สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

วิตามินไม่ต้องกินทุกวัน

by sator4u_team @14 ส.ค. 57 22:22 ( IP : 113...97 ) | Tags : สุขภาพ , วิตามิน , สุขภาพ
photo  , 948x710 pixel , 37,037 bytes.

วิตามินเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อชีวิต แต่ต้องการปริมาณน้อยเป็นมิลลิกรัมหรือไมโครกรัมต่อวัน ร่างกายจะนำวิตามินแต่ละชนิดไปสร้างสารช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในร่างกาย

ปกติแล้วสิ่งมีชีวิตสามารถสังเคราะห์วิตามินบางชนิดได้อย่างเพียงพอ ขณะที่บางชนิดก็จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร คนและสัตว์ต้องการวิตามินอย่างน้อย ๑๓ ชนิดจากอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและการทำงานที่ปกติ

เราจำแนกวิตามินออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ และวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน (มีอยู่ ๔ ชนิดเท่านั้นคือ วิตามินเอ ดี อี และ เค)

วิตามินกลุ่มที่ละลายได้ใน “น้ำ”
วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่างๆ และวิตามินซี

๑. วิตามินบี ๑ พบมากในธัญพืช ข้าวซ้อมมือ นม และเนื้อสัตว์ ถ้าขาดจะทำให้เป็นโรคเหน็บชา มือเท้าอาจจะบวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร วิงเวียน ไม่มีแรง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

๒. วิตามินบี ๒ พบมากในนม เนื้อสัตว์และพืชผักใบเขียว ถ้าขาดจะเป็นโรคปากนกกระจอก คือมีแผลที่มุมปาก ลิ้นอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ เจริญเติบโตช้า

๓.วิตามินบี ๓ (ไนอาซิน)  พบมากในนม ไข่ เนื้อสัตว์ ถ้าขาดจะทำให้ผิวหนังอักเสบ ท้องเดิน และสมองเสื่อม

๔.วิตามินบี ๕ (กรดแพนโทเทนิก) ช่วยในการสร้างเซลล์และลดความเครียด พบในอาหารเกือบทุกชนิดทั้งจากพืชและสัตว์ จึงไม่ค่อยพบการขาดวิตามินชนิดนี้

๕.วิตามินบี ๖ พบมากในเนื้อสัตว์ ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี ผักและผลไม้ ช่วยการทำงานของระบบประสาทและการสร้างเม็ดเลือด ถ้าขาดจะอ่อนเพลีย โลหิตจาง ชาปลายมือปลายเท้า

๖.วิตามินบี ๑๒ ช่วยการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ทุกชนิด (เนื้อสัตว์ นม เนย) ร่างกายมีความต้องการในวันหนึ่งๆ ต่ำมากในระดับไมโครกรัม จึงมีเก็บสะสมไว้ที่ตับเป็นจำนวนมาก เพียงพอที่จะใช้ได้นาน คนปกติมักไม่ขาดวิตามินนี้ แต่คนที่เป็นโรคบางอย่างจะทำให้ดูดซึมวิตามินนี้ไม่ได้ เมื่อขาดจะทำให้เกิดโลหิตจางที่รุนแรง อาจทำให้สมองและไขสันหลังพิการ

๗.ไบโอทิน ช่วยในการเจริญเติบโต แบคทีเรียในลำไส้ของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินนี้ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงไม่ค่อยพบการขาดวิตามินชนิดนี้

๘.กรดโฟลิก แบคทีเรียในลำไส้ก็สามารถสังเคราะห์ได้เพียงพอกับความต้องการ

๙.วิตามินซี วิตามินยอดนิยมโดยเฉพาะบรรดาวัยรุ่นเพราะมุ่งผลด้านผิวพรรณซึ่งวิตามินซีมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยเสริมภูมิต้านทาน ช่วยในการสร้างผิวหนัง กระดูก ฟัน และหลอดเลือด ถ้าขาดจะเป็นโรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม ฟันหลุดง่าย ปวดข้อ ข้อบวม แผลหายช้า ร่างกายติดเชื้อง่าย


วิตามินกลุ่มที่ละลายได้ใน “ไขมัน”

๑.วิตามินเอ พบมากในนม ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวและใบเหลืองรวมทั้งผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือส้ม ช่วยในด้านการมองเห็นและการสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง ถ้าขาดจะเป็นโรคตาบอดกลางคืน เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ ตาแห้ง ผิวแห้งแข็ง ถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นพิษทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดในกระดูก ผิวหนังหลุดลอกและผมร่วง

๒.วิตามินดี พบมากในตับ นม ไข่ เนื้อสัตว์ ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เพียงพอกับความต้องการใช้ถ้าผิวหนังได้รับแสงแดดที่พอเหมาะเป็นประจำ ถ้าขาดจะเป็นโรคกระดูกอ่อน ชักและกล้ามเนื้อเกร็ง ถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นพิษ ทำให้วิงเวียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อย ท้องเดิน ระดับแคลเซียมในเลือดสูงซึ่งอาจเกาะกับเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น หลอดเลือด หลอดลม ไต

๓.วิตามินอี พบมากในน้ำมันพืช เนยเทียม ถั่ว และผักใบเขียว ถ้าขาดจะเกิดผลเสียต่อระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด เกิดโลหิตจาง กล้ามเนื้อลีบ ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนล้า ตาพร่ามัว ท้องเดิน

๔.วิตามินเค พบมากใน ผัก ไข่แดง โยเกิร์ต ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและบำรุงกระดูกและฟัน ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียในลำไส้สามารถสังเคราะห์ได้อย่างเพียงพอ

เหตุที่ต้องบรรยายยืดยาวในเชิงวิชาการเช่นนี้เพราะปัจจุบันพบว่าการตลาดของสินค้าสุขภาพและอาหารเสริมในบ้านเรามักจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กินวิตามินกันมากๆ เพราะมีประโยชน์ ร่างกายจะได้แข็งแรง มีการแข่งขันกันหลายยี่ห้อว่าของตัวเองมีวิตามินเกลือแร่อยู่หลายชนิด แค่อ่านฉลากข้างขวดก็มากมายจนมึนแล้ว

การให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวคือประโยชน์แต่ไม่ได้กล่าวเน้นถึงปริมาณความต้องการที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล รวมทั้งโทษของการได้รับสารเหล่านี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษตามมาได้

เราจึงมักจะเห็นคนปกติทั่วไปหลายๆ คนที่ร่างกายแข็งแรงดีแต่กินวิตามินชนิดเม็ดเป็นกำมือวันละหลายๆ มื้อ เหตุเพราะมีวิตามินหลายยี่ห้อให้เลือกกิน ทั้งบำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ บำรุงสมอง บำรุงสายตา ฯลฯ เรียกได้ว่าแค่วิตามินมากมายในแต่ละมื้อก็ทำให้อิ่มแทนข้าวได้เลย

นอกจากนี้ วิตามินที่ได้มาจากการสังเคราะห์ย่อมปลอดภัยน้อยกว่าวิตามินที่ได้รับจากอาหารตามธรรมชาติ (ที่ถูกสุขอนามัย) คนทั่วไปที่กินอาหารได้ตามปกติครบทั้ง ๕ หมู่ จะได้รับวิตามินต่างๆ เพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าอายุมากขึ้น กินอาหารได้น้อย หรือกินอาหารไม่ครบถ้วนเพียงพอ ก็สามารถเสริมวิตามินเพิ่มได้แต่ต้องเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคลจึงจะไม่เกิดโทษ เช่น คนปกติทั่วไปที่ส่วนใหญ่ได้อาหารครบอาจกินวิตามินแบบรวมสัปดาห์ละครั้ง หรือวันเว้นวันก็ได้ โดยให้เลือกที่จำเป็นและเหมาะสม

ถ้าเปรียบร่างกายเป็นรถยนต์ อาหารที่ต้องกินทุกวันก็เหมือนกับเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์โดยตรง ซึ่งต้องหมั่นเติมอยู่ตลอด ส่วนวิตามินเปรียบเหมือนน้ำมันเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ให้ทำงานดีขึ้น จึงไม่สิ้นเปลืองมาก นานๆ ก็เติมที ดังนั้น ในคนปกติจึงไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริมมากจนเกินไปเพราะอาจเกิดโทษได้

ที่มา @ นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่: 391 เดือน/ปี: พฤศจิกายน 2554 คอลัมน์: คุยกับ หมอ 3 บาท นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 8674
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง