สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

การเมืองไทยกับไฟใต้

by sator4u_team @21 ธ.ค. 56 18:28 ( IP : 180...135 ) | Tags : สารคดี - บทความพิเศษ
photo  , 375x250 pixel , 42,254 bytes.

รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่มาได้ 2 ปีเศษก็ถูกปลุกม็อบไล่ งานนี้โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเองที่ไปผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ “ฉบับสุดซอย-ทะลุซอย” ล้างผิดเหมาเข่งย้อนหลังไปร่วม 10 ปี ไม่กำหนดรูปแบบคดีความผิดยิ่งกว่าเซ็น "เช็คเปล่า" แม้ภายหลังรัฐบาลจะรู้ตัวและ "ประกาศถอย" แต่ก็สายไปเสียแล้ว

น่าแปลกใจไม่น้อยว่าประเด็นที่ "จุดติด" จนกลายเป็นกระแสขับไล่รัฐบาลอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องนิรโทษกรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลพยายามให้ข้อมูลเฉพาะด้านบวกว่าไทยได้เปรียบในคดีพิพาทกับกัมพูชาที่ศาลโลกตัดสิน ทั้งที่จริงๆ มีแนวโน้มเสียเปรียบมากกว่า ขณะที่ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ กลับกลายเป็นประเด็นสะสมความไม่พอใจ เช่น โครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนไปแล้วหลายแสนล้าน หรือโครงการรถคันแรกที่ทำให้รถติดวินาศสันตะโรกว่าเดิม

และแน่นอน ด้วยสภาพการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจแบบสุดๆ ของประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลครั้งใหญ่ ก็ทำให้ความเคลื่อนไหวในภาคส่วนอื่นๆ แทบจะหยุดไปโดยปริยาย ตลอดร่วมๆ 1 เดือนที่ผ่านมาแทบไม่มีใครพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่ยังมีเหตุระเบิด ลอบยิง มีคนบาดเจ็บล้มตายแทบทุกวัน

ไม่ใช่แค่การเมืองรวมศูนย์ แต่สื่อมวลชนเองก็รวมศูนย์ เน้นรายงานเฉพาะสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องไปวิจารณ์ใคร เอาแค่ผมเองซึ่งทำงานสื่อกระแสหลัก คือหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในส่วนกลางด้วย ยังต้องสาละวนกับข่าวม็อบจนห่างหายไม่ได้เขียนคอลัมน์นี้เพื่อพูดคุยกับท่านผู้อ่านไปเกือบเดือนเหมือนกัน

อาจเป็นเพราะแบบนี้ก็ได้ที่ทำให้คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยอยากให้มีการกระจายอำนาจ และบริหารจัดการตนเอง เพราะการเมืองและสื่อที่กรุงเทพฯทำเหมือนปัญหาภาคใต้แยกส่วนออกจากปัญหาของประเทศไทยชั่วคราว

ผลด้านหนึ่งจากความวุ่นวายในส่วนกลางที่ส่งถึงการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แล้วก็คือ การพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจริงๆ การพูดคุยครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการก็เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว นับจากการพบปะกันครั้งที่ 3 เมื่อ 13 มิ.ย.2556

การเลื่อนนัดครั้งล่าสุดไปหยุดอยู่ที่ราวๆ วันที่ 1-3 ธ.ค.2556 โดยข่าววงในระบุก่อนหน้านี้ว่ามีการกำหนดวันร่วมกันแน่นอนแล้ว คือ วันที่ 2 ธ.ค.ด้วยซ้ำ ทว่าไม่กี่วันนี้มีข่าวรัฐบาลไทยขอเลื่อนออกไปเป็นหลังวันที่ 5 ธันวาฯ แน่นอนว่าด้านหนึ่งคงเป็นเหตุผลเรื่องภารกิจของรัฐบาลเนื่องในวันมหามงคล เพราะองค์ประกอบในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการระดับสูง ซี 11 ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่เหตุผลที่ปิดกันไม่มิดอีกด้านหนึ่งก็คือ ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ตกผลึกว่าจะควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองได้เมื่อไหร่ เพราะล่าสุดรัฐบาลก็เพิ่งประกาศขยายพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ครอบคลุมกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต นนทบุรีทั้งจังหวัด และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี พร้อมขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี คือวันที่ 31 ธ.ค.2556 กันเลยทีเดียว

บางฝ่ายถึงกับประเมินว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นอาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในปีนี้ หรืออาจไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะสถานภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ง่อนแง่นเต็มที หนำซ้ำ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ยังมีความไม่แน่นอนบนเก้าอี้ของตนเอง เพราะศาลปกครองสูงสุดใกล้จะมีคำพิพากษาเต็มทีในคดีที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ฟ้องขอทวงตำแหน่งคืน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยามนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ในทางการเมืองต้องบอกว่าหมดสภาพไปแล้ว เพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งประธานสภา นายกฯ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สนับสนุนรัฐบาล จำนวน 312 คน ถูกยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างแก้ไขที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา

การไต่สวนถอดถอนของ ป.ป.ช. จึงเสมือนเป็นพิธีกรรมเท่านั้น เพราะใบเสร็จชัดอยู่แล้วว่าทั้ง 312 คนกระทำผิด!

อนาคตของรัฐบาลตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่แนวทาง เช่น ยุบสภาทันทีหลังเปิดให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ (รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่านายกฯไม่สามารถยุบสภาได้หากถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคาอยู่) หรือจะยื้อเวลาต่อไปเป็นช่วงหลังวันที่ 2 ธ.ค.2556 ซึ่งนักการเมืองกลุ่มบ้านเลขที่ 109 เมื่อครั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น (เมื่อ 2 ธ.ค.2551) จะพ้นโทษถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และกลับมาลงเลือกตั้งได้อีกครั้ง

ดูจากการประกาศขยายพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว น่าจะเลือกแนวทางยื้อเวลาออกไป อย่างน้อยก็หลังวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อให้นักการเมือง อดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้สมัครเข้าพรรคเพื่อไทยให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้พร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งแทน ส.ส.ชุดปัจจุบันกว่า 250 คนที่กำลังอยู่ในกระบวนการถอดถอนโดย ป.ป.ช.

เพราะพลันที่ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. 312 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน (ถ้าถอดถอนก็โดนเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถ้าไม่ถอดถอนก็กลับสู่สภาพเดิม แต่ก็จะมีช่วงเวลาสุญญากาศให้ลุ้นระหว่างรอวุฒิสภาโหวต) ความสุ่มเสี่ยง สับสนวุ่นวายจึงมีมาก รัฐบาลน่าจะเลือกยุบสภาไปก่อนมากกว่า

ที่วิเคราะห์มาให้ฟังทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า อายุของรัฐบาลชุดนี้น่าจะเหลืออีกไม่มากแล้ว หรือหากจะยังพอมีเวลาต่อไปก็คงสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาการเมือง ในขณะที่การพูดคุยสันติภาพที่ยังค้างคาอยู่ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน และที่สำคัญการพูดคุยสันติภาพยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกรัฐบาลต้องสานต่อ ฉะนั้นหากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่แล้วการเมืองเปลี่ยนขั้ว ทุกอย่างก็จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

จะว่าไปสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเมืองไทยไร้เสถียรภาพเช่นนี้มานานแล้ว และส่งผลต่อการพูดคุยสันติภาพ หรือการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดหลายทศวรรษ

มีข่าวเล็กๆ ที่อยากจะฝากทิ้งท้ายก็คือ หากยังโชคดีมีการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป คณะพูดคุยฝ่ายไทยน่าจะไม่มี พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้รอบรู้โครงสร้างขบวนการปฏิวัติปัตตานี ร่วมคณะไปด้วยอีกแล้ว เพราะเจ้าตัวเข้าไปร่วมในโควต้าของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ซึ่งวันนี้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ก็ไม่ได้ตั้ง พล.อ.สำเร็จ เป็นที่ปรึกษา ทว่าเป็น พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

เพิ่งได้คุยกับ พล.อ.สำเร็จ เมื่อไม่นานมานี้ ท่านบอกว่าถ้านายกฯ (ซึ่งขณะนี้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย) ไม่สั่งให้ไป ก็คงไม่ไปร่วมแล้ว...ถือเป็นมารยาทและสปิริตของ "นักรบตัวจริง" อย่าง พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย แต่ถึงกระนั้นก็รู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถของท่าน ที่สำคัญงานที่ พล.อ.สำเร็จ ทำมา สามารถซื้อใจ "นักรบ" ฝั่งตรงข้ามกับรัฐได้ไม่น้อยเลย

เรื่องราวของ พล.อ.สำเร็จ จะบอกว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กระทบกับการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ด้วยก็คงได้...

และมีโอกาสที่ทุกอย่างจะกลับไป "เริ่มต้นใหม่" อีกครั้ง โดยยังมองไม่เห็นปลายทางของความสำเร็จ


อ่านต้นฉบับข่าว @ http://www.isranews.org/south-news/talk-with-director/item/25415-demonstration.html

คำอธิบายภาพ

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 3166
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง