นอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีทำให้นอนหลับอย่างไรบ้าง?
หลายคนอาจกำลังประสบปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับยากอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วการนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย และเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก หากมีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจได้ในระยะยาว บทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับโรคนอนไม่หลับให้มากยิ่งขึ้น พร้อมแนะนำวิธีรักษาและป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับ เพื่อให้คุณกลับมามีคุณภาพการนอนที่ดีอีกครั้ง
อาการนอนไม่หลับเป็นอย่างไร? สังเกตได้ง่าย ๆ จากอาการต่อไปนี้
อาการนอนไม่หลับนั้นมีหลายแบบ ใครไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับอยู่หรือไม่ อาจสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- อาการนอนหลับยาก รู้สึกง่วงอยากนอนแต่นอนไม่หลับ ต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาทีถึงจะหลับได้
- นอนหลับได้ไม่นาน
- พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการเหนื่อยล้าระหว่างวัน
- ตื่นก่อนเวลาที่ควรจะตื่น
- ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น
- ง่วงนอนตลอดเวลา รู้สึกไม่สดชื่นเหมือนนอนไม่หลับมาทั้งคืน
- หลังจากหลับไปแล้วมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก และนอนหลับต่อยาก ต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาทีถึงจะหลับต่อได้
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
อาการนอนไม่หลับ มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?
หลังจากได้รู้กันแล้วว่าอาการนอนไม่หลับเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันว่าโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เกิดจากอะไรบ้าง ซึ่งสาเหตุของการนอนไม่หลับนั้นเกิดจากหลากหลายปัจจัย ดังนี้
- ปัญหาด้านจิตใจ เช่น มีความเครียด วิตกกังวล มีอาการของโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
- ปัญหาด้านร่างกาย มักเกิดจากโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น อาการกรดไหลย้อน, ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคหัวใจ ฯลฯ
- ปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ดื่มกาแฟ, สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการนอนไม่เป็นเวลา
- ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกที่รบกวนการนอน เช่น อุณหภูมิห้องร้อนเกินไป มีแสงสว่างรบกวนการนอน หรือมีเสียงดังจนทำให้นอนไม่ได้
นอนไม่หลับ ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?
การนอนไม่หลับบ่อย ๆ หรือนอนหลับยากเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับกระสับกระส่าย สมองไม่หยุดคิด นอนหลับแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก หรือนอนแล้วกระตุก หากเป็นติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ นานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุด เพราะอาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
- รู้สึกง่วงนอนมากเกินปกติ
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย
- เจ็บป่วยง่าย
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลง
- อ้วนง่าย เนื่องจากระบบเผาผลาญร่างกายทำงานผิดปกติ
- จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย
- เสี่ยงเกิดภาวะหย่อนหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
นอนไม่หลับ มีวิธีรักษาอย่างไรให้กลับมาหลับได้มีคุณภาพอีกครั้ง?
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าโรคนอนไม่หลับนั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนั้นการรักษาอาการนอนหลับจึงมีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเลือกวิธีการรักษาและทำให้นอนหลับที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด
วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับโดยใช้ยา
ตัวอย่างกลุ่มยาที่แพทย์มักจ่ายให้คนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับ เช่น
- ยากลุ่ม Benzodiazepine อาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงทั้งวัน เดินเซ ตัดสินใจได้ช้าลง
- ยากลุ่ม Non-Benzodiazepine เช่น Zolpidem อาจทำให้ง่วงซึม ละเมอ หรือมึนหัวได้
- ยาต้านซึมเศร้า เช่น Mirtazapine หรือ Trazodone เป็นยาที่ช่วยปรับอารมณ์ และออกฤทธิ์ทำให้หลับ
- ยากลุ่ม Melatonin ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา
การรักษาโรคนอนหลับโดยไม่ใช้ยา แพทย์จะแนะนำให้คนไข้บำบัดโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- ใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกหายใจเข้าออก หรือฟังเพลงผ่อนคลาย
- ทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia) โดยการปรับทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนโดยผู้เชี่ยวชาญ
- สร้างสุขอนามัยในการนอนหลับ เช่น เข้านอนให้ตรงเวลา, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรือการใช้สารกระตุ้นระหว่างวัน, ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือจัดสภาพแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะสม
อาการนอนไม่หลับ ป้องกันได้อย่างไร?
แก้อาการนอนไม่หลับอย่างไรดี? ใครเริ่มมีสัญญาณการนอนไม่หลับก็ไม่ควรละเลยและปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากอาการสะสมไปนาน ๆ ย่อมส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ในหัวข้อนี้เรามาดูกันว่าการป้องกันและแก้อาการนอนไม่หลับด้วยวิธีธรรมชาติมีอะไรบ้าง
วิธีนอนให้หลับง่ายขึ้นจากการปรับพฤติกรรมการนอนและการใช้ชีวิต
- กำหนดเวลานอน และตื่นนอน-เข้านอนให้เป็นเวลา โดยทำต่อเนื่องทุกวัน
- หากรู้สึกง่วงนอนขึ้นมาให้รีบเข้านอน ไม่ควรฝืน
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายเบา ๆ ก่อนเข้านอน
- หากนอนไม่หลับหลังเข้านอนมากกว่า 20 นาที แนะนำให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนเข้านอน ไม่ควรฝืนนอนต่อ
- ไม่ใช่เตียงนอนทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอนหลับ
- งดเครื่องดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์
- ไม่ออกกำลังกายหนัก ๆ ก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน
วิธีทําให้ง่วงและนอนหลับจากการปรับสภาพแวดล้อม
- ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการนอนหลับ
- ปิดไฟให้มืดสนิทเมื่อต้องการเข้านอน
- หากมีเสียงรบกวนภายนอก แนะนำให้สวมที่อุดหูเพื่อป้องกันเสียง
- เลือกหมอนและที่นอนที่เหมาะกับสรีระร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น
- ใช้กลิ่นบำบัดผ่อนคลายในห้องนอน เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์
สรุป ปัญหาการนอนไม่หลับ แก้อย่างไรดี?
โรคนอนไม่หลับเป็นปัญหาการนอนที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หากเริ่มมีอาการนอนไม่หลับควรปรับนิสัยการนอนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม แต่หากใครมีอาการร้ายแรง นอนไม่หลับ 3 วันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือนขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของปัญหา และใช้วิธีรักษาอย่างเหมาะสมและตรงจุด เพื่อให้คุณกลับมามีคุณภาพการนอนที่ดีดังเดิมได้ต่อไป