สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

สงขลา - จะนะ เฮ! ร่างผังเมืองรวมสงขลากำหนดโซนสีฟ้ากัน ‘ท่าเรือน้ำลึก’

by sator4u_team @24 ต.ค. 57 12:09 ( IP : 180...93 ) | Tags : ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม-นวัตกรรม , สงขลา
  • photo  , 640x640 pixel , 65,397 bytes.

สงขลาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัด แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองและทรัพยากรท้องถิ่น ระบุชัดไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือบริเวณชายฝั่ง อ.จะนะ เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต

กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา จัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาซึ่งครอบคลุมทั่วทั้ง 16 อำเภอ โดยแบ่งเป็นเวทีย่อย 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 22 ก.ค. 2557 จัดขึ้นที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมืองสงขลา, วันที่ 23 ก.ค. 2557 จัดขึ้นที่ห้องประชุม วิทยาลัยการอาชีพนาทวี อ.นาทวี และวันที่ 24 ก.ค. 2557 จัดขึ้นที่หอประชุมรัตนโกสินทร์ อ.สทิงพระ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนไปประกอบการพิจารณาก่อนเสนอต่อคณะกรรมการผังเมืองเพื่อประกาศใช้ในอนาคต


ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเป็นนโยบายและมาตรการที่จะประกาศเป็นกฎหมายใช้สนับสนุนและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยครอบคลุมการใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค และการบริการสาธารณะในท้องที่ จ.สงขลา เพื่อให้การขยายตัวของเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่อาศัย สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยร่างผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่นำมาให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นนั้น แบ่งพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่


1.) สีชมพู หมายถึง ที่ดินประเภทชุมชน อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หรือประกอบกิจกรรมอื่นได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงเกิน 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 2,000 เมตร



มีทั้งสิ้น 17 บริเวณ ได้แก่ เขตผังเมืองรวมตามกฎหมาย 9 แห่ง คือ 1) ผังเมืองรวมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2) ผังเมืองรวมสงขลา 3) ผังเมืองรวมหาดใหญ่ 4) ผังเมืองรวมสะเดา 5) ผังเมืองรวมพะตง-พังลา 6) ผังเมืองรวมระโนด 7) ผังเมืองรวมกำแพงเพชร-นาสีทอง 8) ผังเมืองรวมปาดังเบซาร์ 9) ผังเมืองรวมบ้านประกอบ


และเขตเทศบาลตำบลที่ยกฐานะจากสุขาภิบาลเดิม จำนวน 8 แห่ง คือ 10) เทศบาลตำบลบ่อตรุ 11) เทศบาลตำบลจะทิ้งพระ 12) เทศบาลตำบลควนเนียง
13) เทศบาลตำบลจะนะ 14) เทศบาลตำบลนาทวี
15) เทศบาลตำบลปริก 16) เทศบาลตำบลสะบ้าย้อย 17) เทศบาลตำบลเทพา


ไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อไปนี้
(1) โรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท (2) โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทุกขนาด เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม (3) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม  (Central Waste Treatment Plant) ทุกขนาด เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย (6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ  สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงเก็บ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (7) เลี้ยงงู จระเข้ หรือสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพื่อการค้า (8) กำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย



2.) สีเขียว หมายถึง พื้นที่ประเภทชนบท และเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ราชการ หรือเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ใช่อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ที่ดินเพื่อกิจการต่อไปนี้

(1) โรงงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการคุ้มครอง ความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552 (2) โรงงานลำดับที่ 88 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล (3) โรงานลำดับที่ 101 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมันลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย (6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง



3.) สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว หมายถึง ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแล รักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ  ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ได้แก่ พื้นที่ป่าตามกฎหมายทุกประเภท ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ


ที่ดินประเภทนี้ ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้นและที่ดินตามวรรคนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

(1) การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (2) การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ (3) การอยู่อาศัยประเภทห้องชุด อาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม



4.) สีฟ้า หมายถึง ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ท่าเรือ การประมง  สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ได้แก่ พื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา และริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นชายฝั่งทะเล อ.จะนะ ให้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือ


นายกิตติภพ สุทธิส่วาง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งติดตามเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลามาโดยตลอด กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ว่า โดยรวมผังเมืองดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนสงขลา เพราะทิศทางการกำหนดพื้นที่จะเน้นไปในเรื่องการพัฒนาชุมชน การประมง เกษตรกรรม และวัฒนธรรม แต่ยังมีข้อกังวลอยู่ เนื่องจากผังเมืองฉบับนี้เป็นเพียงผังเมืองรวม ซึ่งรายละเอียดผังเมืองย่อยที่จะทำต่อไปจากนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาที่แท้จริง นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่ยังถูกกำหนดจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง


“เรื่องผังเมืองมีผลต่อการดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ของคนรุ่นเรา และรุ่นลูกหลาน ซึ่งมีความสำคัญมาก สมมติว่าเรามีที่ดิน 1 แปลง เราจะสร้างบ้านทำรีสอร์ท อยู่ๆ เขามาบอกว่าไม่ควรทำรีสอร์ท แต่จะทำเป็นส้วมสาธารณะ เป็นอุตสาหกรรม ความฝัน ความหวัง และความยั่งยืนของเราจะหายไป ซึ่งนี่คือผลของการกำหนดผังเมืองที่ไม่ตรงกับความต้องการของเราเอง”


ในส่วนของ อ.จะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว เนื่องจากเคยถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งหมายถึงที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า เชื่อมโยงและรองรับโครงการแลนด์บริจด์สงขลา – สตูล ที่กำหนดให้สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ขึ้นที่บริเวณชายฝั่ง อ.จะนะ นั้น ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่กำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่นี้ได้เปลี่ยนบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีฟ้าและพื้นที่สีเขียว โดยระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือในเขตชายฝั่ง อ.จะนะ ทั้งนี้ ถือว่าช่วยคลายความกังวลของประชาชนในพื้นที่ได้มาก เนื่องจากเกรงว่าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดให้รองรับโครงการอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศชายฝั่งและบนบก ซึ่งเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชุมชน


นายกิตติภพ กล่าวต่ออีกว่า ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นติดตามเรื่องการพัฒนามาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่า อ.จะนะ จะถูกกำหนดให้เป็นมาบตาพุด 2 เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี “เราสู้กับโครงการเหล่านี้มาเกือบ 20 ปี และตอนนี้ผลที่เกิดขึ้นกับเราที่เขาเคยบอกว่าก๊าซถูก น้ำมันถูก ผลกระทบไม่มี ความเจริญความมั่งคั่งก็จะเกิดขึ้น ปรากฏว่ามันไม่เป็นจริงตามที่นโยบายจากส่วนกลางลงมาผลักดัน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพค่อนข้างสูงมาก เราเริ่มสูญเสียฐานทรัพยากร เช่น ที่ทำนา ที่ทำมาหากิน ทั้งคลองและทะเลไปด้วย


ตอนนี้จะนะมี 178 โรงงาน เราจึงคิดว่าควรมีการกำหนดผังเมืองใหม่ และกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง เพราะเราพยายามบอกมานานแล้วว่าศักยภาพของจะนะมีนกเขาพันล้าน ซึ่งสร้างรายได้ให้แก อ.จะนะ นับพันล้านบาทต่อปี ทรัพยากรทางทะเลก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี เป็นการนำรายได้จากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยด้วย แล้วก็เป็นเมืองการศึกษา เพราะมีโรงเรียนมากถึง 148 โรง มีชายทะเลที่สวยงาม มีคลอง 2 สาย ซึ่งเป็นคลองน้ำกร่อย มีสัตว์น้ำที่อร่อย ศักยภาพเหล่านี้ควรจะถูกหยิบยกมาพัฒนา ไม่ใช่จะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผังเมืองจะเป็นตัวคุ้มครองพื้นที่ของเราให้พัฒนาบนฐานทรัพยากร และนำไปสู่ความยั่งยืน แล้วเราจะมีความสุข มีรายได้ และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งน่าจะดีกว่า”


สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 4 จากทั้งสิ้น 18 ขั้นตอน โดยหลังจากนี้จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาด้านผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อหารือ ปรับปรุงแก้ไข ก่อนประกาศให้ประชาชนรับทราบ และรวบรวมข้อร้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


ที่มา @ สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1452
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง