สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

โรค…ไขมันในตับ ก่อให้เกิดการอักเสบ การอักเสบของตับแบบเช็คร่างกายเจอ แบบไม่มีอาการ และ ไม่รู้ต้องทำอย่างไรดี

by sator4u_team @23 ม.ค. 58 12:41 ( IP : 1...11 ) | Tags : สุขภาพ
photo  , 580x335 pixel , 37,575 bytes.

โรค…ไขมันในตับ ก่อให้เกิดการอักเสบ การอักเสบของตับแบบเช็คร่างกายเจอ แบบไม่มีอาการ และ ไม่รู้ต้องทำอย่างไรดี โดย น.พ. ระพีพันธุ์  กัลยาวินัย ผู้เชี่ยวชาญแผนกทางเดินอาหาร และ โรคตับ ร.พ. พระรามเก้า


กระแสความรักสุขภาพ และ กลัวว่าจะเจอโรคอะไรที่ไม่รู้ตัว หรือ รู้แล้ว ก็รักษาไม่ทัน นำมาซึ่งการเช็คร่างกาย หรือ แม้แต่บางบริษัทรักพนักงานมาก ก็จะให้เช็คเลือดดูตับกันทุกปีเลยทีเดียว ข้อสงสัยอันดับแรก ๆ ก็คือเมื่อเช็คแล้วตับอักเสบเป็นอะไร อันตรายมั้ย บางคนเรียกว่าตับอักเสบเป็นเพื่อน มีมาอยู่นาน และ ไม่รู้ว่ามีอันตรายไหม หรือ จัดการอย่างไร วันนี้เรามาดูกลุ่มที่เช็คเลือดแล้วบังเอิญเจอว่า ตับอักเสบกันดีกว่าครับ ผมจะตั้งเป็นลักษณะถามตอบ ตามคำถามที่พบบ่อย หรือ โดนถามบ่อยดังนี้นะครับ 1. พบตับอักเสบโดยบังเอิญ เกิดจากอะไร, ผมไปเช็คร่างกายมาพบเอ็นไซม์ขึ้น แพทย์บอกว่ามีตับอักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไร ทำอย่างไรดี ?


ตอบ การที่มีเอ็นไซม์ตับสูงขึ้น (SGPT, SGOT) กรณีไม่มีสาเหตุอื่น เกือบทุกคนเกิดจากตับอักเสบครับ และอย่างที่ทราบมาก่อนว่าตับอักเสบมักยังไม่มีอาการใด ๆ ให้เรารู้ตัวมาก่อนในระยะแรก เมื่อมีอาการก็มักเป็นมากแล้วครับ ประมาณว่าเมื่อตับอักเสบเสียหายไปแล้ว เกินครึ่งจึงจะเริ่มมีอาการครับ เกิดตับเราเสียไปแล้ว 49 % ก็เลยยังไม่รู้ตัว ต้องให้เช็คเลือดเจอ แล้ว หมอมาบอก ก็ไม่เชื่ออีกว่าไม่เป็นไร รอไปนิด เกิดเสียไปครึ่งแล้ว จึงมีภาวะ การทรุดตัว หรือ พบโรคตับโดยไม่รู้ตัวกันมากครับ


- พบว่าตับอักเสบส่วนใหญ่มักเป็นแค่ชั่วคราวไม่ต้องตกใจไปครับ สาเหตุที่ตับอักเสบชั่วคราวได้แก่ เหล้า การกินยาที่มีผลต่อตับ ติดเชื้อเช่นกลุ่มไวรัส ไข้เลือดออก ไข้รากสาด ก็ตับอักเสบได้ครับ กรณีพบตับอักเสบครั้งแรกอย่าเพิ่งตกใจครับ ให้ตรวจติดตามไปอีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังอักเสบต่อเนื่องควรหาสาเหตุเพิ่มเติมครับ


- ส่วนคนที่หายอักเสบในครั้งที่ 2 ก็อย่าเพิ่งสบายใจ 100 % เพราะมีสาเหตุตับอักเสบบางอย่างที่มีลักษณะหลอกว่าเราหายอักเสบไปพักหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วการอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ ได้แก่


1.1) การอักเสบจากไวรัสซี และไวรัสบีบางอย่าง (กลุ่ม precore mutant และ core promotor) ถ้าเรามีความเสี่ยงต่อการติดต่อไวรัสซี หรือไวรัสบี เช่น เคยใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้นเลือด เคยรับเลือด เกร็ดเลือด หรือน้ำเหลืองมาก่อน เคยสักยันต์ เคยโดนเข็มไม่สะอาดเตรียมใส่ตุ้มหู หรือ แลกการใช้ตุ้มหูกับคนอื่น ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ประวัติครอบครัวเป็นโรคตับไม่ว่าจะมะเร็ง ตับแข็ง หรือ ตับอักเสบ ก็ควรเช็คไวรัสตับอักเสบเพิ่มเติมไปเลยจะดีกว่าครับ (ตรวจเลือดที่เรียกว่า HBsAg, Anti HBc, Anti HCV)


1.2) โดนวางยาพิษ ดื่มเหล้า กินยา สมุนไพร อาหารบางอย่างเช่น แกงขี้เหล็กที่ทำไม่สุก ให้ทบทวนดูนะครับ กรณีกินยา แม้กินมานาน ก็อาจมีตับอักเสบได้ครับ ให้นำยาดังกล่าวปรึกษาแพทย์นะครับ


2.) ค่า SGPT สูงกว่าปกติ แพทย์บอกว่ามีการอักเสบของตับ แต่ไม่มีไวรัสตับอักเสบทั้งไวรัส บี และ ไวรัสซี เป็นโรคอะไร ต้นเหตุคืออะไร ควรตรวจอะไรเพิ่มเติมครับ ?


ตอบ ในปัจจุบันพบว่ามีการตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย รวมทั้งบางบริษัทเองก็ เป็นห่วงสุขภาพของพนักงานจัดตรวจให้ฟรีเลยก็มี ในการตรวจมักมีการตรวจในส่วนการทำงานของตับร่วมด้วย เมื่อพบว่ามีค่า SGOT และ SGPT สูงกว่าปกติ เป็นการบ่งบอกว่าคุณมีตับอักเสบครับ ถ้าแยกโรคหลัก ๆ ในเมืองไทยออกไป ดังนี้


2.1) แยกภาวะตับอักเสบจากไวรัสบี และ ซีออกก่อนนะครับ กลุ่มนี้จะเป็นมะเร็งตับแทรกซ้อนง่ายกว่าด้วย


2.2) ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ สารกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์


2.3) กินยาที่ทำให้ตับอักเสบ ยาบำรุงบางอย่างทานแล้วเกิดการแพ้แบบตับอักเสบก็มีครับ


2.4) กินอาหารที่มีพิษต่อตับ เช่น เห็ดบางอย่าง แกงขี้เหล็ก ถูกวางยาพิษ ยาเสน่ห์ ก็พบผู้ป่วยตับอักเสบจากสาเหตุนี้ โดยไม่รู้ตัวก็พบได้เรื่อย ๆ ครับ


2.5) ไวรัสตับอักเสบฉับพลัน หรือ เรื้อรัง เช่นไวรัส เอ บี ซี ดี อี เอช


2.6) นิ่ว หรือ ฝีในตับ


2.7) มีการติดเชื้อที่มีตับอักเสบชั่วคราว หรือ เรื้อรัง ร่วมด้วย เช่น วัณโรค โรคเอดส์


2.8 พบว่าหลังแยกสาเหตุด้านบนออกไปหมดจากการซักประวัติ และ ตรวจเลือดเพิ่มง่าย ๆ แล้ว ที่เหลือในคนไทยแทบไม่มีโรคอื่นอีกเลย เพราะโรคแปลก ๆ ไม่ค่อยพบในคนไทย ได้แก่


2.8.1 โรคที่มีเหล็ก ทองแดงในตับ, น้ำย่อยในตับผิดปกติ


2.8.2 ภูมิต้านทานต่อตับตัวเอง พบน้อยมาก


2.8.3 กลุ่มอักเสบไม่หายไปเองจึงมีโอกาสเป็น “โรคตับอักเสบจากไขมัน” โรคนี้มากที่สุด


3.) เกิดจากอะไร พบโรคนี้ได้บ่อยมากไหม


ตอบ พบว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีการกระจายหรือมีการสะสมไขมันมาที่ตับมากกว่าคนอื่น และ ในคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่ง ก่อให้เกิดการระคายเคืองอักเสบเรื้อรัง (ขณะที่บางคนมีแต่ไขมันไม่มีการอักเสบใด ๆ เลย) ถ้าปล่อยให้อักเสบไปนาน ๆ คนที่มีโรคนี้ อาจทำให้เกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ด้วย พบว่าโรคนี้อาจพบเป็นสาเหตุได้บ่อยถึง 60 % ของตับอักเสบเลยถ้าเราแยกโรคที่พบบ่อยคือตับอักเสบจากสุรา และยาออกไปแล้ว


ประมาณว่าพบโรคนี้ได้บ่อยมาก คือพบได้ร้อยละ 1-4 ของประชากรโลกเลย ยิ่งถ้าอ้วน หรือ อ้วนเร็วก็พบเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นตามครับ การศึกษาคนอ้วนจนต้องพิจารณาผ่าตัดรักษามีอักเสบจากโรคนี้ถึง 26 % ครับ และ พบในชิ้นเนื้อตับในการศึกษาในประชากรประเทศอเมริกาถึง 7-9 %, มักพบในคนวัยกลางคน แต่อาจพบได้ในเด็ก (มักในเด็กอายุมากกว่า 10 ปี) และพบในเพศหญิงมากกว่าชาย (ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาดูอุบัติการของโรคนี้อย่างจริงจังนัก ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน)


- ศัพท์ทางการแพทย์ ที่เรียก ภาวะ โรคนี้ที่น่ารู้ จะได้ค้นหาใน internet ได้ ครับ
: Nonalcoholic fatty liver (NAFL) อ่านว่า นาฟเออ เป็นภาวะไขมันในตับ แต่ไม่อักเสบ หรือ อักเสบเล็กน้อย เป็น ๆ หาย ๆ : Nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) อ่านว่า แนฟเฟิ้ลด์ หมายถึง มีไขมันในตับ (hepatic steatosis) โดยไม่มีการดื่มเหล้า ภาวะนี้อาจมีปัญหาตับอักเสบตามมา และ ตามด้วยแผลเป็น จนตับแข็ง เลือดวิ่งผ่านไม่ได้ ตับทำงานได้ไม่ดีในบางคนได้ (cryptogenic cirrhosis) : nonalcoholic steatohepatitis (NASH) เป็นภาวะโรคที่ได้รับการตรวจเจาะชิ้นเนื้อตับ Biopsy ว่าการอักเสบนั้นเกิดจากไขมัน ไม่ได้เกิดจากโรคอื่นแน่ ๆ


4. สาเหตุ และทางแก้ไขสาเหตุโรคนี้ที่อะไรบ้างครับ


ตอบ หลังแยกสาเหตุการอักเสบทุกอย่างในตับไปแล้ว การพบไขมันในตับแล้วเกิดการอักเสบร่วมด้วย ควรแยกกลุ่มที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบซี เหล้า และ ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson's Disease) ออกไปก่อน แม้ 2 กลุ่มนี้จะมีไขมันในตับเหมือนกัน แต่การรักษาและการแนะนำต่างกันมาก


ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดไขมันสะสมในตับอื่น ๆ คือ ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) (พบในคลอเรสเตอรอลสูงด้วย), เบาหวาน และอาจพบในรายที่อดอาหารมาเป็นเวลานาน หรือ ได้รับอาหาร หรือ น้ำตาลทางเลือดเป็นเวลานาน รวมทั้งยาบางอย่าง (amiodarone, tamoxifen, perhexilene maleate, glucocorticoids, ฮอร์โมนเช่น synthetic estrogens และ ยาฆ่าแมลง) ก็ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับได้ อย่างไรก็ตามพบว่า เกือบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีไขมันสะสมในตับจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น


แพทย์บางท่านอาจอธิบายผู้ป่วยเบาหวาน ถึงรายละเอียดคำว่า มีแนวโน้มที่จะมีภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ( Insulin Resistant Syndrome) ซึ่งก็คือผู้ป่วยที่มักจะมีอาการโดยรวมต่อไปนี้ คือ


1. อ้วน


2. เป็นเบาหวาน


3. มีไขมันในเลือดสูง


4. มีความดันโลหิตสูง จะพบได้มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่มีไขมันสะสมคั่งในตับเลยทีเดียว


5. เด็กอ้วนจะมีโรคนี้ได้ไหม


ตอบ ผมส่วนใหญ่จะไม่ตอบโรคทางเด็ก นะครับ ตามข้อมูล โรคนี้พบได้ในเด็กที่อายุมากกว่า 10 ขวบขึ้นไป ถ้าเด็กที่อ้วนต่ำกว่านี้ก็ไม่น่าจำเป็นต้องเช็คเลือดดูตับอักเสบจากไขมันครับ

  1. จะมีอาการอย่างไรบ้าง


    ตอบ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไร แต่ในบางรายอาจจะมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา และอาจ มีอาการเพลียไม่ค่อยมีแรงทำงานโดยเฉพาะในรายที่มีตับแข็งร่วมด้วยแล้ว ผู้ป่วยอาจมีตับโตจนคลำได้ แต่มักจะไม่โตมากนัก ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของตับร่วมด้วยจะมีค่า SGOT และ SGPT สูงขึ้นเล็กน้อย จนถึงปานกลาง (ประมาณ 60-120 IU\L)


  2. โรคนี้อันตรายไหม


    ตอบ เนื่องจากเดิมเราไม่มีความรู้กันด้านโรคตับอักเสบจากไขมันกันครับ เรียกว่าหมอรุ่นก่อน ๆ ไม่ได้เรียนรู้หรือสอนกันด้านโรคนี้ หรือ ไม่รู้จักโรคนี้กันเลยก็มากครับ ปัจจุบันในช่วง 5 ปีหลังนี้ พอเราศึกษามากขึ้นเราก็มารู้ทีหลัง ว่าน่าตกใจเพราะเกิดโรคตับแทรกซ้อนได้ครับ


- โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีไขมันสะสมในตับ จะมีการดำเนินโรคที่ช้ามาก ตับของผู้ป่วยมักจะยังคงทำงานปกติได้ดีอยู่ ไม่ค่อยมีการดำเนินกลายไปเป็นตับแข็ง แม้อักเสบเป็นเวลาหลายปี


- อย่างไรก็ตามจะมีผู้ป่วยบางรายที่ตับจะมีการอักเสบ มีการทำลายเซลล์ตับไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผังพืดขึ้นในตับ จนท้ายที่สุดเป็นตับแข็งได้ ถ้าให้ขู่ก็ต้องบอกละครับว่าส่วนใหญ่ดำเนินโรคแบบไวรัสตับอักเสบบีเลยทีเดียว คือ ตับแข็ง และ มะเร็งครับ


- ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ตับอักเสบดำเนินไปจนเกิดโรคตับ คือ 1. อายุมากว่า 40 ปี
2. มีเบาหวาน 3. มีไขมันในเลือดสูง
4. พบว่ามีผังพืดในตับจากการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ และ 5. ในผู้ป่วยที่มีค่า SGOT สูงกว่า SGPT ในเลือด ก็อาจจะเป็นตัวช่วยบ่งชี้ว่า มีผังพืดในตับเยอะพอสมควร หรือมีตับแข็งแล้ว


- การดำเนินโรคเป็นดังนี้ : การอักเสบดีขึ้นเองราว 3 % ยังคงที่อยู่ 54 % และแย่ลง 43 % : สรุปคือมีมากกว่าครึ่งที่ตับอักเสบอย่างนั้นแต่ไม่ได้แย่ลง : แต่มีบางคนแย่ลงจนเกิดภาวะตับแข็งได้ด้วย พบว่าใน 7 ปี เกิดตับแข็งประมาณ 8 - 26 %


- ความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งจะมากขึ้นถ้า เป็นเบาหวานเพศหญิง ในคนอายุมาก


- ผู้ป่วยตับแข็งจะมีอาการ เลือดออกในหลอดอาหาร ขาบวม ท้องโตขึ้น สับสน หรือ ตัวตาเหลืองได้ บางรายอาจต้องถึงกับต้องพิจารณาเปลี่ยนตับ หรือ เกิดมะเร็งแทรกซ้อนได้ด้วย และอาจมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคตับได้ถึงร้อยละ 9 ในเวลา 10 ปี


- แต่ถ้าเอาให้ง่ายเข้า เมื่อรักษาได้ ทำไมต้องเสี่ยงจริงไหมครับ รักษากันดีกว่าครับ


8. ภาวะไขมันสะสมคั่งในตับ ในกรณีเช็คร่างกายพบ แต่ไม่มีการอักเสบ มีอันตรายหรือไม่


ตอบ ไม่ต้องกลัวนะครับ ถ้าพบแต่ไขมันแต่ไม่อักเสบคือมีค่า SGPT ปกติ ถือเป็นคนปกติไม่มีอันตรายใด ๆ  สรุปคือภาวะไขมันสะสมคั่งในตับอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิดโดยแบ่งตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ดังนี้


1. ชนิดที่มีแต่ไขมันสะสมคั่งในเซลล์ตับอย่างเดียว โดยการตรวจพบในอัลตร้าซาวน์หรือคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย โดยดูจากเลขค่าการอักเสบตับ ที่เรียกว่าค่า SGPT ปกติดี ภาวะนี้เรียกว่า ไขมันในตับ ไม่เกิดการอักเสบ 2. ชนิดที่มีไขมันสะสมคั่งในเซลล์ตับ ร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย ทั้ง 2 ชนิดแรกมักจะปกติ โอกาสเกิดปัญหาภายหลัง นับเป็น สิบ ๆ ปี ก็มักไม่เป็นไร ไม่มีอันตรายใด ๆ สรุปคือพบไขมันในตับจากอัลตร้าซาวน์อย่างเดียวแต่ไม่มีการอักเสบใด ๆ โดยดูจากผลเลือด SGPT ปกติ ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่กรณีที่เป็นแบบ 3. ชนิดที่มีไขมันสะสมคั่งในเซลล์ตับ และมีการบวมโตอักเสบของเซลล์ตับร่วมด้วย 4. ชนิดสุดท้าย จะเป็นแบบชนิดที่ 3 แต่นานไป เกิดมีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจเริ่มมีพังผืดในตับ หรือเริ่มตับแข็งร่วมด้วยแล้ว


ในชนิดที่ 3 และ 4 นั้น จะมีการอักเสบค่า SGPT หรืออาจเริ่มตรวจร่างกายพบโรคตับโดยแพทย์ จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งหรือมะเร็งได้ ซึ่งต้องรักษาครับ ตามที่แนะนำในคำถามข้อ 6 และ 7 นั่นเองครับ

  1. จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้

ตอบ การวินิจฉัยไขมันสะสมในตับทำได้โดย พบตับอักเสบ ร่วมกับ ตรวจเลือดดูปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด (ซึ่งบางคนไม่มีปัจจัยเสี่ยง) ร่วมกับ ตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าไม่มีสาเหตุอื่นที่พบได้บ่อยเช่น ไวรัสตับอักเสบบี, ซี, โรคทองแดงในตับ หรือ ต้องยืนยันว่าไม่ดื่มเหล้า ยา, สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น คือแยกโรคตับอักเสบอื่น ๆ ออกไปก่อน ถ้าสงสัยว่าเป็นไขมันสะสมในตับ การตรวจอัลตราซาวด์ (หรืออาจตรวจด้วยคอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดูตับก็วินิจฉัยได้ แต่ราคาแพงกว่า) ดูตับก็สามารถช่วยบ่งบอกได้ในบางรายแต่ไม่ทุกรายบางคนการตรวจเหล่านี้เป็นปกติก็เป็นโรคนี้ได้ และในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ (ควรลองรักษาก่อนพักหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องพิจารณาเจาะตับร่วมด้วย) การเจาะเอาเนื้อตับมาตรวจก็สามารถยืนยันภาวะไขมันสะสมในตับว่าไม่ใช่โรคอื่น และยังสามารถประเมินความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการพยากรณ์การดำเนินโรคด้วย สุดท้าย บางคนอาจลองรักษาภาวะตับอักเสบจากไขมันดู ถ้าได้ผลอาจไม่จำเป็นต้องไปเจาะตับครับ

  1. เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเริ่มตับแข็งก่อนที่จะมีอาการ คอบ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายพบมีภาวะฮอร์โมนเพศหญิงสูงกว่าปกติ จากการตรวจร่างกาย

- แต่ถ้าให้เร็วกว่านั้น ปัจจุบันสามารถทำการตรวจความแข็งของตับโดยยิ่งเสียง แล้วรับเสียงสะท้อน ที่เรียกว่า Fibroscan - หรือ ถ้าให้แน่นอน แพทย์อาจขอให้ทำการเจาะตับเพื่อให้ได้การวินิจฉัยได้แน่นนอน และ บอกระยะตับแข็งได้ด้วย

  1. จะรักษาได้อย่างไร ตอบ หลักการในการรักษาไขมันสะสมในตับที่สำคัญคือ

- การควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอ้วนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งการควบคุม อาหารนั้น ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงแต่จำเป็นต้องควบคุมอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูงร่วม ด้วย เพราะการรับประทานแป้งและน้ำตาลมากเกินไปจะมีผลทำให้ไขมันสะสมอยู่ในตับเพิ่มมากขึ้น (ไขมัน ไตรกรีเซอร์ไรด์ สร้างจากแป้งและน้ำตาลได้ด้วย ซึ่งเป็นไขมันที่คั่งในตับคือ โรคนี้เป็นไขมันชนิดนี้ เป็น ส่วนใหญ่) - อาหารกลุ่มไขมันที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไขมัน เนื้อติดมัน คอหมู เครื่องใน หนัง ไข่แดง หอย ปลาหมึก กุ้งตัวใหญ่ หัวกุ้ง น้ำมันหอย น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ข้าวผัด ผัดขี้เมา กะทิ เครื่องแกง แกง เขียวหวาน เนย ครีม ไอศกรีม เค๊ก ช๊อคโคแลต - นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งการออกกำลังกายภายนอกจากจะมีผลดีต่อสุข ภาพโดยรวมแล้ว ยังช่วยละลายไขมันออกจากตับ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังในการลดน้ำหนัก คือ ไม่ควร ลดลงเร็วเกินไป เกินกว่า 2 ก.ก./เดือน (คือประมาณ 15 %) และไม่ควรลดน้ำหนักด้วยการลดอาหาร การลด น้ำหนักลงเร็วเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอักเสบรุนแรง และอาจเกิดตับวายได้ ในกรณีที่ผู้ป่วย มีไขมันในเลือดสูงก็ควรจะรักษาควบคุมระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็ควรควบคุมรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนยาที่ใช้รักษาไขมันสะสมในตับ ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน ขั้นตอนของการศึกษา - มีรายงานการกินกาแฟ ปริมาณพอควร อาจลดการเกิดตับแข็งได้บ้าง แต่ไม่ควรกินกลุ่มที่ใส่นม หรือ น้ำตาล จนอ้วนได้

ในปัจจุบันยาที่จัดว่ามีข้อมูลการศึกษาพอควร คือ 1. ยา กระตุ้นให้ insulin ทำงานดีขึ้น (Insulin sensitizing agent) ได้แก่ยา เบาหวานกลุ่ม Metformin, และยากลุ่ม  Thiazolidinediones (ผลทั้งกระตุ้นระบบ insulin PPAR และลดการอักเสบผ่านสารที่เรียกว่า cytokine)ได้แก่ troglitazone, pioglitazone, rosiglitazone

  1. ยาลดไขมัน พบว่าได้ผล ไม่แน่นอน บางคนก็ดีขึ้น บางคนก็ลดเฉพาะไขมัน ตับยังอักเสบ แต่ส่วนใหญ่เมื่อดูผลชิ้นเนื้อด้วย ยังไม่สามารถลดการอักเสบในชิ้นเนื้อตับได้ชัดเจนนักครับ

  2. Ursodeoxycholic Acid UDCA ซึ่งเป็นเกลือของกรดน้ำดี ซึ่งมีข้อมูลบ่งว่า UDCA อาจช่วยลดการอักเสบของ ตับและทำให้การทำงานของตับดีขึ้น ขนาดที่ใช้ในการรักษาคือ 12-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งต้องรับประทานระยะยาว เป็นเวลาประมาณ1 ปี

  3. วิตามินอี ซึ่งจัดเป็น anti-oxidative stress อันเป็นกลไกที่สำคัญของการเกิดตับอักเสบและการตายของเซลล์ ตับ ก็เป็นยาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีการศึกษาบ่งชี้ว่า อาจจะมีประโยชน์ในการรักษาตับอักเสบจากไขมันสะสมในตับ โดยเป็นการศึกษาในเด็ก แต่รับประทานในขนาดสูงมากคือ 800-1,600 มิลลิกรัมต่อวัน

- แต่ผลที่ได้ยังมีประโยชน์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

  1. Silymarin เป็นยาที่สกัดมาจากดอก Milk Thrisld (จาก สก็อตแลนด์) มีฤทธิ์เป็น anti-oxidative stress เช่นกัน และอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินลงได้ โดยควรใช้ขนาดสูงเช่นกัน

: นอกจากนี้ยังมีการศึกษายาตัวใหม่ๆ อีกหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม ต้านอนุมูลอิสระ ลดภาวะเครียดระดับเซลล์ที่เรียกว่า anti-oxidative stress ซึ่งคงมียาใหม่ ๆ ที่ได้ผลในอนาคตมากกว่านี้

  1. ในรายที่ตับแข็ง หรือ ตับวายต้องรักษาตับแข็ง ร่วมด้วย และพิจารณาเปลี่ยนตับด้วย ให้อ่าน เพิ่มในหัวข้อ ตับแข็ง และ การเปลี่ยนตับครับ

  2. เริ่มมีข้อมูลที่ใช้สารป้องกัน และ รักษาอนุมูลอิสระเพิ่ม สารต้านการทำลายตัวเอง (Antioxidant)

  3. ยา Probucol ดูแล้ว นอกจากลดไขมันได้ดีแล้ว ยานี้สามารถลดอนุมูลอิสระได้ด้วย พบว่าได้ผลทั้งลดไขมัน และ ลดตับอักเสบจากภาวะนี้ได้ดีครับ คงต้องรอการศึกษายืนยันมากขึ้นครับ ดูแล้วน่าสนใจดีครับ

                สรุปแล้วภาวะตับอักเสบแบบไม่มีอาการ (หรือบางคนปล่อยไปจนตับแข็งไปแล้ว) อย่าปล่อยไว้ เมื่อเรารักษาได้ และ ไม่ต้องเสี่ยงจากโรคตับเพิ่มขึ้น จะปลอดภัยกว่าครับ ปรึกษากับแพทย์ประจำตัวคุณดูครับ

โดย น.พ. ระพีพันธุ์  กัลยาวินัย ผู้เชี่ยวชาญแผนกทางเดินอาหาร และ โรคตับ ร.พ. พระรามเก้า

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง