อวสานเครื่องโรตารี่

by sator4u_team @14 ม.ค. 58 22:17 ( IP : 113...37 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ
  • photo  , 770x577 pixel , 55,607 bytes.

1,300 cc. x 2 = 250 แรงม้า งานวิศวกรรมเครื่องยนต์สูบหมุนของค่ายรถยนต์เจ้าของสโลแกน Zoom Zoom ที่เน้นผลิตภัณฑ์ของตนไปในทิศทางของมอเตอร์สปอร์ต รถ Mazda RX-8 ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ Renesis ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด และน้ำหนักเบากว่าเครื่องยนต์แบบปกติ แต่ให้แรงม้าและแรงบิดมากกว่าเครื่องยนต์สูบเรียงหลายเท่าตัว เครื่องยนต์รุ่นนี้เคยกวาดรางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2006 แต่วันนี้ มันได้ถึงกาลอวสานเสียแล้ว...


Mazda Cosmo 1967-1974


Mazda RX3 1971-1978


Mazda RX7 FB 1978-1985


Mazda RX7 FC 1985-1988


Mazda RX7 FD 1991-2002


Mazda RX8 Renesis Rotary 2004-2009


รถสปอร์ต Mazda ตระกูล RX และเครื่องยนต์สูบหมุนแบบโรตารี่ คืองานวิศวกรรมชั้นเยี่ยมของค่ายรถยนต์ที่มักมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ของตนไปในทิศทางที่อิงกับกีฬามอเตอร์สปอร์ต บริษัท Mazda Motor คือผู้สร้างยนตรกรรมที่มีความแปลกแยกแตกต่างจากรถญี่ปุ่นทั่วไป ทั้งจากรูปทรง เครื่องยนต์และระบบรองรับหรือช่วงล่างที่ไม่เป็นสองรองจากค่ายใด ภายในที่สวยงามจากการจัดวางอุปกรณ์และการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงสมรรถนะของการขับขี่ที่ให้อารมณ์สนุกสนาน แม่นยำและควบคุมได้ดั่งใจ ลูกค้าส่วนใหญ่ของค่าย Zoom Zoom มักเลือกซื้อรถยนต์ที่มีสมรรถนะในด้านการควบคุมที่โดดเด่น รูปทรงกะทัดรัดและให้การยึดเกาะกับถนนดี คล่องตัว มีมุมมองแบบสปอร์ตมากกว่ารถยนต์ทั่วๆ ไป จากการออกแบบที่เชื่อมโยงกับแนวทาง KODO Design นับเป็นบุคลิกพื้นฐานของแบรนด์ Mazda ซึ่งพบเห็นได้ในทุกโมเดล ไม่เว้นแม้แต่รถกระบะในตระกูล BT จุดเด่นของรถสปอร์ตในโมเดล RX ของ Mazda คือ เครื่องยนต์สูบหมุนที่ทรงพลัง มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ให้แรงม้าและแรงบิดอย่างล้นเหลือ แต่มันได้เดินทางมาจนถึงวาระสุดท้าย เนื่องจากเครื่องยนต์โรตารี่ไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานการปล่อย C02 ซึ่งทำให้ต้องยุติการจำหน่ายในทวีปยุโรปไปตั้งแต่ปี 2010 ตามมาด้วยการยกเลิกสายการผลิตในประเทศญี่ปุ่น เป็นการปิดฉากที่น่าเศร้าของเครื่องยนต์แบบสูบหมุนที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมชมชอบสูงมาก





Mazda Cosmo


Mazda ผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองฮิโรชิมา นำเอาเครื่องยนต์โรตารี่มาวางลงในรถยนต์รุ่น Cosmo ซึ่งเริ่มต้นออกวางขายในปี 1967 นับเป็นรถสปอร์ตคันแรกจากค่าย Zoom Zoom ที่นำเอาเครื่องยนต์แบบสูบหมุนมาใช้งาน รูปทรงที่สวยงามคลาสสิกของ Cosmo 1967 กับเครื่องยนต์สมรรถนะสูงของมัน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกแหวกแนวสำหรับวงการยนตรกรรมของโลกในช่วงเวลานั้น เครื่องยนต์สูบหมุนของ Cosmo ให้กำลัง 128 แรงม้า เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรใน 8.6 วินาที และมีความเร็วสูงสุดที่ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง





Mazda RX-7 FA


มันคือรถสปอร์ตเครื่องยนต์โรตารี่ที่ทำเงินให้กับ Mazda อย่างเป็นกอบเป็นกำด้วยยอดขายกว่า 500,000 คัน รถ RX-7 รุ่นแรกสุดวางเครื่องยนต์สูบหมุนขนาด 1.3 ลิตร 135 แรงม้า (101kW) รหัส 13B RE-EGI เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรได้ในเวลา 9.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ให้พลังงานสูงกลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา โดยมีเจ้า RX-7 รุ่นแรกสุดเป็นผู้จุดประกาย





Mazda 787B อนุพันธ์จักรกลรถแข่งเอนดูลานซ์สมรรถนะสูง 787B เป็นรถแข่งในประเภทกรุ๊ป C สร้างขึ้นโดยทีมแข่งของ Mazda สำหรับใช้ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระยะไกล ในรายการสปอร์ตเวิลด์แชมเปียนชิพ ของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น รถแข่งคันนี้ได้ถูกส่งลงทำการแข่งขันในรายการแข่งรถแบบ 24 ชั่วโมง หรือ Le Mans ประจำฤดูกาล 1990-1991 รถแข่ง Mazda 787B มีน้ำหนักเพียง 850 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์โรตารี่ที่ให้กำลังถึง 700 แรงม้า Mazda 787B สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 1 คว้าชัยชนะอันน่าจดจำที่มีเหนือรถแข่งจากทีมแข่งของยุโรปซึ่งส่งรถแข่งเข้าร่วมลงทำการแข่งขันเป็นจำนวนมากมายหลายทีม นับเป็นรถแข่งคันแรกจากทวีปเอเชียและสร้างโดยคนเอเชียที่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศในรายการแข่งแบบมาราธอน 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก โรเตอร์สูบหมุนของเครื่องยนต์สามารถทำให้รอบความเร็วเพิ่มขึ้นถึงจุดเรดไลน์อย่างรวดเร็ว วิศวกรของ Mazda ระบุว่า รถสามารถอัพกำลังของเครื่องได้มากกว่า 930 แรงม้ากับเรดไลน์ที่ 10,500 รอบ/นาที ในระหว่างการตรวจสอบเครื่องยนต์หลังจบการแข่งขัน พวกเขายังค้นพบว่าทุกด้านของเครื่องยนต์ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม และสามารถลงแข่งขันต่อไปได้อีกด้วย นอกจากนี้ หัวเทียนชนิดพิเศษบนโรเตอร์ทำให้รถประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น สมรรถนะที่เป็นเลิศของเครื่องยนต์ ควบรวมกับระบบอากาศพลศาสตร์ของ 787B ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้รถตัวนี้สามารถสร้างชื่อเสียงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับค่าย Zoom Zoom อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน





Mazda RX-7 FC ช่วงอายุที่สั้นของ RX-7 FC เจเนอเรชั่นที่สอง ทำให้ยอดขายของรถรุ่นนี้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร รถ RX-7 ในรุ่นนี้มีชื่อเรียกว่า Savanna เรือนร่างรูปทรงของมันมีความคล้าย Porsche 924-944 หัวหน้าวิศวกรโครงการ Arkio Uchiyama จดจ่ออยู่กับรูปลักษณ์อันทรงพลังของ Porsche 944 โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพื่อทำให้ RX-7 FC กลายเป็นรถสปอร์ตสองประตูระดับหัวแถวสำหรับขายในตลาดรถสปอร์ตของอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ซื้อรถ RX รุ่นแรกไปใช้งานแล้วต่างติดอกติดใจในประสิทธิภาพของการขับขี่ ทีมงาน Mazda ใช้เวลาในการออกแบบและพัฒนาตัวรถต้นแบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำการศึกษาความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบรถสปอร์ตพลังสูง ระบบต่างๆ ของ RX-7 FC ได้รับการปรับปรุงอย่างมาก เพลากลางส่งกำลังไปยังล้อหลังมีน้ำหนักเบา พวงมาลัยเพาเวอร์แม่นยำมากขึ้น เครื่องยนต์สูบนอนแบบโรตารี่ซึ่งเป็นหัวใจของการให้พลังงานได้รับการปรับปรุงให้มีความทนทาน เครื่องโรตารี่อัดอากาศด้วยเทอร์โบพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ เครื่องยนต์สูบหมุนจาก Mazda ตัวนี้มีปริมาตรความจุเพียง 1.3 ลิตร ให้กำลัง 202 แรงม้า (151kW) รหัสเครื่อง 13B เร่งจาก 0-100 กิโลเมตร ใน 7.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนน้ำหนักตัว 1,270 กิโลกรัม





Mazda RX-7 FD รุ่นที่สามของ RX-7 ใช้รหัสตัวถัง FD มีความโดดเด่นจากการออกแบบรูปทรงที่ปราดเปรียวเพรียวลม เรือนร่างที่งดงามกับสมรรถนะที่ดีทำให้มันได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว RX-7 FD วางเครื่องยนต์สูบหมุน รหัส 13B-REW ระบบอัดอากาศเทอร์โบชาร์จเจอร์คู่ ตัวรถรุ่นแรกมีกำลัง 255 แรงม้า (188 กิโลวัตต์) ผลิตออกขายในปี 1993 หลังจากนั้น เครื่องยนต์โรตารี่ 13B-REW ถูกพัฒนาให้มีกำลังมากถึง 280 แรงม้า (206 กิโลวัตต์) เมื่อสิ้นสุดสายการผลิตในประเทศญี่ปุ่นในปี 2002 รถ Mazda RX-7 รุ่นที่สามมีชิ้นงานทางด้านวิศวกรรมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ระบบอัดอากาศ ประกอบด้วย Turbochargers ขนาดเล็ก ตัวแรกให้ทำงานในรอบต่ำ โดยเทอร์โบชาร์จเจอร์ตัวแรกสามารถสร้างแรงดันได้ถึง 10 psi (0.7 บาร์) เมื่อหมุนเพียงแค่ 1,800 รอบต่อนาที ส่วนเทอร์โบชาร์จเจอร์ตัวที่สองจะทำงานที่ 4,000 รอบต่อนาที กระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ 4,500 รอบ สามารถสร้างแรงดึงอย่างต่อเนื่องชนิดหน้าหงายได้เลยทีเดียว เครื่องยนต์สูบหมุนควบคุมการทำงานด้วย ECU ซึ่งเป็นสมองกลไฟฟ้าขนาด 16-bit ให้สมรรถนะด้านอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร ใน 5.3 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง





เครื่องยนต์ โรตารี่ Renesis ยุคใหม่ในรถ Mazda RX-8 มีขนาดเล็กกะทัดรัดและน้ำหนักเบากว่าเครื่องยนต์แบบปกติ การออกแบบผนังห้องเครื่องเพื่อให้เกิดความสมดุลในการกระจายน้ำหนักทำได้ง่าย งานวิศวกรรมเครื่องยนต์สูบหมุนแบบโรเตอร์ที่คิดค้นขึ้นโดยช่างชาวเยอรมัน ถูกสานต่อบนสายพันธุ์รถสปอร์ตของ Mazda มานานกว่า 30 ปีแล้ว ลูกสูบแบบสามเหลี่ยมในเครื่องโรตารี่ของ Mazda สามารถสร้างแรงม้าได้มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาตรความจุที่เท่ากันของเครื่องยนต์แบบแถวเรียงสูบชัก ปริมาณของชิ้นส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเครื่องโรตารี่น้อยกว่าเกือบเท่าตัว ส่งผลให้เครื่องยนต์ชนิดนี้มีน้ำหนักเบา มีขนาดเล็กและมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำมาก การส่งกำลังจากลูกสูบไปยังเพลาเยื้องศูนย์จะอยู่บนแกนเดียวกัน ต่อเนื่องไปถึงเพลาส่งกำลังและเพลากลาง เครื่องยนต์โรตารี่จึงมีการสูญเสียกำลังระหว่างจุดเชื่อมถ่ายน้อยกว่าเครื่องยนต์สูบชักแบบเห็นๆ





หลักการทำงานของเครื่องยนต์โรตารี่ ซึ่งไม่มีลูกสูบชักขึ้น - ลง เหมือนเครื่องยนต์ปกติ ไม่มีก้านสูบ ลิ้นและสปริงรวมถึงเพลาลูกเบี้ยวที่ค่อนข้างมีความเสถียรน้อยกว่าเมื่อทำงาน เครื่องยนต์โรตารี่จึงเป็นเครื่องยนต์ที่มีห้องเผาไหม้แบบเดี่ยว ภายในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ชนิดนี้มีส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่สองส่วนคือ โรเตอร์หรือลูกสูบทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า ชิ้นส่วนอีกชิ้นคือ แครงชาร์ฟที่อยู่ในโรเตอร์ ปลายทั้งสามของโรเตอร์ จะหมุนไปรอบๆ ห้องเผาไหม้ ส่วนที่แบ่งออกเป็นสามส่วนของผนังสูบจะทำให้กำลังอัดของเครื่องโรตารี่เพิ่ม หรือลด แล้วแต่การหมุนของโรเตอร์ว่าอยู่ในตำแหน่งใด หลักแนวคิดของเครื่องยนต์โรตารี่หรือเครื่องยนต์ Wankel (คิดค้นขึ้นโดยวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ Felix Wankel) ใช้โรเตอร์หนึ่งตัวรูปสามเหลี่ยม หมุนอยู่ในเสื้อสูบรูปวงรี การหมุนครบหนึ่งรอบมีระบบการทำงานที่คล้ายเครื่องยนต์สี่จังหวะ คือดูด อัด ระเบิด คาย โดยโรเตอร์เพียงตัวเดียวทำหน้าที่ทั้งหมด ในยุคแรกเริ่ม เครื่องยนต์ชนิดนี้ถูกนำมาวางในรถเยอรมันยี่ห้อ NSU และได้รับความนิยมพอสมควรแต่ไม่ค่อยกว้างขวางเท่าใดนัก





เมื่อเครื่องยนต์โรตารี่ถูกออกแบบให้มีการส่งถ่ายกำลังอยู่ในแกนเดียวกัน ทำให้สามารถวางเครื่องในระดับที่ต่ำมาก ส่งผลไปถึงค่า Center Of Gravity (CG) ที่ต่ำกว่าปกติ ได้เปรียบรถยนต์แบบอื่นในด้านการทรงตัว รอบเครื่องที่จัดจ้านมากกว่าเครื่องสูบเรียงทำให้ขับสนุกและให้ย่านกำลังแรงบิดที่ต่อเนื่องตั้งแต่รอบต่ำไปจนถึงรอบสูงสุด การที่มันไม่มีชิ้นส่วนพวกวาล์ว โดยผนังด้านข้างเสื้อสูบจะมีพอร์ตหลัก 2 พอร์ตคือ พอร์ตไอดีและพอร์ตไอเสีย ทำหน้าที่ป้อนไอดีหรือเชื้อเพลิงกับอากาศ และพอร์ตไอเสียสำหรับการระบายไอเสียจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ออกจากกระบอกสูบ รูปทรงรีของผนังกระบอกสูบและเพลาเยื้องศูนย์จะให้มุมของลูกสูบทั้งสามมุม เมื่อมันทำงานโดยหมุนตามเข็มนาฬิกาจะรีดทั้งไอดีและไอเสียไปตามผนังกระบอก สูบ หลังจากไอดีถูกดูดผ่านเข้ามาทางพอร์ตไอดีเป็นการทำงานในสเต็ปแรกแล้ว สเต็ปที่สอง-รูปทรงของผนังกระบอกสูบจะบังคับให้ไอดีดังกล่าวถูกบีบอัดลด พื้นที่ลง สเต็ปที่สาม เมื่อไอดีถูกบีบอัดจนร้อนและมีความดันสูงขึ้น มันจะระเบิดด้วยการจุดประกายไฟจากหัวเทียน 2 ตำแหน่ง แรงระเบิดจะเป็นแรงผลักดันให้ลูกสูบหมุนเคลื่อนที่ต่อไป จนกระทั่งไอเสียที่เกิดขึ้นจากการสันดาปผ่านพอร์ตไอเสียออกไปสู่บรรยากาศ หรือที่ช่างเครื่องยนต์เรียกกันทั่วไปว่า จังหวะคายนั่นเอง





จังหวะของการหมุนในเสต็ปถัดไป ก็จะหมุนเวียนไปเข้าสู่จังหวะดูดอีกครั้ง ต่อเนื่องวนเวียนอยู่แบบนี้จนกว่าเชื้อเพลิงในถังจะหมดลง เช่นเดียวกับวัฏจักรการทำงานของเครื่องยนต์สูบชัก 4 จังหวะ แต่เครื่องยนต์แบบโรตารี่ของ Mazda RX-8 จะใช้การทำงานของลูกสูบแบบสามเหลี่ยมที่หมุนเป็นวงกลมภายในผนังกระบอกสูบรูปทรงรี การหมุนของลูกสูบในเครื่องโรตารี่จำนวน 1 รอบ จะได้กำลังจากการระเบิดถึง 3 ครั้ง ในขณะที่เครื่องยนต์แบบสูบชักจะต้องหมุนถึง 2 รอบ แล้วสร้างกำลังได้แค่ครั้งเดียว เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เครื่องโรตารี่ของ RX-8 จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องสูบชักในปริมาตรความจุซีซีเท่ากันถึง 6 เท่า การพัฒนาเครื่องสูบหมุนที่ไม่เคยหยุดยั้งของค่าย Zoom Zoom ก่อกำเนิดวิศวกรรมทางการขับเคลื่อนที่เป็นเอกเทศ ถึงแม้มันจะไม่ค่อยได้รับความนิยมจากปัญหาในเรื่องของความร้อนและการสึกหรอ ที่มากกว่าเครื่องสูบชักจากการหมุนที่รวดเร็วของลูกสูบ แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาในห้องทดสอบเครื่องยนต์ ของบริษัท Mazda การใช้วัสดุที่แข็งแกร่งทนทานมากขึ้นช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถ Mazda ที่วางเครื่องโรตารี่ เช่น โมเดล Crossmo ในยุค 70′ ถัดมาในยุค 80′ ด้วยตัวรถที่ร้อนแรงรุ่น RX-3 ต่อเนื่องด้วย RX-7 อีกสามโมเดล คือรหัส FA/FC/FD และมาถึงยุคปัจจุบันในโมเดล RX-8





การปรับปรุงเพื่อลบล้างจุดด้อยบางอย่างของเครื่องโรตารี่ใน Mazda RX-8 เช่น เพิ่มความคงทนด้วยการเคลือบผนังห้องลูกสูบด้วยสารหล่อลื่นพิเศษ ลดการใช้เชื้อเพลิงจากเครื่องโรตารี่ในรุ่นเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมากกว่าเครื่องสูบเรียง (จากที่ต้องหมุนในรอบสูงกว่ามากและผ่านการอัดอากาศจากเทอร์โบในรุ่นที่แล้ว) รวมถึงการลดมลพิษจากการปล่อย CO2 ได้ดีขึ้น ผ่านมาตรฐานการควบคุมมลพิษของยุโรปที่เข้มงวด เครื่อง Renesis Rotary ของ RX-8 จึงเป็นเครื่องสูบหมุนที่หายใจด้วยตัวเองโดยไม่มีระบบอัดอากาศมาคอยเพิ่มแรงม้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น การออกแบบผนังกระบอกสูบรูปวงรีใหม่หมด ด้วยการจัดวางพอร์ตไอดีและพอร์ตไอเสียใหม่ เพื่อทำให้จังหวะการ Overlap หมดไป (จังหวะ Overlap คือจังหวะที่พอร์ตไอดีและพอร์ตไอเสียเปิดขึ้นพร้อมกัน) ไอดีของเครื่อง Renesis Rotary รุ่นใหม่ที่วางอยู่ใน RX-8 จะไม่หลุดไปทางพอร์ตไอเสียเหมือนเครื่องโรตารี่ในรถสปอร์ตตระกูล RX รุ่นเก่า เปลี่ยนหัวฉีดเชื้อเพลิงจากหัวเดี่ยวมาเป็นแบบคู่ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น





ในเครื่องโรตารี่รุ่นใหม่ Renesis Rotary ของ RX-8 วิศวกรของ Mazda จึงเพิ่มพอร์ตไอดีเข้าไปอีก 1 พอร์ต เพิ่มปริมาณอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้อีก 30% ตามความต้องการของเครื่องยนต์ รวมถึงการออกแบบโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศ ลูกสูบจำนวน 2 ตัวหรือ 2 โรเตอร์ในเครื่อง Renesis Rotary จะมีพอร์ตไอดีรวมทั้งสิ้น 6 พอร์ต รอบการหมุนสูงสุดที่เคยมากถึง 9,500-10,000 รอบต่อนาที ในเครื่องตัวเก่าถูกลดระดับลงเหลือเพียง 9,000 รอบต่อนาที เครื่องโรตารี่รุ่นใหม่นี้ สามารถสร้างแรงม้าได้ถึง 250 ตัว และเมื่อมันมีพอร์ตไอดีที่เพิ่มขึ้นจึงต้องมีระบบป้อนอากาศให้เข้าสู่ห้องเผาไหม้สัมพันธ์ไปกับความต้องการของเครื่องยนต์ เป็นหน้าที่ของระบบ FAD ระบบที่กล่าวมานี้จะทำหน้าที่ควบคุมท่อทางเดินของอากาศภายในท่อร่วมไอดี ใช้วาล์วขนาดเล็กคอยปิด-เปิดทางเดินอากาศในท่อต่างๆ จำนวน 2 ตัว คือ Variable Intake Valve และ Secondary Shutter Valve ในระดับ High Power Unit จะมีชุด Auxiliary Port Valve เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว การทำงานของวาล์วทั้ง 3 ตัวจะสัมพันธ์ไปกับองศาการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อแบบไฟฟ้า (Throttle Valve) การทำงานของระบบ FAD นอกจากช่วยในการรีดแรงม้าแล้ว ยังช่วยสร้างแรงบิดในรอบต่ำอีกด้วย เพียงแต่ในเครื่องยนต์ Renesis Rotary ของ RX-8 เครื่องยนต์จะทำงานในรอบต่ำเกินกว่า 5,000 รอบต่อนาที





ในสภาพการทำงานปกติ เครื่องยนต์โรตารี่แบบสูบหมุน 2 โรเตอร์ จะให้กำลังมากกว่าเครื่องสูบเรียงอยู่แล้ว การออกแบบให้เครื่องยนต์ Renesis Rotary ของ RX-8 ทำงานได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น วิศวกรของ Mazda จึงใช้ระบบ Dynamically Balances Rotor ซึ่งทำการออกแบบมาเพื่อตรวจจับอาการสั่นสะท้านจากการหมุนในรอบจัดของโรเตอร์ โดยทำการวัดค่าจากมวลของน้ำมันหล่อลื่นหรือ Mass Of Oil ที่หล่อลื่นอยู่ระหว่างห้องฟันเฟืองที่บริเวณแกนกลางของโรเตอร์กับฟันเฟืองของเพลาเยื้องศูนย์ นอกจากนั้น การแก้อาการที่ขาดความสมดุลของการหมุนยังใช้การเพิ่มหรือลดมวลน้ำมันหล่อลื่นในห้องเฟืองดังกล่าวด้วย นับได้ว่าเป็นการสร้างสมดุลแบบ Dynamic อย่างแท้จริง การใช้หัวฉีดเชื้อเพลิง 3 หัวต่อโรเตอร์ 1 ตัว เพื่อรองรับการฉีดจ่ายเชื้อเพลิงในรอบสูงและทำให้เกิดส่วนผสมของเชื้อเพลิง กับอากาศในปริมาณที่พอดีต่อความต้องการและเป็นเนื้อเดียวกันให้มากที่สุด รูปทรงของพอร์ตไอดีจึงมีคุณสมบัติที่ดีในการรีดอากาศ และนี่คือหนึ่งในเครื่องยนต์ที่เคยคว้ารางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2006-2007 และถูกวางลงไปในห้องเครื่องของรถ RX-8 รถสปอร์ตที่ได้ชื่อว่ามีและใช้เครื่องยนต์แบบสูบหมุนหนึ่งเดียวบนเส้นทางของโลกแห่งยนตรกรรม





สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับเครื่องโรตารี่จนทำให้มันใกล้ถึงแก่กาลอวสาน คือการสึกหรอของมุมหัวโรเตอร์ทั้งสามด้านที่ต้องหมุนด้วยความเร็วสูง แม้ลูกสูบสามเหลี่ยมของมันจะผลิตมาจากอัลลอยชนิดพิเศษที่มีความแข็งแกร่ง ทนทานมาก ก็ยังไม่อาจทนต่อการใช้งานเมื่อมันต้องพบกับอุณหภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา หากขับใช้งานในรอบสูงๆ อย่างต่อเนื่อง เครื่องยนต์ยังกินเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องแบบสูบเรียง รวมถึงความเสียเปรียบเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กลง กินเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็น มีแรงบิดที่ดีตั้งแต่รอบต่ำถึงปานกลาง และปล่อยมลพิษน้อยกว่าเดิมมาก บริษัท Mazda พัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี Sky Active กับรถรุ่นใหม่ล่าสุด ขุมกำลังแบบใหม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีสมรรถนะที่ดี มีขนาดเล็กและกินเชื้อเพลิงไม่มาก ให้กำลังเทียบเท่าหรือดีกว่าเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ และนี่คือจุดสุดท้ายที่เครื่องยนต์โรตารี่ของ Mazda ได้เดินทางมาถึง เมื่อเครื่องยนต์ชนิดนี้และโมเดล RX-8 ต้องยุติสายการผลิตลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2012 เหลือไว้เพียงตำนานอันยิ่งใหญ่ที่มันเคยฝากผลงานไว้ในวงการมอเตอร์สปอร์ตให้ ได้จดจำว่า ครั้งหนึ่ง Mazda เคยมีเครื่องยนต์ที่ทรงประสิทธิภาพแต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร.


Via. @ ไทยรัฐออนไลน์ Man and Machine , Cr. @ อาคม รวมสุวรรณ

Relate topics

Post new comment

« 1925
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง