ.2481 นักโทษชุดแรกจำนวน 500 คนก็ได้เดินทางมายังตะรุเตา และทยอยเข้ามาอีกเรื่อย ๆ จนมีนักโทษเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3,000 คน และในช่วงปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมือง 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง จากนั้นในปี พ.ศ.2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2489 รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมลายูอยู่ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการส่งกองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาจนสำเร็จ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา และหลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา 26 ปี จนกระทั่งได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้น และกลับมาเลืองชื่อลือนามเรื่องความงดงามอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับสถานที่น่าสนใจบนเกาะตะรุเตา ได้แก่...
อ่าวพันเตมะละกา มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกายังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบูได้อีกด้วย ทั้งนี้ จากอ่าวพันเตมะละกา สามารถมองเห็นเกาะบุโหลน เกาะกลาง เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะราวี หมู่เกาะเภตรา และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง
อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็ก ๆ ติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะต่อการพักผ่อน
อ่าวเมาะและ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 4 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม เงียบสงบ มีบังกะโลเหมาะสำหรับพักผ่อน เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 8 กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีจุดกางเต็นท์ บริการอาหารและเครื่องดื่ม มีน้ำตกขนาดเล็กคือ น้ำตกลูดู และน้ำตกโละโป๊ะ เหมาะสำหรับเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นจุดที่สามารถชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.1 (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษกักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบันทางอุทยานฯได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ หลุมศพ 700 ศพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว
อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี 8 กิโลเมตร จุดเด่นคือ มีหินซีกขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสัญลักษณ์ด้านหน้าอ่าว มีสะพานสำหรับเรือจอด และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ ตต.2 (ตะโละอุดัง) ในอดีตเคยเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง กลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ
น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจากบริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู
ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ 20 นาทีและใช้เวลาชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย
จุดชมวิว "ผาโต๊ะบู" เป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร เส้นทางเดินขึ้นไปตามแนวป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ 20 นาที อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด
ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทรศัพท์ 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทรศัพท์ 0 7478 3485, 0 7478 3597, 0 7478 1285 และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.1 (อ่าวพันเตมะละกา) บนเกาะตะรุเตา โทรศัพท์ 0 7472 9002-3
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และหมู่เกาะต่าง ๆ ในพื้นที่อุทยานฯ
ท่าเรือปากบารา อยู่ห่างจากอำเภอละงูประมาณ 8 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ปากคลองละงู ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้เกาะตะรุเตามากที่สุด ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร และใกล้ท่าเรือเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
จากจังหวัดตรัง – ท่าเรือปากบารา
รถโดยสารประจำทาง ตรัง – สตูล ออกจากตัวเมืองตรัง ถนนรัษฎา ทุก ๆ 1 ชั่วโมง มีบริการตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น. ลงที่สามแยกเข้าละงู ต่อด้วยรถสองแถวไปท่าเรือปากบารา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมง
รถแท็กซี่ ตรัง – สตูล ออกจากตัวเมืองตรัง ถนนรัษฎา ติดกับคิวรถโดยสารประจำทาง มีบริการตั้งแต่เวลา06.00-17.30 น. ของทุกวัน ผ่านอำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน ลงที่สามแยกเข้าอำเภอละงู ต่อด้วยรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซด์รับจ้างสู่ท่าเรือปากบารา
จากอำเภอเมือง จังหวัดสตูล-ท่าเรือปากบารา
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อำเภอละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
รถโดยสาร มีรถแท็กซี่โดยสารสายสตูล-ปากบารา ออกจากตัวเมืองสตูล บริเวณข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสตูล วิ่งบริการวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวและรถตู้ วิ่งบริการจากบริเวณตัวเมืองด้วย
จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา-ท่าเรือปากบารา
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง จังหวัดสตูล แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อำเภอละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
รถตู้โดยสาร จอดที่หน้าตลาดเกษตรฯ ถนนเพชรเกษม ตั้งแต่เวลา 07.30-18.30 น. รถจะออกทุก 1 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง (สามารถนั่งรถตุ๊ก ๆ จากหน้าสถานีรถไฟไปลงที่ตลาดเกษตรฯราคา 10 บาท) สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด (คิวรถตู้หาดใหญ่) โทรศัพท์ 0 7424 5655
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://travel.kapook.com/view39083.html
Relate topics
- ตลาดปล่อยของ จ.ภูเก็ตตลาดนัดสุดบรรเจิดท่ามกลางบรรยากาศกลางแจ้งแบบสบาย ๆ ใน Limelight Avenue ใจกลางเมืองภูเก็ต ที่มีพื้นที่สำหรับปลดปล่อยสินค้าไอเดีย โดยภายในตลาดจะมีพ่อค้าแม่ขายมาวางของแฮนด์เมดดีไซน์เก๋ ๆ แฟชั่นแนว ๆ อาทิ
- 20 สถานที่ท่องเที่ยว "พังงา" ที่ชาตินี้ต้องไปเยือนให้ได้!!!แร่หมื่นล้านบ้านกลางน้ำถ้ำงามตา ภูพาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร
- เจดีย์ปะการัง โบราณสถานเก่าแก่ของเมืองขนอม เชื่อกันว่ามีอายุมากกว่า 1000 ปีเจดีย์ปะการัง โบราณสถานเก่าแก่ของเมืองขนอม เชื่อกันว่ามีอายุมากกว่า 1000 ปี ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาธาตุ ในวัดจันทน์ธาตุทาราม เจดีย์เป็นรูปโอคว่ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร สร้างขึ้นโดยนำหินปะการั
- มารู้จัก "โลมาสีชมพู" พระเอกแห่งท้องทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช กันเถอะ! ก่อนอื่น! ลองมาทำความรู้จัก "ขนอม ...อัญมณีแห่งอ่าวไทย" กันสักฮี
- เจดีย์ไตรภพไตรมงคล หรือ เจดีย์สเตนเลสส์ ตั้งสถิตโดดเด่นเป็นสง่า อยู่บนยอดเขาคอหงส์เจดีย์ไตรภพไตรมงคล หรือเจดีย์สเตนเลสส์ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำด้วยวัสดุสเตนเลสส์ ตั้งสถิตโดดเด่นเป็นสง่า อยู่บนยอดเขาคอหงส์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านในไร่ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหว
- เกาะรอก แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ คู่กันสองเกาะ แต่มีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่นักเกาะรอก ไกลจากเกาะลันตาใหญ่ออกสู่ทะเลกว้างอีก 47 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเกาะรอก แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ คู่กันสองเกาะ แต่มีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่นัก เป็นเจ้าของหาดทรายขาว น้ำทะเลสีมรกต มีปะการังฝูงปลาหลา
- เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล"เกาะหลีเป๊ะ (Koh Lipe)" เป็นหนึ่งในหลายๆ เกาะของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่ง หลีเป๊ะ จะตั้งอยู่สุดเขตแดนใต้ อยู่ในกลุ่มของหมู่เกาะอาดัง - ราวี และอยู่ห่างจาก ท่าเรือปากบารา 62 กิโลเมตร ตัวเกาะเ
- เที่ยวบากันใหญ่-หัวทาง กลางมรสุมอันดามันเที่ยวบากันใหญ่-หัวทาง กลางมรสุมอันดามัน (อ.ส.ท.) จริยา ชูช่วย...เรื่อง นภดล กันบัว...ภาพ “ไปทำไมอันดามันหน้ามรสุม” ปลายเดือนมิถุนายนไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอันดามันเป็นแน่ เกาะตะรุเตา เกา
- วิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดกิจกรรมทดลองการนำเที่ยวเชิงนิเวศตำบลบ้านขาว อ.ระโนด นำร่อง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “อเมซอนแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”วิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดกิจกรรมทดลองการนำเที่ยวเชิงนิเวศตำบลบ้านขาว อ.ระโนด นำร่อง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “อเมซอนแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ที่จุดลงเรือ ตำบลบ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา วิทยาลัยชุ
- เขาไข่นุ้ย ...จุดชมทะเลหมอกของพังงา อะเมซิ่งทะเลหมอกสุดเจ๋งเขาไข่นุ้ย ตั้งอยู่ที่ บ้านฝายท่า ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดยทางอบต.ทุ่งมะพร้าวมีโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการปรับพื้นที่ จัดแต่งภูมิทัศน์ให้เหมาะสม ปรับแต่งลานการเต็นท์ จัดสร้างห้องน