สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: สุราษฎร์ธานี ::: เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ ชักพระประเพณี

ตาปี ความเป็นมา และประวัติศาสตร์ เมืองสุราษฎร์ธานี

by sator4u_team @27 ก.ค. 55 15:25 ( IP : 113...5 ) | Tags : ข้อมูลจังหวัด
photo  , 640x421 pixel , 36,553 bytes.

ตาปี ความเป็นมา และประวัติศาสตร์ เมืองสุราษฎร์ธานี

“แม่น้ำตาปี” เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๕๘ และได้กระทำคำสั่งประกาศเป็นทางการ โดยมีมหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงนามในประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๕๘
โดยพระราชดำรัชว่า เห็นสมควรจะให้มีชื่อไว้เป็นหลักฐานตลอดทั้งลำน้ำ เพื่อให้เป็นการสะดวก แก่ประชาชน และวิชาภูมิศาสตร์สืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำตาปีโดยนับตั้งแต่ปากน้ำออกทะเล ถึงเกาะปราบ เมืองสุราษฎร์ธานี  ขึ้นไปถึงสำนักบันไดสามขั้นบนสันเขาหลวงซึ่งเป็นต้นน้ำ แม่น้ำตาปี เกิดจากเทือกเขาหลวงในอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราชไหลผ่านอำเภอฉวาง อำเภอทุ่งใหญ่ ไหลผ่านอำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวบ้านดอน แม่น้ำตาปี ยาวประมาณ ๒๓๒ กิโลเมตร การตั้งชื่อเมือง และแม่น้ำนี้ (ของ ร.๖) คล้ายกับชื่อแม่น้ำ ตาปติ และเมือง สุรัฎฐ (สุราษฎร์) ในประเทศอินเดีย ซึ่งแม่น้ำตาปติตั้งต้นจากภูเขาสัตตปุระ ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ และริมฝั่งซ้ายของปากแม่น้ำนี้มีเมืองชื่อว่า สุรัฎฐ์ ตั้งอยู่ สภาพของเมืองทั้งสองคล้ายคลึงกัน ประกอบกับทรงทราบว่า ชาวเมืองสุราษฎร์เป็นผู้มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับ ความหมายของสุราษฎร์ธานี

(ใน ราว ค.ศ. 100 - ราว ค.ศ. 178 ปโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีก ได้กล่าวถึง แม่น้ำอัตตาบาส์ หมายถึง แม่น้ำตาปี เป็นเส้นทางเดินทางและเมืองท่าสำคัญ ในหนังสือดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์)

พร้อมกันนี้ ได้ทรงพระราชทานนามพระตำหนักที่ชาวเมืองสร้างถวายเป็นที่ประทับบนควนท่าข้ามว่า สวนสราญรมย์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล
ประวัติความเป็นมา

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองได้แก่ เซมังและมลายูดั้งเดิม ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำหลวง และรอบบริเวณอ่าวบ้านดอน หลักฐานชุมชนโบราณที่อำเภอท่าชนะ และอำเภอไชยา มีหลักฐานว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๓ บริเวณนี้เป็นศูนย์กลาง ของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลงจึงแยกออกเป็น ๓ เมืองคือ ไชยา เมืองท่าทอง(เมืองกาญจนดิษฐ์ ปัจจุบัน : พฤทธ์) และเมืองคีรีรัฐ ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน(ตัวเมือง ปัจจุบัน) แลพระราชทานนามว่า เมืองกาญจนดิษฐ์

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้รวมเมืองไชยา กาญจนดิษฐ์ หลังสวน ชุมพร เป็นมณฑล เรียกว่า มณฑลชุมพร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ย้ายมณฑลมาตั้งที่ บ้านดอน พระราชทานนามว่า "เมืองสุราษฎร์ธานี"

ลักษณะภูมิประเทศ

ขนาดพื้นที่เนื้อที่รวมของจังหวัดมีประมาณ ๑๓,๗๒๑,๙๐๒ ตารางกิโลเมตร หรือ ๘.๐๕๗ ล้านไร่ มีเนื้อที่มากอันดับหนึ่งของภาคใต้ และอันดับ ๑๐ ของประเทศ โดยคิดเป็นร้อยละ ๑๘.๒๓ ของภาคใต้ และ ๒.๕๑ ของประเทศไทย
ถ้าพิจารณาจากแผนที่แสดงที่ตั้งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเห็นว่ารูปร่างคล้ายวงกลมบนผืนแผ่นดินใหญ่และมีพื้นที่ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ  ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวรวมกันประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร มีเกาะขนาดใหญ่ ได้แก่ เกาะสมุย เนื้อที่ ๒๒๗,๒๕๐ ตารางกิโลเมตร เกาะ พงัน มีเนื้อที่ ๑๙๔.๒ ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีหมู่เกาะอ่างทอง และเกาะบริวาร ๗๒ เกาะ โดยเกาะสมุยเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ห่างจากฝั่งทะเล ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดประมาณ ๘๐ กิโลเมตร  ว่ากันว่าห่างกรุงเทพฯประมาณ ๖๔๕ กิโลเมตร  ห่างจากบ้าน สะตอตาปี (กาญจน์-ดิษฐ์) ประมาณ ๖๖๖ กิโลฯ

คำขวัญประจำเมืองว่า “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ งานชักพระประเพณี”

คำแนะนำจาก สะตอตาปี

สำหรับผู้มาสุราษฎร์ ลำดับแรกขอให้ถือโอกาสไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำเมืองซึ่งสถิตย์ ณ ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี  บริเวณถนนสายเลียบลำน้ำ(ตรงข้ามเกาะลำพู) อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือเกาะ(ท่าเรือเร็วไปเกาะสมุย(เก่า))  จากนั้นหากมีเวลาไม่มากก็ขอให้ไปนั่งชมวิวที่ ปากน้ำตาปี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมือง หรือตลาดบ้านดอนประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นจุดที่แม่น้ำตาปีไหลลงสู่ทะเล  ทิวทัศน์บริเวณปากอ่าวมองเห็นป่าโกงกางเป็นแนวยาว เกาะปราบยืนเด่นเป็นสง่ามองเห็นชัดเจน และที่น่าสนใจคือ มีร้านอาหารสดจากทะเล ประเภท กุ้ง หอย ปู ปลา ไว้บริการปากน้ำตาปีปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินสมุทร

จากนั้น สิ่งสำคัญที่จะละเสียไม่ได้คือการแวะไปในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ ไปชมฟาร์มหอยนางรม ซึ่งเป็นขนำที่ปลูกในน้ำกลางทะเล บรรยากาศดีมาก เดี๋ยวนี้หลายแห่งทำเป็นฟาร์มสเตย์ ให้พักค้างคืนด้วย  พาแฟนไปรับรอง รักกัน ดูดดื่ม  พร้อมทั้งนั่งดื่ม-กิน สักมื้อที่ร้านอาหาร “เคียงเล” ซึ่ง ณ ที่นี้ ขอแนะนำให้เป็นมื้อเย็น อย่าลืมสั่ง ต้มโห้ทะเล  ปลาหมึกผัดกะทิ  กุ้ง – ปู เผา  และแน่นอน หอยนางรม ถ้าใครไม่ชอบทานดิบสั่งให้เขาเผาให้ รับรอง ...ชอบ  หอยนางรม จุดกำเนิดการเพาะเลี้ยงของจังหวัด โดยแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุด คือ บริเวณอ่าวที่ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีชื่อเสียงว่า หอยนางรมมีขนาดใหญ่ เนื้อขาว สะอาด รสหวาน ไม่มีกลิ่นคาว

อำเภอกาญจนดิษฐ์  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๘๘๗,๕๓๙ ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ค่อนข้างสูง มีป่าเขา  ตอนใกล้ทะเลเป็นที่ป่าชายเลน มีที่ดอนในบางส่วน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำการประมงชายฝั่ง ริมฝั่งทะเลมีการทำนากุ้ง เลี้ยงหอยนางรม กาญจนดิษฐ์ มีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ วิทยาลัยฝึกลิง วัดถ้ำคูหา ฟาร์มหอยนางรม ถ้ำเพชรพนมวังซึ่งมีคนเขานิยามคำขวัญไว้ว่า “หอยใหญ่นางรม ชมวิทยาลัยฝึกลิง มากยิ่งกุ้งกุลาดำ งามล้ำพระไสยาสน์ พระพุทธบาทควรผดุง เคยรุ่งเรืองเมืองท่าทอง"

แหล่งท่องเที่ยวในเขตกิ่งอำเภอวิภาวดี(ซึ่งติดกับ กาญจน์-ดิษฐ์) "หนึ่งน้ำคลองยัน ลือลั่นน้ำตกวิภาวดี" คลองยัน ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอกระเปอร์ จังหวัดระนอง สายน้ำแห่งนี้ให้ความอุดม สมบูรณ์กับชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำตกวิภาวดี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกหม่อมเจ้า ชื่อเดิมเรียกว่า น้ำตกคลองพาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๒ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก มีชั้นน้ำตกมากกว่า ๑๐ ชั้น  ชั้นที่สวยงามและโดดเด่น คือ โตนไตร โตนลม และโตนซอง สภาพโดยทั่วไปร่มรื่นไปด้วยพฤกษชาติ สายน้ำ และแก่งน้ำ
แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านนาสาร "เงาะโรงเรียนชื่อเฟื่อง รวยเหมืองแร่ แท้น้ำผึ้ง น่าทึ่งปลาแม็งยำ เลิศล้ำถ้ำผา เพลินตาน้ำตกสวย งดงามด้วยอุทยาน" ถ้ำผา เช่น ถ้ำทราย ถ้ำขรม ถ้ำพระ วนอุทยานไตรคีรี เงาะโรงเรียน เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของอำเภอบ้านนาสาร แหล่งกำเนิดอยู่ที่โรงเรียน นาสาร น้ำผึ้ง นับว่าเป็นน้ำผึ้งแท้และบริสุทธิ์ น้ำตก เช่น  น้ำตกดาดฟ้า น้ำตกเหมืองทวด
แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านตาขุน "รัชชประภาเขื่อนใหญ่ ติดใจทุเรียนคลองแสง แหล่งปลาน้ำจืด"  เขื่อนรัชชประภา เดิมเรียกว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน สร้างปิดลำน้ำคลองแสงที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง ทุเรียนคลองแสง เป็นทุเรียนพื้นเมืองของอำเภอบ้านตาขุน ซึ่งมีมากบริเวณลุ่มน้ำ คลองแสง เป็นทุเรียนเนื้อหนา เหนียว รสชาติดี หวานมัน อร่อย

แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอเกาะสมุย " หาดทรายขาว มะพร้าวเด่น เย็นน้ำตก ยกวัฒนธรรมไทย พระใหญ่เกาะฟาน งานชนควาย หินตาหินยายประหลาด ธรรมชาติเกาะแก่ง" แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ชายหาด หาดที่นักท่องเที่ยวไปพักผ่อนมากคือ หาดเฉวง และหาดละไม นอกจาก นี้ยังมีชายหาดที่อ่าวบางรัก อ่าวบ่อผุด อ่าวท้องตะเคียน หาดท้องยาง เป็นต้น น้ำตก มีน้ำตกหินลาด และน้ำตกหน้าเมือง เกาะฟาน มีพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อ " พระพุทธโคดม" ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ วา ๙ นิ้ว ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป งานชนควาย เป็นกีฬาที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวบนเกาะสมุย หินตา  หินยาย เป็นโขดหินรูปร่างประหลาดอยู่ที่บริเวณอ่าวละไม ตำบลมะเร็ต มี นิทานท้องถิ่นเล่ากันมาว่า มีตายายคู่หนึ่งชื่อ ตาเครง ยายเรียม เป็นชาวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางโดยเรือใบเพื่อจะไปสู่ขอลูกสาวของตาม่องล่าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้กับลูกชาย ครั้นเรือแล่นมาถึงแหลมละไมเกิดพายุใหญ่ทำให้เรือล้ม ทั้งตาและยาย ทั้งตาและยายเสียชีวัตคลื่นซัดขึ้นเกยหาดกลายเป็นรูปที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนั้นก็มี อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งเป็นที่รวม เกาะเล็ก เกาะน้อย ประมาณ ๗๐ เกาะ
แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอเกาะพะงัน "งามหาดริ้น ถิ่นอ่าวสวย รวยมะพร้าว ขาวเม็ดทราย มากมายปะการัง  มนต์ขลังแห่งเกาะเต่า" หาดริ้น น้ำตกธารเสด็จ อ่าวศรีธนู อ่าวท้องนายปาน น้ำตกจอมทอง  สระมโนราห์

เพลง สุราษฎร์ธานี เป็นเพลงประจำจังหวัด  ขุนวิชาการพิศิษฐ์ ๑ ในผู้แต่ง เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนประจำจังหวัด (ส.ธ.)  ซึ่งเป็นผู้เขียนเป็นศิษย์เก่าที่นี่ (เรียนเก่งใช้ได้  อ่ะ ๆ ๆ )
ผู้ประพันธ์

ขุนวิชาการพิศิษฐ์ คุณครูแผ้ว  พรหมสวัสดิ์ คุณครูกฤษณ์ บุญรัตน์ คุณครูสุวดิษฐ์ เนตรพุกกณะ

เนื้อร้องดังนี้
“สุราษฎร์ธานี รุ่งเรืองสมเมืองคนดี อีกธารตาปี นามพระธีรราชประทาน เป็นแดนอุดมไม้ปลา มะพร้าวมาเนิ่นนาน เหล่าราษฎร์สุขศานต์ มุ่งมั่นขยันทำกิน มิ่งขวัญ ชาวเมือง มีองค์พระธาตุพุทธศาสน์ประเทือง ถิ่นชน กตัญญูยิ่ง เมตตาอยู่อาจิณ ร่วมรักแผ่นดิน คนดี นี้ไชโย” ( ซ้ำตั้งแต่ต้นจนจบ )
*** มีเสียงร้องและดนตรีด้วย  ฟังได้จากลิงค์ข้างล่างนี้ http://www2.suratthani.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=44&Itemid=190

คำขวัญของสุราษฎร์ธานีในอดีตที่พระเทพรัตนกวี ( ก.ธรรมวร ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่งเป็นคำประพันธ์ ( อ้างจากบทความของ ประพนธ์ เรืองณรงค์ : ท้องถิ่นของเรา เข้าถึงได้จาก http://www.siamsouth.com/sni.htm )  บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแต่ละท้องถิ่นในสุราษฎร์ธานี ซึ่ง สะตอตาปี เห็นว่า บบรยายได้ชัดเจนดีมาก และถูกต้องตามความจริงในสมัยก่อน คือ

"สะตอวัดประดู่ พลูคลองยัน ทุเรียนหวานมันคลองพระแสง    ย่านดินแดงของป่า เคียนซาบ่อถ่านหิน พุนพินมีท่าข้ามแม่น้ำตาปี ไม้แก้วดีเขาประสงค์ กระแดะดงลางสาด สิ่งประหลาดอำเภอพนม    เงาะอุดมบ้านส้อง จากและคลองในบาง ท่าฉางต้นตาล บ้านนาสารแร่ ท่าทองอุแทวัดเก่า อ่าวบ้านดอนปลา    ไชยาข้าว มะพร้าวเกาะสมุย"



ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=58747

Relate topics

Comment #1
noot (Not Member)
Posted @23 พ.ย. 55 00:52 ip : 182...48

แสดงความคิดเห็น

« 5787
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง