สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: สตูล ::: ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระ งามเลิศเชิดสตูล

เที่ยวบากันใหญ่-หัวทาง กลางมรสุมอันดามัน

by sator4u_team @23 ต.ค. 57 11:24 ( IP : 180...17 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม , สตูล , อนุสาร อสท
  • photo  , 400x546 pixel , 96,860 bytes.
  • photo  , 550x396 pixel , 92,238 bytes.
  • photo  , 600x324 pixel , 49,526 bytes.
  • photo  , 500x477 pixel , 109,142 bytes.

เที่ยวบากันใหญ่-หัวทาง กลางมรสุมอันดามัน (อ.ส.ท.)

จริยา ชูช่วย...เรื่อง นภดล กันบัว...ภาพ

“ไปทำไมอันดามันหน้ามรสุม” ปลายเดือนมิถุนายนไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอันดามันเป็นแน่ เกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ และเกาะน้อยใหญ่อื่น ๆ กลางทะเลสตูลร้างไร้นักท่องเที่ยว ทะเลยามนี้เกรี้ยวกราด เป็นปราการให้สรรพชีวิตน้อยใหญ่พักฟื้นไปในตัว แล้วเหตุใดกันเล่าฉันถึงตั้งใจพาตัวเองมายืนอยู่ที่บ้านมากันใหญ่ ตำบลเกาะสาหร่าย กลางทะเลสตูลในเวลานี้

กลางเดือนมรสุมแห่งทะเลอันดามัน ยังมีชุมชนให้เราเที่ยวอย่างปลอดภัยอยู่จริงหรือ ที่สำคัญฉันไม่ได้อยากไปเห็นชุมชนที่รุ่งเรืองเรื่องท่องเที่ยวถึงขีดสุด แต่อยากไปรู้จักหมู่บ้านสักแห่งที่มีความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยเอาวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นตัวตั้ง แล้วใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของบ้านตัวเอง มากกว่ามองเรื่องท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักเลี้ยงชีพ โจทย์นี้ถือว่ายากพอตัว “จงค้นหาชุมชนกลางทะเลอันดามันที่เที่ยวในช่วงมรสุมได้อย่างปลอดภัย และใส่ใจวิถีของตัวเอง”แต่เริ่มมีความหวัง เมื่อ คุณปรัชญากรณ์ ไชยคช จาก ททท. สำนักงานหาดใหญ่ และคุณภัชกุล ตรีพันธ์ จากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล แนะนำให้รู้จักกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล

บ้านบากันใหญ่ หนึ่งในสิบชุมชนของเครือข่ายการท่องเที่ยว โดยชุมชนจังหวัดสตูล คือ คำตอบของการเดินทางครั้งนี้ เราย้ำถามเรื่องฤดูกาลอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าบ้านบากันใหญ่อยู่กลางทะเลสตูล เพราะอย่างที่รู้ว่าพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน จนเมื่อได้รับคำตอบว่าบากันใหญ่เที่ยวได้ทั้งปี เราจึงเริ่มต้นเดินทาง

“เราต้องไปถึงบ้านบากันใหญ่ประมาณบ่ายโมง ถ้าช้ากว่านี้จะขึ้นบ้านไม่ทัน” บังอดุลย์ ชนะบัณฑิต แกนนำท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบากันใหญ่ บอกข้อมูลขณะมารับที่ท่าเรือทุ่งริ้น อำเภอท่าแพ ฉันเองก็พยักหน้ารับหงึก ๆ แบบงง ๆ แล้วรีบขนสัมภาระลงเรือ เรือหางยาวลำใหญ่พาลัดเลาะคลองทุ่งริ้นผ่านป่าชายเลนออกสู่ทะเล มีเกาะตะรุเตาทอดตัวเป็นแนวยาวอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นกำแพงธรรมชาติคอยบังคลื่นลมไม่ให้ปะทะกับบ้านบากันใหญ่โดยตรง เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังเดินทางมาที่นี่ได้แบบสบายในฤดูมรสุม เรือจอดเทียบหน้าศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ถึงตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมบังอดุลย์ถึงกลัวขึ้นบ้านไม่ได้ เพราะบ้านบากันใหญ่ไม่มีท่าเรือ หากมาไม่ทันช่วงน้ำขึ้น เรือจะแล่นมาส่งถึงบ้านพักไม่ได้ ต้องไปลงที่ท่าเรืออีกฟากหนึ่งของเกาะ แล้วนั่งรถซาเล้งต่อมาที่พักระยะทาง 3 กิโลเมตร

ป๊ะโบด สันโด ผู้เฒ่าวัย 75 แห่งบ้านบากันใหญ่ เล่าว่า โต๊ะจิ คือ บรรพบุรุษของพวกเขา อพยพจากอินโดนีเซียมาทำสวนมะพร้าวเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ฉันลองยืนใต้ต้นมะพร้าว แหงนจนสุดคอก็ยังมองไม่เห็นยอด ชาวบ้านบอกว่าต้นมะพร้าวที่นี่สูงจนลิงกลัว ก็ไม่แน่ว่าบางต้นอาจเป็นมะพร้าของโต๊ะจิก็เป็นได้

หลังจากโต๊ะจิตาย ชาวบ้านนำศพไปฝังไว้ด้านทิศใต้ของเกาะ จึงเรียกทิศใต้ของเกาะแห่งนี้ว่า ทอนโต๊ะจิ (“ทอน” หมายถึงสถานที่ที่อยู่ลึกเข้าไป ไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย) คนยุคก่อนไม่ได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่าบากันใหญ่ แต่เรียกว่าเกาะอีโปะ ตามชื่อต้นไม้ใหญ่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน บ้างก็เรียกบากัน-บาซาร แบบภาษามลายู “บากัน” หมายถึงสถานที่ทำไม้เผาถ่าน ส่วน “บาซาร” หมายถึงใหญ่

แต่ฉันกลับนึกภาพเมื่อครั้งเกาะนี้เป็นแหล่งเผาถ่านขนาดใหญ่ได้ไม่ชัดนัก เพราโดยมากแถบป่าชายเลนที่เคยเป็นเขตสัมปทานทำถ่านในอดีต แล้วมีการปลูกป่าทดแทนในระยะสิบกว่าปีให้หลังมานี้ จะสังเกตเห็นต้นโกงกางมีความสูงไม่มากนัก และมีระดับความสูงเท่ากันไปหมด ที่สำคัญมักหาต้นไม้ใหญ่ได้ยาก หากแต่แหล่งเผาถ่านขนาดใหญ่กลางทะเลแห่งนี้ กลับมีป่าสมบูรณ์ โดยเฉพาะดงต้นลำพูเฒ่าขนาดหลายคนโอบที่ตระหง่านอวดเรือนยอดอยู่กลางทะเลหน้าบ้านบากันใหญ่

บ้านพักไม้อย่างง่าย เสาไม้โกงกาง ปลูกยื่นลงทะเล แต่แยกห้องน้ำอยู่บนฝั่ง ไร้เครื่องปรับอากาศ ขนาดที่นอนเท่าจำเป็น ซ่อนตัวกลางดงลำพู เบื้องหน้าคือเกาะปลอออ เกาะใหญ่ซ้ายมือคือเกาะตะรุเตา ส่วนขวามือคือหมู่เกาะลิดี บรรยากาศยามน้ำขึ้นช่วงน้ำใหญ่งดงามเสียจนไม่อยากทำกิจกรรมอะไร นอกจากนอนนิ่ง ๆ บนศาลาแบบโอเพนแอร์ ฟังเสียงคลื่นกระทบใต้ถุนดังตุบตับไปเรื่อย ๆ ยิ่งยามได้ยินเสียงอาซานลอยดังทั่วเกาะ มันคือการเติมพลังชีวิตชั้นดี

บ่ายวันอาทิตย์เด็ก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลถึงประถมศึกษานับสิบคนมารวมตัวกันที่สนามเด็กเล่นใต้ต้นหูกวางไม่ไกลบ้านพัก มีเครื่องเล่นอยู่เพียง 3 ชิ้น คือ ชิงช้าไม้ ชิงช้าจากยางรถยนต์ และไม้กระดานหก เขาแบ่งกันแล่นอย่างเมามัน จนกระทั่งถึงเวลาน้ำลงยามเย็น พวกเขาแยกย้ายกันกลับบ้านในทันที

ช่วง 13 ค่ำ ถึง 5 ค่ำ ชาวบ้านเรียกว่าน้ำใหญ่ เป็นช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นและน้ำลงแตกต่างกันมากที่สุด เรียกว่ายามน้ำขึ้นก็ขึ้นจนล้นตลิ่งยามน้ำลงก็แห้งเสียจนเหมือนสูบน้ำทั้งทะเลไปทิ้ง เดินไปกลับเกาะปลอออที่อยู่ห่างกันเป็นกิโลเมตรได้สบาย ๆ ต่างกับช่วงน้ำตาย ประมาณ 6 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ เวลานี้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงจะแตกต่างกันไม่มากนัก เด็ก ๆ กลับมารวมตัวกันอีกครั้งพร้อมถังเล็กคนละใบ บางคนถือเหล็กเกี่ยวปู เป็นแท่งเหล็กเล็ก ๆ ปลายโค้งงอไว้สำหรับแยงรูปูใบ้ พอปูคีบแท่งเหล็กติด ก็ค่อย ๆ ดึงขึ้นมาอย่างมีศิลปะ ไม่เช่นนั้นปูจะหลุดกลับลงรู บ้างก็ถือปาโตะ คล้ายชะแลงอันจิ๋วไว้ขุดหอย ฉันเดินตามแก๊งเด็กต้อย ๆ เป็นแถวยาวลอดอุโมงค์ต้นลำพูไปทางช่องหลาด ซึ่งเป็นจุดที่มีปะการังน้ำตื้นและหญ้าทะเลหนาแน่น ผ่านไปสู่ลานทรายที่หมายของการขุดหอยกาหยำและแยงปูใบ้

ระหว่างทางทันทีที่พบหอยคุ้นเคย หัวแถวจะส่งเสียงบอกชื่อพร้อมสรรพคุณให้ลูกสมุนทราบเป็นระยะ เช่น หอยแครงมันพันธุ์ตะรุเตา ตัวใหญ่เท่ากำปั้น น้ำหนัก 4 ตัวต่อกิโลกรัม เวลาหาสังเกตดูจะมีเมือกเหลือง ๆ พ่นออกมา เนื้ออร่อยแต่เหนียวสักหน่อย ย่างแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเจ็บ หรือผัดเผ็ดก็อร่อยอย่าบอกใคร ที่สำคัญพบเฉพาะแถวนี้เท่านั้น

นี่ก็หอยกาหยำหรือหอยหวาน เนื้อหอยหวานจะผัดฉ่าหรือต้มกะทิไว้ซดน้ำก็กลมกล่อมดี ส่วนนั่นหอยชักตีน แต่ชาวบากันใหญ่เรียกหอยชักมือ พิเศษกว่าที่อื่นตรงตัวใหญ่ สด หวาน ตีนใหญ่ ขี้ทรายน้อย และดึงง่ายโดยไม่ต้องใช้ไม้เขี่ย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ฉันได้ยินชื่อหอยผ่านหูไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด ซึ่งจริง ๆ แล้วบังอดุลย์บอกว่าหน้าบ้านมีหอยเกือบร้อยชนิด ในหมู่บ้านไม่มีเด็กคนไหนหาหอยหาปูไม่เป็น พ่อแม่เด็กบอกว่าพวกเขาไม่เคยขอเงินซื้อเสื้อผ้าใส่เล่น หรือแม้แต่ซื้อจักรยาน ก็ซื้อเองจากเงินเก็บสะสมจากการขายหอยขายปูนี่แหละ

กว่าสัตว์น้ำจะสมบูรณ์ได้ขนาดนี้ ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เคยผ่านวิกฤตช่วงปี 2540-2550 สัตว์น้ำลดจำนวนลงมาก เพราะมีการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายจากคนข้างนอก ทั้งจับปูในฤดูวางไข่ ใช้อวนรุน ใช้ระเบิดจนเมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมารวมตัวกันกำหนดแนวเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่ง ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2551 ไม่อนุญาตให้จับปลาในฤดูวางไข่ ไม่ให้เรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่ที่มีการทำธนาคารปูม้า ศาลาหมึก ธนาคารปลิง ธรรมชาติจึงค่อยฟื้นตัว โดยเฉพาะปลิงกาหมาด หนึ่งในปลิงทะเล 3 สายพันธุ์ของทะเลสตูล (อีก 2 พันธุ์ คือ ปลิงขาวและปลิงดำ) ลักษณะพิเศษคือผิวหนังมีตุ่มคล้ายเม็ดหินปูน มากสรรพคุณทางยา เมื่อนำมาต้มผสมกับน้ำผึ้งป่าช่วยบำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย รักษาแผล ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปลิงศักดิ์สิทธิ์ เมื่อโดนตัดขาด 2 ท่อน ก็สามารถพัฒนาเป็นตัวปลิงที่สมบูรณ์ได้ใหม่ใน 15 วัน เป็นที่มาของชื่อปลิงกาหมาด ในภาษามลายูแปลว่า ปลิงทะเลศักดิ์สิทธิ์ แต่แม้จะศักดิ์สิทธิ์เพียงใดก็ต้านความต้องการของตลาดไม่ได้จนทำให้ปลิงกาหมาดเกือบสูญพันธุ์

ฉันนั่งมองชาวบ้านปลดปูม้า ปลดปลาที่ไม่ได้ขนาดออกจากอวนโยนกลับคืนสู่ทะเลในช่วงเช้า แล้วมายืนดูเด็ก ๆ เดินหาหอยแครงมันพันธุ์ตะรุเตาในยามเย็น วันนี้แม้จะเก็บได้ไม่กี่ตัว แต่เขาก็เลือกปล่อยตัวที่ไม่ได้ขนาดคืนไว้ตรงนั้นอย่างไม่ลังเล ก่อนเดินกลับบ้านให้ทันอาทิตย์ลับไม่รู้ว่านี่จะหมายถึงเจตนารมณ์เรื่องการอนุรักษ์ถูกส่งต่อแล้วได้หรือไม่

หากมองแง่ท่องเที่ยวแล้วความงามอย่างถูกที่ถูกเวลาถือเป็นเรื่องจำเป็น เหตุใดไปที่เดียวกันแต่เห็นภาพคนละภาพ หากไม่นับเรื่องจริตความชอบส่วนบุคคล เรื่องเวลาก็จัดว่าสำคัญไม่แพ้กัน ทางฝั่งตะวันตกค่อนไปทางเหนือของบ้านบากันใหญ่ หากไปถูกเวลาจะได้ความรู้สึกประหนึ่งตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เดินแหวกทะเลได้ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า หาดสันหลังมังกรแดง ช่วงน้ำลงผืนกรวดสีแดงจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ คดเคี้ยวเป็นแนวยาวยื่นลงทะเล คล้ายกำลังเดินอยู่บนสันหลังมังกรสีแดงตัวใหญ่กลางทะเล แต่อารมณ์นี้จะอยู่กับเราเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง เพราะเมื่อน้ำเริ่มลงมากขึ้น สันหลังมังกรแดงจะกลายเป็นหาดกรวดธรรมดา (เวลาปรากฏของสันมังกรแดงจะเปลี่ยนตามน้ำขึ้นน้ำลง ถามชาวบ้านก่อนเดินไปดีที่สุด)

บริเวณใกล้ ๆ กันยามน้ำลงเต็มที่เผยสุสานหอย 100 วันให้ชม ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่ามีโขดหินซึ่งหอยนางรมมาเกาะอยู่หลายโขด ด้วยเวลาที่หอยนางรมโตเต็มที่พร้อมกะเทาะได้คือ 100 วัน เมื่อถูกกะเทาะแล้วสิ่งที่เหลือไว้คือเปลือกหอยติดโขด ครั้นจำนวนมากเข้าก็ดูคล้ายสุสาน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเป็นจุดขายเสียเลย

หากเบื่อชายฝั่ง ช่วงน้ำขึ้นเต็มที่ลองเหมาเรือชาวบ้านออกไปท่องทะเลใกล้ฝั่ง นั่งเรือ 10 นาที ถึงบริเวณศาลาหมึก ที่ชาวบ้านเอาทางมะพร้าวมาผูกกับโครงไม้ถ่วงไว้ด้วยล้อรถยนต์เป็นบ้านให้หมึกอาศัยบริเวณนี้ หากโชคดีจะเห็นโลมาหัวขวดออกมาว่ายน้ำสบายอารมณ์ ไม่ไกลคือเกาะหินดำและเกาะหินแดง หากไปช่วงน้ำลงสามารถเดินเล่นได้โดยรอบ จากนั้นนั่งเรือย้อนกลับไปพบความมหัศจรรย์ของหอขาว หรือเกาะหอยกาบ จะว่าเป็นเกาะก็คงใช่ เพราะอยู่กลางทะเลมีน้ำล้อมรอบ แต่แปลกที่เกาะนี้สามารถเคลื่อนที่และเปลี่ยนรูปร่างได้ตามกระแสน้ำและลม อีกความมหัศจรรย์คือหาดขาวโค้งพระจันทร์เสี้ยว ที่เห็นนั่นไม่ใช่ทราย แต่เป็นเปลือกหอยสีขาวล้วน ๆ ทุกก้าวที่เหยียบจะได้ยินกุ๋งกิ๋ง ๆ คล้ายเสียงโมบายต้องลม ด้วยความที่ไม่มีพื้นดิน เป็นเกาะเปลือกหอยกลางทะเลทั้งเกาะ จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว ครั้งหนึ่งเคยมีคนสร้างศาลาไว้ก็ถูกกระแสน้ำกระแสลมพัดจนพัง

เช้าวันสุดท้ายฉันขี่มอเตอร์ไซค์ไปรอพระอาทิตย์ขึ้นที่ท่าเรือบ้านตันหยงกลิง อีกฟากของเกาะ พร้อม ๆ กับมองภาพชีวิตที่เริ่มเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน เด็กปั่นจักรยานไปโรงเรียน คนแก่เดินแกว่งแขนออกกำลังกาย เรือประมงเตรียมออกทะเล ลำไหนจอดไว้ที่ท่าเรือก็ออกทะเลได้เลย ลำไหนจอดใกล้ฝั่งก็ต้องรอน้ำขึ้น อย่าว่าแต่ชีวิตที่ต้องเคลื่อนไหวทุกวัน แม้แต่แหล่งท่องเที่ยวก็เคลื่อนไหวตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลน้ำ ลม พระอาทิตย์ พระจันทร์ ฯลฯ เราเองกำหนดได้เพียงว่าแหล่งท่องเที่ยวที่เห็นจะสมบูรณ์สวยงามได้นานแค่ไหนในหนึ่งช่วงชีวิตเท่านั้น  ส่วนว่าแหล่งท่องเที่ยวจะอยู่ให้ชื่นชมได้อีกนานเท่าใด ธรรมชาติไม่เคยทิ้งคำตอบข้อนี้ไว้ให้กับเรา

กลับขึ้นฝั่งเข้าตัวเมืองสตูล มารู้จักอีกหนึ่งชุมชนในเครือข่ายฯ เป็นชุมชนที่ทำให้เห็นจุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นเมืองและความเป็นธรรมชาติได้ดีที่สุด เพราะแม้หมู่บ้านจะอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียง 1 กิโลเมตรเศษ แต่กับแวดล้อมด้วยผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่ไม่รู้จะด้านแรงขยายตัวของเมืองได้อีกนานแค่ไหน ใครที่ตั้งใจมาเยี่ยมเยือนชุมชนนี้เพื่อเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและวิถีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณจะได้อะไรกลับไปมาก แต่หากอยากมาเที่ยวแบบเพลิน ๆ เดินเที่ยว ช้อป แชะ ขอให้ผ่านชุมชนนี้ไปได้เลย

บ้านหัวทาง มาจากภาษามลายูว่า “เกอลาปาบาตัส” หมายถึงบ้านที่อยู่สุดถนน แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของท่าเรือใหญ่ในอดีต สมัยก่อนใครจะค้าขายส่งไม้ส่งฟืนไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือซื้อของจำพวกผ้าปะเต๊ะ เครื่องนุ่งห่มกลับมาขายในไทยต้องใช้ท่าเรือนี้เป็นหลัก

ดาบตำรวจสมัคร สะดน หรือบังมัคร เล่าให้ฟังว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของบ้านหัวทางไม่ได้เกิดขึ้นจากความสวยงามของพื้นที่และความสุขของคนในชุมชน แต่เกิดจากปัญหาเรื่องปากท้องที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อการเลี้ยงกุ้งพัฒนาเริ่มเป็นที่นิยม นายทุนมาเช่าที่ของชาวบ้านไปทำนากุ้งกุลาดำ โดยไม่ให้เจ้าของเดิมเข้าไปยุ่ง แล้วเริ่มทำลายป่าชายเลนเดิมจนสิ้น บวกกับการเข้าสู่ยุคสัมปทานป่าทำถ่าน บ้านหัวทางแทบไม่ต่างกับบ้านหัวโล้น เมื่อป่าหมด อาหารก็หมด คนก็อดอยาก เมื่อคนอดอยากก็เริ่มไม่สนใจเรื่องศาสนา ไม่มีคนไปละหมาด เพราะมัวแต่กังวลเรื่องปากท้อง เป็นจุดเริ่มต้นให้ นายอุกฤษฎ์ อิสมาแอล คนหนุ่มที่เพิ่งกลับจากเรียนต่างประเทศ คิดชวนชาวบ้านมาทำวิจัย เริ่มจากสืบประวัติรู้จักตระกูลต้นเหง้าของตัวเอง ไปจนถึงสืบหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ชาวบ้านเหินห่างศาสนา ตั้งแต่ปี 2549 ที่เริ่มทำงานวิจัย จนปี 2552 เริ่มเกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่เน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มศึกษาดูงานแบบวันเดย์ทริป

มาทำอะไรบ้างที่บ้านหัวทาง ที่นี่มีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 7 ฐานหลัก คือ ฐานปูนิ่ม ฐานผ้ามัดย้อม ฐานการวิจัย ฐานจักสาน ฐานวิถีชีวิต ฐานสิ่งแวดล้อม ฐานท่องเที่ยว ผู้เรียนรู้จะวนไปตามฐานต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. จนครบทุกฐาน

ฉันประทับใจฐานสิ่งแวดล้อมที่บ้านบังหมาด ฮาหมาด จินดา อย่างมาก บังหมาดไม่ได้มีรายได้เป็นเม็ดเงินต่อวันมากมาย แต่ชาวบ้านทุกคนเต็มใจเรียกบังหมาดว่าคนรวย บังหมาดรวยอาหาร รอบบ้านมีกุ้ง หอย ปู ปลา มีผักสวนครัวมีผลไม้ มีแก๊สชีวภาพเพียงพอสำหรับใช้ในครัวเรือน บังหมาดรวยน้ำใจเผื่อแผ่อาหารปลอดสารพิษให้เพื่อนบ้าน และยินดีเผยแผ่ภูมิปัญญาเรื่องการเลี้ยงชีพแบบพอเพียงให้คนอื่น ๆ ที่แน่ ๆ บังหมาดรวยความสุข อากาศรอบบ้านดี มีต้นไม้ทึบเป็นป่า มีทั้งนกและสัตว์น้ำนานาพันธุ์หลังบ้าน บ่อยครั้งทีมนักวิจัยเลือกสวนหลังบ้านบังหมาดเป็นพื้นที่ศึกษาด้วยเหตุว่ามีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนสูง

อีกฐานที่คุณแม่บ้านและเด็ก ๆ ชื่นชอบ คือ ฐานผ้ามัดย้อมพิเศษตรงสีที่ย้อมเป็นสีธรรมชาติ และพิเศษลงไปอีกเมื่อเป็นสีธรรมชาติที่ได้จากพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น สีชมพูจากต้นจาก สีครามจากต้นโตด สีแดงจากต้นแสมแดง หรือจะเป็นฐานปูนิ่ม ที่นำปูดำแข็งธรรมดาราคากิโลกรัมละ 80 บาท มาทดลองเลี้ยงเป็นปูนิ่ม สร้างรายได้ให้ถึงกิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนฐานท่องเที่ยวเป็นการเดินชมป่าชายเลนตามเส้นทางบล็อกเวย์รอบเกาะกลาง ระยะทาง 400 เมตร ไปสุดที่ศาลาตรงข้ามกับหาดทรายขาว ซึ่งเป็นหาดทรายที่พบได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้น หรือเลือกพายเรือคายักรอบเกาะกลางช่วงน้ำขึ้น หากมีเวลาสามารถนั่งเรือเที่ยวเชื่อมโยงจากบ้านหัวทางไปถึงถ้ำลอดปูยู ในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ชายแดนติดรัฐปะลิส ของประเทศมาเลเซียได้

นั่งเรือเลาะคลองไปออกปากอ่าว มีเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวตลอดแนวตะวันตกไปตะวันออกกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ เรานั่งเรือผ่านเกาะปูยู ลัดเลาะตามคลองกายัง จนถึงแพพักหน้าถ้ำลอดปูยู กินข้าวรอช่วงเวลาน้ำลงเปิดปากถ้ำให้พายเรือเข้าไปข้างในได้ ระหว่างนี้ใครใคร่นอนพักบนแพก็นอนไป ใครใคร่พายเรือคายักชมป่าชายเลนเล่นเพลิน ๆ ก็พายไป บ่ายสามโมงแสงสว่างจากในถ้ำลอดผ่านปากถ้ำส่งสัญญาณให้เราเตรียมตัวสู่อีกมิติ แต่นั่นแหละ ไม่เคยมีใครคาดเดาธรรมชาติได้แม่นยำปลายทางอยู่ตรงหน้าก็จริง แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่ากระแสน้ำแรงเกินกว่าจะพายเรือสวนกระแสเข้าไปได้ วันนี้เราทำอะไรไม่ได้ดีไปกว่ารีบกลับมาขึ้นเรือหางยาว เพราะเมื่ออาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาทั้งบริเวณจะมืดสนิท แล้วรอโอกาสกลับไปเยือนครั้งหลัง

เอาเข้าจริงเราไม่ใช่ตัวกำหนดฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างที่เข้าใจ ยิ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติด้วยแล้วแทบกะเกณฑ์อะไรอย่างแม่นยำไม่ได้เลย ในเดือนที่ฟ้างามน้ำใส แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีพายุ ในวันที่มรสุมเกรี้ยวกราดอาจเป็นวันที่ธรรมชาติตั้งใจจะเผยความงดงามที่สุดให้เราเห็น นักท่องเที่ยวอย่างเราเป็นได้อย่างดีที่สุด คือ ผู้ตาม ธรรมชาติว่าอย่างไร...ตามนั้น

ขอขอบคุณ

คุณภัชกุล ตรีพันธ์ สำหรับข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสตูล และการดูแลตลอดการเดินทาง คุณมาเลย์ โต๊ะติน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปูยู และคณะ คุณอดุลย์ ชนะบัณฑิต และชาวบ้านบากันใหญ่ บังสมัคร บังฮาหมาด บังบ่าว และชาวบ้านหัวทาง ที่ร่วมด้วยช่วยกันให้สารคดีเรื่องนี้ลุล่วงด้วยดี


//////////////////////////////////


คู่มือนักเดินทาง

บ้านบากันใหญ่ มีสภาพเป็นเกาะ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล ส่วนบ้านหัวทาง เป็นหมู่บ้านติดป่าชายเลน มีคลองออกสู่ทะเล อยู่ที่ตำบลพิมาน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล ทั้งสองหมู่บ้านเป็นชุมชนมุสลิม และเนื่องจากเป็นชุมชนท่องเที่ยวขนาดเล็ก รองรับนักท่องเที่ยวได้ในปริมาณจำกัด จึงควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 สัปดาห์


การเดินทาง

บ้านบากันใหญ่

รถยนต์ : จากตัวเมืองสตูล เลี้ยวซ้ายไปทางเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 416 มุ่งสู่อำเภอท่าแพ ผ่านตลาดท่าแพ เตรียมเลี้ยวซ้ายหลังผ่านกิโลเมตรที่ 24 จากนั้นตรงเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร สุดทางเป็นท่าเรือทุ่งริ้นที่ท่าเรือมีบริการรับฝากรถ

รถโดยสาร : จากตัวเมืองสตูล นั่งรถตู้สายสตูล-ละงู (คิวรถอยู่ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัด) ลงที่สามแยกทุ่งริ้น (ราคา 50 บาท) ต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปที่ท่าเรือทุ่งริ้น (ราคา 40 บาท)

เรือโดยสาร : เรือโดยสารประจำทางจากท่าเรือทุ่งริ้น มีวันละ 1 เที่ยว เวลา 13.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที (ราคา 50 บาท) ไปถึงท่าเรือบ้านตันหยงกลิง หมู่ที่ 3 แล้วติดต่อให้ทางชุมชนบ้านบากันใหญ่มารับที่ท่าเรือ

เรือโดยสารเที่ยวกลับจากบ้านตันหยงกลิงถึงท่าเรือท่าริ้น มีวันละ 1 เที่ยว เวลา 07.00 น. ทุกวัน หรือใช้บริการเรือเหมาลำ ราคา 500 บาท ต่อลำ นั่งได้ 10 คน (มีบริการตลอดวันที่ท่าเรือทุ่งริ้นหรือติดต่อให้เรือของชุมชนมารับ)


บ้านหัวทาง

จากศาลากลางจังหวัดสตูลเลี้ยวซ้าย ตรงไปจนถึงสถานีตำรวจภูธรเมืองสตูล แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีเข้าถนนยาตราสวัสดี ตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จนสุดถนนที่ท่าเรือบ้านหัวทาง


ที่พัก บ้านบากันใหญ่มีที่พัก 3 แบบ คือ

1.) บ้านพักชุมชน นอนได้หลังละ 3 คน (ไม่มีห้องน้ำในตัว ใช้ห้องน้ำรวมบนฝั่ง) 2.) ที่พักแบบนอนรวมบนศาลาอเนกประสงค์ รองรับได้ 20 คน (ไม่มีห้องน้ำในตัว ใช้ห้องน้ำรวมบนฝั่ง) 3.) บ้านพักโฮมสเตย์ของชาวบ้าน

ส่วนที่บ้านหัวทางไม่มีที่พักในชุมชน เนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองมาก


ที่กิน

บ้านบากันใหญ่มีบริการอาหาร 3 มื้อ รวมอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 2 วัน 1 คืน อาหารเด่น ได้แก่ หอยชักตีนลวก หอยแครงมันพันธุ์ตะรุเตาย่าง ก้ามปูใบ้/ปูม้านึ่ง แกงส้มปลากระบอกกับสับปะรด ฯลฯ (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบตามฤดูกาล)

ส่วนบ้านหัวทางมีร้านอาหารแนะนำ ได้แก่ ร้านโรตีฮัสสา เมนูเด่น คือ โรตีกุ้ง เปิดบริการเวลา 17.00-22.00 น. และร้านโรตีสมันตรัฐ เมนูเด่น คือ ข้าวมันปลาฑอแมะ เปิดบริการ เวลา 06.00-10.00 น.


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

บ้านบากันใหญ่ คุณอดุลย์ ชนะบัณฑิต โทรศัพท์ 09 1036 7255 เฟซบุ๊ก บากันใหญ่ โฮมสเตย์ สตูล

บ้านหัวทาง คุณเจษฎา เส็นหล๊ะ โทรศัพท์ 08 9737 2214 ดาบตำรวจ มานะ ซันสาบู โทรศัพท์ 08 6958 4074 ดาบตำรวจ สมัคร สะดน โทรศัพท์ 08 5080 0008 เว็บไซต์ http://www.cbtsatun.org/

บ้านปูยู คุณแอ๊ด ย่าฝา โทรศัพท์ 08 9599 2011

Cr. travel.kapook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2107
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง