สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

เมียงมองสมุย “เกาะสวาท หาดสวรรค์” ..ในมุมเก่าของเวทีศิลปวัฒนธรรมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

  • photo  , 400x280 pixel , 85,733 bytes.
  • photo  , 400x265 pixel , 39,283 bytes.

ปี พ.ศ. 2512 ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เกาะสวาท หาดสวรรค์” ซึ่งกำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์ ออกฉายพร้อมกับสร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง อาทิ กวาดรายได้สูงถึง 3 ล้านบาท, สร้างดาราคู่ขวัญ “สมบัติ - อรัญญา” ประดับวงการบันเทิง, จุดกระแสภาพยนตร์เพลงให้โด่งดังขึ้นในเมืองไทย รวมทั้งกลายเป็นภาพยนตร์เปิดตัว “เกาะสมุย”ซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำตามท้องเรื่องให้คนไทยและชาวโลกรู้จัก ในฐานะเกาะที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอย่างเลิศล้ำ ทั้งโขดหินงาม หาดทรายขาว ทะเลใสและทิวมะพร้าวไหวเอน


หลังเปิดตัวในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ผู้คนก็กรูเข้ามาเยี่ยมเยียนเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติทางทะเล กระทั่งเกาะสมุยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก กระแสดังกล่าวทำให้เกาะสมุยถูกมองอย่างคับแคบเพียงมุมเดียว คือ มุมของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่วนมุมอื่น ๆ ซึ่งน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น การเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ถูกบดบังไปอย่างน่าเสียดาย


ก่อนหน้านี้ทางสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัด “เวทีศิลปวัฒนธรรมเกาะสมุย” ขึ้น เพื่อตามรอยประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าแห่งนี้ พร้อมเชิญชวนชาวสมุยร่วมกำหนดแนวทางอนุรักษ์


โดยมีกิจกรรมเป็นการเสวนาและร่วมอภิปราย ณ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มรส. โดย ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดี มรส. ซึ่งเป็นลูกหลานสมุยแท้ ๆ ร่วมย้อนอดีตชีวิตวัยเด็กพร้อมวิพากษ์ปัญหาที่สมุยกำลังเผชิญอย่างตรงไปตรงมา


“ผมเชื่อว่าสมุยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลทั้งในมิติของการเป็นเมืองท่องเที่ยวและการเป็นเมืองโบราณที่ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของคนในพื้นที่ ล่าสุดที่มีโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าสูง 22 เมตร ซึ่งสูงกว่าต้นมะพร้าวนั้น ผมมองว่า แต่ไหนแต่ไรมา เอกลักษณ์ของเกาะสมุยคือแล่นเรือเข้ามาแล้วมองเห็นทิวมะพร้าวเขียวสะอาดตา เอนลู่ไปตามลมราวกับแพรสีเขียวระบัดใบ ถ้าการกลับกลายเป็นว่า แล่นเรือเข้ามาแล้วเห็นทิวเสาไฟฟ้าแทน ก็เท่ากับว่าเราได้ทำลายเอกลักษณ์ของเราลงด้วยมือของเราเอง”


ลูกหลานชาวสมุยอีกคน คือ นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. ร่วมย้อนรอยสมุยให้ฟังว่า นักโบราณคดีได้ค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเกาะสมุยที่สำคัญหลายชิ้น อาทิ ขวานฟ้า กลองมโหระทึก โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา ศิวลึงค์จารึกอักษรอินเดียโบราณ และบริเวณที่เรือสำเภาสมัยอยุธยาจมอยู่ใต้น้ำ นั่นหมายความว่าเกาะสมุยเป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย


“ปัจจุบันร่องรอยของชุมชนเก่าหลายแห่งถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวที่พัฒนาอย่างไร้ทิศทางเป็นตัวการหนึ่ง ผมเคยทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชนเก่าและไปขอถ่ายรูปบ้านเก่าหลังหนึ่ง ครั้งแรกที่ผมไป บ้านหลังนั้นติดป้ายประกาศขายเอาไว้ ครั้งที่สอง บ้านหลังนั้นถูกรื้อออกบางส่วน และเมื่อผมไปเป็นครั้งที่สาม พบว่าบ้านหลังนั้นหายไปแล้ว มีรีสอร์ทมาตั้งแทน อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้านเก่าอีกหลายหลังที่เมื่อเราเข้าไปทำงานวิจัยแล้ว ทำให้เจ้าของบ้านมองเห็นคุณค่าและเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน”


ส่วนวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.โรจน์ คุณเอนก อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์ว่า เกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่ครบครันทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีทั้งบนดินและใต้น้ำ อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์แหล่งประวัติศาสตร์ของเกาะสมุยนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นโจทย์สำคัญอีกประการ คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บรักษาคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมไว้มิให้การท่องเที่ยวทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้


จากนั้นเป็นการทัวร์ศิลปวัฒนธรรมบนเกาะสมุย บ้านโบราณอายุกว่า 150 ปี ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันเจ้าของบ้านยังอาศัยอยู่ที่นี่และบำรุง รักษาอย่างดี คงไว้ซึ่งลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว แต่ใช้วิธีการเข้าสลักไม้ด้วย ฝีมือช่างภูมิปัญญาอันประณีต มี “ล่องแมว” เพื่อระบายอากาศและความชื้นใต้บ้าน ป้องกันไม่ให้ไม้ผุ เป็นต้น การทัศนศึกษาในครั้งนี้ยังทำให้ทราบว่าเกาะสมุยมีย่านชุมชนเก่าที่มีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านชุมชนเก่าบ้านหน้าทอน ตำบลมะเร็ต ซึ่งบ้านเรือนและร้านโชห่วยหลายหลังยังคงสภาพเดิมไว้ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยและร้านสะดวกซื้อที่ผุดขึ้นรายรอบ


นี่คือจุดบรรจบเล็ก ๆ ระหว่างความเก่าแก่บุราณกับความร่วมสมัย คือการอยู่ร่วมกันของการท่องเที่ยวกับอนุรักษ์ คือการปะทะกันของการดำรงอยู่กับการเปลี่ยนแปลง และไม่มีใครแพ้ใครชนะ หากผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างดงามลงตัว โดยไม่มีใครเป็นส่วนเกิน


ที่มา / ต้นฉบับ @ ASTV ภาคใต้

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2706
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง