15 มหัศจรรย์จังหวัดยะลา !!!
"งามโอ้ยะลา จิตใจใฝ่หายะลาเมืองแก้ว งามผังเมืองงาม สวยงาม เพริศแพร้วสมเป็นเมืองแก้วอาจิณ งามโอ้นิบง จิตใจลุ่มหลงนิบงงามสิ้น งามสาวนิบงขอจงได้ยิน ทุกนางงามสิ้นตรึงใจ บาโกยเหมือนสวรรค์ หลักเมืองนั้นงามกระไร วัดถ้ำเพลินใจ และยังอาลัยเขื่อนบางลาง งามโอ้ยะลา ประเสริฐนักหนาประชาสรรค์สร้าง งามทั้งน้ำใจรักไม่จืดจาง เหลือเกินกล่าวอ้างคำชม" @ เพลงยะลา
คำว่า ยะลา มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า ยะลอ ซึ่งแปลว่า “แห” เป็นเมืองชายแดนภาคใต้ที่มีความน่าสนใจทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชนต่างเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน และอิสลาม ตัวเมืองยะลามีการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 4,521 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ราบมีน้อย ยะลาแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาถ้าเดินทางโดยรถยนต์จะห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 1,084 กิโลเมตร โดยเดินทางตามเส้นทางถนนเพชรเกษม แต่ถ้าเดินทางโดยรถไฟ จะห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 1,055 กิโลเมตร
สะตอฟอร์ยู! ได้รวบรวม 15 สิ่งมหัศจรรย์ ของยะลาที่น่าตื่นตาตื่นใจ น่าประทับใจ และต้องตกตลึงในมนต์เสน่ห์ น่าหลงใหล ของดินแดนใต้สุดด้ามขวานแห่งนี้ ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลาใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน" ไปดูกันว่า "15 มหัศจรรย์แห่งยะลา" จะมีอะไรบ้าง ...
1.) ผังเมืองจังหวัดยะลา สวยที่สุดในไทย
เป็นผังเมืองที่ดีที่สุดและสวยที่สุดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งคล้ายกรุงปารีส ให้ถนนทุกสายไปรวมศูนย์กันในวงเวียน อีกส่วนเป็นตารางหมากรุกคล้ายเมืองลอสแองเจลิส ในสมัยพระรัฐกิจวิจารณ์ (อดีตข้าหลวงประจำจังหวัด) นายกเทศมนตรีคนแรกของเมืองยะลา (พ.ศ.2480-2488) ได้เป็นผู้นำเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการวางผังเมืองให้เป็นครั้งแรก โดยมีที่ปรึกษาเป็นชาวอังกฤษออกแบบผังเมืองแบบวงเวียน เป็นรูปใยแมงมุมวงเวียนซ้อนกัน 3 วงด้วยกัน ชั้นที่ 1 เป็นหน่วยงานราชการ ชั้นที่ 2 เป็นบ้านพักข้าราชการ ชั้นที่ 3 เป็นโรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ ชั้นนอกสุด เป็นย่านการค้า และที่อยู่อาศัย คณะเทศมนตรีทุกชุดได้พัฒนาบ้านเมืองโดยยึดผังเมือง จนเมืองยะลาได้รับชื่อเสียงว่าเป็นเมืองที่สวยงามและน่าอยู่ นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวยะลาโดยทั่วกัน
2.) พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) อธิษฐานบนบานแล้วสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ
เป็นหนึ่งในสามปูชนียสถานที่สำคัญของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี แสดงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าถ้ำ ห่างจากตัวเมือง 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปอำเภอยะหา บริเวณวัดร่มรื่นมีธารน้ำไหลผ่าน บันไดขึ้นไปยังปากถ้ำมีรูปปั้นยักษ์ ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าเขา" สร้างโดยช่างพื้นบ้านเมื่อปี 2484 ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ ดัดแปลงปรับปรุงเป็นศาสนสถาน มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ปี พ.ศ.1300 เป็นพระพุทธไสยาสน์สมัยศรีวิชัย มีขนาดความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน
ความเชื่อและวิธีการบูชา มีคำกล่าวว่าหากได้มาเยือนยะลา ต้องมากราบไหว้ขอพรพระนอนวัดคูหาภิมุขแห่งนี้ จะได้ชื่อว่ามาถึงยะลาอย่างแท้จริง และหากได้มาอธิษฐานบนบานองค์พระพุทธไสยาสน์ที่ถ้ำแห่งนี้ก็มักจะได้ผลสำเร็จสมปรารถนา
3.) พระเศวตสุรคชาธารฯ ช้างพรายคู่บารมี
พระเศวตสุรคชาธารฯ หรือ คุณพระเศวตฯ เล็ก เป็นช้างพลายเผือก เกิดในป่าตำบลการอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวาง ที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511 พระราชทานนามว่า
"พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนะสวัสดีวิบุลยศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า ฯ"
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม [2] เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระอาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว และกลายเป็นสุนัขที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว"
ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ “ดามพหัตถี” พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลปัจจุบัน พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 [4] หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิต อีกหลายสิบตัว
พระเศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอ พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ. 2520
4.) เขื่อนบางลาง สว่างไสวทั่วแคว้นแดนปักษ์ใต้
เป็นทะเลสาบกลางภูเขา ตั้งอยู่ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลาง บริเวณป่ารอบๆ อ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์ ทะเลสาบ เกาะ ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมเนื้อที่ประมาณ 163,125 ไร่ หรือ 261 ตารางกิโลเมตร
บางลางเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในภาคใต้ กั้นแม่น้ำปัตตานี ที่บริเวณบ้านบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ห่างจากตัวอำเภอเมือง ๕๘ กิโลเมตร ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินถม แกนดินเหนียว มีความสูง ๘๕ เมตร สันเขื่อนยาว ๔๓๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ ๒๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน ๒,๐๘๐ ตารางกิโลเมตร อาคารโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน ๓ เครื่อง ขนาดเครื่องละ ๒๔,๐๐๐ กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต ๗๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ลานไกไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของอาคารโรงไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งมายังลานไกไฟฟ้าแห่งนี้ แล้วต่อไปยังสายส่ง ไฟฟ้า ๑๑๕ กิโลวัตต์ ๒ วงจร สู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงยะลา ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางสามารถอำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูกของจังหวัด ยะลา และปัตตานี เป็นพื้นที่ ๓๘๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมาสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบ ไฟฟ้าในภาคใต้ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น นับเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณประโยชน์มหาศาล อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำปัตตานีที่เคยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญในภาคใต้ ซึ่งช่วยเสริมอาชีพและรายได้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้เขื่อน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาอีกด้วย
5.) ผืนป่าบาลา - ฮาลา นกเงือกแสนสวยและป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
ป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ และเป็นป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของไทย ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลา ประกอบไปด้วยพื้นไม้ป่าที่สูงใหญ่สมบูรณ์ น้ําตกที่เพิ่งได้รับการค้นพบนับสิบแห่งที่ยังไม่ได้แม้กระทั่งตั้งชื่อ แหล่งรักษาพันธุ์นกเงือกนับพันตัว สัตว์ป่าหายากอย่างกระทิง รวมไปถึงสัตว์ป่าต่างๆ อาทิ กระทิง ช้างป่า เก้ง กวางป่า เป็นต้น อีกทั้งเส้นทางด้านหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เข้าทางหลังเขื่อนบางลางไปตามถนนที่คดเคี้ยวบนเทือกเขาจะสามารถมองเห็นจุดชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำที่สวยงามอีกด้วย
6.) อุโมงค์ปิยะมิตร อดีตฐานปฎิบัติการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
เป็นอุโมงค์ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรืออดีตกลุ่มโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เขต 2 เมื่อปี พ.ศ. 2519 ใช้หลบการโจมตีทางอากาศและสะสมเสบียง การสร้างใช้กำลังคน 40 - 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา และใช้เวลาเพียง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ อุโมงค์มีความกว้าง 50-60 ฟุต ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในมีสถานีวิทยุของ จคม. ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง มีซอกมีมุมให้เลี้ยวลัดเลาะ ด้านบนเป็นป่ารกมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม ยากแก่การค้นหาและถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายรัฐบาล ในปัจจุบันได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 - 16.30 น. การท่องเที่ยวอุโมงค์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีการติดตั้งไฟฟ้าตลอดแนวอุโมงค์ อากาศภายในเย็นสบายไม่อึดอัด บริเวณทางเข้าสองข้างทางเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ และมีแอ่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขา ด้านนอกอุโมงค์ซึ่งเคยเป็นลานฝึกทหารจัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพและเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในป่า นอกจากนี้ ยังมีเห็ดและยาสมุนไพรจากป่าจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
7.) ตู้ไปรษณีย์เบตง ใหญ่ที่สุดในโลก
ตู้เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 ตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จุดประสงค์ที่สร้างไว้ในครั้งแรกก็เพื่อใช้เป็นที่กระจายข่าวสารบ้านเมืองให้ชาวเมืองเบตงได้รับฟัง จากวิทยุที่ฝังอยู่ส่วนบนของตู้ และใช้เป็นตู้ไปรษณีย์มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันได้มีการสร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเดิมที่บริเวณศาลาประชาคม ถนนสุขยางค์ มีความสูงประมาณ 9 เมตร เป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
8.) เจ้าดาโต๊ะ ลิงเผือกแห่งบ้านกาเยาะมาตี รอยยิ้มแห่งเทือกเขาบูโด
หนุ่มมุสลิมนามว่า ตอเละ แยมา ชาวบ้านกาเยาะมาตี ต.จะกว๊ะ อ.รามัน ดัก “ลิงกังเผือก” ได้จากเทือกเขาบูโด และนำมันมาประคบประหงมเลี้ยงดู ด้วยความแปลกประหลาดของเจ้าลิงตัวใหญ่ที่มีขนสีขาวตลอดตัว และจากการเล่าต่อๆ กันแบบปากต่อปากของชาวบ้าน ทำให้เรื่องราวของ "ลิงเผือก" กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ปลุกให้ผู้คนหลั่งไหลกันไปดู “ลิงเผือก” พร้อมกับบริจาคเงินช่วยเหลือตอเละและ "เจ้าดาโต๊ะ" รวบรวมได้หลายแสนบาท แถมยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่พากันเปิดร้านขายอาหารและของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปชม “ลิงเผือก” อย่างเอิกเกริกเป็นกอบเป็นกำ
เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังกระฉ่อนไปถึงรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ถึงขนาดที่ราชวงศ์ของกลันตันส่งคนมาเยี่ยมเยียนช่วยเหลือ และฝากให้ตอเละดูแล "ลิงเผือก" อย่างดีที่สุด
9.) ป้ายทะเบียนรถเบตง หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีป้ายทะเบียนรถเป็นชื่ออำเภอ
อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่ได้รับอนุญาตให้สามารถรับจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และคนขับรถได้ที่อำเภอ โดยไม่ต้องเข้ามาจดทะเบียนที่จังหวัดยะลา จึงเป็นผลให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่รถจดทะเบียนจะได้รับป้ายทะเบียนรถ "เบตง" ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2468
10.) ทะเลสาบธารโต ทะเลสาบบนภูเขาแห่งแรกของภาคใต้
เป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนบางลาง ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 30 เกาะ เกิดจากการถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง มีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาว 6 กิโลเมตร แม้จะเกิดจากความเพียรพยายามของมนุษย์ แต่ก็เป็นพื้นน้ำอันกว้างไกลสุดขอบฟ้า เป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์น้ำ และต้นกำเนิดของพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถล่องเรือล่องแพสัมผัสกับความงามของเกาะแก่งชมป่าเขาลำเนาไพร สำราญกับการตกปลาท่ามกลางไหล่เขา มีทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยงามแปลกตายิ่งนัก
11.) อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระยะทางยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวการจราจรคู่กว้าง 7 เมตร
12.) พระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน ขนาดหน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 14.29 เมตร น้ำหนักประมาณ 40 ตัน ตั้งอยู่ที่วัดพุทธาธิวาส
13.) เสาธงชาติไทยที่สูงที่สุดในประเทศไทย
เสาธงชาติตั้งอยู่ที่กองบังคับการกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 มีความสูงรวม 65 เมตร ธงยาว 18 เมตร กว้าง 9.2 เมตร
14.) สวนไม้ดอกหมื่นบุบผา อ.เบตง สวนไม้ดอกเมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้
สวนไม้ดอกเมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย "สวนไม้ดอกหมื่นบุบผา โครงการไม้ดอกเมืองหนาวหมู่บ้านปิยะมิตร 2" ตั้งอยู่ที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนี้ เป็นโครงการที่ช่วยให้ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และอดีตชาวจีนมาลายูที่ตั้งเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียอยู่ในแดนไทยเขตเบตงสมัยก่อน ที่ออกจากป่ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มีรายได้และช่วยกันสร้างชาติไทย ปัจจุบันหุบเขาแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีไม้ดอกเมืองหนาวหลากสีคล้ายบนดอยทางภาคเหนือ และไม้ดอกเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออก เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของเบตง เช่น ดอกไฮเดรนเยีย เบญจมาศ กุหลาบ พีค๊อก เยอบีร่า ลิลลี่ เป็นต้น
15.) ทุเรียนหมอนทองยะลา ปลูกได้มากที่สุดในประเทศไทย และอร่อยที่สุดในโลก
ผลไม้นั้นอันดับหนึ่งของยะลา คือ ทุเรียน จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย ทุเรียนหลายชนิดของยะลา โดยเฉพาะหมอนทอง ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย หรืออร่อยที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีทุเรียนก้านยาว ชะนี รวมทั้งทุเรียนบ้าน ที่มีความอร่อยไม่แพ้กัน ซึ่งจะมีสิ่งการันตี จากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ในช่วงหน้าผลไม้ คือ เดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม ในช่วง 4 เดือนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เดินทางเข้ามาในพื้นที่ อ.เบตง เพื่อรับประทานทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก และในปีนี้คาดว่า จะมีผลผลิตทุเรียนของ จ.ยะลา ออกสู่ตลาดประมาณ 35,000 ตัน
Relate topics
- สุไหงโก-ลก เป็นพันพรื่อ ? ถ้าอยากรู้ เอ้าเร่เข้ามาจะพาไปเที่ยว ^^ใต้สุดแดนสยาม วัฒนธรรมงามสองภาษา ปาเต๊ะ-บาติคดูงามตา แหล่งศึกษาป่าพรุสิรินธร ![ คำอธิบายภาพ : 1381060703-4808845115-o ](http://sator4u.com/upload/pics/1381060703-4808845115-o.jpg "ชื่อภาพ : 13
- ล่องเรือกินลม ชมทะเลสาบ เปิดฟ้ากว้างในป่า “บาลาฮาลา”ล่องเรือกินลม ชมทะเลสาบ เปิดฟ้ากว้างในป่า “บาลาฮาลา” “บาลา...ฮาลา” ป่าดิบชื้น ผืนใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพื้นที่ประมาณ 800,000 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง จ.
- ภาคประชาชนจับมือภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมเดินรณรงค์สานใจสู่สันติชายแดนใต้ 11 ปี ไฟใต้ภาคประชาชนจับมือภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมเดินรณรงค์สานใจสู่สันติชายแดนใต้ 11 ปี ไฟใต้ บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นประธานเ
- เขื่อนบางลางยะลา ยันยังไม่ระบายน้ำ ออกวอนประชาชนอย่าตกใจยะลา - คืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา ล่าสุด หลายชุมชนในเขตเทศบาลนครยะลา ถูกน้ำท่วมแล้ว หลังฝนตกต่อเนื่องจากเกิดปริมาณน้ำสะสม ขณะที่เขื่อนบางลางยะลา แจ้งรอประเมินสถานการณ์ ยังไม่มีการระบายน้ำ
- หวั่นน้ำท่วม ชาวยะลาจำนวนมากต่างพากันมายืนเฝ้าดูระดับน้ำที่ไหลหลากหวั่นน้ำท่วมชาวบ้านจำนวนมากต่างพากันมายืนเฝ้าดูระดับน้ำที่ไหลหลากจากจ.ยะลา ที่บริเวณเขื่อนทดน้ำโครงการชลประทาน ต.เมาะมาวี อ.ยะรังจ.ปัตตานี ขณะที่ผู้ว่าราชการ จ.ยะลาและปัตตานีได้ออกมายืนยันว่าจะไม่มีกา
- บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน จ.พัทลุง ปรับปรุงใหม่ ไฉไลกว่าเดิม!!!บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน จ.พัทลุง ปรับปรุงใหม่ ไฉไลกว่าเดิม!!! Cr. ภาพสวยๆ 1 , 2, 3, 5 จาก Krisda Suwankarn, 4 จาก [Auvevav Choojan](https://www.facebook.com/ubonrat
- กิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์อำเภอรามันกิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์อำเภอรามัน (20-11-57) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยอำเภอรามัน วัฒนธรรมอำเภอรามัน และได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ ท้องถิ่น ชุมชนและทุกภาคส่วนในอำเภอรามัน กิจกรรมครั้งนี่้มีนายวันมูหัม
- พนักงานราชการครูช่วยราชการ สช ยะลา ร่วมกิจกรรมพบปะยามเช้า ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลาวันนี้(15 ต.ค.57) นายพันเทพ สุวรรณขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนางสาวสุมลทิพย์ ชูเรือง นักวิชาการการเงินและบัญชีปฏิบัติการ นางสาวสุณิสา หนูชู นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ
- 10 ราย ผู้เข้าร่วมเพื่อสร้างสันติสุขพื้นที่ยะลา ตามยุทธศาสตร์พระราชทานยะลา - ราษฎร 10 ราย เข้าร่วมรายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อร่วมสร้างสันติสุขในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมการเสริมสร้างยะลาสันติ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา วานนี้ (30 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศรียะลา อาคารศ
- พิธีถวายพระพรและพิธีสวดดูอาร์ สำหรับพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดยะลา เนื่องในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาวันนี้ (12 สค 57) ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายพิเชษฐ์ เจ้ยทองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนายวิทยาศิลป์ สะอา รองผู้อำนวยการและนางสุภาภรณ์ ศรีไส