สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: นครศรีธรรมราช ::: เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัด มากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู

พระพิฆเนศวร์ กรุนครศรีธรรมราช ' เทพแห่งศิลปะและความสำเร็จทั้งปวง '

by sator4u_team @2 พ.ย. 54 02:31 ( IP : 101...34 ) | Tags : บทความ
photo  , 500x341 pixel , 14,366 bytes.

นครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณที่มีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 ประมาณ 1,800 ปีล่วงมาแล้ว เป็นเมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศาสนา มากที่สุดในภาคใต้ นครศรีธรรมราช มีชื่อเรียกในสมัยโบราณที่ชนชาติต่าง ๆ รู้จักกันมากมายหลายชื่อ เช่น ตามพรลิงก์ มาหมาลิงคม ตั้งมาหลิ่ง ตันมาลิง ตมลิงคาม ตามโพลิงเกศวร โฮลิง โพลิง เชียะโท้ว โลแล็ก สิริธรรมนคร ศรีธรรมราช ลิกอร์ ละคอน คิวคูตอน สุวรรปุระ ปาฎลีบุตร และ เมืองนคร ฯลฯ เป็นต้น คำว่า "นครศรีธรรมราช" มาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราช คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แปลว่า นครของราชาผู้ทรงธรรมอันสง่า และธรรมแห่งราชานครนี้ คือ ธรรมแห่งพระพุทธศาสนา
อาจจะพูดได้ว่า เมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ทั้งยังได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียใต้ , ลังกา และดินแดนอื่นๆ ในเอเซียอาคเนย์ เช่น เขมร มอญ พม่า ชวา มลายู แต่อิทธิพลวัฒนธรรม อินเดีย ดูเหมือนจะส่งผลต่อชีวิตผู้คนในเมืองนี้หลายอย่าง ทั้งด้านความเป็นอยู่ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี และคงสะสม กันจนกระทั่งกลายเป็น วัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น ไปในที่สุด

การที่วัฒนธรรมจากอินเดียแพร่เข้ามา ก็เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ในทิศทางลมมรสุมพัดผ่าน ซึ่งสะดวกในการเดินเรือ และมีทรัพยากรอันเป็นที่ต้องการของอินเดียมาก นครศรีธรรมราชจึงเป็นท่าเรือการค้ามาแต่สมัยโบราณ

ก่อนที่พุทธศาสนาจะหยั่งรากสะบัดใบบนดินแดนแห่งนี้ ศาสนาพราหมณ์ได้แพร่อิทธิพลเข้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว ดังจะพิจารณาได้จากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบมากมาย

เมืองนครศรีธรรมราชจึงมีทั้งพราหมณ์ และพุทธ มีทั้งพุทธมหายาน และพุทธหินยาน วัฒนธรรมประเพณีของเมืองนี้หลายสิ่งหลายอย่าง จึงผสมผสานกันทั้งพราหมณ์และพุทธ
สำหรับ โบราณวัตถุประเภทพระเครื่องที่ขุดค้นพบ มีทั้งสมัยทวารวดี ศรีวิชัย อยุธยา

พระเครื่องที่ขุดพบ ไม่ว่าจะเป็น พระกรุวัดนางตรา พระกรุวัดท่าเรือ พระกรุวัดนาสน พระกรุวัดนาขอม พระกรุวัดท้าวโคตร พระกรุวัดโพธิ์ พระกรุวัดนาคคาม พระกรุวัดเขาพนมไตย พระกรุวัดพระเวียง พระกรุวัดจันทร์ พระกรุวัดถ้ำเขาแดง พระกรุถ้ำเขาเหมน ซึ่งมีทั้งที่สร้างด้วยดินดิบ ดินเผา และโลหะต่างๆ จึงเป็นยอดพระเครื่องที่นักพระเครื่องรู้จักกันทั่วประเทศ
นอกจากนั้นยังมีการพบ เงินตรานอโม ซึ่งมีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีเมืองบริวารถึง 12 เมือง เรียกว่า เมือง 12 นักษัตร
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้ง พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้สร้าง เมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นใหม่ๆ ได้เกิด โรคห่าระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จึงคิดแก้อาถรรพณ์ โดยการสร้าง เงินตรานะโม โปรยปรายไปรอบกำแพงเมือง และศาสนสถาน

เงินตรานะโม เป็นเนื้อนวโลหะ (เนื้อเก้า) ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อทองอุไร เนื้อทองแดง เนื้อเงิน เนื้อสังกะสี เนื้อเหล็ก เนื้อปรอท เนื้อพลวง และเนื้อตะกั่ว หล่อหลอมเป็นเนื้ออันเดียวกัน โดยมีว่านยาบางชนิดเป็นตัวผสมผสาน มีสัณฐานกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ด้านหนึ่งสลักตัวอักษรอินเดียโบราณเป็นตัวอักษร น หมายถึง นะโม แปลว่า ความนอบน้อม ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็น เครื่องรางของขลัง อย่างหนึ่งที่นักสะสมพระเครื่องนิยมชมชอบกันมาก และค่อนจะหาของแท้ได้ยาก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ เมืองนครศรีธรรมราช ได้ติดต่อกับชาวต่างชาติมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8 เป็นต้นมา จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างมาก ดังที่ได้ขุดพบหลักฐานเป็นเทวรูป พระวิษณุ เนื้อศิลา ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นครศรีธรรมราชถึง 3 องค์ด้วยกัน และยังมี เทวสถาน อีกหลายแห่ง เช่น ฐานพระสยม หรือ พระสยมภูวนาถ ตั้งอยู่ริมถนนหลังพระบรมธาตุ ตอนใกล้สี่แยกท่าชี อำเภอเมือง ฐานพระสยม ก็คือ หอพระอิศวร นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมี หอพระนารายณ์ อันเป็นเทวสถานในลัทธิไวษณพนิกาย เป็นเทวสถานที่ประดิษฐานเทวรูป พระวิษณุเทพ เทพสำคัญแห่งนิกายซึ่งเป็นเทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

หอพระนารายณ์ อยู่ริมถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง หอพระอิศวร เป็นเทวสถานในลัทธิไศวนิกาย อยู่ตรงข้ามหอพระนารายณ์ ด้านใต้มีเสาชิงช้าซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่แทนของเก่า สำหรับใช้ใน พิธีตรียัมปวาย ของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช

แต่สำหรับ พระพิฆเนศวร์ (พระพิฆเนศ) หรือ พระคเณศ เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ตามความเชื่อว่าเป็น เทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จ ถ้าหากบูชาจะป้องกันความขัดแย้ง และชนะในอุปสรรคทั้งปวงเป็นเทพเหนือการรจนาหนังสือใดๆจึงพบว่าชาวฮินดูจะกล่าวคำกราบไหว้ พระพิฆเณศร์ เมื่อจะแต่งหนังสือ โดยเฉพาะวรรณคดีอินเดียจะไหว้ พระพิฆเณศร์ ด้วยโศลกบทแรก เนื่องเพราะพระพิฆเณศร์ เป็นเทพแห่งการชนะอุปสรรคทั้งปวง คือขจัดความขัดข้องทั้งมวล อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจกรรมต่างๆ ดังนั้นชาวฮินดูจึงนิยมกราบไหว้ พระพิฆเณศร์ ก่อนกระทำการใด

คำกราบไหว้ พระพิฆเณศร์ หรือ พระคเณศ มีว่า

คเณศาย นมะ ขอนบน้อมแด่พระคเณศ
หฺริ โอม ศรีคณปตาย นมะ หริ โอม ข้าพเจ้าขอนบพระคณหบดีผู้มีศรี
นอกจากนี้ พระพิฆเณศร์ ยังเป็น เทพแห่งศิลปะวิทยา ทุกแขนงอีกด้วย จึงไม่เพียงแต่กรมศิลปากรจะใช้รูป พระพิฆเณศร์ เป็นตราสัญลักษณ์ เท่านั้น แต่บรรดาผู้มีอาชีพในด้านการแสดงและนักเขียน ก็นิยมบูชาพระพิฆเณศร์ เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

พระพิฆเณศร์ มีหลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระคเณศ พระคณบดี คณนายก ( ผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ) วิฆนราช ( ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด) วิฆนนาศน์ ( ผู้ขจัดความขัดข้อง) กรีมุจ ( ผู้มีหน้าเป็นช้าง) เอกทันต์ ( ผู้มีงาเดียว) อาขุรถ ( ผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ) สัพโพทร ( ผู้มีท้องย้อย) ลัมพกรรณ ( ผู้มีหูยาน) พระนามของ พระคเณศ ทั้งหลายล้วนมาจากลักษณะของพระคเณศ ทั้งสิ้น

ตำนานการกำเนิดของ " พระพิฆเณศร์" นั้น มีกล่าวกันไปต่างๆ กัน ตามแต่ละชาติจะเขียนขึ้นมา จึงมีหลายตำนานตามความเชื่อและความนับถือ และรูปลักษณ์ของ พระพิฆเณศร์ มีไปตามคติความเชื่อของแต่ละชาติ

พระพิฆเณศร์ โดยปกติถือ งาช้างข้างหนึ่ง แต่ของธิเบต จีน ญี่ปุ่น จะถือ หัวผักกาดมีใบสามแฉกคล้ายตรี หรือ วชิราวุธ ของอินเดียท้องจะพลุ้ย และมีงาเดียว ส่วนของไทย ท้องไม่พลุ้ย อย่างอินเดีย และบางครั้ง มีงาครบทั้ง 2 ข้าง
พระพิฆเณศร์ มีถึง 51 ปาง จึงมีรูปลักษณะท่าทางมากมาย และบางทีก็มีหลายพระหัตถ์ จึงมีสิ่งของที่ทรงถือในพระหัตถ์แตกต่างกันออกไป เช่น ถือขวาน ค้อน จักร ตรี เชือกบาศ งา ส้ม ขนมต้ม บางปางถือพิณ เรียกว่า อุฉิษฐิ นอกจากถือพิณยังทรงถือดอกบัวและทับทิมอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามพระพิฆเณศร์ ที่เป็นรูปหล่อขนาดเล็ก ที่มีการขุดพบกันที่จังหวัด นครศรีธรรมราช ในวัดโบราณที่ร้างไปแล้ว และตามบริเวณพุทธสถาน เทวสถาน ยังคงหาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ว่า สร้างขึ้นเมื่อใด ใครสร้างขึ้นมา หากแต่เป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวปักษ์ใต้ และที่แปลกก็คือ ในบางองค์ที่พบ ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดตา ก็มี

รูปลักษณะ เป็นรูปลอยองค์ บนพระเศียรและด้านหลังจะปรากฏเส้นอักขระตัวอุ นอกจากนั้นในบางองค์ยังมีรูป " ดอกจัน" อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระกรุเมืองนครศรีธรรมราชอีกด้วย

ขนาดขององค์ พระพิฆเณศร์ จะเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน และจะไม่เหมือนกันทุกองค์ อาจจะคล้ายกันในบางส่วน แต่จะไม่เหมือนกันทุกอย่าง เข้าใจว่าเป็นการหล่อสร้างทีละองค์

เนื้อโลหะที่พบจะมีทั้ง เนื้อทองแดงเถื่อน เนื้อสำริด เนื้อทองดอกบวบ โดยเฉพาะ เนื้อทองแดงเถื่อน กับ เนื้อสำริด จะมีราคาการเช่าหาบูชากันสูง อยู่ที่หลักพันปลายถึงหมื่นต้นเลยทีเดียว อย่างเช่นองค์ที่ได้นำภาพมาลงประกอบเรื่องนี้ เจ้าของคือ " โกจ้อง" สุภาพ สุนทรธีรวุฒิ แห่งร้านราชธานี จ.นครศรีธรรมราช ได้ประมูล พระพิฆเณศร์ องค์นี้มาจากงานประกวดพระฯที่ จ.ยะลา ในราคาหลายหมื่นบาททีเดียว นับเป็น พระพิฆเณศร์ ที่มีความสวยงามอลังการในพิมพ์ทรง และเนื้อหามวลสารจัด ทำให้ง่ายต่อการพิจารณา

ด้วยประสบการณ์บวกกับความเชื่อของผู้ที่มี " พระพิฆเนศวร์" ไว้สักการะบูชา ที่ล้วนมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองและขจัดอุปสรรคได้ทั้งหลายทั้งปวง จึงทำให้มีผู้นิยมแสวงหา "พระพิฆเณศร์" กันมาก

อย่างไรก็ตาม...ท่านที่สนใจอยากได้ " พระพิฆเณศร์" กรุเมืองนครศรีธรรมราช...โปรดระวัง "ของปลอม" ไว้ด้วย เพราะมีออกมาหลากหลายฝีมือด้วยกัน


ข้อมูลและรูปภาพจาก : siamsouth.com

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 6398
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง