ย้อนรอยฐานกำลังทหารที่ญี่ปุ่นในสงครามโลก ครั้งที่ 2
ก่อนปีพุทธศักราช 2484 บริเวณบ้านเขาฝาชีหรือตลาด กม. 30 ริมคลองละอุ่น ยังมีสภาพเป็นป่าชายเลนน้ำทะเลท่วมถึง อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้โกงกาง ไม้แสม ปราศจากบ้านเรือนหรือชุมชนดังเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมมีเพียงทางหลวงแผ่นดินสายเพชรเกษมหมายเลข 4 ซึ่งมาสิ้นสุดเพียงแค่คลองละอุ่นเพราะไม่มีสะพานข้ามหากจะเดินทางไปยังตัวเมืองระนองต้องใช้ เส้นทางเรือเท่านั้น บ้านเรือนคนไทยดั้งเดิมมีประมาณ 5 หลังคาเรือน ตั้งเรียงรายอยู่ที่บ้านบางลัด ห่างจากบ้านเขาฝาชีไปทางทิศเหนือเยื้องไปด้านตะวันตกของเขาฝาชี ประมาณ 3 กิโลเมตร
ปีพุทธศักราช 2484 กองกำลังทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบก ณ ปากน้ำจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคาม 2484 ได้ขอผ่านประเทศไทยเพื่อยกพลไปบุกยึดประเทศสหภาพพม่า และสามารถยึดเกาะสอง (วิคตอเรียปอยต์) ซึ่งอยู่เขตพม่าได้ในตอนเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2484 การเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินระยะแรกได้อาศัยเส้นทางหลวงแผ่นดินเพชรเกษม หมายเลข 4 สายชุมพร - กระบุรี –คลองละอุ่น แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพถนนและภูมิประเทศ ทำให้การเคลื่อนย้ายลำเลียงกำลังพล เสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์กระทำได้อยากลำบาก เพราะถนนแคบ คดโค้ง บางช่วงสูงชัน การลำเลียงอาวุธหนักไม่สามารถใช้เส้นทางได้ ซึ่งต่อมาได้มีแนวคิดที่จะสร้างเส้นทางรถไฟขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 เริ่มแรกหลังจากยกพลขึ้นบกทหารญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังแนวหน้า ค้นหาชัยภูมิที่มีความเหมาะสมในการตั้งกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในที่สุดทหารญี่ปุ่นได้เลือกบ้านเขาฝาชี (ตลาดบางแก้วในปัจจุบัน)เป็นที่ตั้งฐานกำลังทหารญี่ปุ่นอีกแห่งของทางฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ฐานกำลังแห่งนี้นับเป็นยุทธภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะสามารถเลือกใช้ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ การเคลื่อนย้ายกำลังมาเสริมกองกำลังของทหารญี่ปุ่นได้เข้ามา 2 เส้นทาง เส้นทางแรก เคลื่อนย้ายกำลังพลมาจากจังหวัดชุมพรมาตามทางหลวงเพชรเกษม เส้นทางที่สอง ได้เคลื่อนมาทางเรือทางทะเลอันดามันอ้อมช่องแคบมะละกาด้านสิงคโปร์ และจอดพักเรือทอดสมอด้านทิศใต้ของแหลมวิคตอเรยปอยต์ (บริเวณที่ตั้งจังหวัดเกาะสองในปัจจุบัน) หลังจากนั้นจึงถ่ายลงเรือรบขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเรือเสบียงแล่นเรือเข้ามาทางแม่น้ำกระบุรี ไปทางทิศเหนือ ผ่านเกาะยาว เกาะขวาง และแยกเข้าคลองละอุ่น ระยะทางประมาณ 6 - 8 กิโลเมตร
ฐานกำลังทหารญี่ปุ่น ณ เขาฝาชี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมต่อยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นอย่างยิ่ง ลักษณะการวางกำลังมีจุดเด่นหลายประการ ได้แก่
1.ที่ตั้งฐานกำลังทหาร มีกองบัญชาการของทหาร ระดับสูงตั้งอยู่บนยอดเขาฝาชีระดับความสูง 259 เมตร ลักษณะตัวอาคารทำด้วยไม้มุงด้วยสังกะสี ณ บริเวณจุดนี้สามารพมองเห็นได้ระยะไกลครอบคลุมทั้งลำแม่น้ำกระบุรี คลองละอุ่น ตลอดจนคลองเขมาใหญ่และคลองมะลิวัลย์ในประเทศสหภาพพม่าทำเลที่ตั้งฐานทหารจึงมีความได้เปรียบในทางยุทธการ เพราะสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของข้าศึกได้ทั้งทางบกทางทะเลและทางอากาศบนยอดเขาฝาชีมีต้นไม้ยางขนาดใหญ่ จำนวน 2 ต้น )ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียว) ทหารญี่ปุ่นจะใช้บันไดลิงปีนขึ้นไปบนยอดไม้ เพื่อตรวจดูความเป็นไปของข้าศึกด้วยกล้องส่องทางไกลมองเห็นได้ไกลถึงเกาะสอง นอกจากนี้บนยอดเขาจะเป็นที่ตั้งของฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) ปืนใหญ่จะทำงานทุกครั้งที่ถูกเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรบินเข้าโจมตีฐานด้วยเครื่องบินจะทิ้งระเบิดและยิงกราดด้วยปืนกลจะบินเข้ามาทางฝั่งประเทศสหภาพพม่า
ถัดจากตัวอาคารของผู้บัญชาการฐานบริเวณไหล่ฝาชี จะรายรอบด้วยหลุมเพลาะอุโมงค์หลบภัยและอาคารที่พักของนายทหารญี่ปุ่นระดับรองลงมาสร้างไว้เรียงรายกระจัดกระจายตามหลืบหรือซอกเขาสามารถอำพรางหรือซ่อนเร้นจากเครื่องบินตรวจการณ์ของฝ่ายพันธมิตรได้เป็นอย่างดี ทำให้มีความปลอดภัยจากการถูกการโจมดี ส่วนบริเวณเขาฝาชีใกล้ทางหลวงหมายเลข 4 จะเป็นที่ตั้งของอาคารที่พักของทหารญี่ปุ่น และมีคุกดินสำหรับคุมขังเฉลยศึก ส่วนใหญ่จะเป็นแขกมาเลเซีย อินเดีย หรือคุกขังคนไทยที่ถูกจับด้วยข้อหาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคและบริโภค ถัดจากตีนเขาฝาชีไปทางด้านใต้ริมคลองละอุ่นเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นป่าชายเลนน้ำทะเลท่วมถึงทหารญี่ปุ่นได้คุมเฉลยศึกและกรรมกรขุดตัดดินจากเนินเขาเพื่อสร้างทางรถไฟตัดผ่านส่วนหนึ่งและจากเนินดินตีนเขานำไปถมปรับพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกสร้างอาคารที่จำเป็นประกอบด้วย (1)อาคารโกดัง ทำด้วยไม้มุงด้วยสังกะสีขนาดใหญ่สร้างเลียบริมฝั่งคลองละอุ่นเชื่อมต่อเนื่องกับ (2) ท่าเทียบเรือ ตลาดแนวลำคลองละอุ่น ทหารญี่ปุ่นได้ใช้โกดังแห่งนี้เป็นที่เก็บเสบียงอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหินและยุทธภาระทุกอย่าง ยกเว้นอาวุธยุทธภัณฑ์ กระสุนปืน มิได้เก็บไว้ในส่วนนี้ โดยขนถ่ายจากรถไฟหรือจากเรือลำเลียง ซึ่งจอดทอดสมออยู่ในลำคลองละอุ่นบริเวณท่าเทียบเรือจะมีท่อน้ำตั้งอยู่ในระยะ ๆ เพื่อขนถ่ายน้ำลงเรือทุกประเภท น้ำเหล่าน้ำต่อท่อนำมาจากแหล่งเก็บน้ำมาจากแหล่งเก็บน้ำบริเวณตีนเขาฝาชีระยะทางประมาณ 400 เมตร ถัดจากอาคารโกดังไปทางตีนเขาฝาชีเป็นที่ตั้งของ (3) โรงเรือนที่พัก ของเฉลยศึกหรือกรรมกรมีลักษณะเป็นโรงเรือนชั่วคราวตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วไป (4) อาคารพยาบาล (5) อาคารโรงอาหาร เลี้ยงพวกเชลย (6)สถานีรถไฟเขาฝาชี ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฐานเส้นทางรถไฟตัดผ่านกลางฐานมีลักษณะเป็นทางรถไฟคู่ขนานเพราะต้องใช้ในการกลับหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ส่วนบริเวณด้านทิศเหนือของสถานีรถไฟติดกับตีนเขาฝาชีบางส่วน (ที่ตั้งของโรงเรียนละอุ่นวิทยาคารในปัจจุบัน) เป็นสถานที่ฝังศพของเชลยศึกหรือกรรมกรสร้างทางรถไฟซึ่งล้มตายระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก
2. กองกำลังส่วนหน้า ตั้งอยู่ ณ เกาะขวาง และเขาหัวค่าง เกาะขวาง ตั้งอยู่กลางแม่น้ำกระบุรี เป็นที่ตั้งของกองกำลังตรวจการณ์ทางน้ำชั้นหน้าสุดของทหารญี่ปุ่น รอบเกาะบางช่วงมีอุโมงค์ลอดใต้ดิน อุโมงค์ดังกล่าวใช้สำหรับหลบภัยการโจมตีของข้าศึกจากคำบอกเล่าทราบว่าภายในอุโมงค์ใต้ดินเหล่านี้มีบางตอนมีลักษณะเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ มีหลายห้องติดต่อกันมีทางเข้าซับซ้อน นอกจากนี้บนเกาะยังมีหลุมเพลาะและที่ตั้งของฐานปืนใหญ่ ส่วนเขาหัวค่างซึ่งตั้งอยู่ปากคลองละอุ่นเป็นจุดตรวจการณ์ในส่วนนี้ เขาหัวค่างมีลักษณะการสร้างฐานกำลังคล้ายกับเกาะขวางด้านที่หันหน้าเข้าสู่คลองละอุ่น และคลองกระบุรีจะมีหลุมเพลาะโดยรอบนอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งฐานปืนใหญ่อีกด้วย จุดเขาหัวค่าง กำลังทหารสามารถเดินทางเท้าฝ่านป่าโกงกางไปยังฐานทัพบ้านเขาฝาชี ระหว่างประมาณ 1.5 กิโลเมตร เส้นทางเดินทำด้วยลำไม้ไผ่พาดต่อเนื่องกันตลอดแนว
สำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟ สายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อลำเลียงเสบียงอาหาร กำลังพล อาวุธหนักจากจังหวัดชุมพรไปฝั่งอันดามัน การสำรวจเริ่มเมื่อ 16 พฤษภาคม 2486 โดยญี่ปุ่น ได้ส่ง พ.ท.คุโมตะ กับพวกรวม 15 คน ฝ่ายไทยได้ส่ง พ.ต.ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ไปร่วมสำรวจเส้นทางรถไฟสร้างขนานกับทางหลวงสายชุมพร-กระบุรี จนถึงคลองละอุ่น รวมระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร โดยผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดของไทยกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟผ่านคอคอดกระขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2486 การสร้างทางมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมกรหายากเพราะราษฎรไทยส่วนใหญ่พากันเป็นลูกจ้างผู้รับเหมาช่วงทำสงครามให้แก่ทหารญี่ปุ่นมีเครื่องทุ่นแรง การทำงานดินใช้กรรมกรชาวมาเลเซีย เป็นส่วนใหญ่ มีชาวจีน ชาวไทย เป็นส่วนน้อยซึ่งมักจะเป็นช่างไม้สำหรับทำสะพานไม้ชั่วคราวกองทหารญี่ปุ่นเริ่มทำงานเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2486 ในการก่อสร้างทางรถไฟมีเชลยศึกและกรรมกรล้มตายเป็นจำนวนมาก คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่ทหารญี่ปุ่นลำเลียงมาจากมลายูมาสถานีรถไฟชุมพร แล้วเดินไปตามแนวทางเพื่อทำงานได้ล้มป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และถูกฝังไว้ตื้น ๆ บางทีก็ใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผา บางคนก็หลบหนีไปทางจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างทางได้ขออาหารจากคนไทยกิน หน่วยงานทางราชการได้จัดที่พักให้อยู่ชั่วคราว และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ภายหลังทหารญี่ปุ่นได้รับตัวกลับไปและกวดขันมิให้หลบหนีอีก
การจัดหาไม้หมอน ไม้สะพาน และหินนั้น ทหารญี่ปุ่นได้จัดหาเองและให้นายช่างฝ่ายไทยร่วมด้วย รางรถไฟจะเป็นรางขนาด 50 ปอนด์ และ 60 ปอนด์ โดยนำมาจากมลายู แต่การสร้างทางสายชุมพรทำไม่ได้ตามแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีประแจทางหลีกผู้ควบคุมงานฝ่ายญี่ปุ่นชื่อ พ.อ.โองาวา ภายหลังเปลี่ยนเป็นนายอิชุอิ และมีนายกามาฮาชิ เป็นช่างก่อสร้างทางรถไฟชุมพร – กระบุรี แนวรถไฟเริ่มจากด้านทิศใต้สถานีชุมพร ตรงหลักกิโลเมตร 469+850.30 ตลอดทางมีสะพานชั่วคราว 31 สะพาน รางรถไฟรื้อมาจากเมืองกลันตัน (มลายู) บรรทุกมาโดยขบวนรถไฟพิเศษมาลงที่ชุมพรวางรางแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2486 มีรัศมีโค้งตั้งแต่ 400 เมตร ถึง 1,000 เมตร ประมาณ 137 โค้ง ตัดถนนเพชรเกษม ในปัจจุบัน 8 จุด สถานีย่อยมีสถานีวังไผ่ สถานีท่าสาร สถานีปากจั่น สถานีทับหลี สถานีกระบุรี สถานีคลองลำเลียง สถานีเขาฝาชี รวม 7 สถานี อาคารสถานีทำด้วยไม้เนื้ออ่อน และไม้ไผ่ มีลักษณะชั่วคราวเริ่มเดินขบวนรถไฟลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์โดยใช้รถแบบรถบรรทุกขนาดหนักของ ร.ฟ.ท. และรถยนต์บรรทุกที่วิ่งบนทางรถไฟลากจูงรถพ่วงไปยังปลายทางสถานีเขาฝาชี แล้วถ่ายสิ่งของลงเรือล่องไปตามคลองละอุ่นออกไปบรรจบคลองกระบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วล่องต่อไปเกาะสองประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อไปยังพม่า ญี่ปุ่นโดยใช้เส้นทางรถไฟลำเลียงอยู่ประมาณ 11 เดือน จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินพันธมิตรขนาดสี่เครื่องยนต์ ประมาณ 20 ลำได้ทำการบินโจมตีทิ้งระเบิดทำลายทางรถไฟ เรือ เสบียง และเรือบรรทุกอาวุธ ที่รับขนถ่ายจากขบวนรถไฟ ถูกระเบิดจมน้ำที่คลองละอุ่น จนกระทั่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2488 ระหว่าง 14.00 – 18.00 น.เครื่องบินพันธมิตร 30 ลำ ได้ทิ้งลูกระเบิด และกราดยิงด้วยปืนกลบริเวณสถานีรถไฟชุมพร รางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี ค่ายทหารญี่ปุ่นที่เขาฝาชีซ้ำ จึงได้รับความเสียหายมาก ทหารญี่ปุ่นได้พยายามซ่อมทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี ให้ใช้การได้ แต่แก้ปัญหาฝ่ายพันธมิตรมาโจมตีเรือบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รับช่วงจากรถไฟไม่ได้ ทำให้เรือจมเสียหายมากจนไม่สามารถลำเลียงอาวุธตามเส้นทางนี้ได้อีก คงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารกับสัมภาระเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่งให้หน่วยทหารที่รักษาการที่เกาะสอง ประเทศสหภาพพม่า เท่านั้น
ก่อนระยะที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม (กองทัพญี่ปุ่นเสนอยอมแพ้สงครามเมื่อ 10 สิงหาคม 2488) ในวันที่ 15 มิถุนายน 2488 ทหารญี่ปุ่นได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ท่าเรือเขาฝาชี ตอน กม. 30 ถึง กม. 28 โดยแจ้งกับอนุกรรมการฝ่ายไทยว่า เพื่อเอารางไปวางในทางรถไฟบางตอนที่ถูกระเบิดบางแห่งทางใต้ ครั้งเมื่อสงครามยุติทหารสหประชาชาติได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อ 19 สิงหาคม 2488 ต่อจากนั้นทหารอังกฤษจึงได้รื้อทางรถไฟสายนี้ต่อจากญี่ปุ่นบรรทุกรถไฟกลับไปเมืองกลันตาตามเดิม จึงไม่มีทางรถไฟสานี้ให้เห็นดังเช่น ทางรถไฟสาย ไทย-พม่า ด้านจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากแนวคันดินซึ่งอยู่ขนานกับถนนเพชรเกษม ตลอดช่วงระยะจากกระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 30 เส้นทางรถไฟสาย ชุมพร – กระบุรี ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับทางรถไฟสายกาญจนบุรีในระหว่างสงครามเอเชียบูรพาตั้งแต่ต้นจนสงครามยุติลงแต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้จักเส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือที่รู้จักชื่อว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ
ปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วนับ 60 ปีเศษ คนรุ่นหลังนับว่ามีจำนวนลดน้อยลงที่จะรู้ว่า ณ ตลาดเขาฝาชีแห่งนี้ในอดีตเป็นยุทธภูมิสงครามโลกที่คลาคล่ำไปด้วยกองกำลังทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกแขกมลายู (แขกกลา) ขณะนี้คงหลงเหลือเพียงหลักฐานหรือร่องรอยที่บ่งชี้ยืนยันอย่างหนาแน่นว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เคยมาตั้งฐานทัพอยู่ที่นี้ อันได้แก่ อาวุธปืน และกระสุนปืนชนิดต่าง ๆ ดาบซามูไร ปลอกลูกระเบิด หลุมระเบิด ลูกระเบิด หลุมเพลาะ อุโมงค์ใต้ดิน อุโมงค์หลบภัย เนินคันดิน ทางรถไฟ ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ รางรถไฟ ไม้หมอนรถไฟ ซากกระดูกเชลยศึกที่ฝังอยู่ใต้ดิน ซากเรือเสบียงหรือเรือรบและบ่อน้ำญี่ปุ่นซึ่งยังมีสภาพสมบูรณ์ที่ใช้เป็นประปาหมู่บ้านในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้นับวันมีแต่จะถูกลืมเลือน ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้คงอยู่เป็นหมวดหมู่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงต้องกระทำอย่างเร่งรีบก่อนที่จะสายเกินไปอีกทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนสติให้คนรุ่นใหม่ว่าสงครามมิได้ให้อะไรที่ยั่งยืนต่อมวลมนุษยชาติ มีเพียงสันติธรรมเท่านั้นที่อยู่คู่กับโลกมนุษย์อย่างถาวรตลอดไปตราบชั่วนิรันดร์
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดจาก : http://www.ranongvariety.com/show_history.php?id=35
สะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook
Relate topics
- ลุ่มน้ำตรังลุ่มน้ำตรังเป็นลุ่มน้ำย่อยที่มีความสำคัญลุ่มน้ำย่อยในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก อยู่ในเขตจังหวัดตรัง จัดเป็น 2 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำของประเทศไทย มีลำน้ำสำคัญ 2 สาย
- อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จ.พังงาอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อสิงหาคม 2534 มีพื้นที่ประมาณ 125ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตอำเภอ ท้ายเหมือง อำเภอกะปง อำเภอตะกั่ว-ป่า และอำเภอเมือง ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวคือ
- สะพานเกาะยอ หรือ สะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทยสะพานเกาะยอ หรือ สะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย อยู่ในอำเภอเมืองสงขลา และอำเภอสิงหนคร โดยเชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา และบ้านเขาเขียว อำเภอสิง
- พระนอนแหลมพ้อ ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2330 หรือประมาณในสมัยรัชกาลที่ 3พระนอนแหลมพ้อ ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2330 หรือประมาณในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดพระนอนแหลมพ้อถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2330 หรือประมาณในสมัยรัชกาลที่ 3 สถาป
- สถาบันทักษิณคดีศึกษา หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ บริเวณใกล้เชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่ 2 สถาบันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ลักษณะของอาคารเป็นสถาปั
- เขาตังกวน พระธาตุเจดี กว่า 700 ปี คู่เมืองสงขลาเจดีย์พระธาตุเขาตังกวน กว่า 700 ปี คู่เมืองสงขลา สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี เดิมชื่อว่า “เมืองตังอู” เจ้าเมืองตังอูชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเมืองตังอู” มีพระราชครู ชื่อว่า “ป
- เรื่องราวในจังหวัดพัทลุงที่มีการขุดพบทองคำ นำสันนิษฐานเชื่อมโยงไปสู่ ทองห่อยอดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และทองห่อยอดพระธาตุวัดเขียนบางแก้วพัทลุงจากเรื่องราวในจังหวัดพัทลุงที่มีการขุดพบทองคำ นำสันนิษฐานเชื่อมโยงไปสู่ #ทองห่อยอดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และ #ทองห่อยอดพระธาตุวัดเขียนบางแก้วพัทลุง ทำให้หวนนึกถึง #ประวัตินางเลือดขาวผู้สร้างพ
- เกาะพยาม จ.ระนอง ...ดินแดนกาหยูหวานและหาดทรายขาวเกาะพยาม อยู่ฝั่งทะเลอันดามัน จ.ระนอง เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากเกาะช้าง (ระนอง) อยู่ห่างเกาะช้างมา ทางใต้ 4 กิโลเมตร ตอนกลางของเกาะพื้นที่เป็นภูเขามีป่าไม้และสัตว์ป่าประเภทนก ลิงและหมูป่า พื้นที
- ประวัติความเป็นมาของ ประเพณีรับเทียมดา ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลารับเทียมดา หรือ รับเทวดา เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยพุทธในเขตชนบทภาคใต้ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่ออันสืบเนื่องกันมาในสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อว
- เกาะละวะ (เกาะละวะใหญ่) เกาะเล็กๆในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาทะเลไทยสวยไม่แพ้ที่ใดใน 3 โลก...และวันนี้จะพาเพื่อนๆไปพิสูจน์กันว่าที่กล่าวมานั้นไม่ได้เวอร์แต่อย่างใด กับการเดินทางท่องไปตามใจฉัน ณ เกาะละวะ หรือ เกาะละวะใหญ่ เกาะเล็กๆในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุ