สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ชุมพร ::: ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ชึ้นชื่อรังนก

อนุสาวรีย์ ยุวชนทหาร "ตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร"

by sator4u_team @19 มี.ค. 55 14:27 ( IP : 182...184 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
  • photo  , 446x554 pixel , 209,636 bytes.
  • photo  , 446x554 pixel , 58,000 bytes.

"วีรกรรม"


ที่จังหวัดชุมพร มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร นอกจากตำรวจทหารแล้ว เรายังมียุวชนทหาร ซึ่งเป็นนักเรียน โรงเรียนศรียาภัย เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ กับผู้ใหญ่ทั้งหลายอีกด้วย การสร้างอนุสาวรีย์ จึงสร้างเป็นรูปยุวชนทหาร เพื่อเน้นเป็นพิเศษ ให้เห็นวีรกรรมของเด็ก


สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงกลางปี พ.ศ. 2482 สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน) โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชียเพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาในตอนเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด

เวลา ประมาณ 23.00 น.บริเวณอ่าวชุมพร วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองเรือรบญี่ปุ่นเผชิญพายุฝนทำให้กำหนดการบุกขึ้นฝั่งคลาดเคลื่อน รุ่งเช้า ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร 2 จุด คือที่บ้านแหลมดิน และบ้านคอสน กองทหารญี่ปุ่นที่บ้านแหลมดินเป็นทัพหน้า จัดรูปขบวนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ถนนชุมพร ส่วนทหารญี่ปุ่นที่บ้านคอสนเคลื่อนทัพไปทางทิศใต้ ตามแนวชายฝั่ง และค่อยไปสมทบกับทัพหน้าที่สะพานท่านางสังข์ เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ)ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรทราบข่าวการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นราว 6 นาฬิกา 30 นาที จึงสั่งให้ พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร และร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังไปต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร เวลา ประมาณ 7 นาฬิกา 15 นาที ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้เคลื่อนย้ายกำลังออกปฏิบัติการ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน


- ส่วนที่ 1 ใช้กำลังยุวชนทหาร 5 นาย ตำรวจภูธร 5 นาย และราษฎรอาสาสมัคร 1 คน พร้อมด้วยปืนกลเบา 1 กระบอก ในความควบคุมของ จ.ส.อ.จง แจ้งชาติ เดินทางมุ่งไปรักษาเส้นทางอ่าวพนังตัก หน่วยนี้ไม่พบข้าศึกเลย

  • ส่วนที่ 2 ใช้กำลังยุวชนทหาร 30 นาย ในความควบคุมของ ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน และสิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ครูฝึก เคลื่อนย้ายโดยรถยนต์บรรทุกตามเส้นทางชุมพร-ปากน้ำไปสะพานท่านางสังข์ ยุวชนทหารทั้งหมดที่เข้าการรบเป็นยุวชนทหารชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีและกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของปีการศึกษานั้น

เมื่อไปถึงสะพานท่านางสังข์ก็ต้องหยุดเข้าสมทบกับกำลังตำรวจ ที่กำลังปะทะอยู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว ร้อยเอกถวิลฯได้ขึ้นไปตรวจการณ์บนสะพาน ถูกข้าศึกยิงแต่ไม่เห็นตัวข้าศึก เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าสลับสวนมะพร้าว และทุ่งนาป่าละเมาะ ข้าศึกก็พรางตัวอย่างดีด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ร้อยเอกถวิลฯ จึงรวมกำลังยุวชนทหารทั้งหมดข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม โดยให้ยุวชนทหาร 3 นาย ที่ไม่มีปืนวิ่งกลับไปรับกระสุนเพิ่มเติมจากในเมือง

ในการเคลื่อนที่ข้ามสะพานไปยึดพื้นที่ฝั่งตรงข้ามนั้น ร้อยเอกถวิลฯไ ด้สั่งให้ยุวชนทหารทุกนายติดดาบปลายปืนพร้อมที่จะเข้าตะลุมบอนกับทหารญี่ปุ่นทันที แต่โชคไม่ดีขณะที่ร้อยเอกถวิลฯ วิ่งนำยุวชนทหารอยู่นั้น ร้อยเอกถวิลฯ ได้ถูกข้าศึกยิงเข้าที่ซอกคอ กระสุนทะลุหลอดลมเสียชีวิตทันที ยุวชนทหารวัฒนา นิตยนารถ ได้รีบรายงานให้สิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ทราบ

สิบเอกสำราญฯ จึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมยุวชนทหารแทน และได้สั่งให้ยิงต่อสู้ข้าศึกต่อไปอย่างเหนียวแน่น ทหารญี่ปุ่นได้เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ โดยพรางตัวด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ดูไกลๆ เหมือนป่าเคลื่อนที่เข้ามา ฝนก็ตกหนักตลอดเวลา ยุวชนทหารได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีเมื่อเห็นกิ่งไม้ใบไม้ไหว ทำให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการบุกชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นร้องเมื่อถูกยิงอย่างชัดเจน สิบเอกสำราญฯ เองก็ถูกยิงที่แขนขวา เนื้อขาดไปทั้งก้อนจนปืนหลุดจากมือ ยุวชนทหารละออ เหมาะพิชัย ได้เข้ามาปฐมพยาบาล

ส.อ.สำราญ  ควรพันธ์ บาดเจ็บไม่สามารถทำการรบได้ ต้องคอยจ่ายกระสุน โดยมอบหมายให้ ยุวชนทหาร ควบคุมบังคับบัญชาการสู้รบเอง  ๑๒ นาฬิกา ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ข้าหลวงประจำจังหวัดพร้อมคณะ มายังตำบลที่ยุวชนทหารสู้รบ แจ้งว่าได้รับคำสั่งทางวิทยุจากรัฐบาล อนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทางผ่านคอคอดกระไปยังประเทศพม่าได้ การรบจึงยุติลง

สรุปผลการสู้รบ

ฝ่ายไทย

เสียชีวิต ๖ นายคือ

๑. ร.อ.ถวิล  นิยมเสน ๒. ยวท. ละม้าย  เหมมณี ๓. ยวท. สนิท  พงษ์ภักดี ๔. ยวท. เอื้อม  ลุ่มนวล ๕. ยวท. ถวัลย์  อนันตสิทธิ์ ๖. ยวท. บุญช่วย  เพชร์เลย

บาดเจ็บ จำนวน ๕ นาย

ฝ่ายข้าศึก

  • เสียชีวิต ๒๓ นาย ( นายทหาร ๓ พลทหาร ๒๐)

  • บาดเจ็บ ๗ นาย

การที่ยุวชนทหาร ต่อสู้รบด้วยความองอาจกล้าหาญ ทำให้เมื่อมีการเจรจาสงบศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยได้มีโอกาสชี้แจงและอ้างเหตุผลในที่ประชุม ว่าประชาชนชาวไทยมิได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยความสมัครใจซึ่งประเทศผู้ชนะสงครามก็ได้รับรองประเทศไทยอย่างสมเกียรติ ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม  วีรกรรมของยุวชนทหารเหล่านี้ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ นับเป็นบุญคุญอย่างยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวไทย ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ๓ ปี ( พ.ศ.๒๔๙๑ ) รัฐบาลได้รื้อฟื้นการฝึกวิชาทหารขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อจาก กรมยุวชนทหาร เป็น กรมการรักษาดินแดน ( ปัจจุบันขยายอัตราเป็นหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ) และเปลี่ยนชื่อผู้เข้ารับการฝึก จากเดิมยุวชนทหาร เป็น นักศึกษาวิชาทหา สงครามโลกยุติลงแล้ว วีรกรรมของลูกหลานไทย ที่สะพานท่านางสังข์ และวัดยางใต้ ค่อยๆเลือนออกจาก ความทรงจำของผู้คนรุ่นใหม่ หรือคนเพิ่งอพยพ เข้ามาอยู่ใหม่ไม่ทราบ หรือไม่สนใจที่ทราบเรื่องนี้ เวลาล่วงมาอีก๓๐ ปี เช้าวันหนึ่งชายสูงอายุผู้หนึ่ง มายืนดูเจดีย์เล็ก ๆ ที่ริมสะพานท่านางสังข์ ด้วยกริยาอันเศร้าซึม ชายผู้นั้นแขนขวาขาดเหนือข้อศอก ท่านคือ ร้อยโท สำราญ ควรพันธ์ ซึ่งเมื่อ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มียศเพียง สิบเอก ร่วมกับร้อยเอก ถวิล นิยมเสน (ยศในครั้งนั้น) คุมกำลังยุวชนทหาร โรงเรียนศรียาภัย เข้าห้ำหั่นกับทหารญี่ปุ่น ที่เชิงสะพานท่านางสังข์ พอร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ถูกกระสุนปืนข้าศึก ถึงแก่ความตาย สิบเอก สำราญ ควรพันธ์ ผู้นี้ได้อำนวยการรบ แทนผู้บังคับหน่วย จนตนเองถูกกระสุนข้าศึก กระดูกแขนขวาแตกละเอียด แต่ยังกัดฟันสู้อยู่ไม่ยอมถอย จนการรบยุติลง ท่านมีกิริยาเศร้าซึม เพราะทราบว่า นาย ประชุม สุยสิน อดีตยุวชนทหารุ่น ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ได้บริจาคเงินซื้อเจดีย์เล็ก ๆ มาวางไว้ พอเป็นนิมิตหมาย ครบรอบปี ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้ครูทหารและ เพื่อนยุวชนทหาร ที่ล่วงลับไปแล้ว


"ความเป็นมาการสร้างอนุสาวรีย์ ยุวชนทหาร"

เรามีอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญ อยู่ทั่วประเทศ เป็นอนุสรณ์ของท่าน ผู้ได้ประกอบคุณงามความดี ให้แก่ชาติบ้านเมืองในครั้งอดีต แต่รูปเหล่านั้นเป็นรูปของ ผู้ใหญ่ทั้งสิ้น อนุสาวรีย์ยุวชนทหารท่านางสังข์ ชุมพร น่าจะเป็นอนุสาวรีย์แรก ที่ประกาศคุณงามความดี ของเด็กนักเรียน

เหตุใดจึงสร้างอนุสาวรีย์ ของยุวชนทหาร ซึ่งเป็นเด็กนักเรียน ? เรื่องนี้เราคงยังไม่ลืมเหตุการณ์ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพอันเกรียงไกรของญี่ปุ่น โถมขึ้นประเทศไทย ทางหัวเมืองชายทะเล ลูกหลานไทยตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงปัตตานี ต่างจับอาวุธเข้าต่อตีญี่ปุ่น อย่างดุเดือด สามารถหยุดกองทัพญี่ปุ่น ไว้กับที่ได้ จนรัฐบาลอนุญาตให้ญี่ปุ่น เดินทัพผ่านไปทำศึกในพม่าและมาลายู การรบจึงยุติลง

ร.ท.สำราญฯ เที่ยวตามหาอดีตยุวชนทหาร ที่เคยเป็นศิษย์ได้อีกหลายคน มีนายเทพไท ใจสมคม เป็นหัวหน้า ได้ติดต่อขอความสนับสนุน จากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร หัวหน้าสำนักงานทหารผ่านศึกจังหวัดชุมพร รวบรวมเงินได้ ๒๑๔,๒๕๙ บาท แขวงการทางชุมพร อนุญาตให้ใช้สถานที่ ในรัศมีถนนริมสะพานท่านางสังข์ กรมศิลปากรอนุญาตให้สร้าง รูปยุวชนทหาร กับอาวุธประจำกาย ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๔ แล้วทำหนังสือ มอบให้เป็นสมบัติ ของจังหวัดชุมพร จังหวัดได้จัดใหมีพิธี วางพวงมาลา ในวันที่ ๘ ธันวาคม ของทุกปี นปี พ.ศ.๒๕๒๗ ร.ท.สำราญ ควรพันธ์ และทายาทของพันโท ถวิล นิยมแสน มอบให้ผู้อำนวยการ โรงเรียนศรียาภัย ขอให้จังหวัดทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทักท้วงว่า รูปปั้นและแท่นเล็ก ไม่สง่างาม พอที่จะเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มาทำพิธีเปิดได้ ขอให้อดีตยุวชนทหารและศิษย์เก่า โรงเรียนศรียาภัย ช่วยปรับปรุงรูปปั้นและฐาน ให้ใหญ่ขึ้นและสง่างาม กว่าเดิมเสียก่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนศรียาภัย (สนั่น ชุมวรฐานยี) ชักชวนอดีตยุวชนทหาร และศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัย หลายรุ่นให้ช่วยกันหาเงินปรับปรุง อนุสาวรีย์ กรรมการเหล่านั้น ประกอบด้วย

๑. นายสนั่น ชุมวรฐายี

๒. นายเทพไท ใจสมคม

๓. ร.ท.สำราญ ควรพันธ์

๔. พ.อ.ทวีวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์

๕. นายวุฒินัย ชุมวรฐายี

๖. นายปรีติ วงศ์สวัสดิ์

๗. พ.ท.ประศาสน์ บุรินทร์วัฒนา

๘. พ.ท.ไพโรจน์ นาคฉัตริย์

๙. พ.อ.(พิเศษ) อรรณพ ชุมวรฐายี

๑๐.นายสมปอง ชุมวรฐายี

๑๑. นายกวี ไพรัชเวส

๑๒. พล.ต.ต.สงัด โรจนภิรมย์

๑๓. พล.ต.ต.มนัส ครุฑไชยันต์

๑๔. นายนิคม ปราชญ์นคร

๑๕. นายไสว สมบัติพิบูลย์

๑๖. นายไพฑูรย์ ธรรมวุฒิ


กรรมการชุดนี้หาเงินกันได้ ๒๗๕,๐๐๐.-บาท จ้างช่างปฏิมากรรม ร.อ.นพดล สุวรรณสมบัติ ปั้นรูปยุวชนทหาร ขนาดเท่าครึ่งคนจริง ยืนแท่นถืออาวุธประจำกายในท่าแทงปืน (คือรูปปัจจุบัน) ขยายแท่นให้กว้างกว่าเดิม ติดโคมไฟฟ้า ๔ ดวง ๔ มุม

ต่อมาในต้นปี ๒๕๓๒ พลตรี ทวีวิทย์ นิยมแสน บุตรชายของ พันโท ถวิล นิยมแสน บริจาคเงิน ให้จังหวัดชุมพร ๓๐๐,๐๐๐.-บาท เพื่อจัดซื้อที่ดิน ด้านตะวันออกของอนุสาวรีย์ ขยายบริเวณออกไป ให้ถึงริมท่าน้ำ แต่เจ้าของที่ดินไม่ยอมขาย จึงเปลี่ยนเป็นใช้เงินจำนวนนี้ ขยายฐาน ปรับปรุงพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ได้ให้กรมยุทธศึกษาทหารบก ออกแบบฐานอนุสาวรีย์ เริ่มสร้างฐานใหม่ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒ ในปีนั้น เกิดขัดข้องด้วยภัยธรรมชาติ คือ พายุใต้ฝุ่นและน้ำท่วม การก่อสร้างล่าช้า เพิ่งแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๓ นอกจากนี้ ร.ท.สำราญ ควรพันธ์ กับ พ.อ.สุเทพ ควรพันธ์ ได้สร้างศาลาที่พักริมทาง ไว้อีกหลังหนึ่งด้วย

ครั้นอนุสาวรีย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ ตามรูปแบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ( นายกนก ยะสารวรรณ) ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ถมและปรับพื้นที่รอบๆ อนุสาวรีย์ ตัดถนน ปลูกดอกไม้ และปลูกต้นไม้ในบริเวณ เพื่อทำพิธีเปิด ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๓

อนุสรณ์สถานของผู้กล้าหาญ ทั้งหลายมีมูลที่มา ดังพรรณนามาโดยสังเขปแล้วนี้

เพื่อระลึกถึงวีรกรรม ของยุวชนทหาร ที่ได้เข้าร่วมกับทหารกองประจำการ ตำรวจและประชาชน ทำการสู้รบ ต่อต้านทหารญี่ปุ่น ซึ่งยกพลขึ้นบก ตามจังหวัดชายทะเลของไทย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ วันดังกล่าวของทุกปี จึงได้รับการยกย่องเป็น วันยุวชนทหาร กองทัพบกเล็งเห็นว่า นักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งพัฒนามาจาก ยุวชนทหารในอดีต ได้รับการฝึกและภารกิจเดียวกันคือ เป็นกำลังสำรอง ของประเทศ สนับสนุนกำลังประจำการ ในยามบ้านเมืองคับขัน จึงอนุมัติให้ วันที่ ๘ ธันวาคม ของทุกปีเป็น วันนักศึกษาวิชาทหาร และให้กระทำพิธี ชุมนุมสวนสนามนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปี ในวันที่ ๘ ธันวาคม พร้อมกันทั่วประเทศ

"ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร" : ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ ห่างจากอำเภอเมืองฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก: website กรมการรักษาดินแดน http://www.rta.mi.th/nst/ และ  http://www.chumporn.com และ http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=22973.0


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 9433
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง