สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ทำไมต้องล้มการเลือกตั้งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

photo  , 770x569 pixel , 85,505 bytes.

คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยระหว่าง กปปส.ตัวแทนของมวลมหาประชาชน กับรัฐบาลรักษาการ และผู้สนับสนุน ต้องมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งในประเด็นของการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้ง หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาตามคำเรียกร้องของหลายฝ่าย แต่ไม่ยอมลาออกจากการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการตามคำเรียกร้องของ กปปส.และบางองค์กร เพื่อให้เกิดสุญญากาศ และให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน และนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลคนกลางขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ก่อนจะเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง


ฝ่ายรัฐบาล และผู้สนับสนุนต่างมีความเห็นคล้อยตามกันไปว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีการแล้วทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นการขัดพระบรมราชโองการ อันเป็นการกระทำที่ไม่บังควร และเพื่อยุติความขัดแย้งโดยการมอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับฝ่ายใด  ถ้าหากฝ่าย กปปส.มั่นใจว่าแนวทางของพวกตนได้รับการสนับสนุนจากมวลมหาประชาชน ทำไมต้องกลัวการเลือกตั้ง เป็นการไม่เคารพกติกาในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพหลักการตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในการทำประชามติมาเอง


ส่วนฝ่าย กปปส.และแนวร่วมกลับแย้งว่า การต่อสู้เรียกร้องของฝ่ายมวลมหาประชาชนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ต้องการล้มระบอบทักษิณ ถ้าเพียงแต่ยุบสภาแล้วยังรักษาการ และดำเนินการเลือกตั้งทันที ก็จะได้คนเดิมกลุ่มเดิมมาทำเรื่องไม่ดีแบบเดิม แล้วนำไปสู่ความขัดแย้งที่รนแรงกว่าเดิม ส่วนเรื่องพระราชกฤษฎีกาก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเองก็เคยเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีการมาแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ


ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งที่ตามเกมของรัฐบาลรักษาการไม่ทัน ก็อาจจะเออออห่อหมกเห็นดีเห็นงาม คล้อยตามข้อเสนอของรัฐบาลรักษาการ และแนวร่วม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ และส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการที่ชอบประจบสอพลอรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจอยู่แล้ว  โดยไม่พินิจพิจารณาว่า แม้ว่าโดยหลักการของการเมืองในระบอบรัฐสภา เมื่อยุบสภาแล้วก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจโดยกระบวนการเลือกตั้ง  แต่นั่นมันคือหลักการในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เชื่อว่ากระบวนการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ  เที่ยงธรรม  สามารถจะกลั่นกรองคนดี  มีความรู้ความสามารถเข้าสู่อำนาจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร  พรรคการเมืองมีความเป็นพรรคการเมืองอันเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน  มีแนวนโยบายที่จะพัฒนาประเทศชาติตามอุดมการณ์ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ คัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้งมีความรู้  ความเข้าใจ และมีความสามารถในการทำหน้าที่ตรวจสอบ  นิติบัญญัติ หรือบริหารกิจการบ้านเมือง  ประชาชนผู้ทำหน้าที่เลือกตั้งมีความรู้  ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ และเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง  ไปทำหน้าที่เลือกตั้งด้วยความเป็นอิสระจากการครอบงำของอำนาจอิทธิพลใดๆ  คณะกรรมการที่จัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม


แต่ในความเป็นจริง  การเลือกตั้งในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งที่ออกมาล้วนเป็นประจักษ์พยานให้เห็นแล้วว่า กระบวนการเลือกตั้งของไทยภายใต้กระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ ทักษิณ  ชินวัตร ตั้งพรรคการเมืองเมื่อปี  ๒๕๔๔  เป็นต้นมา  เราไม่ได้นักการเมืองดีมีคุณภาพตามที่คาดหวัง  เพราะสนามการแข่งขันไม่ได้เน้นที่คนดีมีความสามารถ แต่เน้นที่ผู้มีเงิน  มีอิทธิพล  มีเครือข่ายพรรคพวก  ภายใต้ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์  เป็นการเลือกตั้งในระบอบ “ธนาธิปไตย” คือใช้เงินซื้อพรรค  ซื้อ ส.ส. และซื้อเสียงเพื่อเข้ากุมอำนาจรัฐ ทำลายกระบวนการตรวจสอบ  แทรกแซงองค์กรอิสระ จนนำไปสู่การประท้วงของมวลมหาประชาชนจำนวนหลายล้านคนอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย


ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนของประเทศนี้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งเรียกคำนำหน้านายกฯ ว่า “อ้าย” หรือ “อี” อย่างในยุคนายกรัฐมนตรีทักษิณ และยิ่งลักษณ์  ไม่เคยมีรัฐสภาโดยเฉพะสภาผู้แทนยุคไหนที่ใช้พวกมากลากไป เข็นร่างพระราชบัญญัติที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ  ผิดทั้งขั้นตอน และมีปัญหาทั้งเนื้อหาสาระ จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้มูลความผิด  และไม่เคยมีประธานสภา และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลชุดไหนที่ออกมาแถลงการณ์ว่า ไม่ยอมรับคำวินิจฉัย และอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  พร้อมทั้งประกาศว่าจะฟ้องตลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไม่เป็นคุณแก่ตน


ไม่เคยมียุคไหนสมัยใดที่นักวิชาการทั้งอาวุโส และอ่อนอาวุโสออกมาตีความรัฐธรรมนูญเข้าข้างรัฐบาลอย่างไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  บางคนมุทะลุจนถึงขนาดว่า “เมื่อเป็นกฎหมายจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้” ทั้งๆ ที่เป็นถึงอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายในสถาบันอุดมศึกษา  กลับตีความกฎหมาย และใช้ทัศนะที่คับแคบ และไม่มีทางออกให้แก่สังคมที่กำลังมีความขัดแย้ง


ที่น่าเศร้า และสมเพชเวทนากว่านั้นคือ บรรดานักวิชาการรุ่นเก่าแก่ และสื่อสารมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ประกาศสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทรราชเสียงข้างมาก และมวลชนที่นิยมความรุนแรงว่า เป็นฝ่ายปกป้องประชาธิปไตย  เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  รัฐบาลเสียงข้างมาก โดยไม่ยอมพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชัน  การฉ้อฉล  การแก้กฎหมาย และแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน และพรรคพวกอย่างไร้ยางอาย  สนับสนุนมวลชนที่เถื่อนถ่อยให้คุกคามฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีสงบสันติ ปราศจากอาวุธ


มีนักวิชาการอาวุโสบางคนเพี้ยนหนัก ถึงขนาดยกย่องนายกรัฐมนตรีที่มวลมหาประชาชนมองว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน และปัญญาอ่อนว่า เป็น “รัฐบุรุษ” และประณามมวลมหาประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันเพื่อปฏิรูปประเทศว่า “อันธพาลทางการเมือง”


ดังนั้น  การเลือกตั้งในบรรยากาศความขัดแย้งแบบนี้จึงเป็นการดันทุรังนำสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งก่อนการเลือกตั้ง  ขณะเลือกตั้ง และหลังจากการเลือกตั้ง และไม่มีอนาคตเลยว่าการปฏิรูปการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการดำเนินการก่อนการเลือกตั้งนั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  เพราะการปฏิรูปดังกล่าวไม่อาจจะอาศัยศักยภาพของนักการเมือง และพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ได้  เนื่องจากส่วนใหญ่เขาเป็นได้แค่ “นักเลือกตั้ง” และพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นได้แค่ “กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง”


หากมีความจริงใจต่อการปฏิรูปการเมืองเพื่ออนาคตของลูกหลาน จึงไม่ควรผลักดันประชาชนเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่เอาการเลือกตั้งโดยยังไม่ได้ปฏิรูปใดๆ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่สิ้นสุดยุติ.


ที่มา : ASTV ภาคใต้ http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000155631

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 8089
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง