สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ปัตตานี ::: บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด

ย้อนอดีต วังเก่ายะหริ่ง

by sator4u_team @25 เม.ย. 55 17:16 ( IP : 118...83 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
photo  , 298x208 pixel , 26,892 bytes.

ย้อนอดีต วังเก่ายะหริ่ง

เรือนไม้กึ่งปูนสีเขียวลออตา สร้างขึ้นแบบสไตล์ยุโรป ผสมผสานศิลปกรรมพื้นเมือง และชวา ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองยะหริ่งในปัจจุบัน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวยะหริ่งยิ่งนัก เพราะสถาปัตยกรรมทรงคลาสสิคหลังนี้ ได้ทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนจากต่างแดนอยู่เป็นกิจวัตร

นอกจากความงามสง่าของอาคารทรงโปร่ง ที่แซมลวดลายฉลุประดับประดาอย่างอ่อนหวาน ผนวกกับประโยชน์ใช้สอยที่รายรอบด้วยห้องหับนานา เป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยวแล้ว ตำนานของวังแห่งนี้ก็ท้าทายให้มาค้นหาเรื่องราวได้ไม่แพ้กัน ด้วยมีอดีตเล่าขานเคียงคู่มา กับประวัติศาสตร์ของปัตตานี ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองในยุคปัจจุบัน เรียกกันว่ายุคการปกครองแบบ 7 หัวเมือง และนี่คือวังยะหริ่ง 1 ในวัง 7 หัวเมือง ที่ยังคงมีความสมบูรณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับวังอีก 6 แห่ง

วังยะหริ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2438 หรือ ตอนปลายสมัย ร.5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า)  พระยาพิพิธ เสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เป็นผู้สร้างวังยะหริ่ง ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชเมืองยะหริ่ง อันดับที่ 3 ในสมัยนั้น เป็นบุตรของพระยาพิบูล เสนานุกิจพิชิตเชษฐภักดี พระยาเมืองยะหริ่ง อันดับ 2 และพระยาเมือง อันดับแรก คือ นิยูโซ๊ะ หรือ ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกกันว่า "โต๊ะกี"

ประวัติเมืองยะหริ่ง มีข้อความในประชุม พงษาวดาร ฉบับความสำคัญอยู่ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง)ออกไปแยกเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมือง มีพระยาอภัยสงคราม และพระยาสงขลา ได้ไปจัดการแบ่งเขต เป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามันท์ เมืองระแงะ เมืองยะลา ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานตราตั้งให้ นิยูโซ๊ะ หรือ โต๊ะกี เป็นพระยายะหริ่ง

ในบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายมีประวัติที่น่าสนใจอยู่คนหนึ่ง คือ พระยายะหริ่ง นิยูโซ๊ะ เมื่อขณะเกิดขบถที่ปัตตานี มีอายุเพียง 6 ปี มีความชอบกองทัพไทยที่ขึ้นมาปราบขบถมาก ชอบใจถึงกับว่า เมื่อกองทัพไทยกลับกรุงเทพฯ นิยูโซ๊ะ ก็ได้แอบตามเข้าไปกับกองทัพไทยด้วย จนกระทั่งกองทัพไทยมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้มีนายทหารไทยคนหนึ่ง จับได้ว่ามีเด็กลักลอบแอบติดตามมา กับกองทัพไทยมาถึงกรุงเทพฯ คือ นิยูโซ๊ะ นายทหารไทยคนนั้นจึงได้เอามาอุปถัมป์เลี้ยงดู และทำให้นิยูโซ๊ะ ถือศาสนาพุทธ จนกระทั่งเติบโตขึ้นมาได้บวชเป็นสามเณร แล้วพอครบอายุบวชก็ได้บวชเป็นพระภิกษุต่อไปอีกหลายพรรษา ได้เป็นถึงพระใบฎีกา จนกระทั่งสึกออกจากพระ ก็ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารู้กันว่ามีเชื้อสายของพระยาเมือง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นพระยาเมืองยะหริ่ง ให้ออกไปครองเมือง และพยายามจัดระเบียบการปกครองแบบไทย เช่นคดีถ้อยความปรับใหม่ หรือ ตัดสิน ก็ใช้ตามพระราชกำหนดกฎหมายไทย ไม่ตัดสินตามคัมภีร์กูระอ่าน เป็นเหตุให้ทางปัตตานีและรามันท์ หันมาเอาอย่างบ้าง และปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน

ในเวลาต่อมาพระยายะหริ่ง นิยูโซ๊ะ มาคำนึงถึงว่า โดยส่วนตัวท่านเองนั้น ก็เป็นผู้มีเชื้อสายพระยาเมืองเดิมอยู่แล้ว และนับถือศาสนาอิสลาม มาแต่ปู่ ย่า ตายาย และโดยกำเนิด แต่มามีเหตุให้ท่านต้องมานับถือศาสนาพุทธ โดยที่ท่านเองต้องยอม ตามโดยสุดวิสัยเป็นเวลานาน และบัดนี้ท่านต้องมาปกครองบ้านเมืองเดิมของท่าน ซึ่งมีประชาชนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ถ้าท่านนับถือศาสนาพุทธ ท่านก็จะปกครองมุสลิมยาก ดังมีตัวอย่างมา จากประวัติศาสตร์ของเมืองยะหริ่ง ที่ล่วงมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มานับถือศาสนาอิสลาม ตามชาติกำเนิดเดิมของท่าน ในเมื่อมุสลิมปกครองมุสลิมด้วยกัน เหตุการณ์จึงเป็นไปโดยความเรียบร้อย ไม่มีสิ่งใดเป็นปัญหา

จนกระทั่งท่านรายอ โต๊ะกี นิยูโซ๊ะ ถึงแก่อสัญกรรม ผู้ที่มาดำรงเป็นเจ้าเมืองต่อ คือ พระยาพิบูลย์ เสนานุกิจ และ พระยาพิพิธ เสนามาตย์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาสิทธิราช มาเป็นระบบประชาธิประไตย

นี่คือประวัติโดยย่อของวังยะหริ่ง

ปัจจุบันนี้วังเก่าเจ้าเมืองยะหริ่ง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัย ร.1 มีอายุนับร้อยๆ ปี ยังมีหลงเหลือกำแพงของวังเก่าของเมืองยะหริ่ง ให้เห็นไม่มากนัก เหลือเพียงความยาวของกำแพงวังเก่าเมืองยะหริ่ง เพียงความยาวประมาณ 3 เมตรเศษๆ เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ทายาทรุ่นหลังๆ กำลังจะอนุรักษ์ไว้

ส่วนที่วังเจ้าเมืองยะหริ่งปัจจุบันนี้ยังมีให้เห็นอยู่ความสมบูรณ์มีอยู่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอายุการสร้างที่วังของเจ้าเมืองยะหริ่งมีประวัติการสร้างมานานถึง 107 ปี แต่ภายในยังคงความเป็นสภาพเดิมๆอยู่ จะมีบางส่วนที่ผุไปตามสภาพของกาลเวลา ก็ได้มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่บ้างในบางส่วน ซึ่งวังแห่งนี้อดีตเคยเป็นที่ตัดสินคดีต่างๆในยุคนั้นอีกด้วย ส่วนเครื่องโถ ถ้วย ชาม ยุคสมัย ร.5 ก็ยังมีการรักษาเก็บไว้ให้รุ่นลูกหลานได้ชมกัน

สิ่งหนึ่งที่ยังมีการอนุรักษ์ไว้นั้นก็คือการทอผ้าลายปัตตานี ก็ยังมีให้เห็นที่วังเจ้าเมืองยะหริ่งแห่งนี้ด้วย นับว่าสถานที่ดังกล่าวควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของสมัยนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพราะสภาพตัววังยังคงสภาพเดิมอยู่หลายส่วน ลายไม้ ฝีมือการก่อสร้างวังเจ้าเมืองในสมัยนั้นยังคงไว้ให้เห็นถึงความเจริญในยุคนั้นด้วย ส่วนสิ่งของจะสร้างในสมัย ร.5 เป็นส่วนใหญ่

วังยะหริ่งสร้างโดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงครามในปี พ.ศ.๒๔๓๘ (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลักษณะรูปทรงเป็นอาคาร ๒ ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ แบบเรือนไทยมุสลิมผสมกับแบบบ้านแถบยุโรป ตัววังเป็นรูปตัวยู ชั้นบนภายในอาคารจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง ๒ ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของเจ้าเมือง และบุตรธิดาข้างละ ๔ ห้อง ชั้นล่างเป็นลานโล่งแบบใต้ถุนบ้าน ลักษณะเด่น คือ บันไดบ้านโค้งแบบยุโรป มีช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเขียว แดงและน้ำเงินช่องระบายอากาศ และหน้าจั่ว ทำด้วยไม้ ฉลุเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ตามแบบศิลปะชวา และตะวันตก ทำให้ตัววังสง่างามในปัจจุบันได้รับการดูแลจากเจ้าของวังอย่างดี โดยมีการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๑ ปัจจุบันมีสภาพสมบูรณ์  ปัจจุบันเป็นบ้านพักของทายาท คือ คุณหญิงวุจจิรา เด่นอุดม


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://www.pattani.go.th/klang/palace.htm และ http://www.thaisouthtoday.com/index.php?file=story&obj=forum.topic.forprint(576) และ http://www.thai-tour.com/thai-tour/South/pattani/data/place/picyaringpalace.htm


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง