สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

35 เรื่อง "ทุเรียน" ที่อยากให้คุณได้รู้ !!!

by sator4u_team @25 มิ.ย. 58 23:40 ( IP : 49...45 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ

“ ทุเรียน ”  ได้รับขนานนามว่า “King of Fruits" หรือ “ราชาแห่งผลไม้”

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชื่นชอบของไทยและเทศ เพราะมากมายด้วยประโยชน์ และสรรพคุณของทุเรียนยังพบได้ในตำรายาไทยอีกด้วย


 คำอธิบายภาพ : pic558c2f0f29d3e


หน้านี้ฤดูนี้! จะไม่พูดถึงทุเรียนก็คงไม่ได้ ด้วยที่ทุเรียนได้ถูกขนานนามว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มีคนชอบและไม่ชอบรับประทานอยู่พอๆกัน ในทางสุขภาพแล้วทุเรียนมีทั้งคุณและโทษ แม้จะอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมาย แต่ก็เป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีปริมาณค่าดัชนีน้ำตาลและมีไขมันมาก นอกจากนี้ในทุเรียนยังอุดมไปด้วยกำมะถัน เมื่อทานเข้าไปมากๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอีกด้วย จึงควรรับประทานแต่น้อย


สะตอฟอร์ยู! ได้รวบรวมเอาเรื่องราวอันน่าทึ่ง! 35 ข้อ ของ ทุเรียน!!! มาฝากเพื่อนๆ แฟนคลับชาวดูเรียนเลิฟเวอร์ได้ฟินด้วยกันครับ



1.) คำว่า ทุเรียน (durian) มาจากคำในภาษามาเลย์ คือคำว่า duri (หนาม) มารวมกับคำต่อท้าย -an (เพื่อสร้างเป็นคำนามในภาษามาเลย์) ทุเรียน (Durio zibethinus) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า durian อ่านว่า ดูเรียน เป็นพืชในวงศ์ BOMBACACEAE พืชสกุลนี้ เป็นไม้พื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  D. zibethinus เป็นเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกเลี้ยงในเชิงการค้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และนอกถิ่นกำเนิด ในทุเรียนชนิด zibethinus ได้ชื่อมาจากชะมดอินเดีย (Viverra zibetha) มีความเชื่อแต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ว่าชื่อนี้ตั้งโดยลินเนียส ซึ่งมาจากชะมดชอบทุเรียนมากจนมีการนำไปเป็นเหยื่อล่อในการดักจับชะมด หรืออาจเป็นเพราะทุเรียนมีกลิ่นคล้ายชะมด


2.) ประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนมากที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย พื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ 770,362 ไร่ มีผลผลิตรวมประมาณ 706,387 ตัน


3.) การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า เนื้อทุเรียนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดไขมันในเลือด แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าสาร polysaccharide gel ที่ได้จากเปลือกทุเรียนมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และเมื่อนำไปผสมในอาหารสัตว์ก็พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันให้กับกุ้งได้ และมีการนำสารดังกล่าวไปพัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มปิดแผล ซึ่งพบว่าช่วยสมานแผลและลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี


4.) สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า รากทุเรียน มีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง ใบทุเรียน มีรสขม เย็นเฝื่อน ใช้แก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เปลือกทุเรียน มีรสฝาดเฝื่อน ใช้รักษากลากเกลื้อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตานซาง เนื้อทุเรียน มีรสหวาน ร้อน ใช้แก้จุกเสียดในท้อง ให้ความร้อนกับร่างกาย บำรุงกำลัง แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิไส้เดือน


5.) ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง วิตามินซี โพแทสเซียม กรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และเป็นแหล่งไขมันสดที่ดีในอาหารไม่ผ่านความร้อนหลายๆชนิด นอกจากนี้ในเนื้อของทุเรียนยังมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เช่น thiols, thioethers, ester และ sulphides ซึ่งทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัวที่รุนแรง (ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ชอบ) และสารสำคัญที่พบในทุเรียนคือสารในกลุ่ม คาโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และโพลีฟีนอล


6.) ทุเรียนมีมากกว่า 30 ชนิด แต่มีเพียง 9 ชนิดเท่านั้น ที่สามารถรับประทานได้ ซึ่งได้แก่ Durio zibethinus, Durio dulcis, Durio grandiflorus, Durio graveolens, Durio kutejensis, Durio lowianus, Durio macrantha, Durio oxleyanus และ Durio testudinarum แต่มีเพียงสายพันธุ์ Durio zibethinus ชนิดเดียวเท่านั้น ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และชนิดนี้ก็แบ่งแยกย่อยไปอีกมากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ได้รับความนิยมและปลูกกันมากก็คือ พันธุ์หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์ก้านยาว เป็นต้น


7.) เนื่องจากทุเรียนมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง) การบริโภคทุเรียนในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดโรคในมนุษย์ได้ เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง


8.) หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “อย่ากินทุเรียนพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นะ” แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นยังไงกันล่ะ ความเชื่อข้อหลังนั้นสามารถสืบสาวกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อรัมฟิออซกล่าวไว้ว่าไม่ควรดื่มเหล้าหลังจากรับประทานทุเรียน เพราะจะเป็นเหตุให้มีอาการท้องอืดและมีกลิ่นปาก ในปี พ.ศ. 2472 เจ.ดี. กิมเล็ตต์ (J. D. Gimlette) เขียนไว้ใน Malay Poisons and Charm Cures (พิษแห่งมาเลเซียและมนต์บำบัด) ว่า ผลทุเรียนต้องไม่รับประทานกับบรั่นดี ในปี พ.ศ. 2524 เจ.อาร์. ครอฟต์ (J. R. Croft) เขียนไว้ใน Bombacaceae : In Handbooks of the Flora of Papua New Guinea (วงศ์นุ่น คู่มือพืชพรรณแห่งปาปัวนิวกินี) ว่ามักจะ "รู้สึกไม่สบาย" เมื่อดื่มเหล้าหลังรับประทานทุเรียนเสร็จใหม่ๆ แต่จากการสืบสวนทางการแพทย์ของความเท็จจริงของความเชื่อที่ว่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้อย่างเป็นที่แน่นอน แต่การศึกษาของมหาวิทยาลัยซึคุบะในประเทศญี่ปุ่น พบว่าระดับกำมะถันสูงในเนื้อทุเรียนเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายยับยั้งการสร้างเอนไซม์อัลเดไฮด์ ดีไฮโดรเจเนส ซึ่งทำให้ร่างกายลดความสามารถในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายลงไปถึง 70%


9.) ชาวชวา เชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ความกำหนัด) และมีการกำหนดกฎข้อบังคับว่าสิ่งใดหรือสิ่งใดไม่ควรบริโภคพร้อมกับ หรือหลังการบริโภคทุเรียนเล็กน้อย ในภาษาอินโดนีเซียมีคำกล่าวว่า durian jatuh sarung naik (ดูรียัน จาอุห์ ซารุง ไนก์) ซึ่งแปลว่า "ทุเรียนตกโสร่งก็ถกขึ้น" ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อนี้ คำเตือนของคุณสมบัติทางด้านการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของทุเรียนในที่สุดก็แพร่กระจายไปทางตะวันตกอย่างรวดเร็ว — เฮอร์แมน เวตเตอร์ลิง (Herman Vetterling) ปราชญ์สวีเดนบอร์กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "คุณสมบัติกระตุ้นกำหนัด" ของทุเรียนไว้เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20


10.) ในช่วงปี พ.ศ. 2463 มีบริษัทในนครนิวยอร์กได้ทำผลิตภัณฑ์จากผลทุเรียนเรียกว่า "Dur-India (เดอร์ อินเดีย)" เป็นอาหารเสริม ขายอยู่ที่ราคา US$9 ต่อหนึ่งโหล แต่ละขวดบรรจุ 63 เม็ด แต่ละเม็ดประกอบไปด้วยทุเรียน พืชสกุลกระเทียมบางชนิดจากอินเดียและวิตามินอี บริษัทได้โฆษณาอาหารเสริมนี้ว่ามันเปี่ยมไปด้วย "พลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเข้มข้นในรูปแบบอาหารมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในโลกที่สามารถจะมีได้"


11.) ในประเทศใทย บางตำรากล่าวว่าทุเรียนเป็นต้นไม้ตามทิศที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยให้ปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะคำว่า "ทุเรียน" มีเสียงพ้องเกี่ยวกับ "การเรียน" จึงหมายถึง "ความเป็นผู้คงแก่วิชาการเรียนรู้หรือเป็นผู้เรียนรู้มาก"


12.) ถ้าผลทุเรียนตกลงมาโดนศีรษะก็จะสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างหนักได้เพราะเป็นของหนัก มีหนามแหลม และตกจากต้นทุเรียนที่มีความสูงพอสมควร ฉะนั้นจึงมีการแนะนำให้สวมหมวกนิรภัยขณะเก็บผล อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซเขียนว่าการตายยากที่จะเกิดขึ้นได้จากบาดแผล เพราะเลือดที่ไหลปริมาณมากที่ไหลออกมาเป็นการป้องกันการอักเสบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไปในตัว โดยทั่วไปมีคำกล่าวกันว่าทุเรียนมีตา เพราะจะไม่ตกยามกลางวันที่อาจจะทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บได้ มีคำกล่าวในประเทศอินโดนีเซียว่า ketibaan durian runtuh (กะติบบาอัน ดูรียัน รุนตุห์) ซึ่งแปลได้ว่า "รับทุเรียนตก" หมายถึงได้รับโชคหรือเคราะห์แบบไม่คาดฝัน แต่กระนั้นป้ายเตือนไม่ให้ยืนอยู่ใต้ต้นทุเรียนนานนัก ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปในประเทศอินโดนีเซีย


13.) ในช่วงปี พ.ศ. 2503 ก็มีการพบทุเรียนแบบไร้หนามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิดในป่าดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์ ผลที่ได้จากการเพาะเมล็ดจากทุเรียนที่ว่านี้ก็ไม่มีหนามด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุที่ตามปกติแล้วหนามทุเรียนพัฒนามาจากเกล็ดซึ่งในทุเรียนที่ไม่มีหนามก็จะเป็นเพียงเกล็ด ฉะนั้นจึงสามารถทำให้ผลิตทุเรียนไร้หนามได้โดยการขูดเกล็ดออกก่อนที่ผลจะโตเต็มที่


 คำอธิบายภาพ : JKv9ZW ทุเรียนแดง เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของรัฐ Sabah ประเทศมาเลเซีย


14.) มีทุเรียนพันธุ์หนึ่งเรียกว่า ทุเรียนแดง เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของรัฐ Sabah ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีแถบเดียวในโลกที่มีสายพันธุ์นี้อยู่ เนื้อของทุเรียนจะมีสีแดงมรกต สีเข้ม ต้นของมันจะสูงหลายสิบเมตร มีหนาวที่ยาว ผลสุกจะแตกคาต้น กลิ่นของเนื้อทุเรียนสีแดงจะไม่รุนแรงเหมือนทุเรียนทั่วไป กลิ่นคล้ายอัลมอนด์คั่ว แต่คนที่เคยกินเขาบอกว่ารสชาติอร่อยสู้ทุเรียนไทยไม่ได้!


15.) "ราชาแห่งผลไม้" ฉายานี้คาดว่าน่าจะมาจากรูปร่างที่น่ากลัวและกลิ่นที่รุนแรงของทุเรียน หรืออาจเป็นเพราะลักษณะภายนอกของผลที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีรสชาติอร่อยที่ยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบ ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุเรียนเป็นอาหารในชีวิตประจำวันและได้รับแสดงในสื่อที่สอดคล้องกับแนวคิดตามวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่น ทุเรียนเป็นสัญลักษณ์นามธรรมตามธรรมชาติของความน่าเกลียดและความสวยงาม ในฮ่องกง ภาพยนตร์ที่ฉายในปี พ.ศ. 2543 ของผู้กำกับฟรุท ชาน (Fruit Chan) ชื่อ "Durian Durian (ทุเรียน ทุเรียน)" (榴槤飄飄 , lau lin piu piu) และชื่อเล่นสำหรับความเอ๋อแต่น่ารัก ที่ตั้งให้กับตัวเอกภาพยนตร์โทรทัศน์แนวตลกของสิงคโปร์ชื่อ "Durian King (ราชาทุเรียน)" แสดงโดยอาร์เดรียน แปง (Adrian Pang) นอกจากนั้น รูปทรงประหลาดของโรงละครริมอ่าวในประเทศสิงคโปร์บ่อยครั้งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ทุเรียน" และ "The Big Durian (ทุเรียนใหญ่)" เป็นชื่อเล่นของกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย


16.) หนึ่งในรายชื่อพายุที่ถูกตั้งเป็นชื่อภาษาไทยที่ตั้งให้พายุหมุนเขตร้อนจากตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกคือ "ทุเรียน" ซึ่งถอดชื่อออกหลังจากพายุลูกที่สองที่ใช้ชื่อนี้ในปี พ.ศ. 2549


17.) ทุเรียนเป็นผลไม้ที่สัตว์ป่าหลายชนิดชื่นชอบ บางเวลาทุเรียนยังแสดงถึงสัตว์ลึกลับในมุมมองของมนุษย์อย่างในตำนานของโอรัง มาวัส (Orang Mawas) ไอ้ตีนโตฉบับมาเลเซีย และฉบับสุมาตรา โอรัง เป็นเดาะก์ (Orang Pendek) ซึ่งทั้งคู่ถูกอ้างว่าชอบกินทุเรียน


18.) ในประเทศมาเลเซียสิ่งที่สกัดจากใบและรากใช้เป็นยาลดไข้ได้ น้ำจากใบใช้วางบนศีรษะของคนป่วยเป็นไข้เพื่อลดไข้ รายละเอียดที่สมบูรณ์ที่สุดทางการแพทย์ที่ใช้ทุเรียนในการรักษาไข้อยู่ในตำรับยาของประเทศมาเลเซีย รวบรวมโดยเบอร์คิลล์ (Burkill) และแฮนนิฟฟ์ (Haniff) ในปี พ.ศ. 2473 โดยสอนให้ผู้อ่านต้มรากของชบาฮาวาย (Hibiscus rosa-sinensis) กับรากของทุเรียนชนิด Durio zibethinus ลำไย เงาะขนสั้น (Nephelium mutabile) และขนุน และดื่มน้ำที่สกัดออกมาหรือใช้พอก


19.) ชาวมาเลเซียได้นำทุเรียนมาทำทุเรียนดองและทุเรียนแช่อิ่ม เมื่อนำทุเรียนมาบดผสมกับเกลือ หัวหอม และ น้ำส้มสายชู จะเรียกว่า โบเดร์ (boder)

20.) ในเกาะชวาจะหั่นเมล็ดทุเรียนบางๆ และปรุงด้วยน้ำตาลเหมือนขนมฉาบน้ำตาล แต่เมล็ดทุเรียนที่ยังไม่ได้ปรุงสุกนั้นมีพิษจากกรดไขมันไซโคลโพรพีน ไม่ควรรับประทาน


21.) เต็มโพยะก์ (Tempoyak) เป็นทุเรียนดองที่ใช้ทุเรียนคุณภาพต่ำที่ไม่เหมาะกับการบริโภคสดๆ สามารถรับประทานได้ไม่ว่าจะปรุงสุกหรือไม่ก็ได้ เช่น นำไปทำเป็นแกงกะหรี่ เป็นต้น ซัมบัล เต็มโพยะก์ คืออาหารของประเทศอินโดนีเซียที่ทำจากทุเรียนดอง กะทิ และรวมเข้ากับส่วนผสมที่เผ็ดที่รู้จักกันในชื่อ ซัมบัล (sambal)


22.) การกินทุเรียน 4 - 6 เม็ด จะเทียบเท่าการดื่มน้ำอัดลม 2 กระป๋อง (พลังงานประมาณ 400 กิโลแคลอรี) และการกินทุเรียนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดน้ำได้ และแนะนำว่าไม่ควรกินเกิน 2 เม็ดกลาง หลังกินอาหารจานหลัก สำหรับคนธาตุไฟ การกินทุเรียนทำให้เกิดโรคร้อนในและเจ็บคอได้ง่าย วิธีป้องกัน คือ ดื่มน้ำผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา หรือดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อขับสารซัลเฟอร์และช่วยลดอาการร้อนในได้


23.) สำหรับคนท้อง ทุเรียนมีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทารกในครรภ์ทั้งนั้น โดยเฉพาะโฟเลตซึ่งถือเป็นวิตามินวิเศษที่จะช่วยทำให้เซลล์ตัวอ่อนเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติ ป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก ลดภาวะอาการดาวน์ซินโดรม หลอดประสาทไม่ปิด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการแต่กำเนิด จึงเป็นเหตุผลที่น่าจะไขข้อข้องใจได้ว่า คนท้องสามารถกินทุเรียนได้


24.) ทุเรียนมีกำมะถันที่ออกฤทธิ์ร้อนแก่ร่างกาย ทำให้เป็นร้อนในง่าย บวกกับอากาศที่กำลังร้อนอบอ้าว หากกินมากเกินไป จะทำให้ร่างกายยิ่งร้อนมาก ความดันโลหิตพุ่งสูง แน่นท้องได้ ตามตำราแพทย์ไทยหรือจีน ต่างก็แนะนำวิธีแก้อาการร้อนในจากทุเรียนไว้คล้ายๆ กัน คือ ให้กินอาหารธาตุเย็นเข้าไปปรับสมดุลของร่างกาย เช่น มังคุด แตงโม ส้ม สับปะรด เป็นต้น อาจชงน้ำเกลือเจือจางดื่ม หรืออาจจะดื่มน้ำเปล่าตามไปมากๆ


 คำอธิบายภาพ : pic57e029446e971pic5


25.) ทุเรียนสายพันธุ์หลง – หลินเมืองลับแล  จ.อุตรดิตภ์ เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดในโลก ถ้าพูดถึงเฉพาะรสชาติ หลินลับแลจะอร่อยกว่าหลงลับแล เพราะเนื้อเนียนและรสชาติกลมกล่อมกว่าหลงลับแล แต่หลินลับแลราคาแพงกว่าหลงลับแล หาทานได้ยาก เพราะติดผลยาก บางปีอาจจะไม่ติดลูกเลย เนื้อน้อย เปลือกหนามาก ชาวสวนเมืองลับแลจึงนิยมปลูกหลงลับแลมากกว่าหลินลับแล เพราะติดผลและการดูแลรักษาง่ายกว่าหลินลับแลมาก อย่างไรก็ตามรสชาติของทุเรียนทั้งหลงลับแลและหลินลับแล จะมีรสชาติอร่อยกว่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ จึงนับเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดในโลก


 คำอธิบายภาพ : pic57e0282f54232pic5


26.) "สาริกา” คือ สุดยอดทุเรียนพื้นเมืองของภาคใต้ ว่ากันว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดี ไม่แพ้พันธุ์ตลาดอย่างหมอนทอง ทุเรียนพันธุ์สาลิกา เป็นพันธุ์พื้นบ้านของบ้านปากพู่ ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา หารับประทานได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม และเฉพาะที่อำเภอกะปงเท่านั้น ว่ากันว่า หากใครได้ชิม ก็จะติดใจในรสชาติที่หวาน กลมกล่อม เนื้อเหลืองเข้ม เนียนละเอียด เปลือกบาง ลูกกลมกำลังเหมาะ


27.) ทุเรียน ช่วยฆ่าเชื้อ จากกำมะถันในเนื้อเป็นเสมือนยาปฏิชีวนะอ่อนๆ ถ่ายพยาธิ ช่วยเผาผลาญ จากความร้อนของกำมะถัน จึงทำให้ลดความอ้วน ช่วยระบาย จากกากที่เป็นเส้นใยยุ่บยั่บในเนื้อช่วยขัดล้างลำไส้ มีสารแอนตี้ออกซเด้นซ์และวิตามินอีสูง จะช่วยป้องกันและรักษา มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ลดไขมัน ลดคลอเรสเตอรอล ต้านความแก่


28.) โลกตะวันตกประมาณ 600 ปีมาแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้พรรณนาถึงทุเรียนว่า “เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติคล้ายอัลมอนด์”


29.) ทุเรียนในประเทศไทย พบหลักฐานว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเองและในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 ในระยะต้นเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด สำหรับผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง 3 พันธุ์ไม่ได้ จึงใช้เมล็ดจากทั้ง 3 พันธุ์นั้นปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย ซึ่งรายชื่อพันธุ์ทุเรียนเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารได้ มีถึง 227 พันธุ์ เเต่ที่นิยมปลูกและนิยมรับประทานกันในปัจจุบันมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง, ชะนี , ก้านยาว, และ กระดุม


30.) คนในประเทศ ลาว เขมร และพม่า เมื่อครั้งอดีต มีความเชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติให้ความร้อนทำให้เกิดเหงื่อออกมากกว่าปกติ และลดความร้อนนี้ ด้วยการให้รินน้ำใส่เปลือกทุเรียนที่กินเนื้อไปแล้ว และดื่มน้ำนั้น หรืออาจจะใส่เกลือลงไปในน้ำเล็กน้อยก็ได้ จะช่วยแก้อาการร้อนในจากการกินทุเรียน ซึ่งสาเหตุที่ช่วยแก้ร้อนในได้นั้นไม่ได้มาจากเปลือกทุเรียนแต่อย่างใด แต่มาจากการดื่มน้ำเข้าไปลดอาการร้อนในเสียมากกว่า


31.) ทุเรียนมีปริมาณเส้นใยอาหารและธาตุเหล็กสูงมากซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อมีการเปรียบเทียบทุเรียนพันธุ์หมอนทองกับผลไม้เมืองร้อนชนิดอื่นพบว่า มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าสละ, มังคุด, ลิ้นจี่, ฝรั่ง และมะม่วงสุก ตามลำดับ


 คำอธิบายภาพ : durain-2 Cr. รูปจาก @ lovefitt


32.) มีการวิจัย โดยการนำทุเรียนไปเลี้ยงหนูทดลอง ด้วยอาหารที่ผสมทุเรียนกับคอเลสเตอรอล พบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทองในอาหาร สามารถลดสารคอเลสเตอรอลทั้งหมดได้ 16% และลด LDL คอเลสเตอรอลได้ถึง 31.3% เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารที่มี คอเลสเตอรอลผสมอย่างเดียว จากการทดลองในครั้งนี้ทำให้พบว่า ถึงแม้ว่าในเนื้อทุเรียนจะมีปริมาณไขมันมากแต่ส่วนใหญ่เป็นไขมันดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย


33.) ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วยเอสเทอร์ คีโตน และสารประกอบกำมะถัน บางคนบอกว่าทุเรียนมีกลิ่นหอม ในขณะที่บางคนบอกว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรงจนถึงขั้นสะอิดสะเอียน ทำให้มีการห้ามนำทุเรียนเข้ามาในโรงแรมและการขนส่งสาธารณะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


34.) ทุเรียนพันธุ์หมอนทองสามารถช่วยลดระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ เพราะทุเรียนสายพันธุ์นี้มีสารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) และมีเส้นใยที่ช่วยลดไขมันได้ แต่ว่าต้องรับประทานแค่ 1 พูต่อวันเท่านั้น


35.) ทุเรียนสามารถนำมาแปรรูปหรือทำเป็นขนมหวานได้หลายชนิด เช่น ลูกกวาดโบราณ, ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมปังสอดไส้, ไอศกรีม, มิลก์เช็ก, เค้ก, คาปูชิโน, ข้าวเหนียวทุเรียน, เต็มโพยะก์, ทุเรียนดอง, ทุเรียนแช่อิ่ม, ทุเรียนกวน, ทุเรียนกรอบ, แยมทุเรียน, ทอฟฟี่ทุเรียน, แกงมัสมั่นทุเรียน, ทุเรียนทอด, ไอศกรีมรสทุเรียน, ส้มตำทุเรียน ฯลฯ หรือจะเป็นเมนูพิเศษที่หากินได้ยาก เพราะต้องไปเยือนถึงสวนก็คือ ยำทุเรียน ของสวนลุงทองใบ จ.ระยอง ซึ่งคิดค้นสูตรยำทุเรียนขึ้นมาเอง จะใช้เนื้อทุเรียนหมอนทองดิบมาหั่นเป็นเส้น ใส่แครอต ใส่หมูสับ แล้วปรุงรสมะนาว น้ำปลา พริก คล้ายกับยำทั่วไป เรียกได้ว่าที่ จ.ระยอง ก็มีให้ชิมที่สวนลุงทองใบเพียงแห่งเดียว


@ รวบรวมโดย สะตอฟอร์ยู

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 3731
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง