สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: สงขลา ::: นกน้ำเพลินตา สมิหราเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์ค้าแดนใต้

ขึ้นเขาตังกวน แลเมืองสงขลา

by sator4u_team @21 มี.ค. 55 10:56 ( IP : 113...157 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
photo  , 640x480 pixel , 77,173 bytes.

เขาตังกวน
"เขาตังกวน" เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในอ.เมือง จ.สงขลา เป็นเนินเขาสูง จากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต ตังกวนเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมในตัวเมืองสงขลา ทางไปแหลมสนอ่อน บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทิวทัศน์สองทะเล คือทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2431 บริเวณด้านล่างเขาตังกวนมีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก

การเดินทางขึ้นชมเขาตังกวน

สถานีลิฟท์เขาตังกวน การเดินทางขึ้นชมเขาตังกวนขึ้นได้ 2 ทาง คือทางบันไดซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับสถานที่ต่างๆ บนยอดเขา บันไดจะขึ้นไปยังศาลาพระวิหารแดง อีกทางหนึ่งเป็นทางขึ้นด้วยลิฟท์ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจะตรงขึ้นไปยังพระเจดีย์หลวงยอดเขาตังกวนซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร เป็นทางที่นิยมกว่าเพราะประหยัดเวลาและกำลังกายด้วยครับ ที่หน้าสถานีลิฟท์เขาตังกวนมีลานจอดรถรองรับรถได้หลายคัน มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมากเมื่อลงมาจากรถให้ระมัดระวังลิงแย่งชิงข้าวของ การเดินทางมาที่เขาตังกวนนั้นมาไม่ยากจากตัวเมืองสงขลามุ่งหน้ามาทางแยกสระบัวแหลมสมิหลาถนนสุขุม

ภายในสถานีลิฟท์เขาตังกวน เมื่อเดินเข้ามาด้านในแล้วก็ซื้อบัตรสำหรับขึ้นลิฟท์โดยสาร บัตรราคา 30 บาทเราต้องเก็บไว้แสดงในตอนขาลง ผนังด้านในอาคารสถานีลิฟท์จะมีรูปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของสงขลาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินทางไปชมในอันดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีขนม ของฝาก ของที่ระลึกหลายอย่างขายที่นี่ให้เลือกซื้อระหว่างรอลิฟท์ที่จะเดินทางมาจากด้านบนยอดเขา

ลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน ภายในลิฟท์มีพื้นที่ให้ยืนได้ประมาณ 10 คน มีกระจก 4 ด้านมองเห็นรางที่ลิฟท์กำลังเลือนขึ้นไปอย่างช้าๆ กับแสงสว่างที่ลอดเข้ามาจากด้านข้างรู้สึกเหมือนเดินทางข้ามมิติ

ก้าวแรกบนยอดเขาตังกวน ลงจากลิฟท์เรายังอยู่ในสถานีที่ล้อมด้วยกระจก มองเห็นวิวแต่ไม่ชัดเท่าไหร่ต้องออกไปนอกสถานีก่อน ที่สถานีลิฟท์ยอดเขามีแต่เครื่องดื่มบางชนิดให้เราเลือกซื้อสำหรับติดตัวไประหว่างเดินชมสถานที่ต่างๆ บนยอดเขาตังกวนแม้ว่าวิวที่เห็นจากในกระจกจะมองไม่ชัดมากแต่ก็กดไปหลายรูปโดยเฉพาะวิวที่มองเห็นเกาะหนูเกาะแมว หลังจากที่เดินออกมาจากสถานี เมื่อถึงประภาคารก็จะเห็นผีเสื้อหลายชนิดบินหากินบนเขาตังกวน

วิวทะเลสาบสงขลา ด้านหนึ่งจัดเป็นมุมมีม้านั่งให้เป็นจุดที่มองเห็นวิวเบื้องล่างของสงขลาได้สวยงาม ด้านนี้เป็นด้านที่มองเห็นทะเลสาบสงขลาที่ครั้งหนึ่งเคยได้ไปถ่ายรูปที่สวนสองทะเลที่มีหัวพญานาคพ่นน้ำสวยมากๆ

ประภาคาร เป็นอาคารที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาตังกวนสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคารตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440

พระเจดีย์หลวง พระเจดีย์หลวงเป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเขาตังกวน พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลาจึงมีการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป หลักฐานที่พบในแผ่นศิลาจารึกในคฤห์ทางด้านทิศใต้ขององค์พระเจดีย์หลวงมีข้อความว่า  "...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินหลวงให้พระยาวิเชียรคีรีฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ห้า ปุนะปฏิสังขรณ์ขึ้นให้สูงใหญ่กว่าของเก่า สิ้นเงินหลวงสามสิบเจดชั่งสี่ตำมลึง แต่คฤห์สองคฤห์กับเก๋งสี่มุมกำแพงแก้วเป็นของพระวิเชียรคีรีฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ทำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเข้าในพระเจดีย์หลวงคิดเป็นเงินสิบเอ็ดชั่งสามตำมลึง รวมทั้งเงินหลวงทำพระเจดีย์และเงินทำคฤห์ทำเก๋งเป็นเงินสี่สิบแปดชั่ง เจ็ดตำมลึง การทั้งนี้สำเร็จในปีขาน อัฐสกจุลศักราช พันสองร้อยยี่สิบแปดนี้..."  ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

พระสยามเทวาธิราชและพระพรหม การสักการะบูชาพระเจดีย์หลวงจะมีลำดับให้ประชาชนทราบโดยติดหมายเลขไว้ที่เก๋งทั้งสี่ทิศของพระเจดีย์หลวง เริ่มจากการสักการะพระสยามเทวาธิราชเป็นอันดับแรก พระพรหมเป็นลำดับที่ 2 ทั้งหมดมี 6 จุด แต่ละจุดให้บูชาธูป 3 ดอก ส่วนเทียนให้บูชา ณ จุดใดก็ได้ตามศรัทธา รอบๆ พระเจดีย์หลวงมีตะเกียง 8 ดวง สำหรับให้จุดธูปเทียน

หลวงปู่ทวดและสมเด็จฯ โต เป็นลำดับการบูชาที่ 3 และ 4 ตามลำดับการบูชาพระเจดีย์หลวง เลขหมายที่ปรากฎอยู่ที่เก๋งจะเป็นการนำทางให้เดินลักษณะเวียนขวารอบพระเจดีย์หลวงส่วนจะเดินจนครบ 3 รอบหรือไม่ขึ้นอยู่กับเราไม่ได้กำหนด พระบรมรูป เป็นจุดบูชาลำดับที่ 5  พระเจดีย์หลวงด้านข้าง เมื่อสักการะพระบรมรูป ณ จุดที่ 5 เสร็จแล้วก็เดินไปยังจุดที่ 6 คือการบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง อยู่ติดกับพระเจดีย์หลวงด้านตรงกันข้ามกับพระบรมรูป  บูชาพระธาตุเจดีย์หลวง มีพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานอยู่ ให้ว่าตามคำบูชาพระธาตุที่เขียนบอกไว้ให้ เป็นอันสิ้นสุดการบูชาพระเจดีย์หลวง ครบทั้ง 6 จุดตามลำดับที่บอกไว้ตรงทางเข้า

ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวง ด้านหนึ่งของพระเจดีย์หลวงสร้างเป็นลานกว้างยื่นออกไปยาวมาก เดินไปสุดลานนี้จะมีม้านั่งให้นั่งชมวิว แต่ถ้ามากันตอนกลางวันเที่ยงๆ ไม่แนะนำให้นั่งตรงนี้เพราะแดดแรงมาก ความจริงคนที่ขึ้นมาบนนี้ก็ไม่ค่อยเดินบนลานนี้กันเท่าไหร่ นอกจากเวลาช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น ลานชมวิวแห่งนี้มีรูปหลวงปู่ทวดอยู่กลางลานบนฐานที่ยกสูงขึ้นไป

วิวสวยเมืองสงขลา ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวงจะมองเห็นตัวเมืองสงขลาได้กว้างไกลมากๆ โดยด้านขวามือและซ้ายมือเป็นน้ำทะเลสาบและทะเลขนาบสองข้าง พอดีเลนส์กว้างไม่พอเลยเห็นน้ำเพียงด้านเดียว

บริเวณรอบพระเจดีย์หลวง จากลานชมวิวตรงนี้ก็ต้องเดินย้อนกลับไปที่พระเจดีย์หลวง ซึ่งจะมีทางเดินไปยังสถานที่อื่นๆ กันต่อไป

ศาลาพระวิหารแดง จากลานพระเจดีย์หลวงมีทางเดินลงบันไดมายังศาลาพระวิหารแดง ซึ่งหากเดินทางขึ้นเขาตังกวนด้วยบันไดจะถึงศาลาพระวิหารแดงก่อน แล้วจากนั้นค่อยเดินขึ้นบันไดไปยังพระเจดีย์หลวง  บันไดขึ้นลงระหว่างศาลาพระวิหารแดงกับพระเจดีย์หลวงแยกออกเป็น 2 ทาง มีพญานาคเลื้อยราวบันได เฉพาะช่วงระหว่างพระเจดีย์หลวงลงมายังศาลาพระวิหารแดงก็ไกลพอสมควรแล้ว หากเดินตลอดทางไปถึงเชิงเขาตังกวนคงเหนื่อยไม่น้อย

ศาลาพระวิหารแดงด้านหลัง เมื่อเราเดินลงมาจากข้างบนยอดเขาจะมาถึงศาลาพระวิหารแดงทางด้านหลัง แต่ศาลาพระวิหารแดงนี้สร้างในลักษณะสี่เหลี่ยม มองด้านหน้าหรือด้านหลังแทบจะไม่แตกต่างกันเลยยกเว้นงานปูนปั้นลวดลายบนหน้าบันของศาลา ด้านหลังจะเห็นเป็นรูปวงกลม เมื่ออ้อมไปดูด้านหน้าก็จะมีศาลาพระวิหารแดงมุมเฉียง ทางเดินรอบศาลาพระวิหารแดงปูอิฐรอบทั้งสี่ด้านเหมือนกันหมดมีกำแพงเล็กล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ศาลาพระวิหารแดงด้านหน้า ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440

วิวสวยหน้าศาลาพระวิหารแดง พลับพลาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันหน้าพลับพลาไปด้านเชิงเขาด้านหนึ่งของเขาตังกวน เป็นบริเวณที่วิวเปิดเห็นทิวทัศน์ได้ไกล และสวยงามมากภายในศาลาพระวิหารแดง ลักษณะการก่อสร้างภายใน เป็นเสามีช่องทางเดินทะลุถึงกันแต่ละช่องมีขนาดเท่ากันและเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดอย่างที่เห็นในภาพนี้เลยครับมองจากด้านหน้าจะทะลุไปจนถึงด้านหลัง มองจากด้านข้างด้านหนึ่งจะทะลุไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง  ช่องทางด้านหน้าและด้านหลัง ช่องทางเดินเข้าออกศาลาพระวิหารแดง คงไม่เรียกว่าประตูเพราะไม่มีทั้งบานประตูและบานหน้าต่าง ด้านหลังเป็นทางไปบันไดนาคขึ้นยอดเขาตังกวนและพระเจดีย์หลวง ช่องด้านหน้าเป็นทางเดินลงไปเชิงเขาทางบันได

จุดนั่งชมวิวเขาตังกวน หลังจากที่ได้เดินลงไปที่ศาลาพระวิหารแดงแล้วก็เดินย้อนขึ้นมาบนยอดเขาบริเวณลานพระเจดีย์หลวง และประภาคาร เก็บภาพวิวรอบๆ อีกสักรอบแล้วจะเดินทางลงลิฟท์กลับ วิวแหลมสนอ่อน จากยอดเขาตังกวนก็จะมองเห็นวิวได้หลายด้านรอบๆ เมืองสงขลา วิวเกาะหนูเกาะแมว หลังจากพยายามเก็บภาพวิวรอบๆ ยอดเขาตังกวนจนเป็นที่พอใจแล้วก็กลับไปที่สถานีลิฟท์เขาตังกวนเพื่อรอให้ลิฟท์พาคนขึ้นมาเราจะได้เดินทางลง

มีบริการลิฟท์ขึ้นยอดเขา ค่าบริการลิฟท์ขึ้นสู่ยอดเขา : เด็ก (ความสูง 120 เซนติเมตร) 20 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 30 บาท  หรืออาจเดินเท้าขึ้นไปตามบันไดนาคก็ได้

เปิดบริการ : วันจันทร์ - ศุกร์  เวลา 10.00-19.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  เวลา 8.00-19.00 น.

ติดต่อสอบถาม :  0-7431-6330

การเดินทางไปเขาตังกวน  อ.เมือง จ.สงขลา


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพสวยๆจาก :  http://www.oknation.net/blog/president/gallery/25879  และ  http://www.cityvariety.com/citytravel-5314.html  และ http://touronthai.com/gallery/placeview.php?place_id=74000006


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 5386
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง