โอเมก้า ๓ และ โอเมก้า ๖
ความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามจากกระแสกรดไขมันโอเมก้า ๓ ที่ถาโถมเข้ามาในตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ทำให้กรดไขมันโอเมก้า ๓ เป็นชื่อที่คุ้นหูและทุกคนต่างเห็นถึงความจำเป็น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ากรดไขมันโอเมก้า ๖ ที่ต้องมีควบคู่กับกรดไขมันโอเมก้า ๓ นั้น ก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เพราะอาจเสียสมดุลในร่างกายได้
ทั้งนี้ บางคนอาจกินตามกระแสว่ากรดไขมันโอเมก้า ๓ มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ไม่ได้ศึกษาว่ามีความจำเป็นอย่างไร กินแล้วจะได้ประโยชน์หรือโทษอะไรบ้าง ดังนั้น ก่อนที่จะกินโอเมก้า ๓ ควรทำความรู้จักก่อนเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพตัวท่านเอง
“หมอชาวบ้าน” ได้รับความรู้เรื่องกรดไขมันโอเมก้า ๓ และ ๖ จาก ดร.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้
โอเมก้า ๓
โอเมก้า ๓ เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะหลายตำแหน่ง กรดไขมันโอเมก้า ๓ มีอยู่ ๓ ชนิดที่สำคัญคือ
๑. กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha linolenic acid : ALA)
๒. กรดไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenic acid : EPA)
๓. กรดไขมันดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid : DHA) ซึ่งเป็นตัวที่ได้ยินค่อนข้างบ่อยในโฆษณา เพราะเป็นตัวหนึ่งที่ผู้ประกอบการนิยมเติมลงไปในผลิตภัณฑ์
กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก : ALA เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายตำแหน่ง โดยมีความสำคัญต่อร่างกายคือ เป็นกรดไขมันที่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น
กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก : ALA เป็นกรดไขมันต้นตอที่ร่างกายนำไปสร้างเป็นกรดไขมันอีพีเอ : EPA และกรดไขมันดีเอชเอ : DHA ได้ หากเรากินอาหารที่ไม่มีกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก : ALA เลย เราอาจจะขาดกรดไขมันโอเมก้า ๓ ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกรดไขมันโอเมก้า ๓ มีอยู่ในอาหารหลายชนิดด้วยกัน
แหล่งของกรดไขมันโอเมก้า ๓
กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (ALA) ส่วนใหญ่จะได้จากอาหารที่เป็นไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันอีกหลายๆ ชนิด และน้ำมันรำข้าวซึ่งมีเล็กน้อย หรือในอาหารที่เป็นถั่วโดยตรงก็มีอยู่ในธรรมชาติ ถั่วเมล็ดแห้งหลายชนิด และมาจากน้ำมันพวกอื่นๆ ในอาหาร รวมถึงพืชผักต่างๆ ด้วย
ส่วนกรดไขมันอีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA) จะได้จากสัตว์ โดยเฉพาะปลาทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด ทั้งอีพีเอและดีเอชเอจะมีมากน้อยแล้วแต่ชนิดของปลา โดยทั่วไปมีอยู่เล็กน้อย และขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่มีอยู่ในปลาด้วย เมื่อเราย่อยไขมันแล้วก็จะได้กรดไขมัน ซึ่งร่างกายเราจะนำมาย่อย แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ
คนทั่วไปเมื่อพูดถึงกรดไขมันโอเมก้า ๓ แล้วมักคิดว่ามีอยู่แต่ในปลาทะเลน้ำลึกของต่างประเทศเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง มีข้อมูลปริมาณกรดไขมันโอเมก้า ๓ และโอเมก้า ๖ ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดไทยเช่นเดียวกัน ดังแสดงไว้ในตารางที่ ๑ และ ๒ ปริมาณกรดไขมันโอเมก้า ๓ มากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาและปริมาณไขมันทั้งหมดในปลา
กรดไขมันโอเมก้า ๓ สำคัญต่อร่างกายอย่างไร
เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า ๓ เป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่สร้างผนังเซลล์ของร่างกาย ดังนั้น ผนังเซลล์ของเราที่ล้อมรอบแต่ละเซลล์จะมีกรดไขมันโอเมก้า ๓ ประกอบอยู่ด้วย
นอกจากนี้ กรดไขมันโอเมก้า ๓ ยังนำไปสร้างไอโคซานอยด์ (Eicosanoids) ซึ่งไอโคซานอยด์จะทำหน้าที่ในร่างกายคล้ายฮอร์โมน มีหน้าที่ควบคุมการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น นำไปสร้างไอโคซานอยด์ชนิดที่ไปกระตุ้นการไหลของเลือด และทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว
กรดไขมันโอเมก้า ๓ จะสร้างไอโคซานอยด์ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ลิวโคไทรอีน (Leukotrienes) ทรอมบอกเซน (Thromboxanes) พรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) พวกนี้คือชื่อของไอโคซานอยด์ที่มีหน้าที่แตกต่างกันในร่างกายของเรา
ส่วนเด็กที่กำลังเจริญเติบโต กรดไขมันโอเมก้า ๓ จะช่วยในเรื่องของเซลล์สมอง มีการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณกรดไขมันดีเอชเอที่เด็กได้รับมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการจอตาของเด็ก รวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้
ในส่วนของสมองก็ต้องการกรดไขมันโอเมก้า ๓ ไปใช้ในการสร้างเซลล์ รวมไปถึงเซลล์ร่างกาย แต่เซลล์สมองจะพบกรดไขมันโอเมก้า ๓ มากกว่าเซลล์ในร่างกาย ฉะนั้น กรดไขมันโอเมก้า ๓ จึงมีส่วนในการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมอง
ทั้งนี้ เด็กควรได้รับกรดไขมันดีเอชเอตั้งแต่แรกคลอดจากน้ำนมเหลือง (colostrum) ของมารดา และน้ำนมแม่ซึ่งจะได้ประโยชน์มาก แม่ควรให้นมลูกตลอด ๑ ขวบเต็มของวัยทารก (วัยทารกคือวัยที่ต้องได้รับนมแม่อย่างน้อย ๖ เดือน) แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ครบตามที่ลูกต้องการ เช่น แม่บางคนลาคลอดได้เพียง ๓ เดือน หรือแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ จึงต้องใช้นมสำหรับทารกเข้ามาทดแทน ซึ่งเด็กทารกก็ยังจะได้รับกรดไขมันโอเมก้า ๓ อยู่
ส่วนผู้ใหญ่ที่เราอาจเคยได้ยินเรื่องของน้ำมันปลาช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ แต่คนที่มีปัญหาไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ไม่ควรซื้อไปกินเองโดยไม่ผ่านการแนะนำจากแพทย์ การกินน้ำมันปลาเป็นประจำอาจจะทำให้มีปัญหาการหยุดไหลของเลือด
กรณีคนที่จะต้องผ่าตัดหรือถอนฟัน แพทย์จะสอบถามประวัติว่ามีการกินน้ำมันปลาเป็นประจำอยู่หรือไม่ ถ้ากินน้ำมันปลาเป็นประจำ แพทย์ต้องบอกให้หยุดกินน้ำมันปลาเป็นเวลา ๑-๒ สัปดาห์ก่อน แล้วค่อยมาผ่าตัดหรือถอนฟัน เพราะว่าถ้ายังกินน้ำมันปลาอยู่ จะทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ เพราะกรดไขมันโอเมก้า ๓ จะทำให้เลือดไหล (ไม่แข็งตัว)
ที่มาของกรดไขมันโอเมก้า ๓ และ ๖
กรดไขมันในอาหารแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือ
๑. กรดไขมันอิ่มตัว
๒. กรดไขมันไม่อิ่มตัว
กรดไขมันไม่อิ่มตัวจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดที่มีพันธะคู่ตำแหน่งเดี่ยว
๒. กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดที่มีพันธะคู่หลายตำแหน่ง
พันธะคู่ตำแหน่งเดี่ยวเรียกว่า monounsaturated และพันธะคู่หลายตำแหน่งเรียกว่า polyunsaturated ซึ่งพันธะคู่ก็คือลักษณะเคมีของกรดไขมัน โดยจะมีแขนระหว่างคาร์บอนเป็นแขนคู่และจำนวนแขนคู่จะมี ๒ แห่งขึ้นไป กรดไขมันแบบ polyunsaturated หรือว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะหลายตำแหน่ง แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑.กรดไขมันโอเมก้า ๓
๒.กรดไขมันโอเมก้า ๖
ที่มาของชื่อกรดไขมันโอเมก้า ๓ นั้นจะเรียกตามตำแหน่งที่พบ หากดูโครงสร้างทางเคมีจะพบตำแหน่งพันธะคู่ (double bond) อันแรกอยู่ตำแหน่งที่ ๓ นับจากด้านเมทิลกรุ๊ป จึงเรียกว่ากรดไขมันโอเมก้า ๓
ถ้าพบพันธะคู่อันแรกตำแหน่งที่ ๖ ก็จะเรียกว่ากรดไขมันโอเมก้า ๖
กรดไขมันโอเมก้า ๖ ความสำคัญที่ถูกมองข้าม
กรดไขมันโอเมก้า ๖ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่จริงๆ แล้วกรดไขมันโอเมก้า ๖ คือตัวถ่วงสมดุลของกรดไขมันโอเมก้า ๓ ซึ่งร่างกายเราจะใช้ประโยชน์ทั้ง ๒ ชนิด
กรดไขมันโอเมก้า ๖ คือ กรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic acid : LA) และกรดไขมันอะราคิโดนิก (Arachidonic acid : ARA)
ร่างกายเราจะใช้ประโยชน์ของกลุ่มกรดโอเมก้า ๓ กับโอเมก้า ๖ คล้ายคลึงกัน คือ กรดไขมันโอเมก้า ๓ จะสร้างไอโคซานอยด์ ทำให้เลือดไหล ยับยั้งการอักเสบ แต่กลุ่มของกรดไขมันโอเมก้า ๖ จะทำให้ เลือดแข็งตัว ซึ่งจะทำงานตรงข้ามและถ่วงดุลกัน
กรดไขมันโอเมก้า ๖ พบได้ในน้ำมันพืช ถั่วชนิดต่างๆ ในปลาเพียงเล็กน้อย รวมทั้งอาหารทั่วไป
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วคนเราต้องกินทั้ง ๒ กลุ่มกรดไขมันให้สมดุลกัน ซึ่งร่างกายเราต้องการกรดไขมันโอเมก้า ๖ มากกว่ากรดไขมันโอเมก้า ๓ ประมาณ ๓ : ๑ จนถึง ๕ : ๑
ดังนั้น แท้จริงแล้วร่างกายมีความต้องการทั้งกรดไขมันโอเมก้า ๓ และกรดไขมันโอเมก้า ๖ การโฆษณาความสำคัญของกรดไขมันโอเมก้า ๓ มากนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคลืมความสำคัญของกรดไขมันโอเมก้า ๖ ด้วยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ
๑. ควรกินทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล ถ้าเรามีความสามารถที่จะกินปลาทะเลที่มาจากต่างประเทศก็ได้ แต่ผู้ที่ไม่สามารถซื้อหาได้ก็ไม่มีความจำเป็น
๒. กินปลาให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ ควรกินผักต่างๆ ในแต่ละมื้อเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนทุกหมู่
๓. กินอาหารให้พอดี ออกกำลังกาย ควบคุมดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
๔. กินให้พอดีและมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก พืชน้ำมัน เนื้อสัตว์ หรือปลา เราควรกินให้หลากหลายชนิด และให้ได้ปริมาณ ซึ่งผักอาจแตกต่างจากเนื้อสัตว์ตรงไขมันต่ำยกเว้นนำไปทอดหรือผัด รวมถึงปลา ซึ่งกรรมวิธีการทำอาหาร เช่น การทอด การนึ่ง อาจทำให้คุณค่าทางสารอาหารหายไปเล็กน้อย เพราะน้ำมันที่ทอดจะดูดซับไขมันที่เราทอดออกมาด้วย จึงต้องเลือกน้ำมันที่มีคุณภาพในการประกอบอาหาร
ที่จริงแล้วไม่แนะนำว่ากินอะไรดีที่สุด เพราะทำให้คนที่ไม่ได้รู้ลึก นำไปปฏิบัติซ้ำๆ กัน ซึ่งอาจส่งผลเสีย เพราะว่าอาหารหรือสารอาหารทุกชนิด มีประโยชน์มีโทษในตัวของมัน ไขมันดีๆ เวลากินมากๆ เกินพอดีมันก็มีโทษเพราะฉะนั้นต้องเดินทางสายกลาง เช่น ปลามีกรดไขมันโอเมก้า ๓ ต้องกินสลับประมาณ ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ หรือกินวันเว้นวัน อาจสลับเป็นอาหารทะเลเพราะอาหารทะเลก็มีกรดไขมันโอเมก้า ๓ เช่นกัน เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก ฯลฯ
ส่วนคนสูงวัยควรกินให้มากขึ้น ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ ๔-๕ ต่อสัปดาห์ก็ยังได้ โดยกินสลับกันไม่จำเป็นต้องไปเน้นชนิดว่าอย่างใดมีประโยชน์มากกว่ากัน ปลาอะไรก็กินได้หมด ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องไปควบคุมหรือกังวลว่าจะได้กรดไขมันครบถ้วนหรือไม่
ทั้งนี้ การกินกรดไขมันโอเมก้า ๖ ก็มีสำคัญเช่นกันหากเห็นว่ากรดไขมันโอเมก้า ๓ สำคัญแล้ว กรดไขมันโอเมก้า ๖ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
////////////////////////
ที่มา @ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 383 เดือน/ปี: มกราคม 2554 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก นักเขียนหมอชาวบ้าน: คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล, นิชานันท์ นาไชย
Relate topics
- 10 อาหารที่ควรทานหลังออกกำลังกายหลายคนที่ลดน้ำหนักอาจเข้าใจผิดไปว่า หลังออกกำลังกายแล้วนั้นไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ ทั้งสิ้นเพราะจะทำให้ยิ่งอ้วน แต่หารู้ไม่ว่าช่วงหลังออกกำลังกายนี่แหละเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการอาหารอย่างเช่น น
- " ฝึกสมองให้ลดน้ำหนัก "การลดน้ำหนักหรืออดอาหารไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ยิ่งสำหรับบางคนมันเป็นความท้าทายที่หนักหนาสาหัสอย่างมากสำหรับร่างกายและ จิตใจของตัวเองในการที่จะลดอาหาร ลดไขมัน รวมไปถึงการควบคุมปริมาณแคลลอรี่ที่บริโภคเข
- ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพร่ำๆ!!! เตือนภัย 15 โรคติดต่อที่มาพร้อมฤดูฝน!อีกไม่นานประเทศไทยก็จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว หลายคนเริ่มตระเตรียมอุปกรณ์กันฝน แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อฤดูฝนย่างกรายเข้ามา ก็จะมี 15 เชื้อโรคติดต่อรอโจมตีเราอยู่อย่างเงียบๆ ![
- 'รากบัว' เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย สรรพคุณทางยามหาศาลในรากบัวยังพบ “ฟลาโวนอยด์” ซึ่งเป็นสารกลุ่มโฟลีฟีนอล ที่จัดเป็นพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติเด่น ในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สรรพคุณทางยามากมาย เช่น ลดไข้ บรรเทาอาการไอ อีกด้วย
- ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ลืมกินยาตามเวลา อันตรายหรือไม่ปัญหาที่มักพบเสมอเวลาจะรับประทานยา คือ ต้องรับประทานก่อนหรือหลังอาหาร และก่อนอาหารนานเท่าไหร่ หลังอาหารกี่นาที ก่อนนอนนานแค่ไหน ถ้าลืมแล้วจะทำอย่างไร ![ คำอธิบายภาพ : findingtherightpill ](http:
- ข้าวโพดต้มสุก มีดีกว่าที่คิด!!!สีเหลืองเข้มอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ชื่อ ลูทีน และ ซีเซนทีน ยิ่งนำไปต้มหรือย่าง สารตัวนี้จะยิ่งออกมาเยอะขึ้น!!! ![ คำอธิบายภาพ : IMG20150517112917 ](http://sator4u.com/upload/pics/IMG
- ช็อค! Ending the War on Fat ความเชื่อคนทั้งโลก เมื่อผลวิจัยเผย “คอเรสเตอรอล” มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษนิตยสารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง TIME ได้เผยถึงบทความเกี่ยวกับ Ending the War on Fat “ความจริงของคอเรสเตอรอล” ที่ทุกๆ คนเข้าใจผิดมาตลอด 60 ปี ที่ว่าคอเรสเตอรอลเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจ
- ผัก-ผลไม้ 7 อย่าง! บำรุงสายตา!!!การเลือกรับประทานพืชผักบางชนิดนอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังสามารถช่วยบำรุงดวงตาให้มองเห็นแจ่มแจ๋ว ไม่ร่วงโรยตามอายุได้อีกด้วย ![ คำอธิบายภาพ : foods-for-eye-health-934934 ](http://sator4u.com
- โรคไข้เลือดออกโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหนะของโรค นอกจากเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ บทความนี
- โรคเก๊าท์ ...การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาถึงแม้ว่าโรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูงก็ตาม แต่การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาก็ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการรักษาผู้