สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ระนอง ::: คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง

ย้อนรอยฐานกำลังทหารที่ญี่ปุ่นในสงครามโลก ครั้งที่ 2

by sator4u_team @2 พ.ย. 54 02:25 ( IP : 101...34 ) | Tags : ข้อมูลจังหวัด
photo  , 400x300 pixel , 39,529 bytes.

ก่อนปีพุทธศักราช 2484 บริเวณบ้านเขาฝาชีหรือตลาด กม. 30 ริมคลองละอุ่น ยังมีสภาพเป็นป่าชายเลนน้ำทะเลท่วมถึง อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้โกงกาง ไม้แสม ปราศจากบ้านเรือนหรือชุมชนดังเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมมีเพียงทางหลวงแผ่นดินสายเพชรเกษมหมายเลข 4 ซึ่งมาสิ้นสุดเพียงแค่คลองละอุ่นเพราะไม่มีสะพานข้ามหากจะเดินทางไปยังตัวเมืองระนองต้องใช้ เส้นทางเรือเท่านั้น บ้านเรือนคนไทยดั้งเดิมมีประมาณ 5 หลังคาเรือน ตั้งเรียงรายอยู่ที่บ้านบางลัด ห่างจากบ้านเขาฝาชีไปทางทิศเหนือเยื้องไปด้านตะวันตกของเขาฝาชี ประมาณ 3 กิโลเมตร


ปีพุทธศักราช 2484 กองกำลังทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบก ณ ปากน้ำจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคาม 2484 ได้ขอผ่านประเทศไทยเพื่อยกพลไปบุกยึดประเทศสหภาพพม่า และสามารถยึดเกาะสอง (วิคตอเรียปอยต์) ซึ่งอยู่เขตพม่าได้ในตอนเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2484 การเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินระยะแรกได้อาศัยเส้นทางหลวงแผ่นดินเพชรเกษม หมายเลข 4 สายชุมพร - กระบุรี –คลองละอุ่น แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพถนนและภูมิประเทศ ทำให้การเคลื่อนย้ายลำเลียงกำลังพล เสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์กระทำได้อยากลำบาก เพราะถนนแคบ คดโค้ง บางช่วงสูงชัน การลำเลียงอาวุธหนักไม่สามารถใช้เส้นทางได้ ซึ่งต่อมาได้มีแนวคิดที่จะสร้างเส้นทางรถไฟขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 เริ่มแรกหลังจากยกพลขึ้นบกทหารญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังแนวหน้า ค้นหาชัยภูมิที่มีความเหมาะสมในการตั้งกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในที่สุดทหารญี่ปุ่นได้เลือกบ้านเขาฝาชี (ตลาดบางแก้วในปัจจุบัน)เป็นที่ตั้งฐานกำลังทหารญี่ปุ่นอีกแห่งของทางฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ฐานกำลังแห่งนี้นับเป็นยุทธภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะสามารถเลือกใช้ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ การเคลื่อนย้ายกำลังมาเสริมกองกำลังของทหารญี่ปุ่นได้เข้ามา 2 เส้นทาง เส้นทางแรก เคลื่อนย้ายกำลังพลมาจากจังหวัดชุมพรมาตามทางหลวงเพชรเกษม เส้นทางที่สอง ได้เคลื่อนมาทางเรือทางทะเลอันดามันอ้อมช่องแคบมะละกาด้านสิงคโปร์ และจอดพักเรือทอดสมอด้านทิศใต้ของแหลมวิคตอเรยปอยต์ (บริเวณที่ตั้งจังหวัดเกาะสองในปัจจุบัน) หลังจากนั้นจึงถ่ายลงเรือรบขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเรือเสบียงแล่นเรือเข้ามาทางแม่น้ำกระบุรี ไปทางทิศเหนือ ผ่านเกาะยาว เกาะขวาง และแยกเข้าคลองละอุ่น ระยะทางประมาณ 6 - 8 กิโลเมตร


ฐานกำลังทหารญี่ปุ่น ณ เขาฝาชี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมต่อยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นอย่างยิ่ง ลักษณะการวางกำลังมีจุดเด่นหลายประการ ได้แก่


1.ที่ตั้งฐานกำลังทหาร มีกองบัญชาการของทหาร ระดับสูงตั้งอยู่บนยอดเขาฝาชีระดับความสูง 259 เมตร ลักษณะตัวอาคารทำด้วยไม้มุงด้วยสังกะสี ณ บริเวณจุดนี้สามารพมองเห็นได้ระยะไกลครอบคลุมทั้งลำแม่น้ำกระบุรี คลองละอุ่น ตลอดจนคลองเขมาใหญ่และคลองมะลิวัลย์ในประเทศสหภาพพม่าทำเลที่ตั้งฐานทหารจึงมีความได้เปรียบในทางยุทธการ เพราะสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของข้าศึกได้ทั้งทางบกทางทะเลและทางอากาศบนยอดเขาฝาชีมีต้นไม้ยางขนาดใหญ่ จำนวน 2 ต้น )ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียว) ทหารญี่ปุ่นจะใช้บันไดลิงปีนขึ้นไปบนยอดไม้ เพื่อตรวจดูความเป็นไปของข้าศึกด้วยกล้องส่องทางไกลมองเห็นได้ไกลถึงเกาะสอง นอกจากนี้บนยอดเขาจะเป็นที่ตั้งของฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) ปืนใหญ่จะทำงานทุกครั้งที่ถูกเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรบินเข้าโจมตีฐานด้วยเครื่องบินจะทิ้งระเบิดและยิงกราดด้วยปืนกลจะบินเข้ามาทางฝั่งประเทศสหภาพพม่า


ถัดจากตัวอาคารของผู้บัญชาการฐานบริเวณไหล่ฝาชี จะรายรอบด้วยหลุมเพลาะอุโมงค์หลบภัยและอาคารที่พักของนายทหารญี่ปุ่นระดับรองลงมาสร้างไว้เรียงรายกระจัดกระจายตามหลืบหรือซอกเขาสามารถอำพรางหรือซ่อนเร้นจากเครื่องบินตรวจการณ์ของฝ่ายพันธมิตรได้เป็นอย่างดี ทำให้มีความปลอดภัยจากการถูกการโจมดี ส่วนบริเวณเขาฝาชีใกล้ทางหลวงหมายเลข 4 จะเป็นที่ตั้งของอาคารที่พักของทหารญี่ปุ่น และมีคุกดินสำหรับคุมขังเฉลยศึก ส่วนใหญ่จะเป็นแขกมาเลเซีย อินเดีย หรือคุกขังคนไทยที่ถูกจับด้วยข้อหาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคและบริโภค ถัดจากตีนเขาฝาชีไปทางด้านใต้ริมคลองละอุ่นเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นป่าชายเลนน้ำทะเลท่วมถึงทหารญี่ปุ่นได้คุมเฉลยศึกและกรรมกรขุดตัดดินจากเนินเขาเพื่อสร้างทางรถไฟตัดผ่านส่วนหนึ่งและจากเนินดินตีนเขานำไปถมปรับพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกสร้างอาคารที่จำเป็นประกอบด้วย (1)อาคารโกดัง ทำด้วยไม้มุงด้วยสังกะสีขนาดใหญ่สร้างเลียบริมฝั่งคลองละอุ่นเชื่อมต่อเนื่องกับ (2) ท่าเทียบเรือ ตลาดแนวลำคลองละอุ่น ทหารญี่ปุ่นได้ใช้โกดังแห่งนี้เป็นที่เก็บเสบียงอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหินและยุทธภาระทุกอย่าง ยกเว้นอาวุธยุทธภัณฑ์ กระสุนปืน มิได้เก็บไว้ในส่วนนี้ โดยขนถ่ายจากรถไฟหรือจากเรือลำเลียง ซึ่งจอดทอดสมออยู่ในลำคลองละอุ่นบริเวณท่าเทียบเรือจะมีท่อน้ำตั้งอยู่ในระยะ ๆ เพื่อขนถ่ายน้ำลงเรือทุกประเภท น้ำเหล่าน้ำต่อท่อนำมาจากแหล่งเก็บน้ำมาจากแหล่งเก็บน้ำบริเวณตีนเขาฝาชีระยะทางประมาณ 400 เมตร ถัดจากอาคารโกดังไปทางตีนเขาฝาชีเป็นที่ตั้งของ (3) โรงเรือนที่พัก ของเฉลยศึกหรือกรรมกรมีลักษณะเป็นโรงเรือนชั่วคราวตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วไป (4) อาคารพยาบาล (5) อาคารโรงอาหาร เลี้ยงพวกเชลย (6)สถานีรถไฟเขาฝาชี ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฐานเส้นทางรถไฟตัดผ่านกลางฐานมีลักษณะเป็นทางรถไฟคู่ขนานเพราะต้องใช้ในการกลับหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ส่วนบริเวณด้านทิศเหนือของสถานีรถไฟติดกับตีนเขาฝาชีบางส่วน (ที่ตั้งของโรงเรียนละอุ่นวิทยาคารในปัจจุบัน) เป็นสถานที่ฝังศพของเชลยศึกหรือกรรมกรสร้างทางรถไฟซึ่งล้มตายระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก


2. กองกำลังส่วนหน้า ตั้งอยู่ ณ เกาะขวาง และเขาหัวค่าง เกาะขวาง ตั้งอยู่กลางแม่น้ำกระบุรี เป็นที่ตั้งของกองกำลังตรวจการณ์ทางน้ำชั้นหน้าสุดของทหารญี่ปุ่น รอบเกาะบางช่วงมีอุโมงค์ลอดใต้ดิน อุโมงค์ดังกล่าวใช้สำหรับหลบภัยการโจมตีของข้าศึกจากคำบอกเล่าทราบว่าภายในอุโมงค์ใต้ดินเหล่านี้มีบางตอนมีลักษณะเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ มีหลายห้องติดต่อกันมีทางเข้าซับซ้อน นอกจากนี้บนเกาะยังมีหลุมเพลาะและที่ตั้งของฐานปืนใหญ่ ส่วนเขาหัวค่างซึ่งตั้งอยู่ปากคลองละอุ่นเป็นจุดตรวจการณ์ในส่วนนี้ เขาหัวค่างมีลักษณะการสร้างฐานกำลังคล้ายกับเกาะขวางด้านที่หันหน้าเข้าสู่คลองละอุ่น และคลองกระบุรีจะมีหลุมเพลาะโดยรอบนอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งฐานปืนใหญ่อีกด้วย จุดเขาหัวค่าง กำลังทหารสามารถเดินทางเท้าฝ่านป่าโกงกางไปยังฐานทัพบ้านเขาฝาชี ระหว่างประมาณ 1.5 กิโลเมตร เส้นทางเดินทำด้วยลำไม้ไผ่พาดต่อเนื่องกันตลอดแนว


สำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟ สายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อลำเลียงเสบียงอาหาร กำลังพล อาวุธหนักจากจังหวัดชุมพรไปฝั่งอันดามัน การสำรวจเริ่มเมื่อ 16 พฤษภาคม 2486 โดยญี่ปุ่น ได้ส่ง พ.ท.คุโมตะ กับพวกรวม 15 คน ฝ่ายไทยได้ส่ง พ.ต.ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ไปร่วมสำรวจเส้นทางรถไฟสร้างขนานกับทางหลวงสายชุมพร-กระบุรี จนถึงคลองละอุ่น รวมระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร โดยผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดของไทยกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟผ่านคอคอดกระขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2486 การสร้างทางมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมกรหายากเพราะราษฎรไทยส่วนใหญ่พากันเป็นลูกจ้างผู้รับเหมาช่วงทำสงครามให้แก่ทหารญี่ปุ่นมีเครื่องทุ่นแรง การทำงานดินใช้กรรมกรชาวมาเลเซีย เป็นส่วนใหญ่ มีชาวจีน ชาวไทย เป็นส่วนน้อยซึ่งมักจะเป็นช่างไม้สำหรับทำสะพานไม้ชั่วคราวกองทหารญี่ปุ่นเริ่มทำงานเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2486 ในการก่อสร้างทางรถไฟมีเชลยศึกและกรรมกรล้มตายเป็นจำนวนมาก คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่ทหารญี่ปุ่นลำเลียงมาจากมลายูมาสถานีรถไฟชุมพร แล้วเดินไปตามแนวทางเพื่อทำงานได้ล้มป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และถูกฝังไว้ตื้น ๆ บางทีก็ใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผา บางคนก็หลบหนีไปทางจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างทางได้ขออาหารจากคนไทยกิน หน่วยงานทางราชการได้จัดที่พักให้อยู่ชั่วคราว และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ภายหลังทหารญี่ปุ่นได้รับตัวกลับไปและกวดขันมิให้หลบหนีอีก


การจัดหาไม้หมอน ไม้สะพาน และหินนั้น ทหารญี่ปุ่นได้จัดหาเองและให้นายช่างฝ่ายไทยร่วมด้วย รางรถไฟจะเป็นรางขนาด 50 ปอนด์ และ 60 ปอนด์ โดยนำมาจากมลายู แต่การสร้างทางสายชุมพรทำไม่ได้ตามแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีประแจทางหลีกผู้ควบคุมงานฝ่ายญี่ปุ่นชื่อ พ.อ.โองาวา ภายหลังเปลี่ยนเป็นนายอิชุอิ และมีนายกามาฮาชิ เป็นช่างก่อสร้างทางรถไฟชุมพร – กระบุรี แนวรถไฟเริ่มจากด้านทิศใต้สถานีชุมพร ตรงหลักกิโลเมตร 469+850.30 ตลอดทางมีสะพานชั่วคราว 31 สะพาน รางรถไฟรื้อมาจากเมืองกลันตัน (มลายู) บรรทุกมาโดยขบวนรถไฟพิเศษมาลงที่ชุมพรวางรางแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2486 มีรัศมีโค้งตั้งแต่ 400 เมตร ถึง 1,000 เมตร ประมาณ 137 โค้ง ตัดถนนเพชรเกษม ในปัจจุบัน 8 จุด สถานีย่อยมีสถานีวังไผ่ สถานีท่าสาร สถานีปากจั่น สถานีทับหลี สถานีกระบุรี สถานีคลองลำเลียง สถานีเขาฝาชี รวม 7 สถานี อาคารสถานีทำด้วยไม้เนื้ออ่อน และไม้ไผ่ มีลักษณะชั่วคราวเริ่มเดินขบวนรถไฟลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์โดยใช้รถแบบรถบรรทุกขนาดหนักของ ร.ฟ.ท. และรถยนต์บรรทุกที่วิ่งบนทางรถไฟลากจูงรถพ่วงไปยังปลายทางสถานีเขาฝาชี แล้วถ่ายสิ่งของลงเรือล่องไปตามคลองละอุ่นออกไปบรรจบคลองกระบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วล่องต่อไปเกาะสองประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อไปยังพม่า ญี่ปุ่นโดยใช้เส้นทางรถไฟลำเลียงอยู่ประมาณ 11 เดือน จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินพันธมิตรขนาดสี่เครื่องยนต์ ประมาณ 20 ลำได้ทำการบินโจมตีทิ้งระเบิดทำลายทางรถไฟ เรือ เสบียง และเรือบรรทุกอาวุธ ที่รับขนถ่ายจากขบวนรถไฟ ถูกระเบิดจมน้ำที่คลองละอุ่น จนกระทั่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2488 ระหว่าง 14.00 – 18.00 น.เครื่องบินพันธมิตร 30 ลำ ได้ทิ้งลูกระเบิด และกราดยิงด้วยปืนกลบริเวณสถานีรถไฟชุมพร รางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี ค่ายทหารญี่ปุ่นที่เขาฝาชีซ้ำ จึงได้รับความเสียหายมาก ทหารญี่ปุ่นได้พยายามซ่อมทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี ให้ใช้การได้ แต่แก้ปัญหาฝ่ายพันธมิตรมาโจมตีเรือบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รับช่วงจากรถไฟไม่ได้ ทำให้เรือจมเสียหายมากจนไม่สามารถลำเลียงอาวุธตามเส้นทางนี้ได้อีก คงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารกับสัมภาระเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่งให้หน่วยทหารที่รักษาการที่เกาะสอง ประเทศสหภาพพม่า เท่านั้น


ก่อนระยะที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม (กองทัพญี่ปุ่นเสนอยอมแพ้สงครามเมื่อ 10 สิงหาคม 2488) ในวันที่ 15 มิถุนายน 2488 ทหารญี่ปุ่นได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ท่าเรือเขาฝาชี ตอน กม. 30 ถึง กม. 28 โดยแจ้งกับอนุกรรมการฝ่ายไทยว่า เพื่อเอารางไปวางในทางรถไฟบางตอนที่ถูกระเบิดบางแห่งทางใต้ ครั้งเมื่อสงครามยุติทหารสหประชาชาติได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อ 19 สิงหาคม 2488 ต่อจากนั้นทหารอังกฤษจึงได้รื้อทางรถไฟสายนี้ต่อจากญี่ปุ่นบรรทุกรถไฟกลับไปเมืองกลันตาตามเดิม จึงไม่มีทางรถไฟสานี้ให้เห็นดังเช่น ทางรถไฟสาย ไทย-พม่า ด้านจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากแนวคันดินซึ่งอยู่ขนานกับถนนเพชรเกษม ตลอดช่วงระยะจากกระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 30 เส้นทางรถไฟสาย ชุมพร – กระบุรี ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับทางรถไฟสายกาญจนบุรีในระหว่างสงครามเอเชียบูรพาตั้งแต่ต้นจนสงครามยุติลงแต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้จักเส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือที่รู้จักชื่อว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ


ปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วนับ 60 ปีเศษ คนรุ่นหลังนับว่ามีจำนวนลดน้อยลงที่จะรู้ว่า ณ ตลาดเขาฝาชีแห่งนี้ในอดีตเป็นยุทธภูมิสงครามโลกที่คลาคล่ำไปด้วยกองกำลังทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกแขกมลายู (แขกกลา) ขณะนี้คงหลงเหลือเพียงหลักฐานหรือร่องรอยที่บ่งชี้ยืนยันอย่างหนาแน่นว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เคยมาตั้งฐานทัพอยู่ที่นี้ อันได้แก่ อาวุธปืน และกระสุนปืนชนิดต่าง ๆ ดาบซามูไร ปลอกลูกระเบิด หลุมระเบิด ลูกระเบิด หลุมเพลาะ อุโมงค์ใต้ดิน อุโมงค์หลบภัย เนินคันดิน ทางรถไฟ ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ รางรถไฟ ไม้หมอนรถไฟ ซากกระดูกเชลยศึกที่ฝังอยู่ใต้ดิน ซากเรือเสบียงหรือเรือรบและบ่อน้ำญี่ปุ่นซึ่งยังมีสภาพสมบูรณ์ที่ใช้เป็นประปาหมู่บ้านในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้นับวันมีแต่จะถูกลืมเลือน ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้คงอยู่เป็นหมวดหมู่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงต้องกระทำอย่างเร่งรีบก่อนที่จะสายเกินไปอีกทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนสติให้คนรุ่นใหม่ว่าสงครามมิได้ให้อะไรที่ยั่งยืนต่อมวลมนุษยชาติ มีเพียงสันติธรรมเท่านั้นที่อยู่คู่กับโลกมนุษย์อย่างถาวรตลอดไปตราบชั่วนิรันดร์



ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดจาก : http://www.ranongvariety.com/show_history.php?id=35


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1794
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง