สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 "คุก 3 เดือน - ปรับ 100,000 จริงหรือ ?

by sator4u_team @5 ส.ค. 58 19:56 ( IP : 49...34 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ

"ปรับ 10,000 – 100,000 บาท แต่หากการกระทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือหากไม่ใช่การทำเพื่อการค้า มีการอ้างอิงที่มาก็สามารถทำได้ ภายใต้ข้อยกเว้นคือต้องทำให้ผลประโยชน์ของเข้าของลิขสิทธิ์ลดลง หรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ"

 คำอธิบายภาพ : 58

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 โดยเพิ่มเติมเนื้อหา "ข้อมูลการบริหารสิทธิ" (Rights Management Information) เป็นข้อมูลบ่งชี้ในตัวผลงานอันมีลิขสิทธิ์ และ "มาตรการทางเทคโนโลยี" (Technological Measures) คือเทคโนโลยีให้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น การเข้ารหัสหรือถอดรหัส การตรวจสอบสิทธิใช้งาน) ให้มีผลคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ผลจากการแก้กฎหมายครั้งนี้ทำให้ผู้ใดทำการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ หลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี หรือให้บริการเพื่อก่อให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ (มาตรา 53/1 53/4) และถ้าใครนำงานที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วยเช่นกัน (มาตรา 53/2)

สำหรับกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ทั้งผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูล ถ้าผู้ให้บริการไม่ได้เป็นผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดําเนินการตามคําสั่งศาล (มาตรา 32/3)

ในวันเดียวกัน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาให้การบันทึกเสียงหรือภาพในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ทําซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อหาผลกำไร ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้

ทั้งนี้ ฉบับที่ 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนฉบับที่ 3 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง จะมีผลบังคับใช้ หลังจากที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 132 ตอนที่ 6 ก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน “Digital Economy” การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตปลอดจากงานละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายฉบับนี้ได้ดึงให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดถึง “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ หรือข้อมูลเงื่อนไขการใช้สิทธิในงานนั้น ซึ่งปรากฏได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชื่อจิตรกรหรือชื่อเจ้าของที่ติดอยู่ที่ภาพ หรือแม้กระทั่งลายน้ำที่แฝงอยู่ หากมีการลบหรือเปลี่ยนแปลง ก็จะถือว่าเป็นความผิดฐานใหม่คือ ละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลก Social media ที่มีการแชร์รูปภาพ หรือ คลิปวีดีโอต่างๆได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว หากมีการนำรูปภาพที่มีการลบลายน้ำนั้น ไปแชร์ลง Social media ต่างๆ ผู้ที่แชร์นั้น นอกจากจะผิดฐานเผยแพร่ลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วยังจะผิดฐานลบข้อมูลบริหารสิทธิอีกฐานหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างอิงเจ้าของภาพนั้นๆ ก็ตามเพราะเป็นการนำภาพของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

“มาตรการทางเทคโนโลยี” เป็นอีกคำหนึ่งที่ปรากฏในกฎหมายฉบับนี้ “มาตรการทางเทคโนโลยี” หรือ เทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลนำมาป้องกันงานของตน เช่น การตั้งรหัสในการเข้ารับฟังเพลงต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต คนไหนอยากฟังเพลงหรือดาวน์โหลดเพลงก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้รหัสในการฟังหรือดาวน์โหลดเพลงนั้นๆแต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากเสียเงิน แต่ใช้วิธีการแฮ็ค หรือหลบเลี่ยงมาตรการนั้นๆเข้าไปฟังเพลงหรือดาวน์โหลดฟรีๆ ก็จะถือเป็นความผิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกฐานหนึ่ง คือ ละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ การกระทำความผิดใหม่ ทั้งสองนี้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หากการกระทำเพื่อการค้า จะโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือหากไม่ใช่การทำเพื่อการค้า มีการอ้างอิงที่มาก็สามารถทำได้ ภายใต้ข้อยกเว้นคือต้องทำให้ผลประโยชน์ของเข้าของลิขสิทธิ์ลดลง หรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ

สำหรับการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปเล่าในรายการเล่าข่าวนั้นหากเป็นเพียงการนำเอาข้อเท็จจริงไปนำเสนอในลีลาของตัวเองถือว่าไม่มีความผิดแต่ก็จะต้องไม่ทำให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์ลดลง เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการส่งต่อรูปดอกไม้ต่างๆ ในแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเป็นรูปที่มีลิขสิทธิ์ถือว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

 คำอธิบายภาพ : copyright-theft

10 ข้อ! ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์!!! ...แล้วอิทำพรื่อดีล่ะ ?

กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ เปิดคำถาม คำตอบ 10 ข้อ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หวังสกัดความปั่นป่วนในโลกโซเชียล หลังทั้งโพสต์ ทั้งแชร์กระหน่ำ และยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจในเรื่องลิขสิทธิ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอีกด้วย โดย 10 คำถาม คำตอบ มีรายละเอียดดังนี้

1.) ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่ ?

ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

2.) เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเตอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม ?

การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีก็สามารถดาวน์โหลดได้แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้ว จึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

3.) การก๊อปปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่ ?

บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม(fairuse)ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4.) การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ?

การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอจึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5.) การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวีดิโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิทัลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด ?

การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจ หรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิทัลออก โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดก่อให้เกิดให้ความสะดวกหรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอของผู้อื่น และโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ปรับ20,000บาทถึง200,000บาท เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.) การก๊อปปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต ?

กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7.) การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?

การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อก และถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

ในกรณีของการแชร์ลิงค์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8.) หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่ ?

การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9.) ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัพโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ ?

ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10.) จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ?

เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

สรุปว่า จากกรณีข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นข้อดีที่ทำให้คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ มีจิตสำนึกว่างานที่จะนำไปใช้มีเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ และมีการคิดก่อนแชร์ คิดก่อนใช้ ซึ่งกรมฯ ขอแนะนำว่าถ้าไม่ชัวร์ ไม่แชร์จะดีกว่า

ขอขอบคุณ คลิปวีดีโอจาก @  iT24Hrs

อ้างอิง @ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 , พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 8089
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง