ปลูกมันหวานญี่ปุ่น ในประเทศไทยให้ได้ผลดี ผลผลิตต่อไร่สูงสุด ได้หัวมันที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีต้นทุนในการผลิตต่ำ
การปลูกมันเทศพันธุ์ต่างประเทศในประเทศไทยจะให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องมีความรู้ มีการวางแผนและการจัดการที่ดี รวมถึงมีเทคนิคและการดูแลเฉพาะในแต่ละฤดูปลูกอีกด้วย เพื่อให้การปลูกมันเทศบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ “ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด ได้หัวมันที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีต้นทุนในการผลิตต่ำ”
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้คลุกคลีกับการปลูกมันเทศมานาน ประมาณ 7 ปี โดยสายพันธุ์ที่นำมาปลูกล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น อาทิ มันเทศเนื้อสีส้มประเทศออสเตรเลียและไต้หวัน, มันเทศเนื้อสีม่วงจากประเทศญี่ปุ่น, มันเทศเนื้อสีเหลืองญี่ปุ่น (มันหวานญี่ปุ่น) และไต้หวัน
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้รวบรวมข้อมูลการปลูกและการบำรุงรักษาการปลูกมันเทศจากประสบการณ์ สรุปได้ดังนี้
วิธีการเตรียมแปลงปลูก
ปลูกมันเทศให้ลงหัวได้ดีนั้น ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เรื่องโครงสร้างของดิน ถึงแม้ว่ามันเทศจะปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินร่วนปนทรายมีความเหมาะสมที่สุด สภาพดินที่ปลูกมีผลต่อการลงหัวของมัน หรือรูปร่างของหัวมัน พื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลไก่ ฯลฯ ในอัตรา 1-2 ตัน หรือใส่ปุ๋ยคอกหลังการเตรียมแปลงเสร็จแล้ว โดยหว่านบนสันร่องแปลง ยกตัวอย่าง พื้นที่แปลงปลูกมันเทศที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดต่อเนื่องมาหลายปี ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้มีการหว่านเมล็ดปอเทืองลงไปในแปลงก่อนที่จะเตรียมแปลงปลูกมันเทศ หลังจากต้นปอเทืองเริ่มออกดอกจะไถกลบทันที เป็นปุ๋ยพืชสด
ในการเตรียมแปลงปลูก ให้ไถดะก่อน 1 ครั้ง และทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จากนั้นไถพรวนแปลง 1-2 รอบ หรือใช้โรตารี่ติดรถไถตีดินให้ดินมีความละเอียดยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ให้ยกร่องแปลงปลูกขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 70-100 เซนติเมตร สูง 30-50 เซนติเมตร (ความสูงของแปลงยิ่งมีความสูง ยิ่งส่งผลต่อการลงหัวมันดี) ส่วนความยาวของแปลงปลูกขึ้นกับสภาพพื้นที่ ถ้าจะให้เหมาะสมควรจะปลูกแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ โดยมีความกว้างของแปลง 40 เมตร และความยาวของแปลง 80 เมตร เพื่อสะดวกและง่ายต่อการจัดการ
การจัดระบบน้ำในแปลงปลูกมันเทศ
โดยปกติทั่วไปสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันเทศทั่วประเทศมักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบน้ำในแปลงปลูก ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝน อาจจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น ถ้าปลูกในฤดูแล้งอาจจะมีการให้น้ำแบบท่วมแปลงบ้างเท่านั้น แต่การปลูกมันเทศสมัยใหม่ควรจะมีการจัดระบบน้ำที่ดี ในแปลงปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ ซึ่งมีรัศมีกระจายน้ำได้ 3-4.5 เมตร ระบบน้ำดังกล่าวมีข้อดีตรงที่ต้นมันเทศได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่งผลให้ต้นมันเทศตั้งตัวได้เร็ว พบเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง แต่จะพบข้อเสียตรงวัชพืชจะขึ้นเร็ว ทำให้มีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น สำหรับการให้น้ำแบบอื่นๆ อย่างกรณีของการให้น้ำแบบท่วมร่อง ถ้าสภาพดินปลูกเป็นดินเหนียว เมื่อดินแห้ง ดินจะแข็งและจับตัวกันแน่น มีผลต่อการลงหัวของมันเทศ ทำให้ผลผลิตลดลง
วิธีเตรียมท่อนพันธุ์มันเทศ
ในการตัดท่อนพันธุ์ ควรจะตัดให้มีความยาวราว 30 เซนติเมตร จะไม่ลิดใบทิ้งหรือลิดทิ้งก็ได้ เนื่องจากยอดมันเป็นพืชที่แตกยอดออกมาใหม่ได้ง่าย ถ้าลิดใบทิ้งก็จะทำให้เสียเวลา แต่ยอดมันเทศเมื่อลงปลูกจะตั้งตัวได้เร็วกว่าไม่ลิดใบ การตัดยอดใช้ส่วนที่เป็นยอดจะดีที่สุด สำหรับท่อนที่ 2-3 ลงไป สามารถปลูกให้ได้ผลผลิตเช่นกันแต่การให้หัวจะน้อยลงไปตามลำดับ
เมื่อตัดท่อนพันธุ์มาแล้ว ควรจะมัดรวมกันเป็นท่อนหรือเป็นกำ เอาใบตองหรือกระสอบปุ๋ยห่อมัดเอาไว้ ควรนำท่อนพันธุ์แช่น้ำยาฆ่าแมลงในกลุ่ม “คาร์โบซัลแฟน” เช่น ไฟท์ช็อต จุ่มแช่ไว้นานราว 5-10 นาที จะช่วยลดเรื่องแมลงที่จะติดไปกับท่อนพันธุ์ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้น ให้นำมัดท่อนพันธุ์วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำ เช้า-เย็น ประมาณ 2-3 วัน ยอดท่อนพันธุ์ก็จะมีรากออกมา แสดงว่าท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้ว
ถ้าจะให้ดี ท่อนพันธุ์มันเทศที่จะตัดควรจะตัดจากต้นที่มีอายุไม่เกิน 45 วัน หรือก่อนที่จะมีการฉีดพ่นปุ๋ย หรือสารเคมีเพื่อหยุดยอด ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ จะใช้ท่อนมันเทศประมาณ 8,000-16,000 ยอด
ปลูกมันเทศ สายพันธุ์ต่างประเทศให้ได้ผลดี
ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูกควรจะมีการให้น้ำในแปลงปลูกอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น ปลูกได้ง่ายและรวดเร็ว วิธีการเตรียมหลุมปลูกแบ่งได้ 3 วิธี คือ ปลูกแบบใช้จอบขุด ปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อน หรือจะปลูกแบบนำท่อนพันธุ์เสียบลงแปลงปลูกเลย จากการทดลองปลูกทั้ง 3 วิธี พบว่า วิธีปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อนได้ผลดีกว่าวิธีการอื่น เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่เสียแรงงานในการขุดดินและท่อนพันธุ์ไม่ช้ำ
ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 25-30 เซนติเมตร หากใช้จอบขุดปลูกบนสันร่อง หลุมที่ปลูกควรมีความลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ควรจะวางยอดท่อนพันธุ์ทำมุม 45 องศา ฝังลึกลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนพันธุ์มันเทศและให้ข้อโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 2-3 ข้อ หลังจากนั้น กลบดินให้แน่นเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ท่อนพันธุ์โยกคลอน แต่หากปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำ จะปลูกท่อนพันธุ์มันเทศให้เป็นคู่บนสันร่องโดยใช้ไม้แหลมกระทุ้งนำไปก่อน ทำมุม 45 องศา จากนั้นเสียบท่อนพันธุ์ลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนมันเทศ ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ ทางชมรมจะใช้ท่อนพันธุ์มันเทศ ประมาณ 11,000-12,000 ยอด ซึ่งพบว่าเป็นจำนวนที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง
การให้น้ำมันเทศ
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่ปลูกท่อนมันเทศลงดินไปแล้ว จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ 3 วันแรกจะต้องให้ทุกวัน เช้า-เย็น ให้ครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง (กรณีที่ให้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์) หลังจากนั้น จะให้น้ำวันเว้นวัน หรือ 3 วัน หรือ 5 วัน หรือ 7 วัน ต่อครั้ง ข้อควรระวัง หลังจากที่ปลูกมันเทศไปแล้วประมาณ 7-10 วัน เกษตรกรจะต้องเดินสำรวจในแปลงปลูกว่ามีต้นใดตายบ้าง จะต้องปลูกซ่อมให้เสร็จทันที
ด้วงงวงมันเทศ ศัตรูที่สำคัญของการปลูกมันเทศ
แมลงศัตรูมันเทศที่มีความสำคัญที่สุดคือ “ด้วงงวงมันเทศ” หรือ “เสี้ยนดิน” ในพื้นที่การปลูกมันเทศทั่วประเทศและทั่วทุกแห่งในโลกจะพบการระบาดของแมลงชนิดนี้ ถ้าพบการระบาดมาก ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้มันเทศลงหัวได้น้อยลง หัวมีคุณภาพต่ำ มีกลิ่นเหม็น และรสชาติขม มีคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดด้วงงวงมันเทศ อันดับแรก ไม่ควรปลูกมันเทศซ้ำที่เดิมหรือปลูกมันเทศติดต่อกันหลายปี ถ้ามีพื้นที่น้อยและจำเป็นจะต้องปลูกในพื้นที่เดิม ควรจะปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชหมุนเวียน กำจัดเก็บ “เศษหัวมันเทศ” ที่ถูกทิ้งอยู่ในแปลงออกให้หมด เพราะจะเป็นแหล่งอาหารให้ด้วงงวงมันเทศอาศัย กำจัดวัชพืชอาหารรอบแปลงปลูกมันเทศ โดยเฉพาะ “ผักบุ้ง” ที่ด้วงงวงมันเทศสามารถที่จะแพร่และขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี สำหรับพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตชลประทานวิธีการปล่อยน้ำท่วมแปลงก่อนลงมือปลูกมีส่วนช่วยในการทำลายไข่ ตัวอ่อน และตัวแก่ ของด้วงงวงมันเทศได้ส่วนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้สารเคมี
อายุการเก็บเกี่ยวมันเทศ
ความจริงแล้วอายุการเก็บเกี่ยวมันเทศเกือบทุกสายพันธุ์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120-150 วัน หลังจากปลูกท่อนพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น ฤดูกาลปลูก ความสมบูรณ์ของต้น สายพันธุ์ที่ปลูก อย่างกรณีของมันเทศเนื้อสีส้ม
ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรนำเข้ามาปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 100 วัน ขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 150 วัน วิธีการสังเกตว่ามันเทศแก่และเก็บเกี่ยวได้ สังเกตสันร่องที่ปลูก ดินจะแตกออกอย่างชัดเจน สังเกตเถามันจะเหี่ยวและออกดอก เกษตรกรควรจะขุดสุ่มตัวอย่างและนำมาทดลองบริโภคหรืออาจจะใช้มีดปาดหัวดูว่ามียางไหลออกมามากหรือน้อย ถ้ายางออกมาน้อยแสดงแก่แล้ว เตรียมขุดขายส่งตลาดได้
.........................................................
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ สำหรับผู้ปลูกมันเทศ
1. เกษตรกรไทยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกมันเทศในอดีตที่คิดว่าไม่จำเป็น มีการบำรุงรักษา โดยเฉพาะเรื่องของการให้น้ำ น้ำมีผลต่อการลงหัวของมันเทศ ถ้าต้นมันเทศได้น้ำสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาลงหัวจะได้มันที่ได้น้ำหนักและหัวขนาดใหญ่
2. ท่อนพันธุ์มันเทศที่ตัดจากต้นมันเทศมาขยายพันธุ์ต่อ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกตัดจากยอดมาเพียง 1 ท่อนเท่านั้น ถ้าตัดยอดที่ 2-3 จากต้นเดียวกันจะมีผลต่อการให้ผลผลิต และยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่าเมื่อใช้ยอดมันเทศเป็นท่อนพันธุ์นั้น ควรจะใช้เพียง 3 รุ่น ควรจะเปลี่ยนมาขยายพันธุ์จากหัวเพื่อทำรุ่นต่อไป
3. แมลงและโรคศัตรูมันเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดไม่มากเท่ากับพืชอีกหลายชนิด แต่ที่เห็นว่าเป็นศัตรูที่มีความสำคัญยิ่งก็คือ “ด้วงงวงมันเทศ” เกษตรกรจะต้องเน้นในการป้องกันการระบาด จะดีกว่าพบการระบาดแล้วถึงจะมีการฉีดพ่นสารเคมี เมื่อพบการระบาดแล้วจะควบคุมได้ยากมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังเป็นพิเศษที่เสี่ยงต่อการระบาดของแมลงชนิดนี้ก็คือ การปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม และการป้องกันและกำจัดในช่วงระยะเวลาที่ต้นมันเทศลงหัว
4. การปลูกมันเทศ ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม เมื่อปลูกมันเทศไปแล้ว 1 รุ่น พื้นที่นั้นควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง ทดแทนหลังจากที่ต้นถั่วเขียวมีอายุต้นได้ 45 วัน หรือระยะที่ออกดอกให้ไถกลบทั้งต้น จะได้ปุ๋ยพืชสดอย่างดี แล้วค่อยปลูกมันเทศต่อไป
5. เทคนิคในการฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงสำหรับการปลูกมันเทศโดยเฉพาะ ถ้าฉีดเพื่อป้องกันและกำจัด “ด้วงงวงมันเทศ” จะต้องฉีดน้ำยาให้ชุ่มโชกถึงดิน
..................................................................
หนังสือ “การปลูกมันหวานญี่ปุ่นในประเทศไทย” พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ “อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 1- เล่มที่ 6” รวม 7 เล่ม จำนวน 588 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 250 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
/////////////////////
ที่มา @ บันทึกไว้เป็นเกียรติ ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ // นสพ. มติชน
Relate topics
- ถุงเท้าเงินล้านถ้าเรามีเงินหนึ่งพันบาทจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ??? คำตอบของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่คงตอบว่าเงินแค่นี้เอง เอาไปซื้อของกินของใช้ก็หมดแล้ว แต่รู้ไหมว่า เงินหนึ่งพันบาท สำหรับเด็กวัยรุ่น
- ไก่ต้มน้ำปลา สูตรโบราณอร่อยอยากลองทำไก่ต้มน้ำปลากินเอง ก็มาจดสูตรและวิธีทำไก่ต้มน้ำปลา ไปลองทำกันเองง่าย ๆ แถมไม่จำเป็นต้องใช้ไก่ทั้งตัว พ่วงมากับน้ำจิ้มสูตรโบราณอีกด้วย ลองตามมาดูกันเลย ![ คำอธิบายภาพ : 1-2
- เผาแกลบให้เป็นเงิน โดยใช้เตาขนาด 200 ลิตรกรรมวิธีการเผาแกลบให้เป็นขี้เถ้าแกลบโดยใช้ถังขนาด 200 ลิตร ซึ่งเป็นขบวนการที่ง่าย ได้ขี้เถ้าแกลบที่เป็นแกลบกัมมันหรือแอคติเวเต็ดคาร์บอน มีน้ำหนักเบา รูพรุนมาก สามารถนำมาเป็นถ่านอัดแท่งพลังงานสู
- ตอน “มะนาว” ด้วย “กะปิ” ได้กิ่งพันธุ์ดี เป็นที่ต้องการ การปลูกมะนาวสายพันธุ์ที่ดี นอกจากได้ผลผลิตสูงและเป็นที่ต้องการขอ
- โรคราน้ำค้าง ในแตงกวา แตงร้าน แคนทาลูป แตงไทยโรครานํ้าค้าง (downy mildew) โรคราน้ำค้างของแตงตามรายงานมีผู้พบครั้งแรกในประเทศคิวบา เมื่อราวปี ค.ศ. 1864 หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความชื้นสูงอุณหภ
- ข้าวโพดหวาน ปลูกได้ตลอดปี รายได้ดีข้าวโพดหวาน อยู่ใน ตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับหญ้าหรือข้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zeamays Line var. rugasa หรือ saccharata ข้าวโพดหวานมีคุณประโยชน์มากมาย นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักสดแล้ว ยั
- เพาะถั่วงอกยิ้มหวาน …สะอาด รสชาติดี กินเองก็ได้ ทำขายก็ดีถั่วงอก คือ ต้นอ่อนของถั่วที่ได้จากการเพาะเมล็ดถั่วเขียวโดยไม่ให้ถูกแสง นิยมนำมาประกอบอาหารชนิดต่างๆ อาทิ ผัดถั่วงอก ใส่ก๋วยเตียว ยำถั่วงอก รวมถึงเป็นผักรับประทานสด ![ คำอธิบายภาพ : IMG_
- ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ...ปลูกง่าย ผักทำเงินคนขยัน!ผักกาดเขียวกวางตุ้งเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล Cruciferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica chinensis Jusl var parachinensis (Bailey) Tsen & Lee เป็นพืชอายุปีเดียว โดยใช้บริโภคส่วนของใบและก้านใบ เป็นผักที่นิยม
- สูบน้ำใช้ทำการเกษตรด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ และ มอเตอร์ DC 24V 250W กับปั้มชักสูบน้ำใช้ทำการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) และ มอเตอร์ DC 24V 250W กับปั้มชัก ![ คำอธิบายภาพ : pic57301f3cd5658 ](http://www.sator4u.com/upload/pics/pic57301f3cd5658.jpg "ชื่อภาพ : p
- แตงกวา ผักที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารเพื่อนๆไทยอาชีพคนไหนไม่เคยกิน แตงกวา บ้านครับผมว่าทุกคนต้องเคยกินแตงกวากันมาบ้างแล้วผมเชื่ออย่างนั้นเพราะว่าแตงกวาเป็นผักที่คนไทยทุกคนนิยมกัน ใช่แล้วครับวันนี้ผมจะมาพูดถึง อาชีพเกษตรกรรม ในการปลูกแตงก