สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: พัทลุง ::: เมืองหนังโนราห์ อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบ เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน

ทะเลน้อย จ.พัทลุง

by sator4u_team @2 เม.ย. 55 11:26 ( IP : 113...41 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
photo  , 640x427 pixel , 46,702 bytes.

ทะเลน้อย

ในปี พ.ศ.2517 ราษฎรกลุ่มหนึ่งใน หมู่บ้านทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันเสนอต่อ นายผ่อง เล่งอี้ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ ขอให้มีการจัดตั้ง "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" เนื่องจากมีการล่านกที่อาศัยอยู่อย่างชุกชุมในพื้นที่ทะเลน้อย ทำให้จำนวนนกที่มีขนาดใหญ่ เช่น นกกาบบัว ลดลงเรื่อยๆ จนเกรงว่าถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ นกเหล่านี้จะต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้า กรมป่าไม้จึงส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจสถาพพื้นที่และสัตว์ป่าในทะเลน้อย และได้ประกาศให้ทะเลน้อย ซึ่งมีพื้นที่ 17,500 ไร่ และพื้นที่ป่าในบริเวณใกล้เคียงคิดเป็นเนื้อที่รวมกันราว 285,625 ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา แต่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า " อุทยานนกน้ำทะเลน้อย "

ภูมิศาสตร์

ทะเลน้อย คือ แหล่งน้ำอันต่อเนื่องกับทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่เหนือสุด โดยมีทะเลหลวงในเขตจังหวัดพัทลุงกั้นกลาง และ ทะเลสาบคูขุด อยู่ทางใต้ในเขตจังหวัดสงขลา มีอาณาเขตดังนี้ คือ ทิศเหนือ จดคลองชะอวด อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก จดทะเลหลวง ทางหลวงหมายเลข 4083 อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทิศใต้ จดคลองปากประ อำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ทิศตะวันตก จดฝั่งทะเลน้อยด้านตะวันตก อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

สภาพพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยทั้งหมด 450 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ ส่วนพื้นดินมีเนื้อที่ 422 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าวและป่าหญ้า ป่าพรุและป่าเสม็ด เป็นแอ่งน้ำมีพืชปกคลุม และ ที่ราบเชิงเทือกเขาบรรทัด มีเนินเขาสูงราว 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นน้ำมีเนื้อที่ 28 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด คือ ตัวทะเลน้อยนั่นเอง มีความกว้างราว 5 กิโลเมตร และยาว 6 กิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ยราว 1.2 เมตร ปกคลุมด้วยพืชน้ำต่างๆ เช่น บัว กระจูด หญ้าน้ำกก ปรือ และ กง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นและค่อนข้างนิ่ง
ภูมิอากาศ

ภูมิอากาศโดยทั่วไปในภาคใต้ส่วนใหญ่จะมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อนเท่านั้น ฝนจะเริ่มตกราวๆ เดือนสิงหาคม แต่ฤดูฝนจริงๆ จะเริ่มในเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนทีเหลือจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่มีฝนตกบ้างประปราย เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมบก และลมทะเล จึงทำให้อากาศในเขตทะเลน้อยสดชื่นและเย็นสบายตลอดปี เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ

พืชพรรณ

พื้นที่ป่าในทะเลน้อยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ป่าพรุ ซึ่งมีพรรณไม้เด่นคือต้นเสม็ด อันเป็นแหล่งทำรังของนกน้ำขนาดใหญ่ เช่น นกกระสาแดงและนกกาบบัว ทุ่งหญ้า ประกอบด้วยต้นกกหรือลาโพ และหญ้าชนิดต่างๆ ป่าดิบชื้น จะพบบนที่ดอน เช่น ควนขี้เสียน ควนเคร็ง เป็นต้น พื้นที่นาข้าว จะเป็นแหล่งหากินของนกน้ำต่างๆ บริเวณพื้นน้ำ จะเป็นแหล่งรวมพืชพรรณไม้น้ำที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น กง สาหร่าย กระจูด ผักตบ และบัวชนิดต่างๆ โดยเฉพาะบัวสายจะขึ้นเต็มพื้นน้ำเป็นทะเลบัวที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย

สัตว์ป่า

สัตว์ป่าที่มีรายงานในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยมีไม่ต่ำกว่า 250 ชนิด โดยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด เช่น ลิงแสม เสือปลา และลิงลม เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลานอย่างน้อย 25 ชนิด เช่น เต่า ตะพาบน้ำ จิ้งแหลน และงูชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กุ้ง ปู หอย และสัตว์น้ำอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพวกปลาน้ำจืดพบไม่ต่ำกว่า 45 ชนิด ปลาที่น่าสนใจและพบได้ไม่ยาก เช่น ปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาซิว ส่วนปลาที่น่าสนใจแต่พบตัวได้ยากกว่า เช่น ปลาปักเป้าน้ำจืด และ ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นต้น

นกในทะเลน้อย

จากสภาพพื้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้น้ำ และสัตว์น้ำต่างๆ ทะเลน้อยจึงมีความเหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยหากินทำรังและวางไข่ของนกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกน้ำ จากการสำรวจพบนกราว 187 ชนิด แยกออกเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ประจำตลอดปี และนกอพยพย้ายถิ่น โดยจะอพยพมาในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นกมีประชากรมากที่สุดถึงราว 43,000 ตัว ส่วนช่วงที่มีนกน้อยที่สุดอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน อันเป็นช่วงที่นกน้ำทำรัง นกต่างๆที่น่าสนใจในทะเลน้อยมีดังนี้

วงศ์นกยาง (Heron) นกน้ำในวงศ์นี้มีลักษณะขายาว คอขาว กินปลาและสัตว์น้ำเล็กๆ มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบในทะเลน้อยราว 15 ชนิด เช่น นกยางไฟหัวดำ (Yellow Bittern) นกยางโทนใหญ่ (Great Egret) นกกาบบัว (Painted Stork) นกกระสาแดง (Purple Heron) เป็นต้น โดยเฉพาะนกยางและนกกระสาแดง จะทำรังและอาศัยอยู่ในทะเลน้อยตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก

วงศ์นกเป็ดน้ำ (Duck and Geese) นกน้ำคล้ายเป็ดซึ่งมีปากแบน แต่มีขนาดเล็กกว่า สามารถว่ายน้ำและดำน้ำหาปลาได้ดี ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นฝูง อพยพมาในฤดูหนาว นกเป็ดน้ำที่พบในทะเลน้อย เช่น นกเป็ดแดง (Lesser Whistling-Duck) เป็ดคับแค (Cotton Pygmy-Goose) เป็ดลาย (Garganey)  นอกจากนี้ยังมี นกเป็ดผี (Little Grebe) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Grebes มีลักษณะคล้ายนกเป็ดน้ำ ต่างกันตรงปลายปากแหลม ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก

วงศ์นกอัญชัญ (Rails) นกน้ำวงศ์นี้จะมีขาและนิ้วยาว สามารถเดินหากินบนกอไม้น้ำได้เป็นอย่างดี นกวงศ์นี้พบได้ง่ายในบริเวณรอบๆ ที่ทำการเขตฯนั่นเอง ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว (White-browed Crake) นกกวัก (White-Breasted Waterhen) นกอีลุ้ม (Waterhen) นกอีล้ำ (Common Moorhen) นกคู๊ท (Coot)

วงศ์นกพริก (Jacana) นกน้ำวงศ์นี้มีนิ้วที่ยาวมาก สามารถเดินข้ามบนกอไม้น้ำได้ดี ลักษณะเด่นตัวผู้จะทำหน้าพี่ฟักไข่เลี้ยงลูก ตัวเมียจับคู่ครั้งละหลายตัว พบที่ทะเลน้อย 2 ชนิด คือ นกอีแจว (Pheasant-tailed Jacana) นกพริก (Bronzewinged Jacana)

วงศ์นกกาน้ำ (Cormorant) นกน้ำสีดำรูปร่างคล้ายกา นิ้วเท้ามีพังผืดดำน้ำเก่งมาก มีทั้ง กาน้ำเล็ก (Little Cormorant) และ กาน้ำใหญ่ (Great Cormorant)

วงศ์นกตีนเทียน (Stilts) นกชายเลนชนิดนี้มีขายาวปากยาว มีสีเป็นขาวดำ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เมืองไทยมีชนิดเดียว คือ นกตีนเทียน (Blackwinged Stilt)

นอกจากนี้แล้วยังมีนกที่พบเสมอ เช่น เหยี่ยวแดง (Brahminy Kite) นกกระแตแต้แว๊ด (Redwattled Lapwing) นกนางนวลแกรบเคราขาว (Wiskered Tern) นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher) นกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) เป็นต้น

ท่องธรรมชาติทะเลน้อย

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงทะเลน้อยจะมองเห็นตัวทะเลน้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากเดินเข้าไปภายในเขตฯ แนะนำว่านักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมาทะเลน้อยเป็นครั้งแรกควรจะเข้าไปหาข้อมูลของพื้นที่ใน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่ริมตลิ่งใกล้ๆ กับประตูทางเข้าเขตฯ จากนั้นจึงเริ่มไปพักผ่อนที่ศาลาท่าเรือ หรือ ลงเรือชมธรรมชาติ เส้นทางศึกษาธรรมชาติของทะเลน้อยแบ่งออกเป็นหลายจุด จากที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเที่ยวชมได้ดังนี้

สะพานไม้รอบที่ทำการฯ สิ่งที่น่าสนใจตามทางเดินเท้าในบริเวณที่ทำการฯ มีดังนี้ นกอีโก้ง นกพริก นกอีล้ำ นกยางควาย จอกหูหนู บัวสาย ปลากระดี่ ปลาช่อน สำหรับต้นกระจูดที่ใช้สำหรับทำหัตถกรรม ทางเขตฯ ได้นำมาปลูกแสดงไว้ใกล้ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมลักษณะดั้งเดิมของต้นกระจูด ก่อนนำไปผ่านขบวนการผลิต ขณะที่ท่านเดินผ่านไปตามเสาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาไม้หรือเสาปูน ลองสังเกตดูว่าท่านเห็นวัตถุก้อนสีขาวหรือก้อนสีชมพูบ้างไหม ท่านทราบไหมว่ามันคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างทางเดินท่านจะพบผักตบชวาที่ถูกกั้นอยู่ในกรอบและอาจพบนกอีโก้งหาอาหารกินอยู่ใกล้ๆ กอผักตบชวาเหล่านั้นคือ แหล่งสร้างรังวางไข่ของนกน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น คือ นกอีโก้ง และ นกพริก และยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย

ศาลากลางน้ำ เป็นจูดที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่นำอาหารกลางวันมารับประทาน ด้วยบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยความชุ่มฉ่ำของสายลมเย็นท่ามกลางกลุ่มบัวสายและจอกหูหนู มีเสียงกบ เขียด ขับ กล่อมพร้อมกับได้เห็นนกนานาพันธุ์ต่างสีต่างท่าทาง ต่างก็หากินอย่างอิสระ นับเป็นบรรยากาศที่หาได้ยากขึ้นๆ ทุกวัน หากท่านมีเวลามาก ขอแนะนำให้ท่านลงเรือไปชมความงามของทะเลน้อยในจุดอื่นๆ บ้าง

หมู่บ้านทะเลน้อย เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำประมงเป็นหลัก ปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่ง (อาจจะถึง 1 ใน 3 ) เดินทางออกไปหางานทำในต่างถิ่น ชาวบ้านที่เหลือก็ยังทำนา ทำประมง ทำหัตถกรรม (เสื่อกระจูด) ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป แต่ที่น่าประทับใจก็คือท่านจะพบกับรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านที่มีต่อนักนักท่องเที่ยว ของฝากจากทะเลน้อย คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูดที่เกิดจากฝีมือและความวิริยะอุตสาหะของแม่บ้านชาวทะเลน้อย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ หมวก แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว กระเป๋า ฯลฯ และ ของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของทะเลน้อยก็คือปลาดุกร้าที่อร่อยแบบสุดจะบรรยาย ต้นตำรับของปลาดุกร้าของแท้ต้องที่ทะเลน้อยเท่านั้น

ดงนกนางนวล ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน เมื่อเรือออกจากท่าได้ราว 150 เมตร ท่านจะพบฝูงนกนางนวลเกาะอยู่ตามหลักไม้ที่ปักไว้ตามทางเข้าออกของเรือ นกนางนวลที่พบบ่อยในทะเลน้อยมี 2 ชนิด คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Whitewinged Tern) และ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered Tern) ท่านจะพบนกนางนวลแกลบเหล่านี้เกาะพักรวมกันตามไม้ที่ปักไว้ดังกล่าว นกทั้ง 2 ชนิดจะย้ายไปหาอาหารกินที่อื่นนอกช่วงเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น

ดงบัวสาย ผ่านจากนกนางนวลเรือจะพาท่านวนไปตามเข็มนาฬิกา จะผ่านไปในดงบัวสาย ดงบัวที่มีสีชมพู บ้านสะพรั่งในช่วงเวลา 8 โมงเช้า เมื่อแดดร้อนแรงขึ้น บัวสายจะเริ่มหุบ และจะบานเต็มที่อีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้น บัวสายเป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองที่แพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย ก้านใบสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ต้มกระทิ ผัดน้ำมัน หรือ ต้มจิ้มน้ำพริกได้ ในบริเวณดงบัวสายท่านอาจพบ นกยางกรอก นกอัญชันคิ้วขาว นกพริก หรือ นกอีแจว เดินหากินอยู่บนใบบัว ท่านสงสัยไหมว่าทำไมนกเหล่านั้นจึงเดินบนใบบัว หรือพืชน้ำ เช่น จอก แหนได้ ลองสังเกตดูความยาวของนิ้วเท้าของนกเหล่านั้นให้ดี

ดงนกเป็ดน้ำ นกเป็ดน้ำเป็นนกมีปีก มันบินได้และเคลื่อนย้ายที่อยู่เสมอ ส่วนมากจะพบได้ตามดงกระจูดหนูที่ไม่หนาแน่น ตามดงบัวสาย หรือ บัวหลวง นกเป็ดน้ำที่พบได้ตลอดปี คือ นกเป็ดแดง และ เป็ดคับแค (ยกเว้นเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่นกเป็ดน้ำผลัดเปลี่ยนขนจะพบได้ยาก) ส่วนเป็ดลาย และเป็ดชนิดอื่นๆ จะเป็นเป็ดที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชียพบได้เฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมีนาคม ส่วนมากเราจะเข้าใกล้ฝูงนกเป็ดน้ำได้ไม่มากนัก นกจะบินหนีขึ้นพร้อมๆกันครั้งละเป็นพันๆตัว พร้อมกับเสียงกระพือปีกพรึบพรับเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ส่วนใหญ่คนขับเรือจะรู้ว่าจะพบนกเป็ดน้ำได้ที่ไหน

ดงกระจูดหนู เป็นพืชน้ำที่พบได้มาก มักขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นที่หลบภัยของนกและสัตว์น้ำ กระจูดหนูเป็นพืชที่มีลำต้นเปราะบาง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องใช้ การจังต้องต้นกระจูดหนูควรระมัดระวัง ต้นเปราะและคมอาจบาดมือท่านได้ ต้นอ่อนของกระจูดหนูเป็นอาหารของนกอีโก้งและปลาบางชนิด ที่ว่างๆในดงกระจูดหนูท่านอาจพบเป็ดคับแค หรือ สาหร่ายข้าวเหนียว พืชมีดอกไม่ใช่สาหร่ายแต่เราไปเรียกมันว่าสาหร่าย สาหร่ายข้าวเหนียวมีดอกเล็กๆสีเหลือง เป็นพืชพิเศษชนิดหนึ่งที่สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหารได้ โดยใช้กระเปาะเล็กๆที่มีอยู่มากมายใต้น้ำเป็นกับดักจับ ลองหยุดเรือแล้วพิจารณาดูลักษณะของกระเปาะดังกล่าว

ศาลานางเรียม ตั้งอยู่ในบริเวณปากคลองนางเรียม เป็นศาลาที่ปลูกสร้างขึ้นกลางน้ำขนาดกลาง รับน้ำหนักได้ราว 30 คน ศาลาน้ำเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานอาหารกลางวัน ด้วยว่ามีบรรยากาศร่มรื่น ลมเย็นสบาย (ที่สำคัญมีห้องสุขาไว้บริการ) รอบๆบริเวณศาลามีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น บัวหลวงที่อยู่ทางด้านทิศเหนือจะมีสีขาว ส่วนทางทิศใต้จะมีสีชมพู ทางทิศตะวันตกจะพบต้นเตยน้ำหลายต้นขึ้นรวมกลุ่มกันเป็นดงใหญ่ ในตอนใกล้ค่ำนกกระยางควายจะมาอาศัยนอนและถ่ายมูลทิ้งไว้เป็นหลักฐาน

คลองนางเรียม เป็นคลองดั้งเดิม 1 ใน 3 คลองสำคัญ และเป็นคลองสุดท้ายที่ยังมีน้ำไหลสะดวกไม่ตื้นเขินเช่นคลองดั้งเดิมอื่นๆ แต่เดิมทะเลน้อยเคยมีจระเข้อาศัยอยู่ค่อนข้างชุกชุม และคลองนางเรียมก็เป็นคลองที่มีจระเข้ชุกชุมเช่นกัน เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันจระเข้เหลือเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานกับเท่านั้น คลองนางเรียมมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ ไหลไปออกทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้คลองนี้เป็นทางสัญจรระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมทะเล สองฝั่งคลองนางเรียมยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิดปรากฏให้เห็น เช่น ต้นลำพู ต้นกุ่มน้ำ จิกพรุ เสม็ดขาว บัวสาย บัวลินจง

แหลมดิน เมื่อจะพ้นคลองนางเรียมทางขวามือเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้นๆขึ้นเขียวขจี โดยเฉพาะในฤดูฝนก่อนที่น้ำจะหลากท่วมราว 1-2 เดือน เมื่อพ้นคลองนางเรียมมาแล้วจะออกสู่ทะเลสาบ เราสามารถหาที่จอดเรือแล้วขึ้นฝั่งไปเดินบนดินได้ แหลมดินเป็นจุดดูนกน้ำและนกชายเลนได้เป็นอย่างดี มีนกเด่นๆ เช่น นกตีนเทียน นกช้อนหอยขาว นกหัวโตหลังจุดสีทอง และ นกแอ่นทุ่งใหญ่ เป็นต้น ถ้าโชคดีอาจได้พบนกกาบบัว หรือ นกตะกรุม เดินหากินอยู่บ้างก็ได้

ดงบัวบา จากแหลมดินคนขับเรือจะนำท่านเข้าสู่คลองบ้านกลางและกลับเข้าสู่ตัวทะเลน้อยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าท่านสังเกตสักนิด ขณะที่เรือแล่นผ่านดงกระจูดหนูหรือที่ว่างๆท่านอาจจะเห็นบัวชนิดหนึ่งที่มีดอกสีขาวเล็กๆมีเกสรสีเหลือง นั่นแหละ บัวบา หรือ ชบาน้ำ บัวที่แปลกไปจากบัวชนิดอื่นที่ท่านเคยรู้จักมา ลองบอกให้คนขับเรือหยุดเรือ แล้วพิจารณาดูการเกิดดอก การแตกใบว่าแตกต่างจากบัวสายหรือบัวหลวงที่ท่านรู้จักมาก่อนหรือไม่

ผืนน้ำกว้าง หลังจากหาคำตอบจากบัวบาได้แล้วก็ถึงเวลาที่จะกลับที่ทำการฯ (ท่าเรือ) ทะเลน้อยช่วงนี้จะเป็นผืนน้ำกว้างและค่อนข้างลึก (1-2 เมตร) ไม่ค่อยมีพืชน้ำ ถ้าดูให้ดีจะเห็นเป็ดผีว่ายน้ำดำผุดดำว่าย หาอาหารกินอยู่ไม่ไกลนัก ตามหลักไม้ที่มีผู้ปักทิ้งไว้มักจะพบนกกาน้ำเล็ก (ตัวสีดำ) เกาะกางปีกผึ่งแดดหลังจากดำน้ำหาปลากินจนอิ่มแล้ว ถ้าท่านเหนื่อยแล้วก็ลองนั่งหลับตานึกดูซิว่าการนั่งเรือเที่ยวในครั้งนี้ท่านได้ความรู้อะไรบ้าง หรือถ้าเหนื่อยนักก็นั่งหลับได้เลย หลับสักงีบเล็กๆแต่ระวังอย่าลืมตัวตกน้ำไปก็แล้วกัน

ข้อปฏิบัติในการเดินทางท่องเที่ยวทะเลน้อย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทะเลน้อย ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการชมธรรมชาติ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของนักท่องเที่ยวย่อมนำมาซึ่งความปลอดภัย ความสะดวก และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของแหล่งท่องเที่ยวควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.ศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับนกน้ำและธรรมชาติของทะเลน้อยล่วงหน้า 2.ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของกรมป่าไม้ 3.ลงเรือด้วยความระมัดระวัง และพยายามนั่งให้น้ำหนักของผู้โดยสารกระจายอยู่กลางๆลำเรือ ขณะเรือแล่นไม่ควรยื่นมือหรือเท้าออกไปนอกเรือ หรือ ทำให้เรือเสียการทรงตัว 4.ขยะทุกชิ้นควรนำกลับมาทิ้งในถังขยะบนฝั่ง ถ้าพบขยะกรุณาเก็บมาทิ้งด้วย 5.ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนขณะชมธรรมชาติ 6.ไม่เก็บดอกไม้ หรือ ทำลายพืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่ปรากฏตามทางศึกษาธรรมชาติ

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทางไปทะเลน้อย หากจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก็สามารถไปได้สะดวกทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตัวจังหวัดพัทลุง
เครื่องบิน ต้องบินไปลงหาดใหญ่หรือตรัง แล้วนั่งรถยนต์มาที่พัทลุง และ ทะเลน้อย ตามลำดับ
รถไฟ มีรถไฟผ่านสถานีพัทลุงทุกวัน ติดต่อสถานีรถไฟกรุงเทพฯ
รถยนต์ มีรถประจำทางแบบธรรมดาและปรับอากาศ ออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (กรุงเทพฯ) ทุกวัน จากพัทลุงจะต้องนั่งรถสองแถวไปยังทะเลน้อย (มีคิวรถสองแถว พัทลุง-ทะเลน้อย อยู่ใกล้สถานีรถไฟ) โดยใช้เส้นทางหลวงสาย 4084 ผ่านอำเภอควนขนุน ตลาดปากคลอง สุดปลายทางที่ทะเลน้อย เป็นระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร

ติดต่อที่พัก
-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โทร.074-685230
-บ้านพักตากอากาศ "พรมเงิน" ริมทะเลน้อย โทร.074-685225, 074-685330

คู่มือท่องเที่ยวธรรมชาติ ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง สำนักงาน ททท.ภาคใต้ เขต 2 (นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง) สนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 โทรศัพท์ (074) 346514-6 โทรสาร (074) 346517

เลน้อยบ้านของนกน้ำ พัทลุง

ทะเลน้อย คือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ...ใหญ่มาก (17,500 ไร่) จนเรียกว่าทะเล ที่ต่อเนื่องจากทะเลสาบสงขลา มองภาพแผนภูมิแล้วเหมือนเป็นติ่งอยู่ข้างบน ทะเลสาบใหญ่อยู่ในจังหวัดสงขลา แต่ ทะเลน้อย อยู่ในจังหวัดพัทลุง ห่างจากตัวเมือง 32 ก.ม เดินทางตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4048 (พัทลุง-ควนขนุน)

ทะเลน้อย ถูกประกาศให้เป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า " อุทยานนกน้ำทะเลน้อย " เป็นเขตชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก หรือ Ramsar site ประกอบไปด้วยพื้นที่ทั้งทะเลน้อยเอง และ พื้นที่ป่า โดยรอบอีกเป็นอาณาเขตรวมแล้วถึง 285,625 ไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และ วิถีชุมชนที่สำคัญในแง่มุมของการท่องเที่ยว ทะเลน้อย มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถสัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ทั้งพืชพรรณและนกน้ำแปลกตาที่ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกน้ำ มีราว 187 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ประจำตลอดปี และนกอพยพย้ายถิ่น โดยจะอพยพมาในช่วงฤดูหนาว ช่วงที่นกมีประชากรมากที่สุดอยู่ ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ก็จะเป็นช่วงที่ ทะเลน้อย งดงามที่สุด เพราะบรรดาบัวหลากสายพรรณ จะพร้อมใจกันชูดอกงามสะพรั่ง (จังหวัดพัทลุง จึงได้มีการจัดเทศกาลเทศกาล"ล่องเรือ แลนกทะเลน้อย" ขึ้นทุกปี)

ทำไมบัวใน ทะเลน้อย จึงงามมากในยามนี้?เป็นคำถามที่เคยข้องใจและได้นำไปเป็นปุจฉา กับท่านผู้รู้และผูกพันอยู่กับทะเลน้อย จึงได้วิสัชนากลับมาว่า ในช่วงเวลานี้ปริมาณน้ำและความลึกใน ทะเลน้อย มีความเหมาะสม แก่การเติบโตของบัวทั้งหลาย คือมีความลึกราว 2-3 เมตร รวมทั้งดินใต้น้ำก็ได้มีการสะสมแร่ธาตุไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากซากพืช ที่พากันเน่าจมน้ำยามน้ำมาก ท่วมท้น ในช่วงหน้าน้ำที่ผ่านมา ทะเลน้อย เป็นแหล่งอาศัยและแพร่พันธ์ของนกน้ำ ตามกอผักตบ จอก เตย หรือพืชน้ำหลากหลาย จึงมักจะปรากฎภาพของแม่นกกำลังกกไข่ หรือนกขายาวก้าวย่างเดินหากิน บนแพธรรมชาติ นอกจากเป็นแหล่งอาหารของสรรพสัตว์แล้ว มนุษย์ก็เป็นผู้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากบทบาทของผู้ที่อยู่ปลายสุดท้ายของห่วงโซ่อาหาร ระหว่างการล่องเรือชมธรรมชาติ ภาพที่พบเห็นบ่อยรายทาง จึงเป็นภาพของชาวบ้านในเรือน้อย ลอยลำเก็บสายบัว พืชพรรณอาหารอื่นๆ รวมทั้งปลาและ สัตว์น้ำ ใน ทะเลน้อย ดูเพลินตาและเป็นองค์ประกอบ ที่สวยงามอีกฉากหนึ่ง

บัวบา หรือ ชบาน้ำ ขึ้นแซมกระจายในดงกระจูดหนู หรือในดงของบัวสาย ที่คุ้นเคย ดอกสีขาวเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ เหรียญ 10 บาท สะดุดตาให้สงสัย ว่าเธอคือใคร จอดเรือแวะดูใกล้ๆ เกสรสีเหลือง กลีบดอกมีขนแซม มองคล้ายขนนก งามแปลกตา พืชพรรณอีกชนิด ที่พบเห็นใน ทะเลน้อย

การชมธรรมชาติของ ทะเลน้อยนอกจากเดินชมไปตามสะพานไม้ ที่ทางอุทยานสร้างไว้ในทำเลที่สวยงามแล้ว อีกบรรยากาศหนึ่งของการเข้าถึง ทะเลน้อย อย่างใกล้ชิด ต้องใช้วิธีล่องเรือชมธรรมชาติ ซึ่งเรือให้บริการก็มีมากมายเป็นการรวมกลุ่ม บริหารจัดการของ ชาวบ้านและองค์การบริหารท้องถิ่น เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความปลอดภัย ทุกที่นั่งในเรือจะมีเสื้อชูชีพ และที่เก๋ไก๋คือมีหมวกทรงคาวบอยสานด้วยกระจูดไว้บริการกันแดด กันร้อน ช่วงเวลาที่สวยงามและเหมาะสม ของการล่องเรือชม ทะเลน้อยควรเป็นเวลาเช้าตั้งแต่แสงแรกของดวงอาทิตย์ ที่ฉายฉาบท้องฟ้าและผืนน้ำ ไปจนถึง 10 โมง ชีวิตนานาที่อาศัยพึ่งพาในแหล่งน้ำนี้ กำลังมีกิจกรรมคึกคัก ออกหากินโฉบไปมาโลดไปตามบทบาทให้เราได้เห็น และที่สำคัญทะเลบัวจะงามสะพรั่ง ทุกดอกล้วนบานอวดโฉมแดง ขาว เป็นทะเลบัวใหญ่กว้างสุดตา ถ้าเวลาเคลื่อนสายบ่ายกว่านี้อิทธิพลของแสงแดดที่แผดเผา ก็ทำให้หุบเฉาไม่งามนัก รวมทั้งนักท่องเที่ยวอย่างเราท่าน ก็จะต้องเผชิญกับแดดกล้า ให้เฉาร้อนไม่รื่นรมย์

อีกช่วงเวลาที่เหมาะสมก็จะเป็น ยามเย็นแดดล่มลมตก ราว 4 โมงเย็น ความร้อนแรงของแสงแดดเริ่มผ่อนคลาย ชีวิตในทะเลน้อย พากันตื่นคึกคักอีกรอบหลังพากับหลบร้อนผ่อนพักตามสุมทุม ชาวน้ำ ก็ลอยเรือน้อยออกมาเดินตามวิถีต่อไป

การล่องเรือดูธรรมชาติของทะเลน้อย โดยเฉพาะช่วงที่ดอกบัวบานเต็มๆ อย่างช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ซึ่งพัทลุงก็จะจัดเทศกาลแลนก เลน้อยและแลทะเลล้านบัว.....สวยมาก มีโอกาสต้องมาสัมผัสสักครั้ง ซึ่งค่าโดยสารเรือก็ไม่แพง ลำละแค่ 350-400 บาท นั่งได้ตั้ง 8 คน ใช้เวลาล่องเรือ 1 ชั่วโมงโดยประมาณ ส่วนมากเค้าจะล่องกันตอนเช้าๆ

Shopping ก่อนกลับ . . .

อุดหนุนผลิตภัณฑ์จากกระจูด เช่น เสื่อ, หมวก, กระเป๋า, ตะกร้า สินค้าหัตกรรมขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุง  ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกระจูดที่สำคัญ  เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว อันดับหนึ่งของพัทลุง แหล่งจำหน่ายที่ทะเลน้อย นี้ก็เป็นศูนย์กลางหนึ่งของการกระจายผลิตภัณฑ์  ดังนั้นราคาที่หาซื้อ  จึงย่อมเยามาก และก็ยังมี OTOP เกี่ยวกับบรรดาปลาๆที่ได้จากทะเลน้อย


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://www.muanglung.com/talanoi.htm และ http://www.thailandmgg.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5368496&Ntype=5


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 9841
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง