สถาบันทักษิณคดีศึกษา หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ บริเวณใกล้เชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่ 2 สถาบันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ลักษณะของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคใต้ แบ่งออกเป็น 4 อาคาร โดยแต่ละอาคารจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ แสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ โบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น เครื่องประดับศาตราวุธที่ใช้กันในภาคใต้ เช่น กริช มีดชายธง มีดหางไก่ แสดงผ้าทอพื้นเมือง เช่น ผ้าทอพุมเรียง ผ้าทอปัตตานี ห้องแสดงกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่าง ๆ ที่มีรูปแบบหาชมได้ยาก ห้องแสดงการละเล่นพื้นเมือง เช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า ห้องแสดงวิถีชีวิตชาวใต้ เช่น การแสดงการละเล่นและของเล่นเด็ก เช่น การเล่นซัดราว การเล่นว่าว ลูกข่าง ห้องแสดงประเพณีการบวช ห้องแสดงการรักษาพยาบาลแบบโบราณ
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา
ตั้งอยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จัดแสดงข้อมูล เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบนิยมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาเริ่มเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยา อาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามบรมราชกุมารพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนวมภูมินทร์
การจัดพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ใช้วัตถุของจริงประมาณ 49,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมี หุ่นจำลอง เสียง ภาพ วีดิทัศน์และมัลติมีเดีย ( Multimedia ) แสดงประกอบเนื้อหา เป็นแบบนิทรรศการถาวร ในอาคาร 4 กลุ่มดังกล่าวมาแล้วคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3,300 ตารางเมตร ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวทางทักษิณคดีศึกษาโดยจัดแบ่งเป็นห้อง
อาคารนวมภูมินทร์
ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ (History and Ethnology) จัดแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อาทิโบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น และโบราณวัตถุที่แสดงว่ามีการติดต่อระหว่างคนพื้นเมืองภาคใต้กับกลุ่มชนภายนอก เช่น จีน อินเดีย มลายู อาหรับ และกลุ่มประเทศ ทางตะวันตก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอาณาจักรโบราณในภาคใต้ ได้แก่ อาณาจักรตามพรลิงก์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อาณาจักรลังกาสุกะที่จังหวัดปัตตานี-ยะลา อาณาจักรศรีวิชัยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสทิงปุระ-พัทลุง ที่บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ตลอดจนจัดแสดงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ ได้แก่ ชาวเล และชาวซาไกหรือเงาะป่า
อาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ
ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว (Coconut Graters) จัดแสดงเหล็กขูด หรือกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งทำมากจากวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ เหล็ก กระดูกช้าง เป็นต้น ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะนำเนื้อมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ เช่น เหล็กปอกเปลือกมะพร้าว เหล็กแงะเนื้อมะพร้าว กรามช้าง และตรอง ที่ใช้กรองน้ำกะทิ สำหรับทำอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี (ซออู้) เป็นต้น
ห้องเครื่องมือช่างไม้และงานศิลปหัตถกรรม (Carpenter's Tools and Handicrafts) จัดแสดงเครื่องใช้ช่างไม้ ชนิดต่าง ๆ เช่น เลื่อย รางทัด กบไสไม้ เครื่องเจาะ เครื่องกลึง เป็นต้น และงาน หัตถกรรม ได้แก่ งานไม้แกะสลัก ที่ใช้ตกแต่งอาคารและเรือกอและ พิมพ์ทำขนม งานแกะสลัก รูปหนังตะลุง จัดแสดงลวดลาย และขั้นตอน งานจักสาน เสื่อกระจูดและย่านลิเพา นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จักสานจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม่ไผ่ ใยตาล เตย หวาย คล้า คลุ้ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาและฝีมือ เชิงช่าง ของชาวใต้ในการปรับใช้พืชที่มีในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์
ห้องการศึกษา (Educational Organization in the South) จัดแสดงเกี่ยวกับการศึกษาตามประเพณีโบราณของชาวใต้ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา จัดการศึกษาในมณฑลเทศาภิบาลมีการจัดตั้งโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านฝึกหัดครู อาชีวะ และมหาวิทยาลัยตลอดจนการศึกษาของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้
ห้องนันทนาการ (Recreation) จัดแสดงอุปกรณ์ตัวอย่างจำลอง และภาพถ่ายเกี่ยวกับการเล่นและกีฬาในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น กรือโต๊ะ บานอ สะบ้า ลูกข่าง ซัดต้ม หมากขุม ซัดราว ชักว่าว ชนวัว ชนแพะ ฟันควาย ตีไก่ เป็นต้น ซึ่งการเล่นและกีฬาบางอย่าง เป็นการแข่งขันเพื่อบันเทิงสนุกสนาน แต่บางอย่างนอกจากเล่นเพื่อความสนุกรื่นเริงแล้วก็ยังเป็นการพนันอีกด้วย
ห้องเครื่องประทีป (Lamps for Lighting) จัดแสดงเกี่ยวกับ เครื่องกำเนิดไฟและเครื่องตามไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการการใช้ไฟให้แสงสว่างของชาวใต้ เช่น เหล็กไฟตบ เหล็กไฟตี และตะเกียงรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตะเกียงคางคก ตะเกียงไข่เป็ด ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแสงจันทร์ ตะเกียงกลีบบัว ตะเกียงรั้ว ตะเกียงกล้อง เป็นต้น
ห้องเครื่องแก้ว (Glassware)
จัดแสดงเครื่องแก้วที่พบและใช้กันในภาคใต้ มีการใช้แก้วเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ลูกปัด กำไลแก้ว เป็นต้น จัดแสดงภาชนะแก้วชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือน โดยจำแนกตามสี ภาชนะแก้วที่ใช้ใส่เครื่องสำอาง เครื่องหอม ขวดแก้วและขวดโหล หลายรูปแบบตลอดจนทุ่นแก้วอวนทะเล และลูกแก้วซึ่งเป็นของเล่นสำหรับเด็ก
อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยา
ห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช (Metalware) จัดแสดงเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ และโลหะผสม เช่น เงิน ตะกั่ว ทองแดง สำริด นาก ทองเหลือง เป็นต้น ซึ่งภาชนะบางชนิดจัดแสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้สอย เช่น ขันหมาก เครื่องเชี่ยน กระบอกขนมจีน เป็นต้น
ห้องอิสลามศึกษา (Islam Studies) จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติพัฒนาการ และการแพร่กระจายของศาสนาอิสลามในภาคใต้ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ห้องการละเล่นพื้นเมือง (Folk Plays and Music Instruments) จัดแสดงเกี่ยวกับการละเล่นและดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ด้วยระบบมัลติมีเดีย (Multimedia) ได้แก่ หนังตะลุง โนรา กาหลอ ลิเกป่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงหนังตะลุงจำลอง รูปหนังตะลุง หุ่นแสดงท่ารำโนรา หุ่นนักดนตรีโนรา เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และประวัติศิลปินแห่งชาติที่เป็นชาวใต้
ห้องเหรียญและเงินตรา (Coins and Currencies) จัดแสดงพัฒนาการของเหรียญและเงินตราที่ใช้ในประเทศไทย และในภาคใต้ รวมทั้งเหรียญและ เงินตราต่างชาติที่พบในภาคใต้ เช่น เหรียญจีนสมัยราชวงศ์ต่าง ๆ เหรียญเงินตราของชาวชวา มลายู ตลอดจนเหรียญเงินตราของประเทศในยุโรปที่ใช้ในประเทศอาณานิคม เป็นต้น
ห้องศาสนา (Religion)
จัดแสดงเกี่ยวกับศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ในภาคใต้ โดยใช้ศาสนวัตถุที่เป็นวัตถุของจริง จำลองภาพเขียนและภาพถ่าย เช่น ฐานศิวลึงค์ ใบเสมา ธรรมาสน์ ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง วัดมัชฌิมาวาสฯ จังหวัดสงขลา วัดชลธาราสิงเห จังหวัดนราธิวาส วัดวัง จังหวัดพัทลุง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านปัญญานันทะภิกขุ อีกด้วย
อาคารกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว
อาคารหลังที่ 1 (ห้องที่ 1) จัดแสดงรูปหล่อสามสมเด็จเพื่อนเกลอ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) สมเด็จเจ้าเกาะยอและสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และจัดแสดงประเพณีการเกิดแบบโบราณ หมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด การอยู่ไฟ เครื่องใช้ในการบริบาลทารก และการเลี้ยงดูทารก เช่น จัดแสดงหุ่นเด็กหัดเดินโดยใช้กระบอกเวียน
อาคารหลังที่ 2 (ห้องที่ 2)) จัดแสดงการละเล่นของเด็ก โดยใช้หุ่นแสดงการละเล่นของเด็ก ได้แก่ การเล่นซัดราว การเล่นว่าว การเล่นปั้นวัวปั้นควาย นอกจากนี้ยังแสดงของเล่นเด็กพื้นบ้านภาคใต้จากวัตถุจริง เช่น ว่าว ฉับโผง ลูกข่าง เป็นต้น
อาคารหลังที่ 3 (ห้องที่ 3) จัดแสดงการฝากตัวเข้าเรียน ผูกเกลอ การช่วยการ โดยใช้หุ่นแสดงประกอบการนำเด็กไปฝากตนเข้าเรียนกับพระสงฆ์ที่วัด หุ่นการตกลงเป็นเพื่อนเกลอ และหุ่นที่แสดงกิจกรรมช่วยกันทำงานหรือเรียกว่า "ช่วยการ" เช่น การช่วยกันสร้างบ้าน เป็นต้น
อาคารหลังที่ 4 (ห้องที่ 4) จัดแสดงประเพณีการบวช โดยใช้หุ่นจัดแสดงการลาบิดามารดาไปบวช การโกนผม การแห่นาค พิธีบวชภายในอุโบสถ และพระสงค์บวชใหม่ ออกบิณฑบาตร
อาคารหลังที่ 5 (ห้องที่ 5,6,7)
จัดแสดง 3 เรื่อง ได้แก่ จัดแสดงความเชื่อโชคชะตาราศี และวัฒนธรรมการรักษาพยาบาล โดยจัดหุ่นจำลองการแสดงดูหมอ การรักษาโดยการนวด และห้องแสดงการรักษาพยาบาลแบบโบราณ จัดแสดงการออกปากกินวาน โดยใช้หุ่นแสดงการเตรียมอาหารเพื่อเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน การช่วยกันเก็บข้าวในนา และการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง นอกจากนี้ยังจัดแสดงประเพณีขึ้นเบญจารดน้ำดำหัว โดยจำลองเรือนยอดเบญจา ท่อน้ำที่แกะสลักเป็นรูปพญานาค และเรือสำหรับใส่น้ำ รวมทั้งเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว โดยแยกเป็น 2 สำรับ ได้แก่ สบงจีวร สำหรับพระสงฆ์ และเสื้อผ้าใหม่สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน
ลานบนอาคารนวภูมินทร์
ห้องสงขลาศึกษา (Songkhla Studies) จัดแสดงข้อมูลที่เกี่ยวกับเมืองสงขลาทั้งที่เป็นวัตถุของจริง เอกสารหรือสื่อที่ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีรวมทั้งสถานที่สำคัญ เช่น แผนที่เมืองสงขลา หัวเขาแดง เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เมืองสงขลาปัจจุบัน ตลอดจนหุ่นจำลองประตูเมืองสงขลา เป็นตน นอกจากนี้ยังจัดทำบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา และรวบรวมประวัติบุคคลชาวเมืองสงขลาที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย
ห้องวรรณกรรมท้องถิ่น (Local Literature) จัดแสดงวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทลายลักษณ์ ได้แก่ หนังสือบุดหรือสมุดข่อย และสมุดใบลาน นอกจากนี้ ได้จัดแสดงวรรณกรรมท้องถิ่นที่ปริวรรตแล้ว และเปิดบริการข้อมูลให้แก่บุคคลภายนอกเข้าศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่น
ห้องเอกสารท้องถิ่น (Local Documentation) จัดเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ทักษิณคดีที่ใช้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อ ทั้งที่เป็นข่าวสาร บทความ บทวิจารณ์ รายงานประจำปี เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา ตำรา งานวิจัย และรวบรวมเอกสารเก่า ๆ ที่เกี่ยวกับทักษิณคดีโดยวิธีถ่ายสำเนา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าให้บริการข้อมูลแก่ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
ห้องพิพิธภัณฑ์เสียง (Sound Collection) จัดเก็บรวบรวมข้อมูลประเภท เสียง ในรูปของเทปบันทึกเสียง โดยจำแนกหมวดหมู่ตามเนื้อหา เป็นคลังข้อมูลเสียงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งเปิดบริการให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยเครื่องบริการที่ทันสมัย สะดวก และรวดเร็ว
ห้องพิพิธภัณฑ์ภาพ (Visual Collection) จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบภาพ ทั้งภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพลายเส้น สไลด์ แถบวีดีทัศน์ และภาพยนตร์ รวมทั้งผลิตรายการเป็นโสตทัศนูปกรณ์เกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบวีดีทัศน์ และ CD-ROM ซึ่งเปิดบริการด้านข้อมูลแก่นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
ห้องศูนย์บริการข้อมูล (Information Service Center)
จัดรวบรวมและบริการข้อมูลที่เกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันทางวัฒนธรรมอื่น ๆ และให้บริการสืบค้นข้อมูลทางวัฒนธรรมภาคใต้
อาศรมศิลปกรรมทักษิณ
อาศรมศิลปกรรมทักษิณ ฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีภาระหน้าที่ในการเก็บรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการศิลปกรรม และนำผลงานทาง ศิลปกรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งสมัยปัจจุบันมาจัดระบบ จัดเก็บ และจัดแสดงข้อมูลเป็นห้องนิทรรศการถาวร ประกอบด้วย
ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในภาคใต้ จัดแสดงศิลปะถ้ำ โดยการจำลองบรรยากาศในถ้ำและนำเสนอภาพถ่ายศิลปะถ้ำตามแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ และจัดแสดงภาพจิตรกรรมไทยบนฝาผนังวัดสำคัญต่าง ๆ ในภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยภาพพุทธประวัติประกอบกับลวดลายต่าง ๆ แบบไทยโบราณ
ห้องอัครศิลปิน จัดแสดงพระราชประวัติด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแสดงผลงานศิลปกรรมจากฝีพระหัตถ์
ห้องศิลปินเกียรติคุณ จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติชาวภาคใต้ทุกสาขา อาทิ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะพื้นบ้าน นับตั้งแต่เริ่มประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติจนกระทั่งปัจจุบัน
ห้องนิทรรศการศิลปกรรมศิลปินและเยาวชนภาคใต้ แสดงประวัติและผลงานของศิลปินภาคใต้ ผู้มีชื่อเสียงและมีคุณูปการต่อสังคมภาคใต้รวมทั้งผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานศิลปกรรมเยาวชนทักษิณ
นอกจากนี้ยังมีภาระงานส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การจัดกิจกรรมทางศิลปกรรม การประกวดศิลปกรรมเยาวชนทักษิณ การแสดงนิทรรศการศิลปกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ การอบรมสัมมนาทางวิชาการศิลปกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมและพัฒนางานทางศิลปกรรมให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองตอบต่อภารกิจของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาข้อมูล และส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ และ ผลงานทางศิลปกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้
**************************
สถาบันมีห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ห้องสัมมนา และร้านขายสินค้าพื้นเมือง เช่น หัตถกรรมกระจูด หัตถกรรมปาหนัน หัตถกรรมย่านลิเพา ผ้าทอเกาะยอ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เครื่องเงิน เป็นต้น สถาบันได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยวดีเด่นทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน ปี 2543 จากจุดชมวิวของสถาบันสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบสงขลา เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 8.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 60 บาท เด็ก 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7433 1184-9
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลพบุรีราเมศวร์ และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย ไปตามทางหลวงสาย 4146 ทางไปเกาะยอ ใกล้สะพานติณสูลานนท์ ช่วง 2 หรือนั่งรถโดยสารประจำทางจากหอนาฬิกาในตัวเมือง ลงที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย และต่อรถมอเตอร์ไซด์
/////////////////
ที่มา @ thai.tourismthailand.org , wikipedia.org
Relate topics
- Hatyai Midnight Songkran 2017 @ หาดใหญ่ สงขลา ณ ใจกลางเมืองหาดใหญ่ ถ.นิพัทธ์อุทิศ 3 ถนนเสน่หานุสรณ์ และถนนธรรมนูญวิถี“Hatyai Midnight Songkran 2017” ภายใต้ธีมงาน “สนุกสนานทั้งเมือง” สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ควบคู่ไปกับกิจกรรมการละเล่นที่สนุกสนาน เล่นสาดน้ำยามค่ำคืน ซึ่งเอกลักษณ์การท่องเที่ยวสงกรานต์ของนค
- เรือประมงสงขลาให้ความร่วมมือหยุดออกเรือตามประกาศเเก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายวันที่ 2 ก.ย. 58 บรรยากาศในวันที่ 2 ของการหยุดทำการประมงของเรือประมงอวนลาก และเรือประมงอวนล้อมจับที่ จ.สงขลา ทางศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมงจังหวัดสงขลา ยังคงคุมเข้มเรือประมงทุกลำที่ผ่าน
- สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย จัดงานวันสเก็ตบอร์ดโลก ( Go Skateboarding Day) ประจำปี 2558 ที่ จ.สงขลาวันนี้ (20 มิ.ย. 2558) เวลา 11.00 น. ที่ บริเวณลานหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงานวันสเก็ตบอร์ดโลก ( Go S
- น้ำแข็งขูดควนเนียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา ตำนานความอร่อยที่สืบทอดภูมิปัญญาโพ้นทะเลมากว่า 70 ปีตำนาน "น้ำแข็งขูด" เป็นอีกหน้าหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ เพราะภูมิปัญญาการสั่งสมประสบการณ์และการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทางด้านอาหารการกินที่ยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำ ![
- เจดีย์ไตรภพไตรมงคล หรือ เจดีย์สเตนเลสส์ ตั้งสถิตโดดเด่นเป็นสง่า อยู่บนยอดเขาคอหงส์เจดีย์ไตรภพไตรมงคล หรือเจดีย์สเตนเลสส์ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำด้วยวัสดุสเตนเลสส์ ตั้งสถิตโดดเด่นเป็นสง่า อยู่บนยอดเขาคอหงส์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านในไร่ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหว
- มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ร่วมกับจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรม 2015 World Culture Camp on Tour มุ่งสู่ความเป็นอาเซียนมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) จับมือร่วมกับจังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ จัดงานแคมป์วัฒนธรรมระดับโลกภายใต้ชื่อ 2015 IYF World Culture Camp on Tour ณ หอประช
- ปิดฉากวอลเลย์บอลชายหาดสมิหลา-ช้าง เอเชียนบีช จีน-วานูอาตู คว้าแชมป์ไปครองจังหวัดสงขลา จัดพิธีปิดการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด "สมิหลา - ช้าง เอเชี่ยน บีช ทัวร์- สมิหลา โอเพ่น ครั้งที่ 16" โดยแชมป์ชายเป็นของทีมจีน และประเภทหญิงทีมวานูอาตู ![ คำอธิบายภาพ : pic55309d8a61b55
- นายอำเภอนาหม่อม ร่วมกับชาวบ้านจัดทำฝายน้ำล้นรับมือภัยแล้งนายอำเภอนาหม่อม ร่วมกับฝ่ายปกครองและชาวบ้านร่วมกันจัดหากระสอบทรายและอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมสร้างคันกั้นน้ำคลองสายต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง นายศิลปชัย เรือนสูง นายอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา
- 25-28 มี.ค. 58 มหกรรมโนราโรงครูเรียนรู้หนังตะลุง ณ สนามหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 (เอ็งเสียงสามัคคี) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา25-28 มี.ค. 58 มหกรรมโนราโรงครูเรียนรู้หนังตะลุง ขอเชิญร่วมสืบสานประเพณีวัฒธรรมภาคใต้ และส่งเสริมยกย่องโนราลูกหลานของคนหาดใหญ่ ในงานพิธีกรรมมหกรรมโนราโรงครูเรียนรู้หนังตะลุง อันเป็นมหรสพสมโภชที่เทศ
- เทศบาลเมืองเขารูปช้าง จ.สงขลา จัดซอดาเก๊าะฮ์ วากัฟ ญารียะห์ ขยะรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นเป็นกองบุญเทศบาลเมืองเขารูปช้าง จัดกิจกรรม “ซอดาเก๊าะฮ์ วากัฟ ญารียะห์ ขยะรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นเป็นกองบุญ” วันนี้ (30ม.ค.58) เวลา 10.00 น. ที่ มัสยิดบ้านทุ่งใหญ่ ม.3 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา นายประสงค