สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ปัตตานี ::: บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด

หมู่บ้านทำเรือกอและ บ้านปะเสยะวอ จังหวัดปัตตานี

photo  , 500x355 pixel , 99,184 bytes.

หมู่บ้านทำเรือกอและ บ้านปะเสยะวอ จังหวัดปัตตานี

บ้านปะเสยะวอ อำเภอปะนาเระ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการต่อเรือประมงของชาวปัตตานี และนราธิวาสที่มีลักษณะเป็นเรือหัวแหลมท้ายแหลม ระบายสีสันงดงาม เรือกอและมีทั้งขนาดใหญ่ที่เป็นเรือประมงจริงๆ และขนาดเล็กที่จำลองขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก ฝีมือการต่อเรือกอและ ของที่นี่ได้รับการยอมรับว่าประณีตงดงามด้วยลวดลายที่ผสมกลมกลืนระหว่างศิลปะไทยและมุสลิม ในระยะแรกเลียนแบบเทคนิคการตกแต่งเรือพระราชพิธี คือ การแกะสลัก ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความประณีตเป็นอย่างสูง แต่ในระยะหลังใช้การวาดลวดลายจิตรกรรมแล้วระบายสี ทำให้สะดุดตาและสะดวกกว่า

เรือกอและ เป็นเรือประมงที่ใช้ในแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ต่อด้วยไม้กระดาน โดยทำส่วนหัวและส่วนท้ายสูงขึ้นจากลำเรือ หรืออีกแบบจะเป็นแบบหัวสั้นและท้ายตัด นิยมทาสีพื้นตลอดลำเรือ แล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาด ซึ่งลวดลายอันวิจิตรนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือกอและ ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย อิสลาม จีน และศิลปะอื่น ๆ เนื่องจากอิทธิพลที่ได้รับมาจากสภาพแวดล้อมอันได้แก่ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สังคมความเป็นอยู่ ซึ่งสังคมความเป็นอยู่ในจังหวัดปัตตานีนั้น ประกอบไปด้วยชนชาติ 3 ชนชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันนั่นคือ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวจีน จิตรกรรมที่ศิลปินไทยมุสลิมวาดตกแต่งเรือกอและมีข้อจำกัดในด้านหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม จึงไม่มีภาพคนร้องรำทำเพลง หรือลักษณะที่ยั่วยุกามารมณ์ ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์น้ำ สัตว์ในจินตนาการจากประเพณี ศาสนา วรรณคดี ศิลปการแสดงต่าง ๆ สัตว์หิมพานต์และภาพทิวทัศน์

ส่วนประกอบของเรือกอและ ได้แก่ ปาแปทูวอ คือ ขอบเรือที่นูนออกมาข้างนอก เป็นลักษณะกันชนยาวตลอดลำเรือ กอมา คือ ส่วนล่างของปาแปทูวอ ซึ่งทำรอยแซะเนื้อไม้และเจาะรูไว้ สำหรับผูกสิ่งของ เช่น เชือกเสาตะเกียง เชือกของใบเรือ และโอ่งใส่น้ำ จาปิ้ง คือ ส่วนของหัวเรือ ซึ่งในสมัยก่อนถือว่าเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองลูกเรือ อูแว คือ ส่วนของหัวเรือ มี 2 ด้าน คือ ด้านแม่ จะอยู่ทางซ้ายมือ เรียกว่า ลูแวอีบู และด้านลูกจะอยู่ทางขวา เรียกว่า ลูแวอาเนาะ บูเระแต คือ ส่วนท้ายของเรือ สำหรับติดตั้งหางเสือ และเครื่องยนต์

วัสดุอุปกรณ์ในการทำประกอบด้วย ขวาน ค้อน กบมือ เลื่อยฉลุ มีดเหลา สิ่ว ตัวล็อกขุดร่อง สีน้ำมันและพู่กัน

ขั้นตอนการทำ จะหาไม้เนื้ออ่อนที่แกะสลักง่าย และมีน้ำหนักเบา นำมาขึ้น โครงเรือโดยใช้ขวานบากไม้จนเป็นรูปทรง จากนั้นไสไม้ให้เป็นรูปทรงเรือ ด้วยกบมือ แล้วขัดให้เรียบและตกแต่งรูปทรงเรือให้สวยงาม ด้วยกระดาษทราย เสร็จแล้วเจาะท้องเรือ ช่างจะใช้สิ่วในการเจาะท้องเรือ และส่วนประกอบที่อยู่ในท้องเรือ เช่น กระดูกงู คง เป็นต้น นำเรือมาขุดร่องเพื่อเป็นการกำหนดเส้น บนตัวเรือ เพื่อแกะไม้ให้นูนขึ้น ทำให้สะดวกในการลงสีและลวดลายบนตัวเรือ ช่างจะใช้กบมือล็อกร่อง สำหรับการฉลุหัวเรือและส่วนประกอบ เช่น ลูแว บูเระแต ไม้พาย หางเสือ เป็นต้น ช่างจะร่างแบบลงบนไม้กระดาน แล้วฉลุออกด้วยเลื่อยฉลุ แล้วจะนำส่วนประกอบทั้งหมดไปขัดด้วยกระดาษทราย ให้เรียบ

การลงสีพื้น เอกลักษณ์อันโดดเด่นของเรือกอและ ช่างจะนำส่วนหัวเรือ และท้ายเรือมาประกอบติดกับตัวเรือ แล้วลงสีรองพื้นด้วยสีพลาสติกสีขาว จากนั้นจะนำมาขัดเรียบใหม่อีกครั้ง แล้วจึงลงสีพื้นจริงด้วยสีน้ำมันสีขาว นำไปตากแดดให้แห้งสนิท การลงแถบสีอันเป็นการกำหนดพื้นสี และลายที่จะเขียน ช่างจะเน้นสีให้ฉูดฉาดและหลายสี เพื่อสร้างจุดเด่นของเรือ การเขียนลายเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในการที่จะประดิษฐ์ลวดลายให้สวยงาม ช่างจะนำประสบการณ์ทั้งหมด ที่ฝึกฝน มาลงสู่บนลวดลาย เพื่อให้มีลายที่ต่อเนื่องและมีชีวิตชีวา ในบางคนจะสอดแทรกวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ลงบนลวดลายนั้นด้วย

การประกอบเรือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ของการทำเรือกอและจำลอง ช่างจะนำส่วนประกอบต่างๆ มาประดับตกแต่งบนตัวเรือ เช่น ไม้พาย หางเสือ เสากระโดง ใบเรือ เป็นต้น แล้วนำเรือมาวางไว้บนฐานรองรับเรือ เป็นการสิ้นสุดของการทำเรือกอและจำลอง

ราคาจำหน่ายเรือกอและจำลอง ขึ้นอยู่กับรูปทรง ลวดลายและขนาดของเรือ ซึ่งเรือลำเล็กที่สุด ส่วนใหญ่จะทำขนาดประมาณ 2-3 1/2 นิ้ว ราคาประมาณ 200 บาท และลำใหญ่ที่สุดประมาณ 1 เมตร ราคาประมาณ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการจัดการประกวดเรือกอและจำลองอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ช่างทำเรือต่างพยายามทำเรือที่สวยงาม อย่างสุดฝีมือเพื่อส่งเข้าประกวด


สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)

เรือกอและจำลอง ด้วยรูปทรงและสีสันเหมือนของจริงเพียงแต่ย่อส่วนลงมา ผลิตโดยนักต่อเรือกอและมืออาชีพจากหมู่บ้านปะเสยะวอ มีจำหน่ายในหมู่บ้าน ภายในตัวจังหวัดปัตตานี และศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์

การเดินทาง

จากปัตตานีตามหลวงหมายเลข 42 ถึง อำเภอสายบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4157 (สายบุรี-ปะนาเระ) อีกราว 2 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าหมู่บ้านปะเสยะวอ


เครดิต : http://www.oknation.net/blog/oleang/2012/05/08/entry-6

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 3166
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง