สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

"ข้าว" ช่วยป้องกันโรคภัย-รักษาความงาม

by sator4u_team @3 พ.ค. 57 18:34 ( IP : 180...228 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ
  • photo  , 660x431 pixel , 135,813 bytes.
  • photo  , 480x360 pixel , 54,780 bytes.
  • photo  , 640x400 pixel , 31,534 bytes.
  • photo  , 640x450 pixel , 47,123 bytes.
  • photo  , 255x198 pixel , 11,763 bytes.

ข้าว ช่วยป้องกันโรคภัย-รักษาความงาม

ในงานวิจัยต่างๆ ก็บอกได้ว่าข้าวนั้นมีวิตามิน ทั้งวิตามินบี 1 จากข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ไม่ขัดสี ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา วิตามินบี 2 ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ซึ่งมีอาการเป็นแผลที่มุมปาก ริมฝีปากบวม ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาสู้แสงไม่ได้ ฟอสฟอรัส ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน แคลเซียม ช่วยลดอาการเป็นตะคริว และเหล็ก ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางและช่วยในการสร้างเม็ดเลือด และที่สำคัญเราสามารถใช้ประโยชน์จากข้าวได้แทบทุกส่วน เช่น

รวงข้าว สามารถใช้รวงข้าวที่กำลังออกเป็นน้ำนม บีบคั้นเอาแต่น้ำ นำมากวนใส่น้ำตาลเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงกำลังให้กับคนไข้ที่มีอาการหนัก

ข้าวเปลือกใหม่ๆ ที่มีละอองสีขาวปน สามารถนำมาต้มน้ำดื่มแก้กษัย

ข้าวเม่า หรือเมล็ดข้าวที่ยังไม่แก่จัดนำมาคั่วและตำให้แบน มีสรรพคุณบำรุงกำลังเจริญธาตุ

ข้าวตอก หรือข้าวเปลือกที่ผ่านการคั่วจนเมล็ดพองและเปลือกหลุดออกมา ใช้รับประทานบำรุงกำลังเจริญธาตุ

ข้าวใหม่ หรือข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวและสีออกใหม่ๆ นำมาหุงรับประทานช่วยบำรุงกำลัง

ข้าวสาร ใช้แก้พิษร้อนในกระหายน้ำ และสามารถใช้ตำผสมกับสุรา ทาแก้ลมพิษผื่นคัน

ข้าวกล้อง มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว และจมูกข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถใช้บำรุงกำลัง ป้องกันโรคเหน็บชา

น้ำซาวข้าว หรือน้ำล้างข้าวครั้งที่ 2 ก่อนนำไปหุง มีวิตามิน B และแร่ธาตุสูง มีรสเย็น ใช้ถอนพิษสำแดง แก้พิษร้อนใน ดับพิษอักเสบ ฟกบวม ใช้ทำน้ำกระสายยา คนไทยโบราณมักใช้น้ำซาวข้าวสระผม เพราะช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มลื่น ไม่เป็นรังแค และมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นน้ำล้างผัก ช่วยลดพิษสารฆ่าแมลงที่ตกค้าง

ซังข้าว หรือต้นข้าวที่ผ่านเก็บเกี่ยวเอาเมล็ดข้าวไปแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นยาขับระดู

รากข้าว ใช้รากของต้นข้าว ขณะที่ต้นสูงประมาณ 10 นิ้ว สามารถนำมาประกอบเป็นยาแก้ซางตานขโมยเด็กได้

รำข้าว มีแร่ธาตุ กรดไขมัน และวิตามินต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินอี และมีสารต้านอนุมูลอิสระแกมมาออไรซานอล (Gamma Oryzanol) ในปริมาณสูง ช่วยต้านการอักเสบของผิวหนัง ทำให้ผิวขาวขึ้น เอนไซม์ที่ได้จากข้าวและรำข้าว สามารถยับยั้งการสร้างเมลานิน และการเกิดเม็ดสีจากรังสี UV ช่วยลดริ้วรอย สามารถยับยั้งการเกิด lipid peroxidation และทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจน และยังพบอีกว่า สารสกัดจากรำข้าว (rice bran) ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น

น้ำมันจากจมูกข้าว (rice germ) ช่วยเคลือบผิวไม่ให้สูญเสียความชุ่มชื้น ช่วยปกป้องผิวจากการระคายเคือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบันกลุ่มคนรักสุขภาพได้ให้ความสนใจในการหันมาบริโภค น้ำมันรำข้าว และน้ำข้าวกล้องงอก กันเป็นจำนวนมาก ซึ่ง น้ำมันรำข้าว นั้น ถือได้ว่าเป็นน้ำมันพืชที่ควรนำมาใช้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีปริมาณกรดไขมันสอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้บริโภคน้ำมันที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันกรดไขมันอิ่มตัว: กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว: กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ในสัดส่วน 1 : 1.5 : 1 ซึ่งในน้ำมันรำข้าวมีสัดส่วนของไขมันทั้งสามชนิดอยู่ในสัดส่วน 0.5 : 1.2 : 1 ในขณะที่น้ำมันมะกอกมีสัดส่วนของไขมันดังกล่าวอยู่ 1.55 : 8.55 : 1 และน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มที่คนไทยนิยมบริโภคมีสัดส่วนของไขมันทั้งสามชนิดอยู่ที่ 1 : 1.5 : 3.75 และ 5 : 3.9 : 1 ตามลำดับ

นอกจากการที่มีความสัดส่วนของกรดไขมันทั้งสามชนิดที่ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำแล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า แกมมาออไรซานอล (Gamma Oryzanol) ที่ไม่สามารถพบได้ในน้ำมันชนิดอื่น และมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในแง่ของคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าวิตามินอีถึง 6 เท่า ในต่างประเทศมีการนำเอาสารออไรซานอลมาใช้เป็นยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง เพราะนอกจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันตัวไม่ดี และยังมีคุณสมบัติปกป้องผิวจากแสงแดด มี SPF อยู่ที่ประมาณ 50 นอกจากนี้ น้ำมันรำข้าวก็ยังมีสารในกลุ่มวิตามินอี ได้แก่ โทโคฟีนอล และโทโคไตรอีนอล ดังนั้น จึงมีผู้แนะนำให้บริโภคน้ำมันรำข้าวเพื่อบำรุงร่างกาย ชะลอความชรา

ในส่วนของ ข้าวกล้องงอก นักวิจัยไทยได้ค้นพบว่าใน ข้าวกล้องงอก มีปริมาณ GABA ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากกระบวนการ decarboxylation ของกรดกลูตามิก กรดชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ในระบบประสาท ในทางการแพทย์ได้มีการพัฒนายาให้มีโครงสร้างคล้ายกับ GABA เพื่อให้สามารถไปจับกับ GABA receptor และออกฤทธิ์เสริมกับ GABA ธรรมชาติที่มีอยู่ในระบบประสาท ทำให้เกิดผลต่อร่างกายต่างๆ เช่น ลดความวิตกกังวล คลายกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการนำมาใช้ในการป้องกันอาการชักได้อีกด้วย

โดยปกติแล้วข้าวกล้องที่ทำให้เกิดการงอกได้ต้องเป็นข้าวกล้องที่กะเทาะเปลือกมาไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วนำไปแช่น้ำ หลังจากแช่น้ำแล้วจะสามารถนำมาหุงต้มรับประทานได้ทันที ส่วนของข้าวที่มี GABA สูงสุดจะเป็นส่วนของจมูกข้าว (Rice Germ) ดังนั้น การขัดสีข้าวเพื่อนำมาทำข้าวกล้องงอกจะต้องเหลือส่วนของจมูกข้าวไว้ เมื่อนำมาผ่านการแช่น้ำส่วนของจมูกข้าวก็มีการผลิต GABA เพิ่มขึ้นนั่นเอง


Cr. //  รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ , ASTV

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2706
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง